ปลูกข้าวเพื่อเรียนรู้ดิน


 

ก่อนเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหา รอบนี้เรามีเพลงที่แสดงพลังนักเรียนชาวนามาฝากนะ

หมายเหตุ ถ้าอยากฟังท่วงทำนอง ใครว่างก็แวะเข้ามา นักเรียนชาวนา เค้าร้องได้กันทุกคน

เพลงเกษตรยั่งยืน

ประพันธ์โดย  ธนรัช  ใกล้กลาง (เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ)

                      

                      เกษตร  เกษตรยั่งยืน                 ให้เราพลิกฟื้นแผ่นดินไทย

         ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไว้                             เพื่อพี่น้องไทยอยู่ดีกินดี

                      ทำงานให้เป็นศิลปะ                   ไม่มีภาระมีแต่สุขขี

         เลิกใช้ปุ๋ยยาเคมี  (เรา  (ซ้ำ))                  ทำเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติงดงาม

         *  ดินดี  น้ำดี  ป่าดี                                 ฝนดี  ผักดี  ไม้ดี

         ดินดี  น้ำดี  อากาศดี                              ทุกอย่างดีสุขภาพเราดี  /  (เราก็ต้องดี)

                      เกษตร  เกษตรอย่างข้า              ใครจะว่าบ้าก็ช่างเขาประไร

         เราทำการเกษตรยุคใหม่                          พวกเราเลิกใช้ปุ๋ยยาเคมี

         เกษตรกรอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี                       ชาวนาอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

         ทำเกษตรอินทรีย์  เกษตรธรรมชาติ  (ซ้ำ  *)         

 นักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านดอน  (ตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี)  มีวิธีการเรียนรู้เรื่องดิน  ด้วยการทดลองปลูกข้าวในกระถาง  ซึ่งก็นับเป็นกระบวนการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยฝึกทักษะให้นักเรียนชาวนาเป็นชาวนานักวิจัย

                คราวนี้  นักเรียนชาวนาจะต้องนำดินในนาของตนเองมาใส่กระถาง  ...  บอกกล่าวกันอย่างนี้แล้ว  ...  แต่ละคนก็ต่างแบกจอบแบกเสียมพร้อมกับกระสอบ  เดินไปในนาข้าว  แล้วก็ขุดเอาดินที่คิดว่าอุดมสมบูรณ์หรือดีที่สุดมาใส่ในกระถาง  พอเห็นดินจากหลายสิบนามาอยู่ในกระถางแล้ว  ก็จึงสังเกตอย่างง่ายๆ  วิเคราะห์จากตาเปล่าได้ว่า  ดินของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร  อาทิเช่น  สีของดิน  วัตถุต่างๆที่อยู่ในดิน  ความสามารถในการอุ้มน้ำ  เป็นต้น 

ในเมื่อดินของใครหลายๆ  คนมีความแตกต่างกัน  แล้วดินของใครจะสามารถปลูกข้าวให้ได้ข้าวงามและรวงดี  ประเด็นนี้เป็นคำถามที่ชักชวนให้ต้องติดตาม  ดินจากหลายสิบนา  เจ้าหน้าที่ภาคสนามจะใช้ข้าวพันธุ์เดียวกันทดลองปลูกในทุกสภาพดิน  ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า  ข้าวกับดินจะเป็นอย่างไรต่อภายในเงื่อนไขของการทดลอง

             เงื่อนไขของการทดลองเปิดกว้างให้นักเรียนชาวนาทุกคนสามารถใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อบำรุงดูแลรักษาการปลูกข้าวในกระถาง  โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า  นักเรียนชาวนาสามารถเรียนรู้และอธิบายได้ว่า  ดินเป็นอย่างไร  ข้าวเป็นอย่างไร  ซึ่งนักเรียนชาวนาจะต้องอธิบายให้ได้ตามที่ตนได้เรียนรู้จากการทดลองด้วยการปฏิบัติจริง  เงื่อนไขที่ตามมาสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ก็คือ       นักเรียนชาวนาทุกคนจะต้องจดบันทึกรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงใดๆ  ที่เกิดขึ้นและที่เกี่ยวข้องกับดินและข้าวในกระถางของแต่คน  (และรวมถึงกระถางของเพื่อนนักเรียนด้วย) 

             การปลูกข้าวเพื่อทดลองในกระถางมีเงื่อนไขอยู่อย่างที่เหมือนกันทุกกระถางก็คือ  เจ้าหน้าที่ภาคสนามนำเมล็ดพันธุ์ข้าวจากมูลนิธิข้าวขวัญมาให้ทดลองปลูก  นักเรียนชาวนาทุกคนจึงต้องปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน  โดยนำข้าวพันธุ์อินโดนีเซีย  มีอายุข้าว  88  วัน  มาเป็นพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการทดลอง

             ในขั้นแรกของการเตรียมดิน  นักเรียนชาวนาจักต้องตรวจสอบค่า  pH  ในดินก่อนว่าอยู่ในระดับใด  โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า  เครื่องตรวจสอบดิน  หรือมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า  Soil  Tester  ค่าตัวเลขที่ได้นั้นสื่อความหมายไว้อย่างไร  ซึ่งนักเรียนชาวนาจะต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้ก่อน  เพราะบางคนก็ตกใจจนเป็นเหตุให้พากันวิตกกังวลว่าดินจากนาข้าวของตนมีค่า  pH  เท่ากับ  0  หรือบางคนก็มีค่า  pH  มากกว่า  6  ทั้งนี้ก็ต้องมานั่งอธิบายกันว่าตัวเลขนั้นบอกถึงสภาพความกรดและด่างในดิน

การตรวจสอบดิน  ด้วยการตรวจสอบลักษณะการเจริญเติบโตของต้นข้าว  โดยที่นักเรียน    ชาวนาจะต้องถอนต้นข้าวมาตรวจสอบวิเคราะห์ดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ในกระถางหนึ่งๆ  จะปลูกข้าวไว้หลายต้น  แล้วในแต่ละครั้งของการเรียน  คือ  สัปดาห์ละ  1  ครั้ง  ก็จะให้ถอนต้นข้าว  จำนวน  1  ต้น  เพื่อนำมาวิเคราะห์และจดบันทึกรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับดิน  ข้าว  อย่างเช่น

             -  เกี่ยวกับดิน  ได้แก่  ค่า  pH  สภาพดินในจังหวะที่ตรวจสอบ  เป็นต้น

             -  เกี่ยวกับต้นข้าว  ได้แก่  อายุของต้นข้าว  ความสูงของต้นข้าว  การแตกกอ  จำนวนใบ  โรคของข้าวที่เกิดขึ้น  เป็นต้น

             -  เกี่ยวกับรากต้นข้าว  ได้แก่  ความสูงของรากต้นข้าว  ปริมาณของรากแก้ว – รากฝอย  ลักษณะของราก  สีของราก  เป็นต้น

             -  เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  ได้แก่  สภาพอากาศในจังหวะที่ตรวจสอบ  แมลงต่างๆ  เป็นต้น

ในระหว่างการเรียนและการทดลองนี้  นักเรียนชาวนาได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยการจดบันทึก  และการที่จะสามารถจดบันทึกข้อมูลได้อย่างมีรายละเอียดนั้น  นักเรียนชาวนาก็จะต้องรู้จักการสังเกต  การพิจารณาดูอย่างละเอียดและรอบคอบ  เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง  การเก็บข้อมูลในแต่ละครั้ง  จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า  ได้ข้อมูลถูกต้องแล้ว  หากไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจ  ก็จะขอให้เพื่อนนักเรียนช่วยเหลือ  อาศัยความร่วมมือจากกลุ่มเพื่อน  เพื่อช่วยกันเรียนรู้ 

             หลายครั้งด้วยกันในขณะที่นักเรียนชาวนาเก็บข้อมูลอยู่นี้  ก็เกิดข้อสงสัยและคำถามขึ้นมาอย่างมากมาย  ทั้งๆที่ทุกคนต่างก็คลุกคลีอยู่กับการทำนามาตลอดและทำนากันมานาน  แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้  หลายคนก็บอกว่า  ตนเองไม่เคยต้องสังเกตต้นข้าวอะไรมากมายไปกว่าถึงเวลาปลูกก็ปลูก  ถึงเวลาใส่ปุ๋ยก็ใส่ปุ๋ย  ถึงเวลาเกี่ยวก็เกี่ยว  แต่การเรียนรู้ในโรงเรียน      ชาวนานั้น  ทำให้นักเรียนชาวนารู้จักสิ่งใหม่ๆ  เพิ่มมากขึ้น  จากในเรื่องเดิมๆ 

เมื่อมีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ  ก็ใช้นำเสนอประเด็นต่อกลุ่ม  เพื่อให้กลุ่มช่วยกันคิดพิจารณาถึงสภาพของปัญหา  ทำให้การถามและการตอบเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันในกลุ่มไป  บางคนพอมีความรู้เดิมจากบรรพบุรุษเคยสั่งสอนมา  ก็นำข้อมูลเดิมๆในอดีตมาเล่าสู่กันฟังในเวลาใหม่  บางคนก็ไปได้ความรู้ใหม่ๆจากสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  ก็ดี  ฟังอ่านกันมาแล้วก็นำมาเล่าสู่กันฟัง  หลายคำพูดที่พูดแลกเปลี่ยนกัน  กลายเป็นข้อมูลให้กับเพื่อนนักเรียนชาวนาที่ใคร่จะเรียนรู้ได้รู้เรื่อง

             จำกันได้ว่า  เมื่อถึงคราวเข้าเรียนในชั่วโมงทดลองแล้ว  นักเรียนชาวนาต่างสาระวนอยู่กับต้นข้าวในกระถางของตน  บ้างก็รีบจะไปตรวจสอบค่า  pH  ตื่นเต้นที่จะรู้ว่าความเป็นกรดด่างของดินจากนาตนเองนั้นเป็นเท่าใด  แม้จะเคยวัดมาก่อนหน้านี้ในทุกๆสัปดาห์  บ้างก็รีบจะไปถอนต้นข้าวเพื่อเอามานับราก  นับใบ  เอาไม้บรรทัดมาวัดดูความสูงความยาวของต้น  ดูการแตกกอของต้นข้าว  แล้วก็จับกลุ่มนั่งจับเข่าคุยกันท่ามกลางความร้อนแรงของแสงแดดในเวลาเที่ยงบ่าย  หลายคนบอกว่า  ไม่ได้กลัวความร้อนหรอก  เป็นชาวนาสู้แดดอยู่แล้ว  แต่กลัวเรียนไม่ทันเพื่อนๆ  ...  นี่ซิ  กลัวยิ่งนัก  เดี๋ยวคนอื่นเขารู้เรื่อง  แล้วตัวเราไม่รู้เรื่อง  ก็ตามเขาไม่ทัน  สุดท้ายก็อายเขา  เพราะเขาพูดอะไรกันไปแล้ว  แต่เราไม่เข้าใจ  ตามไม่ทัน

             ทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือแนวความคิด  ซึ่งมีผลทำให้นักเรียนชาวนามีทักษะการเรียนรู้ที่ดีขึ้น  รู้จักการจดบันทึก  ในระหว่างการจดบันทึกนั้น  นักเรียนชาวนาจะค่อยๆ  เรียนรู้ไปเองว่า  ต้องไปสังเกตดูสิ่งใดมาก่อน  แล้วนำเรื่องราวหรือสิ่งที่ไปสังเกตดูนั้นมาเขียนจดลงไปเป็นบันทึก  ในขณะเดียวกัน  นักเรียนชาวนายังได้ใช้จังหวะเวลาดังกล่าวนี้  ฝึกทักษะภาษาไทยไปด้วยในด้วย  หลายคนทิ้งทักษะการเขียนมานาน  ก็ต้องมีรื้อฟื้นกันใหม่  มีทั้งสะกดผิดบ้าง  สะกดถูกบ้าง  นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่  แต่เรื่องใหญ่ก็คือ  ทักษะการเรียนรู้  หลายคนได้ฝึกเลขฝึกคำนวณ  เพราะต้องวัดความยาวความสูง  นอกจากนี้  นักเรียนชาวนาหลายคนยังสนุกกับการขีดๆ  เขียนๆ  วาดรูปต้นข้าวประกอบ  เพื่อให้ตนเองและผู้อื่นที่มาอ่านได้เห็นภาพประกอบไปด้วย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13870เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2006 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับรากต้นข้าว เช่น ความสูง ความต้องการธาตุอาหาร ดินแบบไหนปลูกข้าวแล้งใ้ผลดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท