สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี 4


ประธานอนุกรรมาธิการคุณธรรมและจริยธรรม

สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี

 

 

วิวัฒนาการของมาตรการความยุติธรรม

1. ความยุติธรรมคือการแก้แค้น

  ในสมัยแรกๆของมนุษยชาติจะพบหลักฐานทั่วๆไปว่าความยุติธรรมคือการแก้แค้น เช่น ถ้าญาติคนหนึ่งถูกรังแก ทุกคนในวงศ์ตระกูลจะต้องช่วยกันแก้แค้น มิฉะนั้นจะไม่ยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกรังแก วิธีแก้แค้นนั้นทำได้ตามใจ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหายให้มากที่สุดเป็นใช้ได้ หรือถ้าคนในเผ่าถูกฆ่าตาย ทุกคนในเผ่าถือเป็นหน้าที่จะต้องแก้แค้น เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้ตาย ความรู้สึกที่ว่าต้องรักษาความยุติธรรมในทำนองนี้ยังมีอยู่แม้ในสมัยปัจจุบันผู้รักษากฎหมายบ้านเมืองหย่อนสมรรถภาพ ณ ที่ใด ประชาชนจะจัดการกันเองตามความยุติธรรมแห่งการแก้แค้น ภาพยนตร์จีนที่ถือการแก้แค้นเป็นคุณธรรม (แค้นนี้ต้องชำระ) เป็นเรื่องของวรรณกรรมจีนที่เกิดขึ้นในบริบทดังกล่าว ผู้ชมพึงตระหนักถึงเรื่องนี้ และไม่ถือเอาเป็นตัวอย่างของคุณธรรมสำหรับคนในสมัยปัจจุบัน กฎหมายที่กำหนดให้ลงโทษเจ็ดชั่วโคตรก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้ ความยุติธรรมแบบนี้ไม่น่าพอใจ ชาวคริสต์จึงต้องแสวงหาความยุติธรรมที่สูงกว่านี้ดังที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกำชับไว้ว่า “ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา กลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน” (มัทธิว 5:23-24)

2. ความยุติธรรมคือการตอบโต้

ณ ที่ใดอารยธรรมก้าวหน้าพอสมควร ผู้มีอำนาจจะออกกฎหมายควบคุมการแก้แค้น เพราะเห็นว่าการปล่อยให้แก้แค้นกันเองตามใจชอบโดยไม่มีมาตรการควบคุมการแก้แค้นนั้นมักจะกระทำกันเลยเถิด ฝ่ายที่ถูกแก้แค้นก็จะรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับความอยุติธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องคุมพรรคพวกมาแก้แค้นให้สะใจ แก้แค้นกันไป แก้แค้นกันมาความเสียหายจะหนักขึ้นทุกทีจนล่มจมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อยับยั้งการทำลายกันเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมักจะออกกฎหมายควบคุมโดยห้ามการแก้แค้นกันอย่างเสรีเสีย แต่อนุญาตให้ตอบโต้กันได้อย่างยุติธรรมเป็นทางการ เช่น ใครเป็นฆาตกรก็ควรให้เขาผู้นั้นถูกฆ่าตายตามกันไป ใครทำให้แขนเขาขาดก็ควรถูกตัดแขนให้ขาดตามกันไป กฎหมายฉบับแรกของโลกซึ่งประกาศออกใช้โดยกษัตริย์ฮัมมูราบีเดินตามมาตรการยุติธรรมดังกล่าว ดังปรากฏในตัวบทกฎหมายว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นต้นกฎหมายของโมเสสที่ประกาศใช้ในคัมภีร์ไบเบิล ก็เดินตามมาตรการความยุติธรรมดังกล่าวด้วยมาตรการความยุติธรรมของชนชาติโบราณทั่วๆไป และของเผ่าที่ล้าหลังในปัจจุบันคงเป็นไปในทำนองนี้เป็นส่วนมาก ความยุติธรรมแบบนี้ยังไม่น่าพอใจ ชาวคริสต์จึงต้องแสวงหาความยุติธรรมที่สูงกว่านี้ ดังที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกำชับไว้ว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า ตาต่อตา และฟันต่อฟัน เราบอกท่านว่า อย่าต่อกรกับคนชั่ว” (มัทธิว 5:38)

 

3. ความยุติธรรมคือการชดใช้

ต่อมามนุษย์เราก็เริ่มเล็งเห็นว่า การตอบโต้โดยทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายทำผิดนั้นมิได้ทำให้ฝ่ายตอบโต้ดีขึ้นมาเลย เพราะของที่เสียไปก็เสียไปแล้วควรจะให้สิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ชดใช้สิ่งที่เสียไปจะดีกว่า เช่นนี้จะเป็นความยุติธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกทำร้ายมากกว่า ผู้มีอำนาจจึงวางมาตรการให้ปรับเป็นสิ่งของหรือเป็นจำนวนเงินขึ้น และเพื่อให้เข็ดหลาบก็มีการทรมานให้เจ็บปวดด้วย กฎหมายไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เดินตามมาตรการนี้ ความยุติธรรมแบบนี้ยังไม่น่าพอใจ ชาวคริสต์จึงต้องแสวงหาความยุติธรรมที่สูงกว่านี้

4. ความยุติธรรมคือการให้โอกาสป้องกันตัว

แต่เดิมฝ่ายที่ฟ้องเป็นฝ่ายได้เปรียบ ฝ่ายที่ถูกฟ้องแม้ไม่ได้ทำผิดก็มักจะแก้ตัวไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีการปรักปรำใส่ร้ายกันมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าการลงโทษโดยไม่ให้โอกาสจำเลยแก้ตัวนั้นไม่ยุติธรรม จึงได้มีการออกกฎหมายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ป้ องกันตนเอง และถ้าโจทย์ไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอ ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ดังมาตรการของศาลสถิตยุติธรรมในปัจจุบันที่ถือว่า จำเลยไม่ผิดเว้นแต่จะมีหลักฐานผูกมัดเพียงพอ การปรับปรุงการศาลของสมเด็จพระปิยะมหาราชทรงยึดเดินตามมาตรการนี้ และกฎหมายไทยยังยึดถือเป็นหลักมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ทั้งๆที่ความรู้ด้านอื่นก้าวหน้าไปมากแล้ว ผลก็คือผู้ร้ายได้ใจไปตามๆกัน นักเขียนการ์ตูน ประยูร จรรยาวงศ์ ล้อเลียนอยู่บ่อยๆว่ากฎหมายชราภาพความยุติธรรมแบบนี้ยังไม่น่าพอใจ ชาวคริสต์จึงต้องแสวงหาความยุติธรรมที่สูงกว่านี้ “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้” (มัทธิว 5:20)

5. ความยุติธรรมคือการเสวนา

ในสภาพปัจจุบัน นักแก้ปัญหาต้องไม่มองปัญหาอะไรเพียงด้านเดียว แต่จะต้องพยายามมองรอบด้าน เพื่อให้เกิดการเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์ตลอดจนตัวปัญหา และความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้จะได้หาทางสายกลางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ ในเรื่องของความยุติธรรมก็เช่นกัน จะระบุลงไปเป็นสูตรสำเร็จรูปไม่ได้ว่าอย่างไรจึงจะยุติธรรม ควรใช้วิธีการวิเคราะห์ปัญหาและพิจารณาส่วนได้ส่วนเสียจากทุกทาง เพื่อให้ทุกคนได้รับตามสิทธิของตน นี่คือความยุติธรรมแบบเสวนา แม้จะเสียเวลายุ่งยากมากแต่ก็ควรใช้เป็นหลักการที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมปัจจุบัน เสวนาเป็นการเจรจาเพื่อเข้าใจปัญหาความคิดเห็น ความต้องการและสถานการณ์เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีความจริงใจและบริสุทธ์ิใจต่อกัน ผิดกับการเจรจาเพื่อต่อรอง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมุ่งเรียกร้อง และรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ วิธีหลังนี้เกิดความยุติธรรมได้ยาก จึงควรฝึกการเจรจาแบบเสวนาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสวนาที่มีความเห็นใจและหวังดีต่อกันเป็นจุดเริ่มต้นเสวนาและตลอดเวลาเสวนา ความสามัคคีและความสงบสุขร่มเย็นจึงมีหวังเกิดขึ้นได้ในสังคมปัจจุบันของเรา ด้วยนิยามยุติธรรมจากการเสวนา เพื่อให้แก่แต่ละคนตามสิทธิจึงเรียกได้ว่ามีความชอบธรรม (justification) ชาวคริสต์จะต้องยกระดับความยุติธรรมให้ถึงความชอบธรรม อย่างที่พระเยซูตรัสไว้ว่า “ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เหตุว่าจะได้ความอิ่มหนำ” (มัทธิว 5:6)

 

หมายเลขบันทึก: 134214เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท