สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี 3


ประธานอนุกรรมาธิการคุณธรรมและจริยธรรม

สอนคุณธรรมชาวคริสต์อย่างไรให้ธำรงสามัคคี

ต้องมีคุณธรรมกี่ด้านจึงเรียกได้ว่าคนดีมีจริยธรรม

คุณธรรมอาจจะมีชื่อเรียกได้ต่างๆ นานามากมาย และอาจจะเพิ่มชื่อให้มากยิ่งๆขึ้นได้อย่างไม่จำกัด ความผิดเพี้ยนอาจจะขึ้นกับลักษณะต่างๆของการกระทำ ใครเป็นผู้ทำ ทำต่อใคร และทำอย่างไร ฯลฯ แม้ผิดเพี้ยนกันนิดเดียว ก็อาจจะตั้งชื่อให้โดยเฉพาะได้แล้ว

แต่นักจริยศาสตร์ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้นานกว่า 2 พันปี แล้วและเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ว่าคุณธรรมใด เรียกชื่อเป็นอย่างไร ต้องมีองค์ 4 เป็นองค์ประกอบเสมอ มีมากมีน้อยต่างกันไปตามชนิดของคุณธรรมว่าจะเน้นองค์ประกอบใด องค์ประกอบ 4 ดังกล่าวได้ชื่อว่าคุณธรรมแม่บท 4 ประการ หากขาดประการใดแม้แต่ประการเดียวจะกลายเป็นความประพฤติเลว และถ้าทำจนเคยชินก็จะกลายเป็นกิเลสไปทันที คุณธรรมทุกชนิดจึงได้แก่คุณธรรมแม่บทผสมผสานกันในอัตราส่วนต่างๆกันนั่นเอง เปรียบเหมือนสีที่อาจจะมีชื่อเรียกได้เป็นหมื่นเป็นแสนหรือเป็นล้านชนิด แต่จริงๆแล้วมีแม่สีอยู่เพียง 3 สีที่ผสมกันในอัตราส่วนต่างๆ ทำให้เกิดชนิดของสีที่แตกต่างกันได้ไม่รู้จบอย่างไรก็ตามแม่สี 3 กับคุณธรรม 4 ก็ยังมีความแตกต่างกันตรงที่ว่า แม่สีแต่ละชนิดแม้อยู่โดดเดี่ยวก็ยังเป็นสี คือ แดง น้ำเงิน เหลือง ต่างก็เป็นสีหนึ่งๆได้อย่างอิสระ หากเอาเพียง 2 สีใดก็ได้ผสมกันในอัตราส่วนต่างๆกัน ก็จะได้สีจริงมีชื่อเรียกต่างๆกันมากมาย ผิดกับคุณธรรมแม่บทเพราะแต่ละคุณธรรมหากอยู่โดดเดี่ยวก็จะได้ชื่อว่ากิเลส หรือมีคุณธรรมแม่บท 2 หรือ 3 ประการ ก็คงเป็นกิเลสอยู่นั่นเอง เพราะไม่ครบองค์ 4 คุณธรรมไม่ครบองค์ จึงอาจจะดูเหมือนว่าเป็นคุณธรรม แต่เสียศูนย์ และไม่อาจจะเป็นคุณธรรมได้ แต่ทว่าสำหรับคริสตชนคนใดก็ตาม อยากจะฝึกคุณธรรมใดให้เป็นคุณธรรมแบบคริสต์ (Christian Virtue) จำต้องเพิ่มอีก 3 องค์ประกอบอันได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก

คุณธรรมแม่บทของชาวคริสต์จึงได้แก่คุณธรรมแม่บท 7 ประการ ซึ่งถ้าขาดไปแม้แต่ประการเดียวก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่ามีจริยธรรมแบบคริสต์ อาจจะเป็นจริยธรรมแบบอื่นได้ถ้ามีอย่างน้อยคุณธรรมแม่บท 4 (ข้อ 4-7) คุณธรรมข้อ 1-3 เรียกว่าคุณธรรมคริสตชน

1. คุณธรรมความเชื่อ ได้แก่ความเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง เชื่อว่าพระบุตรมาเกิดเป็นมนุษย์ในองค์พระเยซูผู้ช่วยให้รอด เชื่อในพระจิต (พระวิญญาณบริสุทธิ์) และเชื่อในชีวิตนิรันดรหลังความตาย คุณธรรมใดที่ปฏิบัติโดยมีความเชื่อดังกล่าวอยู่เบื้องหลัง จึงเป็นคุณธรรมแบบคริสต์ มีผลทั้งระดับธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ความเชื่อของเจ้าได้ทำให้เจ้ารอด จงไปเป็นสุขเถิด” (ลูกา 7:50)

2. คุณธรรมความหวัง ได้แก่ความมั่นใจในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อผู้ปฏิบัติคุณธรรมว่าพระองค์ทรงประเมินคุณค่าให้อย่างเหนือธรรมชาติ “ขณะนี้ยังมีความเชื่อ ความหวัง และความรักอยู่ทั้งสามประการ” (1 โครินธ์ 13:13)

3. คุณธรรมความรัก ได้แก่ความรักเสียสละไม่หวังผลตอบแทนจากพระเจ้าและจากมนุษย์ที่เราเกี่ยวข้องในการปฏิบัติคุณธรรม ความรักดังกล่าวในชีวิตของชาวคริสต์จึงไม่ใช่ความรู้สึก แต่เป็นท่าทีประจำตัว เป็นแนวชีวิตที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติอย่างที่เซนต์พอลกล่าวว่า“เพราะความรักต่อพระคริสต์ครอบครองเราอยู่” (2 โครินธ์ 5:14)

4. ความรู้รอบ (Prudence, Practical Wisdom) ความรู้รอบ ที่เป็นลักษณะจำเป็นของความประพฤติดีนั้น มิได้หมายถึงการมีความรู้มาก “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” มีถมไป ความรู้รอบ จึงหมายถึง การเล็งเห็น หรือการหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติ อะไรไม่ควรประพฤติการแสวงหาความรู้มีส่วนช่วยให้เกิดความรู้รอบ แต่ทว่าความรู้รอบอันลึกซึ้งส่วนมากเกิดจากการคิดคำนึงและประสบการณ์ เหมือนหญิงฉลาดที่ได้รับเชิญไปรอรับเป็นเกียรติขบวนเจ้าบ่าว “หญิงโง่นำตะเกียงไป แต่มิได้นำน้ำมันไปด้วย ส่วนหญิงฉลาดนำน้ำมันใส่ขวดไปพร้อมกับตะเกียง”(มัทธิว 25:3-4)

5. ความเข้มแข็ง (Fortitude,Courage) ความเข้มแข็งทางกายภาพ ได้แก่ กล้าเสี่ยงความยากลำบาก อันตราย และความตาย เพื่ออุดมการณ์ ความเข้มแข็งทางจิตใจ ได้แก่ กล้าเสี่ยงการถูกเข้าใจผิด กล้าเผชิญการใส่ร้ายและการเยาะเย้ย โดยมั่นใจว่าตนทำดี “สทีเฟนเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน และความเข้มแข็ง” (กิจการ 6:8) และท่านก็ยอมรับความตายเป็นสักขีคนแรกที่ยืนยันไม่ยอมทรยศต่อบทบาทของพระเยซูว่า ทรงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทั่วไป

6. ความพอเพียง (Sufficiency,Temperance) สัตว์มีสัญชาตญาณกระตุ้นให้กระทำกิจการบางอย่างเพื่อการอยู่รอดของมันและเผ่าพันธุ์ เมื่อหมดความจำเป็นสัญชาตญาณนั้นก็หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ มนุษย์มีสัญชาติญาณเช่นเดียวกันแต่มนุษย์ยังมีความสำนึก สามารถสำนึกและปลุกสัญชาตญาณได้ตามใจ มนุษย์จึงมักจะใช้สัญชาตญาณเลยเถิดเกินความจำเป็นของธรรมชาติ จนบางครั้งปลุกสัญชาตญาณเพื่อความพึงพอใจเท่านั้น การไม่รู้จักควบคุมพลังในตัวให้อยู่ในขอบเขตของจุดมุ่งหมายของชีวิต มักจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากมากมายแก่ตัวเองและสังคม เมื่อคนคนหนึ่งใช้พลังเกินขอบเขตอย่างไม่ถูกต้อง ก็มักจะก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่น เช่น อยากสร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของตนและทายาท ก็จะหาวิธีสั่งสมสมบัติไว้มากๆ โดยวิธีไม่สุจริต เป็นต้น คุณธรรมความพอเพียงช่วยให้รู้ว่าอะไรควรอยู่ในขอบเขตแค่ไหน การไม่ใช้สัญชาตญาณเลยจะทำให้เป็นคนไร้พลังและไร้ประโยชน์ การใช้สัญชาตญาณเกินขอบเขต ก็มักจะก่อความเดือดร้อนจึงต้องฝึกให้รู้จักใช้พลังและสัญชาตญาณในขอบเขตอันควรในแต่ละสภาพและฐานะของบุคคล “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มัทธิว 5:3) ความพอเพียงได้แก่การเดินสายกลางระหว่างกิเลสที่ตรงกันข้าม เช่น ความเข้มแข็งเป็นทางสายกลางระหว่างความขี้ขลาดกับความบ้าบิ่น ความพอเพียงเป็นทางสายกลางระหว่างการขาดกับการเกิน ให้สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าทางสายกลางมิได้หมายถึงบวกกันหารสองหรือตัวกลางทางเลขคณิต แต่หมายถึงการเก็บแง่ดีจาก 2 ข้างที่เลยเถิด เพื่อดำเนินชีวิตให้สูงขึ้นๆเรื่อยไป ดังนั้นทางสายกลางจึงอยู่ระหว่างกิเลสที่ตรงข้ามกัน แต่อยู่คนละระดับกับกิเลส

7. ความยุติธรรม (Justice) ได้แก่ การให้แก่ทุกคนและแต่ละคนตามความเหมาะสม(giving each his due) ดังอริสโทเทิลได้นิยามไว้ นั่นคือว่าต้องรู้ว่าเรามีกำลังให้เท่าไร ควรให้แก่ใครเท่าไรและอย่างไร เช่น แก่ตัวเราเอง แก่บุคคลในครอบครัว แก่บุคคลในวงญาติ เพื่อนฝูง มิตรสหาย แก่บุคคลร่วมงาน แก่ผู้บังคับบัญชา แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ซึ่งทั้งนี้ย่อมต้องมีคุณธรรมความรู้รอบ ความเข้มแข็ง และความพอเพียงเข้ามากำกับด้วยโดยจำเป็น ความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่างดังที่เพลโทได้ให้ข้อสังเกตไว้ อาจจะกล่าวได้ว่า “คุณธรรมอื่นอาจเป็นเพียงแง่ต่างๆของความยุติธรรมนั่นเอง” ความยุติธรรมจึงเป็นแก่นหรือสารัตถะของคุณธรรมทุกชนิด ผู้ใดมีความยุติธรรมสูงย่อมเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมทุกอย่าง คุณธรรมบางอย่างอาจไม่ปรากฏออกมาให้เห็น เพราะไม่มีโอกาสจะแสดงออกมา แต่ถ้ามีโอกาสเมื่อใดก็พร้อมที่จะแสดงออกได้ทันทีอย่างถูกต้องเพียบพร้อม ผู้มีความยุติธรรมสูงจึงเป็นผู้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตัว สังคมที่มีความยุติธรรมย่อมเป็นสังคมที่สงบสุข เพราะทุกคนมั่นใจว่าตนเองจะได้รับสิทธิอันชอบธรรม หากมีผู้ใดละเมิดก็จะได้รับการลงโทษอันควรแก่โทษ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีใครอยากละเมิดโดยง่าย “พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ของของซีซาร์จงยืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงคืนให้พระเจ้าเถิด” (มัทธิว 22:21)

แต่น่าเสียดายที่ได้มีความพยายามนิยามความยุติธรรมเพื่อตอบสนองความเห็นแก่ตัวอยู่เนืองๆ จึงมีปัญหาที่ต้องขบคิดกันเรื่อยมาว่า อะไรคือความยุติธรรมที่เราจะต้องปฏิบัติในสังคมสมาชิกประเภทใดในสังคมควรได้สิทธิแค่ไหน ใครจะเป็นผู้กำหนด และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้ชี้ขาด จึงนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่นักจริยศาสตร์ด้านต่างๆ จะต้องช่วยกันขบคิดกันเรื่อยไป ในทุกยุคทุกสมัย ทุกเวลาและสถานที่ เช่น ในปัจจุบันกำลังมีปัญหาขบคิดกันว่าควรให้บุคคลมีทรัพย์สินเท่าไหร่จึงจะยุติธรรม การต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างจึงจะยุติธรรม การทำแท้งอย่างเสรีจะยุติธรรมต่อทารกหรือไม่ ใครควรเสียภาษีให้รัฐเท่าไรจึงจะยุติธรรม รัฐควรจะช่วยคนจนอย่างไรจึงจะยุติธรรม และไม่เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองเกียจคร้าน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 134213เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท