ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

Problem-Based Learning (PBL) ในการจัดการเรียนรู้วิชาเทคโนโลยีการศึกษา


"ครุปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2546" "เปิดประเด็น..การเรียนรู้ด้วยตนเองและคิดเป็น.."

     ทำอย่างไรนักศึกษาครูจึงจะรู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง?
     นี่เป็นคำถามที่ฉันถามตัวเองอยู่เสมอในยุคปฏิรูป และพยายามออกแบบการเรียนรู้ในรายวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบให้เน้นประเด็นนี้!

     ตั้งแต่เข้าร่วมขบวนการผลิตครูเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว  ความต้องการครูที่คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น  มีการพูดถึงกันมาก แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีการทำอะไรอย่างจริงจังจนได้ครูอย่างที่ว่า?!?

     พอปัญหาด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้นจนต้องประกาศการปฏิรูปการศึกษาเมื่อสี่ปีที่แล้ว  ฉันเริ่มมองเห็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  แต่เมื่อมาถึงวันนี้ก็พบว่าประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ ครูอาจารย์ส่วนใหญ่คิดไม่เป็น และบางคนไม่คิด งานสอนที่ปฏิบัติยังเป็นไปตามความเคยชิน  การปฏิรูปเป็นไปตามคำสั่ง  บอกให้ทำอะไรก็ปฏิบัติตามเหมือนหุ่นยนต์  ไม่ได้เกิดจากความคิดของตนเอง

     กลไกสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จคือ ครู   โดยครูต้องเปลี่ยนแปลง  แต่เราก็รู้ดีอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากการเป็นคนสำคัญที่สุดในชั้นเรียน มาให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนแทน 

     ฉันกล้าพูดว่า ครูที่เปลี่ยนยากที่สุดเห็นจะเป็นครูอุดมศึกษานี่แหละ  และที่หนักหนาสาหัสคือ ครูของครูที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นกลไกของการเปลี่ยนแปลง  กลับแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

     ผลลัพธ์ที่เกิดก็คือ เมื่อครูของครูคิดไม่เป็นหรือไม่คิด  นักศึกษาครูก็น่าจะเป็นเหมือนกับต้นแบบของตน  ซึ่งฉันไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น!  เพราะฉะนั้น ก็ต้องจัดการเปลี่ยนตัวเองในวิชาที่รับผิดชอบ

     ฉันเลือกที่จะนำ PBL มาใช้   และเมื่อตัดสินใจทำ   ก็ไม่ได้ค้นคว้าหรอกว่ามีใครทำบ้าง  ทำแล้วเป็นอย่างไร  เพียงแต่เคยมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างกว้างๆ และคิดเองว่าน่าจะใช้ได้   PBLของฉันกับของคนอื่นๆ จะเหมือนกันหรือไม่  ไม่ใช่สิ่งที่ฉันสนใจ   สำหรับฉันแล้ว  PBL เป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้แก้ปัญหามาตั้งแต่ยุคหินเพื่อการมีชีวิตรอด  ถึงอยู่ได้ไม่สูญพันธุ์จนทุกวันนี้   ฉะนั้นถ้าวางแผนดีๆ จัดระบบดีๆ  PBL ก็น่าจะใช้เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้แบบหนึ่งที่จะช่วยให้นักศึกษาครู เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองและคิดเป็น” ได้ 

     วิชาเทคโนโลยีการศึกษาที่ฉันรับผิดชอบร่วมกับเพื่อนครูอีกสองสามคน เป็นหนึ่งในกลุ่มวิชาชีพครูที่เราจัดการเรียนการสอนด้วยระบบกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2541  และมีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด   ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในระยะนั้น

     ฉันเริ่มการออกแบบวิชานี้โดยอิงแนวคิดของ PBL ผนวกกับระบบการเรียนการสอนแบบกลุ่มใหญ่  แล้วนำมาทดลองใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 กับนักศึกษาครูชั้นปีที่ 2  จำนวน 344 คน มีผู้จัดการเรียนรู้ที่เป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ 3  คน รวมทั้งตัวฉันเองด้วย  และอาจารย์ช่วยสอนซึ่งเป็นนักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 60 คน  เมื่อปรับปรุงและใช้อีกในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษาเดียวกันกับนักศึกษาครูชั้นปีที่ 1 จำนวน 346 คน ฉันใช้ผู้จัดการเรียนรู้ที่เป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ทีมเดิม และอาจารย์ช่วยสอนซึ่งเป็นนักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 จำนวน 48 คน

     การจัดการเรียนรู้ในวิชานี้ ฉันวางขอบเขตให้ประกอบด้วยแนวปฏิบัติหลัก 6 ประการคือ

  1. ใช้ Problem-Based Learning เป็นแกนในการจัดการเรียนรู้ โดยการกำหนดปัญหาที่ครอบคลุมผลลัพธ์การเรียนรู้ของวิชาเทคโนโลยีการศึกษาให้นักศึกษาครูหาหนทางแก้ไขและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
  2. ให้นักศึกษาครูใช้วิธีระบบ (System Approach) เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาและการจัดแผนการเรียนรู้ของตนเองในการจัดการกับปัญหาที่กำหนดให้
  3. นักศึกษาครูจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการคิดและเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Study)
  4. นักศึกษาครูจะเข้าร่วมกิจกรรมทั้งระบบกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย (Large & Small Group)  สำหรับการจัดการเรียนการสอนตามเวลาที่กำหนดในตาราง
  5. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาครูกับผู้จัดการเรียนรู้จะมีลักษณะของการให้คำปรึกษาแนะนำ (Supervision)  มากกว่าการสอน(Teach)
  6. การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาครูจะใช้ผู้ประเมิน 2 ฝ่ายคือ ผู้ประเมินภายใน (Internal Evaluator) ได้แก่ผู้จัดการเรียนรู้อย่างน้อย 2 คน และผู้ประเมินภายนอก (External Evaluator) ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์อย่างน้อย 1 คน และเป็นบุคคลที่นักศึกษาครูเป็นผู้เลือกเอง

     ปัญหาหลักที่กำหนดให้นักศึกษาครูสำหรับดำเนินการให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์แก่ตัวของเขาเองคือ
คุณจะทำอย่างไรให้ตนเองมีปรีชาสามารถ 5 ประการทางเทคโนโลยีการศึกษา?”  ในวิชานี้ได้กำหนดปรีชาสามารถ (Capability) ในทางเทคโนโลยีการศึกษาสำหรับครูยุคใหม่ไว้ว่าจะต้อง

  1. ใช้สื่อเทคนิควิธีได้อย่างเหมาะสม
  2. ใช้สื่ออุปกรณ์สมัยใหม่ได้อย่างถูกต้อง
  3. มีทักษะพื้นฐานในการผลิตสื่อวัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Officeได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ให้คำแนะนำในการซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบได้อย่างเหมาะสม
                            
    ในแต่ละปรีชาสามารถ นักศึกษาครูมีปัญหาที่จะต้องดำเนินการด้วยตนเองดังนี้
  • ทำอย่างไร ฉันจะสามารถจัดการเรียนรู้ 1 เรื่อง ให้แก่ผู้เรียน 1 กลุ่มโดยใช้สื่อประเภทเทคนิควิธี 1 รูปแบบได้อย่างถูกต้องตามหลักการและทฤษฎี?
  • ทำอย่างไร ฉันจะสามารถใช้สื่ออุปกรณ์สมัยใหม่ประเภทเครื่องฉาย  เครื่องเสียง  และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้องประเภทละ  2 ชนิด?
  • ทำอย่างไร ฉันจะสามารถเขียนตัวอักษรด้วยปากกาปลายตัดได้อย่างสวยงามและรวดเร็ว 1 รูปแบบ   วาดภาพการ์ตูนหรือภาพลายเส้นเหมือนจริงจากสิ่งที่พบเห็นได้อย่างสื่อความหมายโดยใช้เวลาไม่เกินภาพละ 60 นาที   และสร้างสื่อการเรียนรู้ประเภทวัสดุ 1 ชิ้นที่แสดงถึงทักษะการเขียนตัวอักษร  การวาดภาพ  การติด(ผนึกภาพ) การตัด และการใช้สีได้อย่างมีคุณภาพ?
  • ทำอย่างไร ฉันจะสามารถใช้โปรแกรม MS Word  MS PowerPoint และ  MS Excel ได้อย่างมีประสิทธิภาพ?
  • ทำอย่างไร ฉันจะสามารถแนะนำการซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบได้อย่างเหมาะสมกับการใช้งานของครู 1 คน ที่ทำหน้าที่การจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษา ระดับใดระดับหนึ่ง

     นักศึกษาครูจะต้องวางแผนจัดการเรียนรู้ให้ตนเองเป็นรายบุคคล โดยจัดลำดับปัญหาที่จะดำเนินการเองตามต้องการ  อาจจะเลือกจัดการปัญหาที่ง่ายหรือยากที่สุดสำหรับตนเองก่อนก็ได้  การเรียนรู้ที่จัดอาจจะเป็นการศึกษารายบุคคล หรือเป็นกลุ่ม ทั้งนี้ได้เสนอแนะขั้นตอนในการดำเนินการจัดแผนการเรียนรู้เชิงระบบให้แก่นักศึกษาครูเพื่อเป็นแนวทางดังนี้

  1. นำปรีชาสามารถทั้ง 5 รายการมาพิจารณา  ศึกษา วิเคราะห์ แล้วจัดลำดับการดำเนินงานแก้ปัญหา (Problem)
  2. ในแต่ละปัญหา  ให้ทำความเข้าใจโดยการวิเคราะห์ตนเองประกอบการพิจารณาผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดให้ในแต่ละปัญหา
  3. นำผลจากข้อ 2 มากำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตัวเองต้องการ โดยมีความเหมาะสมกับตนเอง  และสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่วิชานี้กำหนดกรอบไว้ให้ (Outcomes)
  4. กำหนดกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละผลลัพธ์ (Process)
  5. กำหนดปัจจัยที่จะใช้ในกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้น (Input)
  6. กำหนดวิธีการตรวจสอบและประเมินการเรียนรู้  (Feedback)
  7. เขียนแผนการเรียนรู้ของตนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุปัญหาและบอกสาระที่จะปฏิบัติตามองค์ประกอบเชิงระบบ

     การประเมินผลการเรียนรู้ในวิชานี้ แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 2 ส่วนคือ ความรู้ภาคทฤษฎี (20%) เป็นการสอบประมวลความรู้ในตอนปลายภาคเรียน และการแสดงปรีชาสามารถ (80%)  พิจารณาจากการที่นักศึกษาครูนำแผนการเรียนรู้ไปปฏิบัติจริง  โดยแสดงหลักฐานร่องรอยของกระบวนการดำเนินงาน  และผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ได้จัดแบบประเมินปรีชาสามารถทุกเรื่องไว้ให้นักศึกษาครูเพื่อศึกษาทำความเข้าใจก่อนการวางแผนจัดการเรียนรู้ของตน 

     ในการประเมินปรีชาสามารถแต่ละเรื่อง ฉันคิดว่าควรทดลองใช้วิธีการที่แสดงความยุติธรรมและโปร่งใสให้มากที่สุด จึงกำหนดให้มีผู้ประเมินจำนวน 3 คน  สองคนแรกคือผู้จัดการเรียนรู้ที่เป็นอาจารย์ช่วยสอน  เรียกเองว่าผู้ประเมินภายใน  ส่วนอีกคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติตรงตามปรีชาสามารถนั้นๆ โดยนักศึกษาเป็นคนเลือกเอง  เรียกว่าผู้ประเมินภายนอก   ซึ่งเท่าที่ผ่านมา วิชานี้ได้รับเกียรติจากคณาจารย์คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนประถมสาธิตและมัธยมสาธิตของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา และอาจารย์จากโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาหลายแห่งทำหน้าที่ผู้ประเมินภายนอกให้แก่นักศึกษา  และนักศึกษาก็พอใจกับการประเมินในลักษณะนี้

     วิชานี้จัดชั่วโมงให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียนเป็นกลุ่มใหญ่จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการปฐมนิเทศและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน ผลลัพธ์การเรียนรู้ และกิจกรรมที่นักศึกษาครูจะต้องรับผิดชอบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนวิธีเรียนจากการเป็นผู้รับฟัง และทำตามที่ผู้สอนต้องการ มาเป็นการคิดวางแผนการเรียนของตน และวิธีการที่จะทำให้ตนได้ผลลัพธ์ตามที่วิชานี้กำหนดไว้   การเข้าชั้นเรียนอีกสองครั้งเป็นการรับฟังหลักการและทฤษฎีที่เป็นความรู้พื้นฐานที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับปรีชาสามารถทั้ง 5 ประการ

     เวลาที่นอกเหนือจากนั้น นักศึกษาครูจะศึกษาด้วยตนเอง และพบกลุ่มเพื่อติดต่อรับคำแนะนำจากอาจารย์ช่วยสอน ประกอบด้วยการจัดทำแผนการเรียนของตนตลอดภาคเรียน การศึกษาค้นคว้าและฝึกทักษะที่ต้องการ  รับการประเมินปรีชาสามารถ และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถกำหนดเวลาและสถานที่เรียนรู้ได้ตามต้องการ

     ข้อมูลของวิชานี้ อาทิ แนวปฏิบัติ คำบรรยาย  แบบประเมินปรีชาสามารถ  ตารางแสดงผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาครูแต่ละคน  ฯลฯ  นักศึกษาครูที่ลงทะเบียนเรียนจะได้รับรหัสประจำตัวเพื่อสามารถติดตามดูได้ทางเวบไซด์ของสำนักการศึกษามวลชน  รวมทั้งสามารถตรวจสอบคะแนนของตนเองทุกปรีชาสามารถได้ตลอดเวลา

     ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้  ฉันได้ประเมินความคิดเห็นของนักศึกษาครูและอาจารย์ช่วยสอนเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ในวิชานี้เป็นระยะๆเพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสม  และพบว่าแม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักศึกษาครูและการปรับเปลี่ยนวิธีเรียนทำให้เกิดความสับสนอยู่บ้าง  แต่นักศึกษาครูทุกคนประเมินตนเองในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง การรู้จักคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบว่าเพิ่มขึ้นในระดับมาก 

     ดังนั้น  แม้ว่าการจัดการเรียนรู้ในวิชานี้จะมีเป้าหมายอยู่หลายข้อ   แต่ข้อสำคัญที่ฉันเปิดประเด็นกล่าวถึงในที่นี้คือ “การเรียนรู้ด้วยตนเองและ “คิดเป็น” นั้น  ฉันมั่นใจว่าทำได้สำเร็จเป็นอย่างดีเชียวล่ะ

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา#pbl
หมายเลขบันทึก: 12740เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชื่นชม เชียร์ และ ขอบคุณครับ
   โดนใจอยู่หลายบรรทัดครับ  เรื่องจริงที่น่าจะ ช้าไม่ได้อีกแล้วคือ แม่ปู ต้องจัดการตัวเองกันโดยด่วนแล้วล่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท