ระบบฐานข้อมูล Online เพื่อการประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย


สกอ.จัดให้มีระบบติดตามประเมินผล รวมถึงการจัดอันดับด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในระบบ online เพื่อประเมินศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย

จำได้ว่าอาจารย์วิบูลย์ได้เคยพูดถึงเรื่องการ Ranking มหาวิทยาลัยไทยมานานมากแล้ว  และเมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์วิบูลย์ก็ได้นำข้อมูลดังกล่าวที่จัดอันดับโดย  Ministry of Education SINGAPORE มาลงไว้ใน blog ให้เราได้ทราบกัน  โดยอาจารย์ยังบอกว่าในอนาคตอันใกล้ก็จะต้องมีหน่วยงาน/องค์กรในประเทศไทย  ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องทำในทำนองเดียวกันนี้อย่างแน่นอน  และแล้ววันนั้นก็มาถึง (แต่ไม่แน่ใจว่าจะใช่วันนี้ที่รอคอยหรือไม่นะคะ) 

เมื่อวานช่วงเช้าได้มีการเชิญประชุมซึ่งจัดโดยกองแผนงาน  โดยดิฉันก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย  
สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งหนังสือมายังมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง ระบบฐานข้อมูล Online เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีเอกสาร “โครงการระบบฐานข้อมูล online เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัย” แนบท้ายมาด้วย
โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเตรียมการในการจัดทำข้อมูลในเรื่องดังกล่าว  ซึ่งในที่นี้
จะขออนุญาตเล่าที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวอย่างคร่าวๆ นะคะ 

สกอ. แจ้งว่าจากการที่มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ  ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยไทย  ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อมหาวิทยาลัยไทยในเวทีสากล  และจะมีผลในระยะยาวตามมาอีกนั้น สกอ. จึงจัดให้มีระบบติดตามประเมินผล  รวมถึงการจัดอันดับด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในระบบ online เพื่อประเมินศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย  โดยย้ำว่าการประเมินศักยภาพมหาวิทยาลัยจะประเมินเฉพาะภาควิชา  สายวิชา  คณะวิชา  และสาขาวิชา ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย  ในปีแรกนี้จะเป็นเพียงการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อให้เห็นทิศทางและศักยภาพในด้านต่างๆ เท่านั้น  โดยขอบเขตการดำเนินงานจะครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาทั้งในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีการจำกัดจำนวนผู้เรียนต่อชั้นเรียนทั้งหมด  (ยกเว้นม.รามคำแหง และ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช  ที่ไม่มีระบบการสอบเข้าและไม่จำกัดจำนวนผู้เรียนต่อชั้นเรียน)

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยจะได้จากโครงการดังกล่าว  คือจะมีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันซึ่งมีประโยชน์ในการบริหารสถาบัน  เพื่อนำไปกำหนดทิศทางความเป็นเลิศ จุดเน้น (focus) เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละสถาบันรวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับศักยภาพและคุณภาพของผลผลิต  ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ความหลากหลายของสถาบันอุดมศึกษา  ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 9 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างคุณภาพระดับสากลและการพึ่งพาตนเองได้จากภูมิปัญญาไทย

JR_NUQA

หมายเลขบันทึก: 12731เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท