GotoKnow

อาสาสมัคร GotoKnow ?!?!

Conductor
เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2550 00:58 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 20:21 น. ()

ผมเลือกเขียนเรื่องนี้ ในบล๊อก "ตามใจฉัน" เพราะว่าบล๊อกนี้ มีสมาชิกรับเข้าแพล็นเน็ตไม่มากเมื่อเทียบกับบล๊อกอื่น แต่มีนักคิดตามอ่านอยู่มาก โดยดูจากคุณภาพของความคิดเห็นที่ปรากฏ 

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ

  1. GotoKnow มีบันทึกใหม่ระหว่าง 200-300 บันทึกทุกวัน มีความคิดเห็นอีก 800-1100 ความคิดเห็นต่อวันเช่นกัน ปริมาณความคิดที่หลั่งไหลออกมาจากบล๊อกเกอร์ ทั้งในบันทึกและในความคิดเห็น ดูจะมากเกินกว่าที่จะมีใครย่อยได้หมด จนมีสมาชิกใหม่บ่นหลายท่าน
  2. สมาชิกเก่าซึ่งคุ้นเคยกับแหล่งข้อมูลที่ตนชอบ ประสบปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งแม้วันนี้จะยังไม่มีท่านใดบ่นถึง แต่ด้วยปริมาณข้อมูลและความคิดมหาศาลแบบนี้ เป็นการจำกัดวงของการ ลปรร.โดยปริยาย
  3. ช่วงเวลาที่บล๊อกเกอร์เข้ามาใช้ GotoKnow ก็เป็นองค์ประกอบอีกอันหนึ่ง ซึ่งมีส่วนที่จะบอกว่าบล๊อกเกอร์ ลปรร.กับใคร ในช่วง peak ที่มีบันทึกและความคิดเห็นหลั่งไหลเข้า GotoKnow อาจมีความคิดหรือประเด็นดีๆ ที่มีประโยชน์ หลุดรอดไป

ถ้าเราจะทำให้ GotoKnow เป็นเครื่องมือสำหรับ Learn :: Care :: Share :: Shine แต่ปริมาณข้อความมีมากมายจนย่อยไม่ทัน มีทั้งความรู้ในทางลึกและในทางกว้าง ของดีๆ หลุดจอเรดาร์ไปหมดเพราะเราอ่านหมดไม่ไหว

จะดีกว่าไหมครับที่สมาชิกที่มีมุทิตาจิต ที่อ่านบันทึก+ความคิดเห็นอย่างหลากหลาย จะช่วยสมาชิกอื่น สกัดคัดกรองข้อความโดยการเลือกบันทึกและความคิดเห็นที่ดี (ตามความเห็นของตน) แล้วตีพิมพ์บทคัดย่อ/เรื่องย่อตามอัธยาศัยให้ท่านอื่นๆ อ่าน ไม่เน้นปริมาณ ไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องถี่ แต่เอาคุณภาพครับ ให้เด็ดจริงๆ

บทคัดย่อไม่ใช่บทคัดย่อตามบทความทางวิชาการครับ แต่เป็นแนวคิดสำคัญ เป็นประเด็นสำคัญ เป็นเนื้อหาสำคัญ ตัดตอนจากบันทึกหรือเขียนสรุปเองก็ได้ พร้อมทั้งลิงก์กลับไปยังข้อความต้นทาง

เขียนในลักษณะเล่าเรื่องก็ดีนะครับ ถ้าเป็นการเล่าเรื่อง สามารถค้นย้อนกลับไปในบันทึกเก่าๆ แล้วดึงประเด็นที่ดีออกมาได้ ใน GotoKnow Monitor มีเครื่องมือ "ค้นหา"  ที่ทำอย่างนี้ได้ดีครับ -- "Custom Search" ของ GotoKnow ในปัจจุบัน ค้นได้ทุกบันทึก ทุกความคิดเห็น ทุกเว็บที่อยู่ในเครือข่าย GotoKnow ครับ

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือชุดบันทึก "รวมตะกอนเด็ด วาทะเด่น ผลึกผล ทางการศึกษาไทย ใน G2K" ทุกๆ ตอนจากบล๊อกมิสเตอร์ช่วย ของ อาจารย์เม้ง สมพร ช่วยอารีย์Pซึ่งคุณสิทธิรักษ์P และอีกหลายๆ ท่าน ช่วยกันรวบรวมแนวคิด/ความคิดเด็ดๆ เอาไว้ในที่เดียวกัน ถ้าเจออย่างนี้เข้า ก็จะสะดวกสำหรับผู้ที่แสวงหานวัตกรรมหรือความคิดใหม่ๆ ทางการศึกษา ที่จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่สมาชิกได้แลกเปลี่ยนกันครับ

การใช้คำหลัก ไม่สามารถแยะแยะประเด็นที่ดีได้ แล้วก็ไม่ได้สื่อถึงความคิดเห็น บางทีคำหลักก็ไม่สื่อประเด็นของบันทึก การเลือกใช้คำหลักก็ไม่มีกฏเกณฑ์ -- แต่มีคำหลักใช้ดีกว่าไม่มีครับ

ทักษะ ประสบการณ์ ความสนใจ และความลึกซึ้งของสมาชิก GotoKnow มีไม่เท่ากัน เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร -- ถ้าหากไม่เป็นภาระจนเกินไปและท่านผู้อ่านคิดว่าไม่ได้เสียอะไรที่จะแลกเปลี่ยนใจความสำคัญที่ท่านเรียนรู้จาก GotoKnow (หรือเว็บไซต์อื่นๆ) และท่านมีกำลัง+เวลาพอ ผมอยากเชิญชวนมาทดลองทำแบบนี้กันครับ

เรื่องนี้มีอานิสงส์คือ

  1. เหมือนเป็นการจดข้อความเด็ดสำหรับตัวเอง เพียงแต่ว่าทำแล้ว ไม่ได้เก็บไว้ดูคนเดียว หากแต่แบ่งปันให้ท่านอื่นได้ใช้ด้วย
  2. หากข้อความนั้นมาจากบันทึกที่ไม่ค่อยมีผู้อ่าน ก็จะช่วยเพิ่ม hit rate และจำนวนความคิดเห็นให้กับเจ้าของบันทึก เป็นการสร้างกำลังใจให้กับบล๊อกเกอร์ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายให้กับเจ้าของบันทึกด้วย
  3. บางที การช่วยกลั่น/สรุปประเด็นให้ จะช่วยพัฒนาฝีมือการเขียนบันทึกและความคิดเห็น ให้มี precision ที่สูงขึ้น
  4. การทำอย่างนี้ ไม่ได้เป็นความพยายามที่จะทำลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างบล๊อกเกอร์ที่มีอยู่แล้ว หากแต่เป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงออกไปนอกวงความสัมพันธ์เดิมครับ ช่วยให้เรียนรู้-ได้เห็นแง่คิดมุมมองใหม่ๆ

วิธีการ/มาตรฐานในการทำ คงต้องปรึกษาหารือกันก่อนครับ จะดีที่สุดหากทำได้ใน GotoKnow เลย แต่ก็ไม่อยากรบกวนทีมพัฒนามากเกินไป ตอนนี้งานหนักมากครับ หนักมานานแล้ว

ถ้าสนใจ ติดต่อทางอีเมลครับ อย่างลืมบอกมาด้วยว่าเป็นท่านใด ใช้ชื่อบัญชีอะไรใน GotoKnow เพื่อที่ว่าผมจะได้ติดต่อกลับไปได้ครับ



ความเห็น

บางทราย
เขียนเมื่อ

เป็นความพยายามที่สมควรสนับสนุนมากครับ ขอบคุณครับ

Conductor
เขียนเมื่อ

ผมคิดถึงเรื่องนี้ เหมือนบันทึกที่มี "บรรณาธิการ" หลายๆ คนช่วยกันกรองครับ (หรือจะทำคนเดียวก็ได้) แต่ถ้าช่วยกัน คงจะกรองประเด็นได้ดีขึ้น แถมด้วยลักษณะ peer review โดยอัตโนมัติ

การมีบรรณาธิการหลายคน  ทำให้การคัดกรองประเด็น มี collective skill set ที่กว้างขึ้น ช่วยกันคัดสรร ช่วยกันกรอง ช่วยกันอ่าน ตัวบรรณาธิการเองก็ได้ สมาชิกอื่นก็ได้ด้วย

สวัสดีครับพี่

  • ผมชอบแนวคิดการเขียนประมวลสรุปบทความ ไว้ในบทสรุปของบทความมากเลยครับ เหมือนกับว่า peer review อย่างที่พี่บอกนะครับ โดยใครๆ สามารถจะรีวิวทั้งหมดได้ ในแต่ละบทความ เจ้าของบทความอาจจะรีวิวไว้ด้วยก็จะเป็นประโยชน์มากครับ
  • และควรจะมีการร่วมกันสรุปก็ได้ครับ อาจจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านอื่นๆ ได้ด้วยครับ เพราะในสรุปจะได้แนวคิดดีๆ จะเกิดประโยชน์มากขึ้น
  • ทำให้ึนึกไปถึง แนวทางของการประมวลผล Data  Mining เลยครับผม การทำเหมืองแร่ข้อมูล
  • ขอบคุณมากๆ ครับผม 
Conductor
เขียนเมื่อ

ในหลายกรณี คุณภาพของความคิดเห็นกลับดีกว่าคุณภาพของบันทึกเสียอีกครับ -- น่าเสียดายที่จะปล่อยให้ประเด็นเหล่านี้ ถูกกลบไปด้วยปริมาณข้อความมหาศาลของ GotoKnow และเว็บอื่นๆ

เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง เอาบันทึกหรือความคิดเห็นเป็นข้อมูล ถ้าอยากอ่านฉบับเต็ม ก็มีลิงก์กลับไปยังต้นทางให้ ไม่มีการขโมยซีน/ขโมยเครดิตของเจ้าของข้อความ

คุณ Bluebonnet ณ TX (ซึ่งตอนนี้อยู่ในอีกหน้าต่างหนึ่ง) บอกว่าถ้าทำอันนี้ได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับสมาชิกใหม่ด้วยครับ

Conductor
เขียนเมื่อ

ถ้า GotoKnow จะระดมทุนในอนาคต แทนที่จะ IPO เราพิมพ์ประเด็นสรุปขายเลยก็ได้ครับ (ถ้าเจ้าของข้อความยินยอม)

นอกจากหาทุนได้แล้ว เรายังสามารถเผยแพร่ GotoKnow ออกไปนอก Cyberspace ได้อีกด้วย -- มีคนอีกตั้งมากมายที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ถึงใช้ก็อาจไม่เคยมาที่นี่ ถึงเคยมาก็อาจจะงงกับความหลายหลายจนไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือว่าไม่อดทนพอจนจับหลักได้ครับ

นำตัวอย่างมาให้ดูค่ะ

http://monitor.gotoknow.org/reblog/?q=node/8

Conductor
เขียนเมื่อ

ตัวอย่างของวิธีการ 1.1 ตามบันทึกนี้ ที่นำเรื่องราวจากบันทึกเก่า 6 บันทึก มาผสมกับข้อมูลใหม่เพื่อสังเคราะห์เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง และแสดงออกมาในลักษณะการเล่าเรื่องครับ

บันทึก reblog หนึ่งเรื่อง เชื่อมโยงกลับไปสู่บันทึกเก่า 6 บันทึก ใน 4 บล๊อก ซึ่งเขียนโดยบล๊อกเกอร์ 3 ท่านครับ

  • ประเด็น: เครื่องแม่ข่าย GotoKnow
  • ข้อมูลประกอบ: ความเป็นมา+สถานการณ์ อ้างอิงบันทึกต้นทาง สามารถย้อนกลับไปตรวจสอบได้
  • คำหลัก: แตกต่างจากบันทึกต้นทางทั้งหก
  • เรื่องราว: แตกต่างจากบันทึกต้นทางทั้งหก

ของแปลกที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนอย่างแน่นอน!!!

Little Jazz
เขียนเมื่อ

Reblog ยังไม่เปิดให้ใช้หรือคะ ดูได้แต่ตัวอย่าง

Conductor
เขียนเมื่อ

โธ่ ยังสรุปไม่ได้เลยครับ ว่าจะใช้วิธีไหน หาทางออกอย่างไร

http://gotoknow.org/blog/tutorial4u/127121#381752 

Little Jazz
เขียนเมื่อ

อืมม์ ค่ะ อยากช่วยเหมือนกันแต่กลัวทำได้ไม่สม่ำเสมอ อ่านหมดทั้งสี่เรื่องที่คุณ Conductor เขียนมาแล้ว ถ้าพอช่วยได้ก็อยากจะสมัครด้วยคนค่ะ ^ ^

โอ๋-อโณ
เขียนเมื่อ
เรื่องที่เคยเขียนใน

บันทึกชุดนี้พอจะเป็นแบบที่ใช้ได้ไหมคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย