สกัดความรู้ใน GotoKnow - ทางเลือกที่หนึ่ง


อ้างถึงบันทึก อาสาสมัคร GotoKnow ?!?! และ รับสมัคร อาสาสมัคร สกัดความรู้ใน GotoKnow.org ซึ่งกล่าวถึงการช่วยกันเก็บเกี่ยวความรู้ที่มีอยู่มากมายใน GotoKnow นั้น ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่านที่อาสามาครับ ผมต้องขออภัยที่ยังไม่ได้ติดต่อกลับไปเนื่องจากคิดว่าควรจะเขียนอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทุกท่านเห็นภาพใหญ่ให้ชัดเสียก่อน

ในขณะที่เขียนนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการใดครับ

บล๊อกและเว็บล๊อกมาตรฐาน

คำว่าบล๊อก blog มาจากคำว่า เว็บล๊อก web log (->we blog); คำว่าเว็บล๊อก แปลตรงตัว หมายถึงการบันทึกลงเว็บ

บล๊อกมีความหมายแตกต่างกันสำหรับบล๊อกเกอร์แต่ละท่าน บางท่านใช้เป็นบันทึกประจำวัน บางท่านใช้เป็นโน๊ตส่วนตัว บางท่านใช้สำหรับสื่อสาร บางท่านใช้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่วนบางท่านก็ใช้เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่มีความสนใจในแนวเดียวกัน -- คงจะสรุปไม่ได้ว่าความหมายใดถูก เพราะบล๊อกเป็นเพียงเครื่องมือ ความหมายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ต่างหาก

การใช้งานบล๊อกบน GotoKnow ก็เป็นไปด้วยวัตถุประสงค์หลากหลาย

GotoKnow เกิดขึ้นมาด้วยการสนับสนุนของ สคส. และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผลักดันเรื่องการจัดการความรู้ (ผ่านเครือข่าย ข้ามข้อจำกัดของระยะทางและเวลา) ให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแรงในเมืองไทย

ซอฟต์แวร์ KnowledgeVolution ซึ่งเป็นรากฐานของ GotoKnow ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์นี้อย่างตรงประเด็น คือเปิดให้บล๊อกเกอร์เขียนบันทึก มีคำหลักให้ใช้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนในที่สุด ก็นำไปสู่ชุมชนปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ปลายทางที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบ KV กับซอฟต์แวร์ที่เป็นซอฟต์แวร์จัดการบล๊อกแบบอื่นแล้ว ยังขาดสิ่งที่เรียกว่า pingback และ trackback เพื่อเชื่อมโยงข้ามเครื่องแม่ข่าย (ไปยังบล๊อกที่อื่นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต)

คุณลักษณะนี้ อาจจะไม่มีความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของ GotoKnow แต่การที่ไม่มีคุณลักษณะทั้งสอง ก็ทำให้ GotoKnow ไม่มีเครื่องมือช่วยเชื่อมโยงความรู้ออกนอกระบบ -- ยังสามารถทำแบบ manual ได้ด้วยวิธีตัดปะ แล้วเขียนบอกแหล่งไว้ทั้งต้นทางและปลายทาง

ในมุมหนึ่ง การไม่มี pingback และ trackback ทำให้ GotoKnow เป็นเหมือนสังคมปิด โชคดีที่มีสมาชิกที่ขยันขันแข็ง มีเป้าหมายเดียวกันที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงมีปริมาณข้อความอยู่มากมาย สิ่งนี้กลับเป็นปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่ง คือความรู้+ประสบการณ์ที่เหล่าสมาชิกแลกเปลี่ยนกัน ซ่อนตัวอยู่ในปริมาณมหาศาลของข้อความใน GotoKnow ทั้งตัวบันทึกและความคิดเห็น 

ความรู้+ประสบการณ์เหล่านี้ เหมือนเป็นสิ่งมีค่าที่สมาชิกทำหายไป; เพราะถึงจะรู้ว่ามีอยู่บน GotoKnow (เหมือนคำกล่าวจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการจนถึงยุคก่อนยุคนิวเคลียร์ ว่าสสารไม่สูญหายไปจากโลก) แต่ก็หาไม่เจอ ใช้เครื่องมือค้นหา ก็เจอคำเดียวกันเต็มไปหมด ไม่สามารถแยกแยะคุณภาพออกได้ เรียกใช้ไม่ได้เมื่อต้องการจะใช้; คำหลักคำเดียวกัน ไม่สื่อความหมายอย่างชัดเจนเพียงพอ; หาก bookmark ไว้ ก็ใช้ได้คนเดียว เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเลือกสรรที่ผู้หนึ่งทำไว้แล้ว ไม่สามารถแบ่งปันให้สมาชิกผู้อื่นใช้ได้

เรื่องนี้เป็นที่มาของความคิดในการกลั่นความรู้ครับ

ทางเลือกที่หนึ่ง - ใช้ GotoKnow แบบที่เป็นอยู่

วิธีการ 1.1 ใช้คำหลัก Reblog

ข้อดี 

  • ไม่ยุ่งยาก มี learning curve ต่ำเนื่องจากเป็นการใช้งาน KnowledgeVolution (GotoKnow และเว็บไซต์อื่นๆ ที่ใช้ซอฟต์แวร์ KnowledgeVolution เช่นเดียวกับ GotoKnow) คือให้บล๊อกเกอร์ระบุคำหลักว่า Reblog
  • ไม่ต้องจัดเตรียมระบบสนับสนุนใหม่ ไม่ต้องแก้ไข KV เพียงแต่เพิ่มลิงก์เพื่อค้นคำหลัก reblog เข้าไปในเมนูที่หน้าแรก

ข้อเสีย

  • ควบคุมคุณภาพไม่ได้
  • ไม่มีลักษณะ peer review
  • เมื่อบันทึกที่สกัดความรู้ออกมา มีปริมาณมากขึ้น ก็จะไม่แตกต่างจากการที่มีบันทึกอยู่มากมายในปัจจุบัน คือหาอะไรได้ยากอยู่ดี

วิธีการที่ 1.2 ใช้แพลนเน็ตพิเศษ

ข้อดี

  • มีการคัดสรรบล๊อกเกอร์ ที่จะเขียนบันทึกสกัดความรู้ได้ เป็นกรณีเช่นเดียวกับแพล็นเน็ต unite ซึ่งสมาชิก GotoKnow รู้จักในชื่อ สคส.- สุดคะนึง - จตุรพลัง ที่ปรากฏอยู่ที่หน้าแรก แพล็นเน็ตนี้ มีสมาชิกที่มีฐานะเป็นบรรณาธิการ ซึ่งอาจเขียนบันทึกสกัดความรู้เอง หรือพิจารณาตีพิมพ์บันทึกที่สมาชิกอื่นส่งมาให้ก็ได้
  • รวมข้อดีของวิธีการที่ 1.1 ด้วย

ข้อเสีย

  • ยังไม่มีลักษณะของ peer review การตัดสินใจตีพิมพ์ ขึ้นกับการตัดสินใจของบล๊อกเกอร์ท่านเดียว ซึ่งเรื่องที่ตีพิมพ์ อาจไม่ใช่ความชำนาญพิเศษ
หมายเลขบันทึก: 127185เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2007 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท