ไปเยี่ยม “ขบวนการ” มังคุดที่นครศรีธรรมราช (1)


เรื่องการตลาด จะให้แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแก้ปัญหาในจังหวัดของตัวเองนั้น ทำไม่ได้แน่นอน

ที่จริง เราตั้งโจทย์วิจัยเรื่องมังคุดส่งออกตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว  (เพราะเพื่อนขอให้ช่วยทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับญี่ปุ่นสักเรื่อง)    ตอนนั้นมังคุดยังไม่มีปัญหาเรื่องราคา  แต่เราเพิ่งได้จังหวะลงไปดูเรื่องมังคุดเอาเมื่อตอนมีปัญหาพอดี

  

โจทย์ตอนนั้นมาจากท่านทูตไทยประจำญี่ปุ่น (ในครั้งนั้น)  ท่านสงสัยมากว่าทำไมทำตลาดมังคุดส่งออกไม่ได้สักที  ลงพื้นที่นครฯครั้งนี้ จึงเป็นการลงไปดูส่วนหนึ่งของขั้นตอนจาก  ไร่นาถึงโต๊ะอาหาร  (from farm to table)   เพราะเท่าที่รู้  ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยไหนที่ดูแลจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค   การผลิตดูแลโดยกระทรวงเกษตรฯ  การตลาด (มักเป็นเรื่องประกันราคา) ดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์     ช่วงต่อระหว่างผลิตกับขาย ดูเหมือนจะมีสหกรณ์การเกษตรภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯแทรกอยู่   แต่มักต้องทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายกระทรวงฯมากกว่าตอบสนองความต้องการของเกษตรกร 

  

ลงพื้นที่คราวนี้จึงได้คุยปัญหาเรื่องผลไม้ล้นตลาดกับเกษตรกรด้วย  (แต่ไม่ใช่โจทย์วิจัย) ในความคิดของเรา  การตลาดน่าจะแก้ได้โดยใช้ระบบเครือข่าย   สหกรณ์การเกษตรเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางที่สุดทั่วประเทศ (แต่ก็เป็นเครือข่ายที่อ่อนแอ)    จากการทำงานกับกลุ่มชาวบ้าน  เห็นอยู่ชัดๆว่า ภาคอีสานมีความต้องการผลไม้  และพอจะมีกำลังซื้อ  แต่กระบวนการขนส่งและการตลาดไทยกระจายไปไม่ถึง  หรือไปถึงด้วยราคาแพง 

  

 เราคิดง่ายๆว่า  กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตร ขอความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม (การรถไฟแห่งประเทศไทย)  ใช้เส้นทางรถไฟที่ท่านวิ่งอยู่แล้วแบบคนโหรงเหรง ช่วยขนส่งผลไม้สักตู้จากใต้ผ่านกลางไปอีสานหรือขึ้นเหนือ      ก็น่าจะช่วยกระจายผลผลิตได้  จุดรับผลไม้ก็คือ สหกรณ์การเกษตรทุกจังหวัดที่รถไฟวิ่งผ่าน  เที่ยวล่องอาจขนข้าวสาร หอม กระเทียม ที่ชาวใต้ต้องการลงมาแลกคืน (ตามฤดูกาล)   แต่แน่นอน  ต้องมีการวางแผนกันก่อน จึงจะทำเรื่องนี้ได้  แต่ก็ไม่น่าจะยากเกินกำลัง  ถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะทำ และทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   ปีนี้คงทำไม่ทัน  แต่ปีต่อๆไปน่าจะวางแผน และกันงบประมาณเอาไว้ได้  

เรื่องการตลาด  จะให้แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแก้ปัญหาในจังหวัดของตัวเองนั้น ทำไม่ได้แน่นอน  (เพราะ "ราคาตลาด" ถูกกำหนดมาจากกลไกการทำงานของการผลิตการบริโภคทั้งประเทศ) แต่ต้องช่วยกันเป็น "เครือข่าย" เช่นกัน    หากระดับกระทรวงลงมาช่วยไม่ได้ ก็ต้องสร้างเครือข่ายกันเอง   เช่น  ผู้ว่านครฯจับมือผู้ว่าภูเก็ตและกระบี่ที่มีนักท่องเที่ยวมาก  หาวิธีระบายสินค้าออกไป หรือไม่ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในสวน   การพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนในระดับจังหวัดน่าจะช่วยได้ (แบบที่ สกว.ฝ่าย 5 พยายามทำ)    

และการคิดว่า  ผลิตมังคุดนอกฤดูจะช่วยได้  ก็ไม่แน่อีก  ในแง่ตลาดแล้ว   มังคุดก็แข่งกับ ลองกอง เงาะ ทุเรียน   นักวิทยาศาสตร์อาจต้องช่วยดูว่า  ระหว่างสี่ชนิดนี้  จะ"หลีก" ชนิดไหนง่ายกว่ากัน   นอกจากนี้  การผลิตมังคุดนอกฤดู ก็มีโอกาสไปชนกับฝรั่ง แตงโม แอปเปิล  ได้เหมือนก้น  

ตลาดต่างประเทศเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการระบายสินค้า   ตรงนี้  ภาคเอกชนเขาพยายามกันอยู่แล้ว   รัฐเพียงแต่มีบทบาทหนุนเสริมในการเจรจาอุปสรรคทางการค้า (ถ้ามี) และสนับสนุนในเรื่องการทำสินค้าคุณภาพ  (ซึ่งผลไม้ไทยมีคุณภาพในระดับหนึ่งอยู่แล้ว) เรื่องการทำสินค้าคุณภาพและตลาดสินค้าคุณภาพคือโจทย์วิจัยที่คิดว่าจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 122040เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 02:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

    เห็นด้วยครับอาจารย์  ผมไปเมืองจีน (ทำ FTA กับไทย) ช่วงเดือนมีนาคม ร้านค้าผลไม้ที่โน่นมีผลไม้ไทยชนิดเดียวที่วางขาย คือ มังคุด

    การรถไฟบ่นขาดทุนตลอด ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน  ต้องร่วมมือกันครับ ...

สวัสดีครับอาจารย์

     ผลไม้สด จะมีปัญหามาก หากแปรรูปเป็นมังคุดกวน ก็คงขายได้แต่ในบ้านเรา เปลือกมังคุดยังเป็นความหวังของชาวสวนมังคุด หากช่วยกันศึกษาถึงคุณสมบัติ วิธีการแปรรูปเปลือกมังคุด น่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าขายมังคุดสด

    

        สวัสดัครับอาจารย์

             ทฤษฎีที่อาจารย์ว่าเกิดมานานหลายปีแต่ทำไม่สำเร็จจสักทีเป็นเพราะอะไรคงทราบดี(คน+เงิน)ตอนนี้ลองกองที่ยะลาขายตลาดเสรีกิโลละ 5บาทแต่เข้าระบบศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนโดยความร่วมมือของกรมการค้าภายในกระจายไปตามจังหวัดต่างๆยกเว้นกรุงเทพฯราชบุรี นครปฐม ราคากิโลกรัมละ 20บาทเบิกค่าขนส่งจากกรมการค้าภายในได้อีกต่างหากกมละ9บาทแต่เป็นเป็นตลาดกล่อง(ส่วนใหญ่จะใช้ตะกล้า)

ขอบคุณทุกความเห็นที่เป็นประโยชน์ค่ะ

กรณีของการขนส่งทางรถไฟนั้น  รถไฟต้องวิ่งอยู่แล้ว (โดยเฉพาะถ้าบรรทุกไม่เต็มขบวน) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเรื่องการขึ้นลงสินค้า  ค่าใช้จ่ายไม่ถึงกิโลเมตรละ 9 บาทแน่   ส่วนหนึ่ง กรมการค้าภายในโอนเงินให้การรถไฟโดยตรงเป็นหน่วยงานต่อหน่วยงาน  ไม่ต้องผ่านหลายมือไม่ทราบจะเป็นไปได้หรือไม่ การรถไฟเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย

คิดๆฝันๆ  เมืองไทย ต้นทุนการจัดการ"คน" ให้อยู่ในกติกา สูงมาก  ไม่รู้รักชาติกันแบบไหน

 

        สวัสดีค่ะอาจารย์

     อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้ว ตรงใจมากค่ะเพราะว่ามีอยู่วันหนึ่งไปร่วมประชุมกับหน่วยงานหนึ่งและเขาเชิญนักวิชาการมาบรรยายและเขาพูดถึงกรณีมังคุดราคาถูกที่นครกับปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก และมีการกระทบถึงหน่วยงานแบบ พอช ที่ดูเหมือนว่าทำงานกับเครือข่ายทั่วประเทศ แต่ทำไมไม่คิดแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในเรื่องนี้ และบอกว่าแสดงว่าเครือข่ายที่มีอยู่ไม่เข้มแข็งจริง  ซึ่งต้องยอมรับความจริงแบบที่อาจารย์ว่า   ในเรื่องนี้ภาคชุมชนได้เคยดำเนินการมาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ  มีปัญหาเรื่องการจัดการ  ความสื่อซัตย์เรื่องการเงิน และไม่มีประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ  ในปีต่อไปคงได้มีโอกาสแก้ตัวใหม่ ไม่ทราบว่าเครือข่ายเพื่อน เสี่ยว เกลอ ได้มีการดำเนินการมั้ยค๊ะ    

สวัสดีค่ะคุณพัช

ไม่ได้คุยกันเสียนาน  สบายดีนะคะ

เห็นใจคนขับเคลื่อนงานค่ะ  มันมีปัจจัยมากมายที่คนทำงานควบคุมไม่ได้ และกลับถูกควบคุมโดยกติกาบางอย่าง   แต่ดูเหมือนคุณพัชยังมีพลังอยู่มาก  เป็นกำลังใจให้นะคะ

ภาควิชาการก็พูดก้นไปตามหลักการ  ข้อจำกัดในการมอง การพูดน้อยกว่านักปฏิบัติเยอะ  ที่จริงอยากสะท้อนให้ผู้กำหนดนโยบายที่มีอำนาจสั่งการในระดับบนๆได้เข้าใจมากกว่า   คิดว่ากระบวนการงบประมาณก็เป็นข้อจำกัดสำคัญของการทำงาน

เพื่อนเสี่ยวเกลอก็ยังพยายามกันอยู่ค่ะ  เห็นความตั้งใจของกลุ่มชาวบ้าน   แต่ก็เหนื่อยใจกับความยืดหยุ่นในการทำงานที่ดูจะสูงเกินไปสักนิด   ได้แลกผลไม้กับปลาแห้งตัวเล็กๆ ระหว่างพื้นที่ในนครฯด้วยกัน   และได้ข้าวสารมาจากโคราชด้วย  แต่ช่วงที่ผลไม้ออกมาก กลับหารถจากนครฯวิ่งขึ้นกรุงเทพฯและโคราชไม่ได้  หาตะกร้าขนไม่ได้

สำหรับเพื่อนเสี่ยวเกลอเอง  การวางแผน การเตรียมการ และการประสานงานก็สำคัญมากคะ   "ผิดแผน" ก็มีอยู่บ่อย

ปีหน้าก็ต้องลองกันใหม่เหมือนกัน  ถ้าได้ร่วมมือกันก็คงดีนะคะ

โชคดีค่ะ 

 

 

ตอนนี้มีวิธีที่จะนำเปลือกมังคุดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รึยังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท