ขอความเห็นสำคัญจากสมาชิก GotoKnow ครับ -- เรื่องนี้ทางผู้พัฒนา ผู้ดูแล และ สคส. (เจ้าของ) ไม่ได้รู้เห็นกับข้อความเหล่านี้เลยและอาจไม่เห็นด้วย แต่การเขียนบันทึกบน GotoKnow ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใคร ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ พิจารณาเอาเอง
เรื่องของเรื่องก็คือ
1. Funding model ของ GotoKnow Learners Researchers และ Volunteers ไม่ยั่งยืน!
การทำให้ GotoKnow และเว็บไซต์ข้างเคียง เปิดให้บริการอยู่ได้นั้น จำต้องอาศัยปัจจัย หลักๆ เป็นค่าจ้าง ค่าเครื่องแม่ข่าย และค่าใช้จ่ายเพื่อเปิดบริการบนอินเทอร์เน็ต
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นส่วนที่ สคส.และพันธมิตรที่ปรากฏนามด้านท้ายของทุกหน้า ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มขึ้น GotoKnow และเว็บไซต์ในเครือข่ายขึ้นมา ตลอดจนผลักดันจนประสบผลสำเร็จขนาดนี้ เป็นผู้รับภาระ
เม็ดเงินเหล่านี้ มาจากเงินงบประมาณซึ่งไม่สามารถจะสรุปได้ว่าจะมีอย่างต่อเนื่องตลอดไป จะเกิดอะไรขึ้นหากกระแสเงินนี้ หยุด หรือชะลอลง
เงินที่ใช้ในการให้บริการ GotoKnow ในขณะนี้ ผิดเพี้ยนต่ำกว่าค่าบริการในเชิงพาณิชย์มากด้วยการสนับสนุนหลายอย่างจากภาคเอกชน แม้ยังไม่เห็นแนวโน้มใดๆ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้สนับสนุนเปลี่ยนนโยบาย (หรือเปลี่ยนตัวผู้บริหาร)
GotoKnow และเว็บในเครือข่าย จะยังดำเนินการอยู่ได้หรือไม่
2. การพัฒนาระบบงานเป็นคอขวด!!
ในขณะนี้ อาจารย์ธวัชชัยเป็นผู้เดียวที่พัฒนาโปรแกรม KnowledgeVolution (KV) ซึ่งเป็นควบคุมการทำงานของ GotoKnow และเว็บในเครือข่าย แม้ในขณะนี้ จะได้ผู้ช่วยมาเพิ่ม แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ จึงจะเข้าใจความซับซ้อนของระบบงานทั้งหมด
ปัญหาใหญ่คือ KV พัฒนาด้วย Ruby on Rails (RoR) ซึ่งมีผู้ที่สามารถเขียนได้น้อยมากในเมืองไทย และยิ่งกว่านั้น ผู้ที่สามารถเขียนได้ ก็ไม่ได้ช่วยกันพัฒนา KV ต่อไป ทำให้เกิดความเสี่ยงซึ่งเรียกว่า Single point of failure
RoR เป็นเหมือน script ซึ่งสามารถประมวลผลตัวหนังสือได้ดี ทำงานร่วมกับฐานข้อมูลได้เยี่ยม และสามารถพัฒนางานได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำงานได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ซึ่งสร้างปัญหาในข้อถัดไป
ครอบครัวปิยะวัฒน์ กำลังจะมีสมาชิกใหม่ มีเรื่องที่ต้องทำอีกมากมาย ผมคิดว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่จะผลักปัญหาของ GotoKnow ไปให้อาจารย์ทั้งสองท่านนะครับ อาจารย์ท่านอาจจะยินดีและไม่เคยบ่น ซึ่งเรื่องนี้ก็พิสูจน์มาสองปีตั้งแต่ GotoKnow เริ่มต้น แต่เพราะอาจารย์เป็นคนดี สมควรแล้วหรือครับที่เราจะล้มทับต่อไปเรื่อยๆ
ดังนั้น หากเป็นไปได้ สมาชิก GotoKnow ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของเรามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
3. เครื่องแม่ข่ายมีกำลังไม่พอ!!!
GotoKnow ตกเป็นเหยื่อความสำเร็จของตัวเอง กล่าวคือกำลังในการประมวลผลที่ต้องใช้ เป็นสัดส่วนกับ hit-rate เนื่องจากบันทึกและความคิดเห็นบน GotoKnow เป็นสิ่งที่มีค่า จึงถูกอ้างอิงบ่อยมาก ทำให้อันดับของ GotoKnow เลื่อนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากสำหรับ search engine และยิ่งทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเข้ามาอ่านมากขึ้น ทำให้ hit-rate สูงขึ้น และเครื่องแม่ข่ายต้องการกำลังการประมววผลมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
เมื่อกลางปีที่แล้ว GotoKnow อยู่ที่สหรัฐ ใช้เครื่องแม่ข่ายเครื่องเดียว ในไตรมาสสุดท้ายของปี ได้ย้ายกลับมาเมืองไทยโดยใช้เครื่องแม่ข่ายสามเครื่อง -- เมื่อย้ายมาอยู่ในประเทศ ประกอบกับศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) ปล่อยข้อมูลด้วยแบนด์วิธไม่จำกัด ทำให้การเข้าถึงรวดเร็วกว่าตอนอยู่สหรัฐมาก -- ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่เคยพบมาแล้วเมื่อตอน pantip.com และ sanook.com ย้ายกลับมาเมืองไทย ก็มาอยู่ในศูนย์ข้อมูลเดียวกันนี้
ในไตรมาสที่สองของปีนี้ สคส.ได้เพิ่มเครื่องแม่ข่ายขึ้นอีกสี่เครื่อง รวมเป็นเจ็ดเครื่อง การเข้าใช้งาน GotoKnow เพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น
แต่เมื่อข้ามมาถึงต้นไตรมาสที่สาม จำนวน hit-rate ก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแล้วเมื่อเทียบกับ hit-rate ช่วงสิ้นปีที่แล้ว ดังนั้นกำลังของเครื่องแม่ข่ายที่ได้มาเพิ่มอีกเท่าตัว ก็ได้หมดลงแล้ว หาก GotoKnow จะรับปริมาณการใช้งานที่มีแต่ละเพิ่มขึ้นทุกวันได้ต่อไป ในขณะนี้ไม่มีทางออกอื่น นอกจากจะเพิ่มเครื่องแม่ข่ายขึ้นอีก คำถามที่หนักกว่านั้นคือ เพิ่มไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่จะพอ
เครื่องแม่ข่ายทั้งเจ็ดที่เรียกว่า GotoKnow นี้ ทำงานเป็น Learners.in.th Researchers.in.th และ Volunteers.in.th ไปพร้อมกันทั้งสี่ไซต์ครับ ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรกับไซต์ใดไซต์หนึ่ง ก็จะกระทบกับที่เหลืออย่างช่วยไม่ได้
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ หมายความว่าอย่างไร
- สังคม GotoKnow ควรตระหนัก ว่าวันนี้เรามีความสุขสนุกสนานอยู่บนความเสี่ยงอะไร การหวังว่าจะไม่ีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับ GotoKnow โดยไม่เข้าใจความเป็นจริง และไม่เตรียมหาทางป้องกันไว้นั้น ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย
- ผมเลือกที่จะเขียนบันทึกนี้ ในบล๊อก "ตามใจฉัน" ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้ใช้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่ เพราะ "ตามใจฉัน" มีผู้อ่านน้อยกว่าบล๊อก "วงนอก" แต่เป็นนักคิดที่มีเครือข่ายกว้างขวาง; ที่ไม่เขียนเรื่องนี้เองใน "วงนอก" ซึ่งขึ้นไปที่หน้าแรกของ GotoKnow ก็เป็นเพราะเกรงว่าสมาชิก/ผู้ใช้ที่ไม่เข้าใจ จะตกใจจนเกินเหตุครับ
-
หากจะหยิบประเด็นไปขยายเป็นข้อความที่คนทั่วไปเข้าใจได้ ก็จะขอบคุณมากครับ; ขอความกรุณาเขียนต่อเป็นข้อคิดเห็นด้วยว่าเปิดบันทึกใหม่ไว้ที่ไหน
- ลดภาระของ GotoKnow อย่า refresh โดยไม่จำเป็นครับ ให้ใช้ GotoKnow Monitor แทน
- เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเทคนิค แต่ที่จริงแล้วคือเรื่องที่กระทบต่อทุกคน ไม่ว่าจะ [เข้าใจ|ตั้งใจ|สามารถ] ช่วยได้หรือไม่
- ผมเป็นสมาชิก GotoKnow เช่นเดียวกับทุกท่าน ไม่ได้ทำงานให้ สคส. หรืออยู่ในทีมพัฒนา/ดูแล GotoKnow นะครับ
คุณเม้ง: ขอบคุณคุณเม้งในฐานะ beta tester ของ GotoKnow Monitor นะครับ
โปรแกรมนี้เริ่มเขียนตั้งแต่เครื่องแม่ข่ายแสดงอาการว่าอาจจะไปไม่ไหว (ผมเฝ้าดูสถิติิอยู่) ก็เลยต้องหาวิธีส่งข้อมูลที่สังเกตจากพฤติกรรมการใช้งาน ตามที่ปรากฏใน log file และสถิติต่างๆ ให้กับผู้ใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเรียกดู เพื่อลดการ refresh ครับ
อ.ธวัชชัย ก็ชอบ จนในที่สุดได้อนุญาตให้ใช้ชื่อ monitor.gotoknow.org (ต่อไปจะมี monitor.learners.in.th monitor.researchers.in.th และ monitor.volunteers.in.th) และสามารถขยายคุณลักษณะการทำงานโดยไม่ต้องเขียนเป็น RoR ได้ครับ เครื่อง monitor นี้ ไม่รวมอยู่กับเครื่องแม่ข่ายเจ็ดเครื่อง และจะสามารถลดภาระเครื่องแม่ข่ายได้มาก
คิดว่าเมื่อว่าง ก็จะเพิ่มการเตือนภัยธรรมชาติ สภาวะอากาศ และการเตือนภัยในระดับภูมิภาคลงไปด้วย (OpenCARE)
อ.แป๋ว: เรื่องของการระดมทุน ก็เป็นเรื่องน่าคิดครับ ถึงแม้เราจะสมมุติว่า สคส. หรือหน่วยงานอื่นให้การสนัีบสนุน GotoKnow ตลอดไป แต่พวกเราผู้ใช้ ก็ควรทำอะไรบ้างเท่าที่ทำได้ ใช่ไหมครับ
ผมคิดว่าโฆษณาไม่ได้เลวร้าย แต่ถ้าโฆษณานั้นให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้ แล้ว GotoKnow ได้เงิน ก็จะยิ่งดีครับ; เพียงแต่ว่า GotoKnow เป็นภาษาไทย ไม่ค่อยมีโฆษณาที่ target เมืองไทยครับ; ดังนั้น ถึง GotoKnow จะได้เงิน แต่ผู้ใช้ไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่ตรงกับความสนใจครับ
เรื่องโฆษณานี่ คงต้องแล้วแต่ สคส. (เจ้าของ GotoKnow)
ผมยกเรื่องนี้มา ไม่ได้อยากให้คุยกันเรื่องเงินเป็นหลักนะครับ แต่อยากให้สมาชิกและผู้ใช้ ใช้งาน GotoKnow อย่างคุ้มค่าที่สุด อย่าให้เครื่องทำงานโดยที่เราไม่ได้อะไรเพิ่ม (อย่า refresh)
คุณไพศาล: ผมคิดว่าเป็น bullet ที่สามครับ ประเด็นที่ยกไว้สามข้อในบันทึกก็เป็น facts นะครับ ทุกท่านใน UsableLabs ก็พยายามแก้ปัญหาอย่างอดทนตลอดมา แต่ภาระเฉพาะหน้าซึ่งก็หนักหนามากนะครับ
ดังนั้นพวกเราผู้ใช้ หากช่วยแบ่งเบาได้บ้าง ก็ควรจะเริ่มทำกันเลย โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นเสียก่อนครับ
สถานการณ์ของ GotoKnow เหมือนรูปสองรูปที่ใส่ไว้ในบันทึกเป็นรูปคนนั่งทับระเบิดครับ ถ้าเขาคิดว่ามันจะระเบิดก็คงไม่นั่ง แต่นั่นคือระเบิด ไม่ใช่เก้าอี้นะครับ
เรื่องกำลังของเครื่องแม่ข่ายที่ไม่พอ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด อาจารย์ธวัชชัย รับบล๊อกนี้เข้าไว้ในแพลนเน็ต ถ้าว่างบางทีอาจแวะมาให้ความเห็นครับ แต่ผมคิดว่าอาจารย์ไม่พูดเรื่อง funding แน่เลยครับ
เมื่อเย็นโทรไปคุย ต่างก็รู้ว่ากำลังเครื่องแม่ข่ายไม่พอ แต่ก็ไม่มีคำตอบว่าจะหาเครื่องแม่ข่ายมาเพิ่มได้อย่างไร ถ้าคนมีความรู้ช่วยกันเสนอ spec เครื่อง คนอื่นๆ ช่วยกันหาราคา/แหล่งซื้อ ตามรุ่นที่สรุปออกมา ก็ช่วยได้บ้างครับ เราแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ถ้าเริ่มต้นด้วยเงื่อนไข
ไม่ทราบท่านผู้อ่าน จำนิยามเรื่อง 3 คุณลักษณะ + 2 เงื่อนไข ที่ว่า ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว + เงื่อนไขความรู้ และ เงื่อนไขคุณธรรม ได้ไหมครับ คราวนี้แหละ จะเป็นบททดสอบที่ดีว่าเราประยุกต์ใช้ปรัชญานี้ได้ดีแค่ไหน
ถ้าเราจะสอบผ่านนะครับ ก็ต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช่ตามแก้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วครับ
ผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพสมาชิก GotoKnow และเชื่อในสังคมเล็กๆ ของเราว่าไม่ทิ้งกันอย่างแน่นอน
อืมม?
ผมเองก็เคยคุยเรื่องนี้กับ bloggers ที่ใช้งานประจำอยู่
ทราบดีว่าทุกคนเป็นห่วง ตั้งแต่เริ่มมีอาการแกว่งเสียศูนย์ของ gotoknow ปรากฏ
ผมว่ามันเป็นภาระที่ร่วมกันรับผิดชอบ! ในฐานะผู้บริโภคร่วม
เคยคิดกันหลายอย่างครับ
ประการแรกผมว่าควรมีการหารือกัน ในกลุ่มที่สามารถคิดและรับผิดชอบร่วมกันได้ในเรื่องของทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ใช่คิดกันคนละทาง แล้วนำไปใช้ไม่ได้ เปลืองพลังสมองครับ
สอง ผมเห็นด้วยว่า ไม่ช้าหรือเร็ว ต้องเพิ่มศักยภาพของgotoknow แน่นอน ทั้งบุคคลและ Hardware แน่นอนต้องใช้เงินครับ ซึ่งจะมีวิธีการหาคนและหาเงินอยู่หลายรูปแบบ
- ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ
- ระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นกองทุน
- จัดวิธีหาเงินเฉพาะกิจ เช่นจัดงานหาเงินในรูปแบบต่างๆที่สมาชิก gotoknowมีส่วนร่วม
- จัดให้มีระบบโฆษณาใน gotoknow เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะมีผลกระทบอื่นๆตามมาภายหลังมาก
สาม ระบบบริการฟรีอย่างนี้ ทำได้เพียงระยะหนึ่งหรือมีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขของสมาชิกและวิธีการใช้ ซึ่งไม่ช้าก็เร็วต้องยุติไปครับ เพราะไม่สามารภให้บริการได้ โดยเฉพาะการที่มีอัตราความนิยมใช้งานเติบโตเร็วมากอย่าง gotoknow คงต้องมีระบบเก็บเงินจากผู้ใช้บริการครับ อาจเป็นเรื่องของเงื่อนไขการใช้พื้นที่และการบริการที่มีอัตราแตกต่างกัน เช่นพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล การตกแต่งด้วยกราฟิก เพลง ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น
สี่ให้ดร.ธวัชชัย จัดตั้งพรรคการเมือง เมื่อได้จัดตั้งรํฐบาลแล้ว อนุมัติงบประมาณมาสนับสนุน :)
แฮ่! ตอนนี้คิดออกได้เท่านี้ครับ
เรื่องพื้นที่ที่ GotoKnow ให้นั้น ผมเข้าใจว่าเป็นส่วนของไฟล์อัลบั้มต่อสมาชิก แต่ว่าจำนวนบล๊อก บันทึก และความคิดเห็น มีเพิ่มได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดขั้นสูงไว้ครับ
สำหรับผมแล้ว GotoKnow เป็นเครื่องมือให้คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณค่าหลักเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM+CoP) สิ่งเหล่านี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกทำให้ชุมชนแข็งแรงขึ้น
หาก GotoKnow มีประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แม้จะต้องหาทรัพยากรมาเพิ่ม ก็ควรทำครับ; เวลาจะแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ไม่ควรเริ่มคิดที่ข้อจำกัด แต่ควรพิจารณาจนเข้าใจว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะแก้ไขไม่สำเร็จครับ
บันทึกและความคิดเห็นคือสิ่งที่เหล่าสมาชิกให้แก่ชุมชนนะครับ สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าแค่ไหน ก็ขึ้นกับประเด็นที่เขียน ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ความยาว หรือความถี่ในการเขียนนะครับ แต่ว่า่การเขียนแบบอ่านแล้วรู้เรื่อง มีประเด็นให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ (และสม่ำเสมอ) จะดีที่สุด การเรียนรู้น่าจะต้องมีประเด็นให้คิด ให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยไม่ขึ้นกับเวลาที่เขียนบันทึกครับ
ผมโชคดีที่ทีมงาน GotoKnow ไว้ใจ เปิดให้ได้ร่วมทำอะไรหลายอย่างตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นมา เช่นใน GotoKnow Monitor มีการทดลองลดภาระของหน้าแรกพร้อมแจ้งการเปลี่ยนแปลงแบบอัตโนมัติซึ่งมีผลทำให้เวลาในการอ่านยาวขึ้น เปลี่ยนตัวเลขของ hit meter เป็นดาว แสดงลำดับความสนใจของผู้ใช้ ตั้ง chat room เพื่อสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างบล๊อกเกอร์และย้ายการคุยกัน (ข้อความเฉพาะกาล) ออกไปจากส่วนของบันทึกและความคิดเห็น และเป็นการสร้างฐานการขยายตัวของ GotoKnow ในอนาคต ลดความพึ่งพาต่อบุคลากรหลักซึ่งน่าเห็นใจมาก และต่อภาษาที่ใช้พัฒนาโปรแกรม เพื่อให้ GotoKnow และ KnowledgeVolution เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ความคุ้มค่าของ GotoKnow เกิดจากคุณค่าที่สมาชิกให้ต่อกันครับ นั่นทำให้ GotoKnow แตกต่างจากบล๊อกอื่นๆ และสังคม GotoKnow ก็แตกต่างจากสังคมไซเบอร์ส่วนมาก ทั้งในเรื่องความหลากหลายและความลุ่มลึกครับ
พระอาจารย์ชัยวุธจัดผมเป็นพวกประโยชน์นิยมครับ ไม่ว่าจะใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากเสมอที่จะต้องขอร้องหรือชี้แจงในสิ่งที่ขัดต่อความนิยมเดิม ถ้าผมล่วงเกินหรือทำให้สมาชิกท่านใดไม่พอใจ ขออโหสิด้วยครับ