ในช่วงวันที่ ๑๘ - ๑๙ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมได้พาคณะอาจารย์ภาษาไทยไปร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ก้าวสู่มืออาชีพ : การสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ผมเห็นว่าสาระการสัมมนามีประโยชน์มากสำหรับอาจารย์ภาษาไทยทุกท่านที่กำลังสอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศ รวมทั้งบุคคลทั่วไป ที่สนใจว่า ภาษาไทยเรานั้นมิได้มีเพียงคนไทยที่เรียนรู้เท่านั้น หากยังเป็นที่นิยมเรียนของคนต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ชาวยุโรป หรืออเมริกา ภาษาไทยได้ก้าวสู่เวทีโลกแล้ว
ความเป็นมา
เหตุผลที่ผมได้พาคณะอาจารย์ไปสัมมนาในครั้งนี้ก็เนี่องมาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งมีโครงการร่วมมือกับต่างประเทศมาช้านาน ได้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาไปยังประเทศต่างๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี นั้นได้ร่วมมือมานานนับสิบปีแล้ว เช่น กับมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง , จีน มหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล , จีน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี , จีน ล่าสุดกับมหาวิทยาลัยหงเหอ ,จีน นอกจากนี้ยังได้มีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ๖ แห่งในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยชิกะ .ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเทนริ , ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยฮันกุก , เกาหลี และล่าสุดกับมหาวิทยาลัยในประทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา
อาจารย์ภาษาไทยของเรามีความรู้ความเชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้มานานมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ผมเองก็ได้เคยไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ๒ ครั้งๆ ละ ๑ ภาคเรียน และสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาจีน ญี่ปุ่น ในมหาวิทยาลัยมานานกว่า ๗ ปีแล้ว จึงคิดว่าจะทำหลักสูตรการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ จึงได้พาคณะอาจารย์ไปศึกษาแนวทางการดำเนินงานที่มศว.ประสานมิตรด้วย เพราะอาจารย์ของเราคือ รศ.โกชัย สาริกบุตร ซึ่งเกษียณอายุแล้วได้ไปเป็นวิทยากรที่นั่นด้วย
สาระความคิดจากที่สัมมนา
ภาษาไทย กำลังเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นแถบเอเซีย ยุโรป หรืออเมริกา โดยเฉพาะจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ปีหนึ่งๆ ได้ส่งนักศึกษามาเรียนในสถาบันการศึกษาเมืองไทยนับพันคน แต่เนี่องจากแต่ละสถาบันไม่ว่าจะระดับประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา ต่างก็สอนไปตามนโยบายและหลักสูตรเฉพาะกิจตามโครงการที่สุดแต่จะตกลงกัน ทำให้การสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศเป็นไปในลักษณะ "ต่างคนต่างทำ" ไม่มีใครกำหนดไว้เป็นมาตรฐานกลาง ข้อสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอย่าง ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนหรือภาษาญี่ปุ่น ของภาษาไทยนั้นไม่มี ดังนั้นจึงมีกลุ่มผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติ ได้พยายามถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญนั้นไปสู่คนอื่นๆ เพื่อให้เกิดแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การอบรมสัมมนาในเรื่องดังกล่าวนี้จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมความรู้ไว้ด้วยกันเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นมาตรฐานต่อไป (คล้าย KM )
เทคนิคและวิธีการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศ
"ไม่มีวิธีการสอนใดดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมเท่านั้น" หมายความว่า สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการใช้ภาษาไทยได้เร็ว ทำให้เขาภูมิใจในความสำเร็จในการสื่อสาร และขยายการสื่อสารออกไปอย่างกว้างขวางจนเกิดความชำนาญในที่สุด ดังนั้นผู้สอนต้องรู้จักประยุกต์วิธีการต่างๆ โดยอาศัยบุคลิกภาพ ความรู้ ทักษะของตนช่วยให้เขาเชื่อถือ ศรัทธาสามารถนำเขาไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว
จิตวิทยาการสอนภาษา
๑ การเรียนภาษาสัมพันธ์กับความแตกต่างระหว่างบุคคล หมายถึงความสามารถในการเรียนภาษาของแต่ละคนช้าเร็วไม่เท่ากัน
๒ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษา การเรียนภาษาจึงต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของภาษานั้นๆ ด้วย แต่ต้องเข้าใจว่า ผู้เรียนอาจปฏิเสธวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาษาที่ผู้สอนหยิบยื่นให้ก็ได้ ดังนั้นต้องหาวิธีการจูงใจเขาให้เรียนรู้และยอมรับให้ได้
๓ คนสื่อสารกันก็เพื่อความเข้าใจกัน โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ แต่ถ้าภาษาแตกต่างกันแม้ไม่รู้หากต้องการจะสื่อสารกันคนก็จะหาหนทางที่จะสื่อสารกันเองได้ ดังนั้นถ้าผู้เรียนมีแรงจูงใจสูงเช่นนี้ การสอนภาษาย่อมป็นเรื่องง่าย
๔ การสอนภาษา ต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดภาษาด้วย โดยใช้วิธีการสร้างสถานการณ์หนึ่งๆ ขึ้นมาแล้วถามว่า "จะทำอย่างไร โดยอธิบายเหตุผลในการทำเช่นนั้นด้วย"
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)
สวัสดีค่ะอาจารย์กรเพชร
อยากให้อาจารย์เขียนบันทึกสอนภาษาไทยในบล็อกด้วยจังเลยคะ คือว่าหนูเป็นพวกชอบสะกดผิด ใส่วรรณยุกต์ไม่ถูกบ้างละ ทำให้อ่านออกเสียงผิด มีผู้ใหญ่หลายๆ ท่านใน gotoknow ส่งเมล์มาเตือนบ่อยคะ
หากอาจารย์พอมีเวลา รบกวนด้วยนะคะ :)