วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้น ปวช.และ ปวส.ซึ่งในปัจจุบันเด็กที่มาเข้าเรียนเกษตรส่วนใหญ่เป็นลูกหลานเกษตรกรที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยวิทยาลัยเกษตรนั้นรับเข้ามาศึกษาต่อโดยให้เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี และมีรายได้ระหว่างเรียน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ค่อยมีคนสนใจเข้ามาเรียนเพราะพ่อแม่ มักจะบอกว่าไม่อยากให้ลูกมาลำบากเหมือนพ่อแม่ ถ้าได้เรียนหนังสือแล้วจะต้องทำงานสบายกว่าพ่อแม่ จะกลับมาทำอาชีพเกษตรได้อย่างไร มันเหนื่อย วิทยาลัยเกษตรภาคกลางบางแห่งต้องไปหานักศึกษามาเข้าเรียนไกลถึงจังหวัดตาก คือไปเกณฑ์เด็กชาวเขา มาเข้าเรียน
เครือข่ายวิทยาลัยเกษตรภาคกลางเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ วิทยาลัยเกษตรในเขตภาคกลางอีก ๖ แห่งคือ เพชรบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี ชัยนาท และบางไทร โดยการรวมตัวในครั้งนี้ทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงครามได้หนุนเสริมให้เกิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในแต่ละวิทยาลัย เพื่อให้ครูและนักเรียน นักศึกษาได้เริ่มต้นทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือตามแนวทาง Community Based Research ซึ่งประโยชน์จากการทำงานวิจัยจะช่วยให้แต่และวิทยาลัยได้เรียนรู้การทำงานในรุปแบบใหม่ ศึกษาหาแนวทางกระบวนการเรียนรู้ที่ต่างออกไปจากเดิม
การดำเนินงานนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ประมาณปีพศ. ๒๕๔๙ และเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี พศ.๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๙ - ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างวิทยาลัยเกษตรทั้ง ๖ แห่งขึ้น ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวิทยาลัยนั้นพบว่าเด็กๆ มีศักยภาพในการแสดงออก สามารถกล้าแสดงความคิดเห็น และกระบวนการ play and learn ทำให้เด็กไม่เครียด ไม่เบื่อ และร่วมกิจกรรมได้อย่างสร้างสรรค์ตลอดสองวันเต็ม รายละเอียดของกิจกรรมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในตอนต่อไป
ไม่มีความเห็น