นโยบายเพื่อเด็ก
โดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
หากนำเอา “วันเด็กแห่งชาติ” (เสาร์ที่ 8 มกราคม 2548)
มาเชื่อมโยงเข้ากับ “วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (อาทิตย์ที่ 6
กุมภาพันธ์ 2548) พบว่ามีข้อที่ควรคิดพิจารณาอย่างน้อย 2
ประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นที่หนึ่ง เห็นควรเปลี่ยนการให้
“คำขวัญวันเด็ก” มาเป็นการให้ “ของขวัญแก่เด็ก”
ตามปรัชญาแนวคิดที่มีวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น
คำขวัญที่มอบให้แก่เด็กนั้น มักจะเป็นถ้อยคำที่เรียกร้องให้
“เด็กทำสิ่งนั้นสิ่งนี้” หรือ “ประพฤติตนเช่นนั้นเช่นนี้” ทั้งๆ
ที่สิ่งนั้นสิ่งนี้หรือความประพฤติเช่นนั้นเช่นนี้ที่มีให้เด็กท่องจำในวันดังกล่าว
ผู้ใหญ่ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติตรงกันข้าม
จนนำมาเป็นแบบอย่างไม่ได้ ดังนั้น คำขวัญจึงปราศจากความหมาย
ผ่านวันเด็กไปทุกคนก็ลืมถ้อยคำหรูๆ เหล่านั้น ขณะเดียวกัน
ในวันพิเศษเช่นนี้ รัฐควรจะให้ “ของขวัญแก่เด็ก” เป็นการเฉพาะ
ดังตัวอย่างที่เด็กๆ บนที่สูงที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย
ร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีว่า พวกเขาต้องการได้ “สัญชาติไทย”
เป็นของขวัญในวันเด็กแทนคำขวัญ
ประเด็นที่สอง ใช้ “วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ประกาศ
“นโยบายเพื่อเด็ก” เป็นของขวัญวันเด็ก
ซึ่งในที่นี่ขอนำเสนอนโยบายบางประเด็นสู่การพิจารณาของพรรคการเมืองทั้งหลาย
ดังนี้
1.หยุดขายความดีเพื่อเงิน นั่นคือยกเลิกการส่งเสริมอบายมุขทุกชนิด
ตั้งแต่ สุรา บุหรี่ หวยใต้ดิน บ่อนการพนัน
เพราะสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่ทำให้สังคม ชุมชนและครอบครัวอ่อนแอ
เกิดปัญหาอาชญากรรมการใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน อุบัติเหตุและทำลายสุขภาพ
2.บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
สังคมไทยมีกฎหมายที่ดีอยู่มากมายที่จัดการกับสื่อลามก
สถานบริการที่ทำผิดกฎหมาย ยาเสพติด ร้านเกมที่เอาเปรียบเด็ก
ผู้ใหญ่ที่ทำร้ายเด็ก ที่ใช้เด็กไปขอทาน ไปค้าประเวณี
ไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ แต่กฎหมายมักละเลย
มิหนำซ้ำกลับไปส่งเสริมหรือให้การปกป้องคุ้มครองเสียอีก
3.ส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและมีบทบาทในการดูและเด็ก
โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
กำหนดโครงการและมาตรการในการดูแลและพัฒนาเด็กที่ชัดเจนขึ้น
ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐอย่างแท้จริง
4.ส่งเสริมครอบครัวให้เข้มแข็งและพร้อมในการดูแลเด็ก
ตั้งแต่การมีหลักสูตรครอบครัวศึกษาในทุกระดับ
การเตรียมครอบครัวรุ่นใหม่ มีศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูครอบครัว
เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและกิจกรรมที่ดีสำหรับครอบครัว
5.การรักษาและวิจัยเพื่อเด็กต้องดำเนินควบคู่กันไป
ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ความหลากหลายของวิธีการและการส่งเสริมอย่างจริงจัง
เพื่อประโยชน์สูงสุดที่เด็กๆ จะได้รับและมีพัฒนาการรอบด้าน
6.นำศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจเด็ก
หลักศาสนาและวัฒนธรรมของไทยมีคุณค่าอนันต์มากล้น
รัฐต้องสนับสนุนวิธีการนำเสนอและประยุกต์ให้เข้าถึงจิตใจของเด็กและเยาวชน
รวมถึงหนุนให้มีการนำพื้นที่และทรัพยากรของศาสนาที่มีอยู่มาใช้เพื่อการพัฒนาเด็กโดยตรง
7.เน้นดูแลกลุ่มเด็กด้อยโอกาสเป็นพิเศษ
เนื่องจากสังคมไทยมีเด็กกลุ่มนี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งบนดอย
เกาะแก่ง ริมฝั่งทะเล ในสลัม สถานสงเคราะห์ สถานพินิจ
แหล่งบ้านพักคนงานก่อสร้าง ชายแดนชนบทห่างไกล
เป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องเร่งดูแลและคุ้มครองสิทธิพวกเขาอย่างจริงจังต่อเนื่อง
8.เยาวชนเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาสังคม
วิธีการสำคัญที่จะดึงเยาวชนออกมาจากการมั่วสุม
การเที่ยวเตร่ตามสถานเริงรมย์ การใช้ความรุนแรง
และการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยไร้คุณค่า
ก็ด้วยการที่รัฐจะต้องส่งเสริมให้พวกเขาได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม
สัมผัสชีวิตที่แท้จริงรู้ค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
9.การพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและครอบครัว
โดยกำหนดให้สื่อของรัฐเป็นแบบอย่างในการลงทุนเพื่อเด็ก
ทั้งผลิตรายการที่ดี ทั้งส่งเสริมให้รายการที่ดีได้มีพื้นที่นำเสนอ
การให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการผลิตและนำเสนอ
พร้อมทั้งใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสนับสนุนรายการที่ดีให้นำเสนอในสื่อของภาคเอกชนได้อย่างต่อเนื่อง
10.การประสานพลังทุกภาคส่วนเพื่อเด็ก
รัฐต้องตระหนักเสมอถึงภาระสำคัญในการรวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาเด็ก
เพราะเด็กอยู่ทุกพื้นที่
อาศัยลำพังเพียงราชการนั้นย่อมไม่ครอบคลุมล่าช้าไม่ทันสมถานการณ์และไม่สันทัดในทุกเรื่อง
ทั้ง 10 ประเด็นนี้
ฝากทุกพรรคการเมืองนำไปกำหนดเป็นนโยบายสำคัญเพื่อเด็ก
ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมว่าเรามี “พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก” ที่ให้ทุกจังหวัดมี
“คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด”
ซึ่งประกอบไปด้วยคณะบุคคลที่ทรงคุณวุฒิในจังหวัด
ทำหน้าที่ประมวลสถานการณ์ปัญหาเด็กและจัดทำแผนมาตรการในการปกป้องคุ้มครอง
ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาเด็กภายในขึ้นมา
กลไกนี้สำคัญมาก
รัฐจะต้องให้ความสำคัญเพราะจังหวัดใกล้ชิดความเป็นจริงมากกว่า
จะให้บุคคลภายนอกไปเที่ยวสุ่มเก็บข้อมูลแบบหยาบๆ
แล้วหยิบเอาบางด้านบางมุมของเด็กกลุ่มเล็กๆ ไปให้สื่อแพร่ขยายความ
จนผู้คนในสังคมไทยเข้าใจผิดมามากต่อมากแล้ว
หนำซ้ำยังถูกต่างประเทศหยิบไปตีแผ่แบบผิดๆ
ซ้ำเติมเข้าไปอีก…อย่าปล่อยให้เสียหายแบบนี้อีก