หัตถกรรม กับไอที การท่องเที่ยว การออกแบบ และการตลาด


ผู้ผลิต สร้างสรรค์งานหัตถกรรมต้องมีสติรู้เท่าทันกิเลสตนเอง ว่าต้องการอะไร อย่าลืมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่การทำการทุกอย่างต้องมีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน โดยอยู่บนฐานของความรู้และคุณธรรม

ตอนที่แล้วเล่าว่าCraftsNet Project เอเชีย ทำกิจกรรมต่างๆมาในช่วง ๑๘ เดือน มีWorkshop ๓ ครั้ง น่าสนใจเพราะเปลี่ยนประเทศที่จัด และหัวข้อด้วย แต่เมื่อนำมาประมวลได้เห็นความเชื่อมโยงชัดเจน

  • ครั้งแรกจัดที่ศรีลังกา เรื่อง Crafts and Information Technology หรือหัตถกรรมกับไอที ดูว่าการใช้ไอทีจะทำได้อย่างไรและสร้างผลให้เกิดอะไรขึ้นในภาคหัตถกรรม การสร้างให้เกิด อี คอมเมิร์ซ หรือค้าขายหัตถกรรมจะทำได้อย่างไร จะทำเว็บไซท์ให้ได้ดีเกิดความสำเร็จในการค้าหัตถกรรมจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง งานนี้ผู้จัดคือ National Chamber of Handicrafts of Sri Lanka - NCHSL

  • ครั้งที่สอง จัดที่เยอรมัน เรื่อง Crafts and Tourism หรือ หัตถกรรมกับการท่องเที่ยว ประเด็นหลักๆที่อภิปรายกันคือ ภาคหัตถกรรมจะปรับตัวอย่างไรกับนักท่องเที่ยวประเภทใหม่ ที่เน้นท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ต้องการเสพความแตกต่างจากความงามของอกลักษณ์แท้จริง ที่จะเห็นในประเทศต่างๆที่ตนไปท่องเที่ยว ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มารีบๆดู รีบๆกิน รีบๆเที่ยว รีบๆช้อป และทุกอย่างเอาราคาถูก นอกจากนั้นหัตถกรรมกับการท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นอย่างไร และจะช่วยพัฒนาความสามารถในการออกแบบโดยที่ยังคงรักษาความเป็นอัตตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างไร ผู้จัดงานคือ Baratungsstelle fur Formgebung - BF เป็นองค์กรเกี่ยวกับการออกแบบงานหัตถกรรม

  • ครั้งทีสาม จัดที่บังคลาเทศ มุ่งหัตถกรรมกับการตลาด เรื่องMarketing and Promotion of Crafts in Asia & Europe เขาว่ากันตั้งแต่เรื่องของการสงวนสิ่งที่เป็นสมบัติทางประเพณี วัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียใต้ การส่งเสริมหัตถกรรมดั้งเดิม และในขณะเดียวกันก็ให้มีการพัฒนาการออกแบบใหม่ๆ การบริหารจัดการการออกแบบและการตลาด ตลอดจนประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหัตถกรรม ผู้จัดงานคือ National Crafts Council of Bangladesh

ผู้รายงานผลสรุปจากเวิร์คชอปทั้งสาม กล่าวสรุปว่าทั้งสามเวิร์คชอปนั้นมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องกัน ไม่สามารถแยกเป็นเรื่องๆเพื่อดำเนินการโดยลำพังตัวเองได้ ผู้เขียนไม่ได้ไปร่วมประชุมทั้งสามครั้ง เลยเล่าละเอียดไม่ได้

ผู้เข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพให้ความสนใจกับการใช้ไอทีมาก หลังจากมีการบรรยายเรื่องการใช้ไอทีเพื่องานหัตถกรรม โดยเฉพาะในการทำเว็บไซท์เพื่อเป็นช่องทางในการจัดแสดงและจำหน่าย มีการตั้งคำถามมากมาย ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเทคนิคในการแสดงภาพให้หมุนดูได้รอบตัวบ้าง การเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ส่งออกบ้าง

ตรงนี้ล่ะเริ่มจะออกรส เพราะมีคำถามที่เป็นหัวใจของการทำหัตถกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อี คอมเมิร์ซ จะเหมาะสมกับการค้าขายหัตถกรรมของเอเชียแค่ไหน

ประเด็นแรกคือ นำสินค้าลงในเว็บแล้วมีคนเลียนแบบ ตัดราคา จะทำอย่างไร ฝรั่งตอบแบบฝรั่ง คือให้มีตราสินค้า(Brand) แล้วให้จดลิขสิทธิ์ ใครๆก็ทราบว่าผู้ผลิตหัตถกรรมเอเชีย ที่ผลิตมากๆเน้นส่งออก ก็มีคู่แข่งขันสูงอยู่แล้ว กำไรไม่ใช่มาก จะเอาเงินที่ไหนมาจดลิขสิทธิ์ ความรู้ที่จะไปดำเนินการก็ไม่มี องค์กรด้านหัตถกรรมที่มีอยู่ในแต่ละประเทศก็ช่วยไม่ได้นัก ผู้เขียนว่าตรงนี้สะท้อนให้เห็นความไม่พอเพียงของการผลิตมากๆเพื่อส่งออก คือ มันเกินพอประมาณ และไม่มีความรู้พอในสิ่งที่อยากไปให้ถึง (ตลาดยุโรป) ไร้ภูมิคุ้มกัน

มีผู้เสนอว่าหากสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพสูง ก็จะมีลูกค้าประจำ หรือมีการแนะนำกันต่อๆ เว็บเป็นแค่ที่เสนอให้เห็นสินค้าว่ามีอะไร เมื่อลูกค้าติดต่อมา ลูกค้าจะได้รับตัวอย่างสินค้าไปดู ไป จับต้องจริงๆก่อนตัดสินใจ งานหัตถกรรมต้องขายความประทับใจ ความสุขจากการได้จับต้อง ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราว มีชีวิตของผู้ทำเผยอยู่ในงานนั้น 

นี่เป็นข้อคิดที่ผู้เขียนอยากให้คนภายนอกที่จะเข้าไปพัฒนาหัตถกรรมของชาวบ้าน ต้องตระหนักให้มากว่า "หัตถกรรมทำไม และหัตถกรรมเพื่อใคร" เพราะหัตถกรรมนั้นผูกอยู่กับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวบ้านอย่างแยกไม่ได้ ปัจจุบันหัตถกรรมถูกทำให้เป็นแค่ "สิ่งเอาไปแลกเงิน"

ผู้ประชุมจากบังคลาเทศ ซึ่งหัตถกรรมที่เด่นมากคือเรื่องผ้าประเภทต่างๆ และพรม เพิ่มเติมว่า สินค้าหัตถกรรมจากบังคลาเทศนั้นเป็นสิ่งที่ไปจดลิขสิทธิ์ไม่ได้หรอกเพราะความรู้ในการทำก็รู้กันโดยทั่วไป สืบทอดกันมาหลายชั่วคน จะให้ขายกันทางอินเทอร์เน็ตก็ไม่เหมาะกับสภาพสังคม ซึ่งผู้ผลิตอยู่ในชนบท ยากจน ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ จะมาทำโฮมเพจก็คงเกินความสามารถ แม้มีคนทำให้ การสั่งซื้อโดยทั่วไปจะจ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งก็เกินความเป็นจริงของชีวิตอีกนั่นแหละ ส่วนมากคนที่ไปซื้อสินค้าก็จะไปในชนบทถึงแหล่งผลิตด้วยตนเอง ถือเงินสดไป พอใจก็จ่ายเงิน แล้วหิ้วหอบสินค้ากลับไปเอง แม้แต่ผู้ซื้อจากต่างประเทศ ก็ทำเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถแสดงสถิติได้ว่าหัตถกรรมของบังคลาเทศ มีมูลค่าส่งออกจริงๆเท่าไร

ข้อสรุปของผู้เขียนคือ เทคนิค เทคโนโลยี ในการค้าขายทางอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องยาก ทำการอบรมไม่กี่วันก็ทำได้แล้ว แต่ไอทีจะเหมาะกับบริบทของหัตถกรรมเอเชียเพียงใดต่างหากที่เป็นเรื่องยาก ไม่สวยหรูเลิศ ผู้ผลิตที่มีเงิน มีความรู้ก็จะได้ประโยชน์อยู่ดี ชาวบ้านคงต้องเป็นผู้ผลิตตามออร์เดอร์ต่อไปหากยังคิดผลิตแบบกระแสโอทอปคงหนีไม่พ้นชะตากรรม

อีกประเด็นที่อภิปรายกันนานคือเรื่องของการยกเว้นภาษีจากประเทศที่นำเข้า ฟังแล้วเหนื่อยคือได้ทราบว่าประเทศที่กำลังพัฒนาเมื่อต้องการส่งออกสินค้าหัตถกรรมก็พยายามทุกวิธีที่จะทำให้ "ราคา"ที่ผู้นำเข้าต้องจ่ายลดลง เพื่อเป็นข้อได้เปรียบ เช่นความพยายามในการให้ได้มาซึ่งตรารับรองจากภาครัฐว่าสินค้านั้นเป็นของที่มาจากถิ่นกำเนิดคือประเทศกำลังพัฒนา และเป็นของ handmade ซึ่งไม่มีความสำเร็จนัก

ทุกประเทศ(ที่กำลังพัฒนา)มีปัญหาเหมือนกันเรื่องการออกแบบ และคุณภาพสินค้า การจะทำตลาดยุโรปต้องมีการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นในหัตถกรรมจากเอเชีย บังคลาเทศกล่าวว่า หัตถกรรมแบบประเพณีดั้งเดิม หรือ Traditional Crafts ไม่ค่อยมีนวัตกรรมการออกแบบ แต่ก็พยายามให้เกิด หัตถกรรมร่วมสมัย หรือContemporary Crafts โดยเอาหัตถกรรมดั้งเดิมมาปรับโฉม รูปแบบให้เข้ากับชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนในตลาดยุโรป และเขาก็ยอมรับว่าทำสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงเพื่อการส่งออกนั้นทำยาก

การผลิตปริมาณมากๆก็เป็นปัญหา เขายังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วย และหวังว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก CraftsNet ด้วยกันได้

ฟังแล้วนึกถึงการทำผ้าย้อมครามแม่ฑีตา ที่งานวิจัยได้ปรับปรุงกระบวนการผลิต การสนับสนุนให้ผู้ผลิตได้เปิดหู เปิดตา เห็นมาก ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆในการออกแบบลวดลาย และผลิตภัณฑ์ แต่เขาพบว่าการโหมผลิตเพื่อส่งออก ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เพราะมันเคร่งเครียด ขัดกับธรรมชาติของการทำหัตถกรรมที่ต้องทำอย่างอิสสระและมีความสุข

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการก่อตั้ง CraftsNet Network ขึ้นมา คงจะมีประโยชน์แน่ๆ เพราะมีเว็บไซท์ให้ติดตามแลกเปลี่ยนข่าวสาร มีโครงการสืบเนื่องที่จะประสานผู้ผลิต กับผู้ส่งออก มีความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณ์ แต่ที่สำคัญคือผู้ผลิต สร้างสรรค์งานหัตถกรรมต้องมีสติรู้เท่าทันกิเลสตนเอง ว่าต้องการอะไร อย่าลืมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่การทำการทุกอย่างต้องมีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน โดยอยู่บนฐานของความรู้และคุณธรรม

 

หมายเลขบันทึก: 117616เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เดี๋ยวนี้การประชาสัมพันธ์สินค้าพื้นเมือง ในWeb ก็มีมากขึ้น

เช่นผ้ากาบบัว ผ้าสวยจังหวัดอุบลราชธานี ก็ลง Webแล้วค่ะ แต่ราคาจะสูงขึ้น

ถ้าสินค้า otop ราคาถูกก็ยังไม่คุ้มที่จะขายบน Web

สวัสดีค่ะ พี่นุช  คิดถึงนะคะ และก็ ถูกใจตรงนี้ค่ะ

  • งานหัตถกรรมต้องขายความประทับใจ ความสุขจากการได้จับต้อง ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราว มีชีวิตของผู้ทำเผยอยู่ในงานนั้น 
  • ที่สำคัญคือผู้ผลิต สร้างสรรค์งานหัตถกรรมต้องมีสติรู้เท่าทันกิเลสตนเอง ว่าต้องการอะไร อย่าลืมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่การทำการทุกอย่างต้องมีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน โดยอยู่บนฐานของความรู้และคุณธรรม

เพราะเห็นและรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น จริงๆค่ะ

แหววแวะมาเพื่อ เอาดอกบัวสวรรค์ใหญ่ เบิกบานเมื่อวันเสาร์สดใส  มาฝากก่อนนอนค่ะ

img524/3599/1295yc8.jpg

  • สวัสดีค่ะ  คุณพี่นุช ..  (( ขออนุญาตเรียกพี่นะคะ  คุณคุณนายฯ  ยาวววววววไป  แฮ่ะ ๆ ๆ ))

ต้อมชอบตรงนี้ค่ะ  ที่พี่เขียนไว้ว่า .. ผู้ผลิต สร้างสรรค์งานหัตถกรรมต้องมีสติรู้เท่าทันกิเลสตนเอง ว่าต้องการอะไร อย่าลืมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่การทำการทุกอย่างต้องมีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน โดยอยู่บนฐานของความรู้และคุณธรรม

และถ้าในภาครัฐให้การสนับสนุนตลอดจนส่งเสริมการค้นคว้าให้งานหัตถกรรมดังกล่าวมีคุณภาพที่ดีขึ้น   มีการออกแบบตัวชิ้นงานและบรรจุภัณฑ์ ที่จะช่วยส่งเสริมคุณค่าของงานให้ดูดีมีราคาขึ้น  ก็ดีนะคะ     เพื่อจะได้เป็นที่นิยมของตลาด   

 

การส่งออกจำนวนมากถ้าสร้างความกดดัน  เคร่งเครียดให้กับผู้ผลิต  ก็แย่นะคะ   เพราะถ้าวัดจากความรู้สึกของตัวต้อมเอง  ต้อมอยากทำในจำนวนที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข  เมื่อทำด้วยความสุข  ชิ้นงานก็จะออกมาอย่างมีคุณภาพ   ถึงแม้อัตราการขยายตัวจะไม่สูงนัก  ก็ช่างเถอะค่ะ

 

 

 

สวัสดีค่ะคุณอุบลP ค่ะเดี๋ยวนี้ไอทีมีบทบาทมากขึ้นในการทำการตลาดของหัตถกรรม

หากสินค้าพื้นเมืองมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เฉพาะตัวคงประสบความสำเร็จได้ดีนะคะ คนซื้อก็ได้รับความสะดวก ราคาแพงกว่านิดหน่อยแต่ก็ไม่ต้องเดินทางไปเอง สินค้าคงต้องมีคุณภาพดีจริงๆ

ตัวเองยังไม่เคยซื้อสินค้าหัตถกรรมทางเว็บเลยค่ะ อยากเห็นของจริง ได้จับต้องก่อนตัดสินใจ

อยากทราบเหมือนกันว่าการขายหัตถกรรมผ่านเว็บของเมืองไทยนั้นไปได้ดีหรือไม่เพียงใด ไม่มีความรู้เลยค่ะ

สวัสดีค่ะน้องแจ๋วแหววP ถ่ายรูปได้สวยมากเลยค่ะ เห็นความบางใส น่าทะนุถนอมของดอกบัวสวรรค์ใหญ่ สวยทั้งดอกและใบเลยค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาเสมอพร้อมดอกไม้แปลกๆให้ได้สดชื่นกับธรรมชาติแสนงาม

เรื่องหัตถกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนตั้งแต่จากใจของผู้ทำไปจนถึงการนำสู่ตลาดให้จับใจผู้บริโภคแม้ว่าจะเป็นเพียงหัตถกรรมง่ายๆ หรือไปจนถึงหัตถกรรมชั้นสูงราคาแพงค่ะ

สวัสดีค่ะคุณต้อมP การทำอะไรก็ตาม หากมีความโลภนำ มันก็ไม่พอเพียงตั้งแต่แรกแล้วนะคะ

ค่ะเรื่องของบรรจุภัณฑ์นั้นสำคัญมาก ชอบเวลาซื้อของที่ญี่ปุ่นมาก ซอง กล่อง หีบห่อ สวยไปหมด เป็นสิ่งดึงดูดได้จริงๆค่ะ พี่ว่าหัตถกรรมไทยควรให้ความประณีตตรงนี้ให้มากขึ้น

คุณต้อมมีลักษณะของศิลปินจริงๆเลยนะคะ ทำเพราะความสุข ปัจจุบันชาวบ้านโดนคนภายนอกเข้าไปส่งเสริมให้ผลิตเยอะๆ ทำให้ความละเมียดละไมที่เขาจะใส่ลงไปในชิ้นงานจางลงไปอย่างมาก

พี่ว่าสงสัยต้องทำให้ผู้ที่จะเข้าไปส่งเสริมมีความเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านจึงทำงานหัตถกรรม มันเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างไร ทุกวันนี้มันเป็นการเร่งร้อนผลิตๆๆ จนไม่มีเวลาเรียนรู้ผู้บริโภคหรือตลาด ไม่มีเวลาบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์

พี่ไม่ได้ต่อต้านการผลิตเพื่อตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้องทำด้วยความรู้รอบด้าน และผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับตลาดก็ต้องมีคุณธรรมด้วยค่ะ

เรียก "พี่นุช" เฉยๆเลยก็ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

            อาจารย์คะ เรื่องหัตถกรรมนี่ เป็นงานศิลปะ ถ้ารีบๆเกินไป ก็จะไม่สวย ไม่ประณีต

             จะเหมือนภาพวาดแพงๆ ศิลปินปีหนึ่ง วาดไม่กี่รูป ก็อยู่ได้ แต่การทอผ้า ถ้าเราทำแบบประณีต ละเอียด คุณภาพดีจริงๆ ต้องทำเท่าไร และขายเท่าใด คนทำจึงจะอยู่ได้สบายๆ แบบเศรษฐกิจพอเพียง

             การขายของประณีตบนweb ไม่ค่อยworkค่ะ คนซื้อต้องอยากจับต้องด้วยแน่นอน เพราะบนwebเราทำให้สวยเกินจริงก็ได้ค่ะ

             เรื่องpackagingก็ต้องออกแบบให้สวยน่าซื้อขึ้นด้วย มันเป็นของจำเป็น น่าจะให้ทางการเข้ามาช่วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P ต้องขอโทษนะคะที่ตอบช้า ไปปฏิบัติธรรมที่ลำปางมาหนึ่งสัปดาห์ เพิ่งกลับมาค่ะ

เรื่องการผลิตงานหัตถกรรมเพื่อขายเป็นวัตถุประสงค์หลักเป็นสิ่งที่กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วนะคะ จากเดิมที่คนในท้องถิ่นเขาทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำเกษตร ที่ทำให้อย่างไรเขาก็มีของบริโภคจากผืนดินของตน แม้ขายสิ่งที่พากเพียรทำยังไม่ได้ หนี้ก็ไม่มาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ปลูกอะไรกินเองแล้วรอขายงานแล้วเอาเงินไปซื้อข้าวและทุกอย่าง หนี้สินมากมาย ก็ยิ่งทำให้มีแรงผลักดันที่อยากผลิตมากๆ ขายได้เร็วๆ

ประสบการณ์ของคุณพี่ในเรื่องการออกแบบและการตลาดตรงกับสิ่งที่พูดกันในที่ประชุมค่ะ

ทางAHPADA และ CraftsNet กำลังสร้างพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะมาช่วยกันเรื่องนี้ มีข่าวใหม่ๆจะค่อยๆนำมาเล่าต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

พี่กำลังเป็นหวัด ไม่ได้ไปไหนมา 3 วันแล้ว แต่ชอบค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท