เมื่อครูใหญ่ตัดสินใจใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมประกาศต่อครูและนักเรียนหน้าเสาธงว่าจะเลิกบุหรี่


หากสูบอีกท่านก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ไม่มีที่ให้ท่านยืนอีกต่อไปในโรงเรียน หมายความว่า หากกลับมาสูบอีก ก็จะไม่มีนักเรียนและครูเชื่อถือท่านอีก (อาจรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและชาวบ้านด้วย) ก็จะกลายเป็นตัวตลกบริหารโรงเรียนไปวันๆ

ได้อ่านบันทึกเรื่อง แรงบันดาลใจ (http://gotoknow.org/blog/tanan1/108226) ของอาจารย์ P ทนัน ภิวงศ์งาม ที่เล่าวิธีเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของตัวเองว่าต้องใช้ "พยาน" เป็นภรรยาและญาติๆ อีกทั้งเพื่อต่อรองกับภรรยาในการขอตั้งชื่อลูกที่เพิ่งคลอดว่า "หยุด" แล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องที่เพิ่งไปประสบมาและกับประสบการณ์เมื่อตัวเองมีลูกคนแรก

เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ ส.ค.๕๐ ผมไปสอนนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์เรียนรู้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนเที่ยงได้ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้อำนวยการโรงเรียนดอนสักวิทยาคม (โรงเรียนมัธยมแรกที่โอนเข้าสังกัด อบจ.สุราษฎร์) ท่านเล่าวิธีเลิกบุหรี่ของท่านให้ฟังว่า เช้าวันหนึ่งท่านพูดคำหนึ่งต่อหน้าครูและนักเรียนขณะเข้าแถวเคารพธงชาติว่า "นับแต่วันนี้ไปครูจะเลิกสูบบุหรี่"

นับแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ท่านก็ไม่สูบบุหรี่อีกเลย เพราะหากสูบอีกท่านก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ไม่มีที่ให้ท่านยืนอีกต่อไปในโรงเรียน หมายความว่า หากกลับมาสูบอีก ก็จะไม่มีนักเรียนและครูเชื่อถือท่านอีก (อาจรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและชาวบ้านด้วย) ก็จะกลายเป็นตัวตลกบริหารโรงเรียนไปวันๆ มองหน้าครูและนักเรียนก็ไม่ถนัด เห็นใครกระซิบกระซาบกันก็จะนึกว่าเขาพูดถึงตัวเรา หากไม่กล้าสบตาใคร แล้วจะไปสอนใครได้อีก

จากวันนั้นถึงวันนี้ท่านก็สามารถอบรมบ่มสอนนักเรียนเรื่องพิษภัยของบุหรี่หรือลงโทษนักเรียนที่สูบบุหรี่ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ รวมถึงเรื่องสิ่งเสพติดและอบายมุขต่างๆเรียกว่า ถ้าเป็นพ่อพิมพ์ก็เป็น "พิมพ์" ที่ดีได้ ไม่เป็นครูประเภทปากว่าตาขยิบ

ขณะฟังท่านเล่าผมคิดในใจว่า การทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยความกล้าหาญมาก เป็น ความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่เอาเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นเดิมพันเลยทีเดียว

นอกจากความกล้าหาญแล้ว ผมคิดว่าท่านยังต้องมีสิ่งต่อไปนี้

  • แรงบันดาลใจ คือ อยากเป็นครูเป็น "พ่อพิมพ์แม่พิมพ์" ที่ดี เป็นผู้บังคับบัญชาที่เป็นแบบอย่างของผู้ใต้บังคับบัญชา
  • แรงจูงใจ คือ ไม่อยากเป็นโรคจากพิษภัยบุหรี่ ได้ประหยัดค่าใช้จ่าย
  • วิธีการ คือ ประกาศต่อหน้าสาธารณะเพื่อให้เป็น "พยาน" ต่อการตัดสินใจครั้งนี้ นอกจากนี้ วิธี "หักดิบ" ที่เลือกนี้ก็ต้องพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับตัวเอง คือต้องรู้ตัวเองว่าเมื่อหยุดไปเลย ร่างกายจะรับได้ ไม่มีอาการ "ลงแดง" ถึงขั้นเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะบางคนก็เลือกวิธีแบบค่อยๆ ลดลง

ความจริงผมเองก็มีประสบการณ์ทำนองนี้เหมือนกันเมื่อภรรยาผมคลอดลูกคนแรกที่โรงพยาบาลหัวเฉียวเมื่อ ๒๔ ปีที่แล้ว พยาบาลคนหนึ่งถามผมว่าเตรียมของขวัญอะไรให้ลูก ผมไม่ได้เตรียมอะไรเพราะไม่รู้มาก่อนว่าต้องเตรียม "ของขวัญ" อะไรด้วย ไม่ได้ตั้งตัว หลังจากอึ้งกิมกี่มองหน้าคนถามอยู่พักหนึ่ง ก็ตอบออกไปว่า "ผมจะไม่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าอีก"

ก่อนมีลูก ผมสูบบุหรี่ไม่มาก แต่ดื่มเหล้าเป็นประจำ กับเพื่อนบ้านบ้าง กับเพื่อนร่วมงานบ้าง ยิ่งเวลาออกต่างจังหวัด(งานพัฒนาชนบท) ดื่มทั้งกับเพื่อนนักพัฒนา ทั้งกับชาวบ้าน แต่ก็ไม่เคยถึงขั้นเมามายไม่ได้สติ แค่มึนๆ

จากวันนั้นที่ลูกคนแรกคลอดถึงวันนี้ ผมก็ไม่ได้สูบและไม่ได้ดื่มอีกเลย มีจิบเหล้าองุ่นอยู่บ้างไม่ถึง ๑๐ ครั้งในรอบ ๒๐ ปี เป็นการทำไปเป็นพิธีการ จิบนิดหน่อย สบตาเจ้าภาพ แล้วก็วางแก้วเลย เพื่อเป็นเกียรติกับเจ้าภาพหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่รินให้ แต่หากงานไหนเห็นท่าปฏิเสธได้ตั้งแต่ก่อนเขารินก็จะรีบขอให้เขาไม่ต้องรินเลย

ผมไม่เคยรู้สึกว่าญาติสนิทมิตรสหายหรือผู้หลักผู้ใหญ่คนไหนจะไม่คบกับผมต่อไปเพียงเพราะผมไม่ดื่มด้วย!

 
หมายเลขบันทึก: 117612เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท