รัฐอัดหมื่นล.หนุนเอกชนลงทุนนอก


รัฐอัดหมื่นล.หนุนเอกชนลงทุนนอก
"โฆสิต" สั่งตั้งคณะทำงานวางแนวทางส่งเสริมเอกชนลงทุนต่างประเทศ หวั่นกระทบการจ้างงานภายใน พอใจสถานการณ์ "ค่าเงินบาท" ย้ำไม่มีมาตรการเพิ่ม "พาณิชย์" ชงตั้งกองทุนสนับสนุนลงทุนต่างประเทศ        1 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเวนเจอร์ แคปปิตอล ลุยลงทุนนอก 5 พันล้านบาท กกร.เล็งถกสุรยุทธ์ขอซอฟท์โลน        2 พันล้าน ช่วยธุรกิจท่องเที่ยวใต้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม ว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอแผนการสนับสนุนการปรับตัวทางธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนไทยให้ที่ประชุมพิจารณา แต่ที่ประชุมเห็นว่าแผนดังกล่าวยังขาดความชัดเจน เช่น ความชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินการ มาตรการจูงใจแบบเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญ การลงทุนของภาคเอกชนจะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ  ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะทำงานไปกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการผ่อนปรนที่จะทำให้ตลาดทำงานได้ดีขึ้น โดยจะมีหน่วยงานอื่นร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายประสานงาน นายโฆสิต กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการดำเนินมาตรการดูแลค่าเงินบาทให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งการดูแลค่าเงินยังเป็นไปได้ด้วยดี และการเคลื่อนไหวของค่าเงินยังไม่ผิดสังเกต จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในขณะนี้  "เรื่องของค่าเงินเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีรัศมีในระนาบเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งในส่วนสถานการณ์ค่าเงินในขณะนี้นั้น ที่ประชุมเห็นว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และค่าเงินแข็งพอๆ กับค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่" นายโฆสิตระบุ ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทในตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศมีความแตกต่างกันนั้น นายโฆสิต กล่าวว่า ธปท. รายงานค่าเงินของ 2 ตลาดที่มีความแตกต่างนั้น จะไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้น ขณะที่การดูแลก็มีกติกากำกับอยู่ และมีองค์กรที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอยู่แล้ว นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวานนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่ง ที่ประชุมเห็นด้วย แต่ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพกลับไปศึกษารายละเอียด ในกรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องไปลงทุนต่างประเทศ จะเกิดผลกระทบกับแรงงาน ในประเทศหรือไม่ ให้ศึกษาด้วยว่าอุตสาหกรรมใดที่เหมาะสมไปลงทุนต่างประเทศ หากเห็นว่ามีผลกระทบแรงงานภายในประเทศ ให้เสนอแผนรองรับมาพร้อมกันด้วย  "ทุกฝ่ายเห็นด้วยควรสนับสนุนธุรกิจไทยไปต่างประเทศ ทั้งลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ เพียงแต่ออกไปแล้วจะเกิดผลกระทบกับแรงงานภายในอย่างไร     
ให้
หาทางออกมาด้วย รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนการไปลงทุนว่า ควรจะเป็นอุตสาหกรรมใด อย่างไร ทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ ที่สภาพัฒน์ต้องไปดำเนินการมา" นายราเชนทร์กล่าว สำหรับแผนที่กระทรวงพาณิชย์เสนอนั้น มีแผนสนับสนุนทางด้านการเงินด้วย โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์ แคปปิตอล วงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งรูปแบบนี้ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง-ย่อม (สสว.) ได้ดำเนินการภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม หรือเอสเอ็มอีอยู่แล้ว อาจนำส่วนนี้เพิ่มเติมเข้าไป โดยขยายไปลงทุนต่างประเทศ  นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา วงเงิน 300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยภาครัฐและเอกชนนำเงินมาลงขัน 50 ต่อ 50 เพื่อให้  ภาคธุรกิจกู้ไปลงทุนต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลักษณะเดียวกับกองทุนช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจเอสเอ็มอี นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.หารือถึงการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท   ทั้งนี้ มีวงเงินช่วยเหลือรวม 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน 2 ชนิด คือ 1.สินเชื่อปกติ 4,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR -2.25 และ 2.สินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอีที่ขณะนี้เป็นหนี้  ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยมีวงเงินในส่วนนี้ 500 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราตลาด สินเชื่อทั้ง 2 ประเภท มีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 3 ปี วงเงินสินเชื่อแต่ละรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากลูกค้าต้องการสินเชื่อเกิน 5 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะคิดดอกเบี้ยตามอัตราตลาด รวมทั้งเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อในโครงการเดิมอยู่แล้ว ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากโครงการนี้ได้   "ให้เอสเอ็มอีไปลงทะเบียนแจ้งความต้องการขอสินเชื่อกับ ส.อ.ท. หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือธนาคารที่เอสเอ็มอีเป็นลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเอสเอ็มอีเป็นลูกค้าของธนาคารใดขอให้ไปติดต่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อกับธนาคารนั้น โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้การดำเนินการขอสินเชื่อทำได้ทันที"   นอกจากนี้ กกร. หารือถึงประเด็นที่จะนำไปประชุมร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนส.ค. 2550 โดย กกร. จะเสนอขอวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ กองทุนดังกล่าวควรมีลักษณะเดียวกับกองทุนที่ช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัด และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านภาษีนิติบุคคล เหมือนผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร. ได้หารือเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริม การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่สามารถนำดอกเบี้ยของกองทุนมาใช้จ่ายดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกและเปิดตลาดส่งออกใหม่ได้อีก และถ้าไม่สามารถนำดอกเบี้ยของกองทุนมาใช้ได้ อาจจะมีปัญหาด้านการส่งออก นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์สามารถนำดอกเบี้ยจากกองทุนดังกล่าวมาใช้ได้น้อยลง เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันต่ำมาก โดยในปี 2550 กระทรวงพาณิชย์ต้องจัดงบประมาณมาเพิ่มเติมถึง 300 ล้านบาท หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งออก    ก็ควรจัดงบประมาณมาทดแทนประมาณปีละ 800 ล้านบาท นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทใช้มาแล้วประมาณ 10 วัน ซึ่งต้องรอติดตามค่าเงินบาทอีกระยะว่า จะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ จึงจะประเมินได้ว่ามาตรการที่ประกาศออกใช้ได้ผลหรือไม่ โดยในเบื้องต้นเห็นว่าใช้ได้ผลเพราะเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นไปถึง 32-33 บาท เหมือนที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมวานนี้ (6 ส.ค.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงการผ่อนผันให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับไปพิจารณาศึกษามาตรการที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจไทยไปต่างประเทศได้เพิ่มเติมจากมาตรการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการไปแล้ว  โดยมาตรการที่ให้ สศช. ไปพิจารณานี้ จะเน้นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศที่ช่วยสร้างงานภายในประเทศได้ด้วย เช่น การไปลงทุนเพื่อสร้างตลาดเพื่อการผลิตสินค้า หรือการพิจารณามาตรการรองรับด้านแรงงานในกรณีที่จะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับเกี่ยวกับการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทย  นอกจากการลงทุนของภาคธุรกิจในต่างประเทศแล้ว ดร.ฉลองภพ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงการอนุญาตให้บุคคลธรรมดาออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านสถาบันการเงินด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บุคคลธรรมดาออกไปลงทุนในต่างประเทศ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะการเปิดเสรีเงินทุนจะต้องดำเนินการ   อย่างเป็นขั้นเป็นตอน  ส่วนกรณีที่ ธปท.กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เห็นชอบในการเพิ่มวงเงินที่ให้กองทุนรวมของไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น จากเดิมที่มีวงเงิน 6,800 ล้านดอลลาร์ เป็น 10,000 ล้านดอลลาร์นั้น ก็ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งกรณีนี้ไม่น่าจะติดขัดปัญหาอะไร  ดร.ฉลองภพ ยังได้กล่าวถึง กรณีที่อัตราค่าเงินบาทในสองตลาดมีความแตกต่างกันมากด้วยว่าขณะนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสองตลาดแยกออกจากกันได้ชัดเจนแล้ว เห็นได้จากบางช่วงที่ตลาดออฟชอร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่ตลาดออนชอร์ค่าเงินกลับอ่อนลง ซึ่งในกรณีที่มีความกังวลว่า อาจจะมีการยักย้ายเงินบาทในประเทศออกไปนอกประเทศนั้น ไม่น่าจะทำได้จำนวนมากนัก เพราะกฎหมายระบุจำนวนเงินที่อนุญาตให้เอาเงินออกไปชัดเจน อีกทั้งหากมีการนำเงินบาทออกนอกประเทศจริง เงินบาทในตลาดออฟชอร์ ก็ไม่น่าจะแข็งค่ามาก   อย่างที่เป็นอยู่ ดร.ฉลองภพ กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไปกระทรวงการคลังและ ธปท.จะต้องศึกษาหารือเกี่ยวกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนว่าควรจะปล่อยให้เป็นสองตลาดต่อไป หรือจะให้เหลือเพียงตลาดเดียว ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการมีตลาดเดียวหรือสองตลาด อะไรเป็นสิ่งที่ดีกว่ากัน อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องพิจารณาเร่งด่วน ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลัง การประชุมถึงกองทุนให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 5,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ผู้ที่ประสบปัญหาจากค่าเงินบาทที่ต้องการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำสามารถไปขอวงเงินกู้ยืมได้เลย โดยเชื่อว่า สาขาธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศน่าจะรองรับในการขอกู้ยืมได้อยู่แล้ว เพราะธนาคารพาณิชย์มีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าวงเงินนี้น่าจะใช้หมดภายในปีนี้ แต่หากใช้หมดก่อนก็อาจจะมีการพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร นายสันติ กล่าวด้วยว่า จากการประเมินมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ทั้ง 6 ข้อนั้นเป็นมาตรการ ที่ทุกคนเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตาม การประเมินผลของมาตรการของ ธปท.ยังจะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะเพิ่งประกาศใช้มาตรการไปเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น นายสันติ กล่าวถึง ข้อหารือของที่ประชุมในกรณีที่จะช่วยสนับสนุนให้เอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ด้วยว่าคงจะต้องมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ หรือประเภทอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนให้ไปลงทุน รวมถึงมาตรการด้านภาษีที่จะสนับสนุนการไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งคณะทำงานที่มี สศช. เป็นตัวกลางจะหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต่อไป

กรุงเทพธุรกิจ  7  ส.ค.  50

คำสำคัญ (Tags): #การลงทุน
หมายเลขบันทึก: 117606เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท