ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติเพลงพื้นบ้าน ผู้มีความสามารถและเปี่ยมล้นด้วยน้ำใจ


ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีความสามารถและเปี่ยมด้วยน้ำใจ

          ก่อนที่จะเล่าอะไร ผมขออนุญาตท่านผู้อ่าน กล่าวขอบพระคุณแม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ ที่ช่วยฝึกฝนแนะนำนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยาที่ผมสอนอยู่ ตั้งแต่ไม่เคยเล่นเพลงเลยจนมีคณะเพลงอีแซวเกิดขึ้นและสามารถแสดงประกวดจนได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศมามากมายเป็นสิบๆรางวัล พระคุณของท่านผมและโรงเรียนบางลี่วิทยาขอจารึกไว้ตลอดกาล

           คราวนี้มาติดตามเรื่องราวของแม่ขวัญจิตกันเลยนะครับ

          แม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ มีนามจริงว่านางเกลียว  เสร็จกิจ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2490 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายอังค์ นางปลด  เสร็จกิจ  แม่ขวัญจิต เริ่มฝึกร้องเพลงพื้นบ้านกับพ่อไสว  วงษ์งามและแม่บัวผัน  จันทร์ศรี ตั้งแต่อายุได้ 15 ปี ท่านเป็นผู้ที่สนใจเพลงพื้นบ้านอย่างยิ่ง ประกอบกับมีพรสวรรค์ทางด้านนี้ ทำให้ร้องเพลงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเพลงอีแซว แม่ขวัญจิต เป็นแม่เพลงที่มีปฏิภาณไหวพริบดี สำนวนกลอนคมคาย เป็นที่จับใจของผู้ชมผู้ฟัง ท่านสามารถนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาร้องเป็นเพลงอีแซวเพื่อสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชนได้อย่างมีศิลปะ ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วประเทศ จนกลายเป็นแม่เพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่เพลงพื้นบ้านแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี

          ภารกิจที่น่ายกย่องและชื่นชมของแม่ขวัญจิตก็คือท่านจะสละเวลามาเป็นอาจารย์พิเศษ มาเป็นวิทยากรอบรมเพลงพื้นบ้านให้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียนที่สนใจ เป็นวิทยากรพิเศษให้ความร่วมมือแก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ร่วมอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะพื้นบ้านมาโดยตลอด อุปนิสัยท่านเป็นผู้ที่มีความกตัญญู เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ดังที่ผมเคยกล่าวไว้เมื่อไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพแม่บัวผัน
         

         ชื่อเสียงของแม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ ไม่ใช่จะโด่งดังแต่เฉพาะเพลงพื้นบ้าน หากในด้านเพลงลูกทุ่งชื่อเสียงของขวัญจิต  ศรีประจันต์ ก็เคยอยู่ในระดับนักร้องลูกทุ่งหญิงแนวหน้าของเมืองไทย คู่กับนักร้องชายชาวสุพรรณที่โด่งดังอีกคนคือไวพจน์  เพชรสุพรรณ เพลงที่ทำให้คนไทยรู้จักขวัญจิต  ศรีประจันต์ เป็นอย่างดีก็คือเพลง “ กับข้าวเพชฌฆาต “ แต่งโดยครูจิ๋ว  พิจิตร เพลงนี้ก็ใช้ทำนองเพลงฉ่อยซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านนั่นเอง(มาอ่านประวัติตอนหลังระบุว่าเพลงนี้แม่ขวัญจิตแต่งเอง ต้องขออภัยที่ข้อมูลคลาดเคลื่อน)

          ผลงานของแม่ขวัญจิต  นอกจากเทปเพลงลูกทุ่งดังกล่าวแล้ว ยังมีเทปเพลงพื้นบ้านอีกหลายชุด ทั้งที่เป็นผลงานของคณะเพลงอีแซวขวัญจิต  ศรีประจันต์ และเป็นผลงานที่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ร้องร่วมกับนักร้องคนอื่นๆเช่นชัยชนะ บุณโชติ และโดยเฉพาะกับไวพจน์  เพชรสุพรรณร้องร่วมกันไว้หลายชุด นอกจากนี้แม่ขวัญจิตยังได้ให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดสุพรรณบุรีร้องเพลงฉ่อยแนะนำจังหวัดสุพรรณบุรีไว้ด้วย

         ทางด้านวีดิทัศน์ วีซีดีผลงานของท่านก็มีให้เห็นอยู่ ด้วยความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการร้องเพลงพื้นบ้าน เช่นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ แหล่ เป็นต้น ผนวกกับความมีน้ำใจในการเผยแพร่ความรู้ และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน แม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ จึงได้รับโล่เชิดชูให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะพื้นบ้านภาคกลาง จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.ศ. 2539

         นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติ ชีวิตแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เรื่องราวของแม่มีอีกมากมายนัก คงต้องค้นคว้ากันต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #ภูมิปัญญา
หมายเลขบันทึก: 111430เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2014 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับพี่พิสูจน์

      เมืองสุพรรณของเราเป็นเมืองศิลปิน ศิลปินเก่งๆ ยังมีอีกมาก  พี่ช่วยบอกเล่าให้บ้านอื่นเมืองอื่นเขาได้ชื่นชมกับเราอีกนะครับ  ส่วนตัวพี่ก็ขอยกย่องด้วยที่ได้สืบทอด อนุรักษ์ของพื้นบ้านของเราไปสู่ลูกหลานภายในโรงเรียน ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ขอเป็นกำลังใจครับพี่

ขอขอบคุณมาก 

สวัสดีค่ะ ครูพิสูจน์........ครูพิสูจน์เป็นลูกศิษย์ของแม่ขวัญจิตด้วยหรือเปล่าค่ะ .......ถ้าครูเป็นแล้วหนูเป็นหลานศิษย์ได้ไหมค่ะ.... เป็นกำลังใจให้ค่ะ --------->น้องจิ ^_^

St_09

เยี่ยมมาก อ.พิสูจน์  ฝากพวงมาลัยเกียรติยศให้แม่ขวัญจิตด้วยนะครับ  ขอบคุณมาก

ขอบคุณท่านอาจารย์พิสูจน์  ที่แต่งคำกลอนตอนรับนุ้ย ประทับใจมากค่ะ  บางครั้งคนร่นใหม่ไม่รู้เรื่องราวที่สำคัยแบบนี้การที่ได้อ่านจากเรื่องราวที่อาจารย์เขียนนับว่าได้ประโยชน์มาก  ในฐานครูคนหนึ่ง  ถึงแม้จะสอนแค่เด็กประถมแต่ก็สามารถนำประโยชน์จากการอ่านตรงนี้ไปเล่าให้เด็กได้ฟังได้  ขอบคุณนะค่ะ 

      แล้วท่านอาจารย์แต่งกลอนเกี่ยวกับการให้กำลังใจได้ไหมค่ะ  เขียนให้กำลังใจครูน้อยคนนี้  ที่นี้  ขอบคุณค่ะเพื่อเป็นกำลังใจสู้ต่อ

  • ขอบคุณท่าน ศน.ธวัช ไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกันอีกเลย ตั้งแต่ไปอยู่ สพท.สพ๓
  • ท่านยังมีน้ำใจให้ครูทุกเขตเสมอ
  • ผมขอขอบคุณและจะทำตามคำแนะนำของท่านครับ
  • ถูกต้อง แล้วครับ
  • ฝึกพูดเหน่อถึงไหนแล้ว
  • อาจจะต้องเป็นตัวแทนไปแข่งอีกก็ได้
  • จุ๊ จุ๊ พูดเหน่อก็พอไม่ต้องเขียนเหน่อนะ
  • พวงมาลัยท่าน ผอ.ประจักษ์ สวยมาก
  • เดี๋ยวนี้ ท่านมีลูกเล่น มาก หลากสีหลากลีลา
  • ขอขอบพระคุณ แล้วผมจะนำไปมอบให้แม่ขวัญจิต ครับ
  • น้อง ครูนุ้ย ผมได้แต่งกลอนให้แล้วในบล็อกของครูนุ้ย
  • เดี๋ยวผมคัดลอกมาให้อ่านอีกที
  • คัดกลอนมาให้ ครู น้องนุ้ย อ่านอีกครั้ง

      

เสียงเหนื่อยจัง บ่นคุย จากนุ้ยมา

แสนเห็นใจ นักหนา ผู้สร้างสรรค์

มีปัญหา หนักอก กนกวรรณ

ต้องฝ่าฟัน เรียนสอน พักผ่อนน้อย

เหมือนเราปลูก กล้วยไม้ เหนื่อยหน่ายเหลือ

ช่างน่าเบื่อ ดูแล มิใช่ย่อย

ทั้งรดน้ำ ใส่ยา ปุ๋ยทยอย

แล้วก็คอย รอผลงาน การดูแล

แต่พอมัน มีดอก ออกเพียงนิด

ก็ชื่นจิต กระชุ่มกระชวย สวยแน่แน่

พอดอกบาน ทุกยาม งามแท้แท้

สู่กระแส สุขสม อารมณ์ดี

ชีวิตนุ้ย ที่คุย เหมือนกล้วยไม้

อีกไม่นาน คงได้ สบสุขศรี

เมื่อเมฆหมอก ผ่านไป ไร้ราคี

ดวงชีวี กนกวรรณ สุขสันต์เอย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท