Vendor Managed Inventory (VMI)


เป็นแนวคิดหนึ่งในการบริหารสินค้าคงคลัง ซึ่งแนวคิดของ VMI คือให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังแทนลูกค้า โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการเติมสินค้าให้กับลูกค้า การให้ผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินการในการจัดเก็บและวางแผนในการส่งสินค้าจะช่วยลดปัญหาการเก็บสะสมของสต็อกสินค้าทั้งในส่วนของผู้ผลิตและศูนย์กระจายสินค้าของผู้ค้าปลีกด้วย ประโยชน์ของการนำระบบ VMI ไปใช้คือ ความผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลลดลงเนื่องจากว่าระบบ VMI ใช้การสื่อสารแบบคอมพิวเตอร์ไปยังคอมพิวเตอร์รวมทั้งความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ศูนย์กระจายสินค้าจะได้รับคือ อัตราการเติมสินค้าจากผู้ผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้าสูงขึ้นซึ่งจะช่วยลดในส่วนของการขาดแคลนสินค้าคงคลัง ต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้าลดลงเนื่องจากความรับผิดชอบในการจัดการในการเติมสินค้าเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต และระดับการให้บริการที่สูงขึ้นเกิดจากการที่ลูกค้าได้รับสินค้าในปริมาณที่ต้องการและในเวลาที่ต้องการ สำหรับประโยชน์ที่ผู้ผลิตจะได้รับคือ ข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้าทำให้ง่ายต่อการพยากรณ์ความต้องการ รวมทั้งสามารถทราบถึงความต้องการล่วงหน้าของลูกค้า ทำให้การวางแผนการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความคลาดเคลื่อนของปริมาณสินค้าที่ส่งให้ลูกค้านั้นลดลง
 ในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทต่างๆ มากมายที่นำระบบ VMI ไปใช้ เช่น ACE ฮาร์ดแวร์ เป็นบริษัทที่ร่วมมือด้านฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ เมื่อนำระบบ VMI ไปใช้พบว่าอัตราการเติมสินค้าเพิ่มจาก 4% เป็น 96% บริษัทอื่นๆ เช่น Fred Meyer สามารถลดระดับสินค้าคงคงคลังได้ 30%- 40% และระดับการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 98% Grand Union สามารถเพิ่มระดับการให้บริการลูกค้าเป็น 99% และค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมากซึ่งเกิดจากการปรับปรุงยอดขายโดยการกำจัดสินค้าที่เกินสต็อก K-mart สามารถเพิ่มระดับการหมุนเวียนสินค้าคงคลังที่เป็นสินค้าตามฤดูกาลจาก 3 เป็น 10-11 และ12-15 เป็น 17-20 ในสินค้าที่ไม่เป็นสินค้าตามฤดูกาล สำหรับประเทศไทยบริษัทที่นำระบบ VMI ไปใช้คือไทยการ์เมนต์ เป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทได้ 10% – 15%
จากสภาวะการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน พบว่าการจัดการด้านลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยจะต้องมีกระบวนการวางแผนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ และการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่ช่วยในการจัดการด้านลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานคือ Vendor Managed Inventory (VMI) โดยที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จะเป็นผู้เข้ามาบริหารสต็อกในคลังสินค้า ทำให้ทราบยอดผลิตภัณฑ์คงเหลือของลูกค้า และเป็นผู้ตัดสินใจในการเติมผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ประโยชน์หลักของระบบ VMI คือลูกค้าจะมีผลิตภัณฑ์ป้อนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเก็บสะสมของสต็อกในคลังสินค้าทั้งในส่วนของผู้ผลิต รวมไปถึงศูนย์กระจายสินค้าของลูกค้าด้วย และสามารถลดจำนวนพนักงานลงได้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบัน ระบบ VMIได้นำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจนับด้วยบาร์โค้ดได้ คือเมื่อลูกค้าออกผลิตภัณฑ์ไป จะทำการสแกนบาร์โค้ดที่ติดอยู่กับผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัททราบถึงปริมาณผลิตภัณฑ์ ที่ส่งออกไปและปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เหลืออยู่ในคลังสินค้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เมื่อผู้ผลิตทราบปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามี ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนเพื่อทำการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าต่อไป



ความเห็น (1)

ขอบคุณ สำหรับความรู้เพิ่มเติมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท