ปัญญาภาคปฏิบัติ: จัดการอย่างไรให้เกิดพลัง


บางทีนักศึกษากลุ่มนี้ ผู้ที่จัด “ตลาดนัดความรู้” ในครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มของการก่อตั้ง CoPs ของเรื่องทั้ง 5 เรื่องนี้ให้กับสังคมไทยก็ได้ . . . ใครจะไปรู้!!

      ผมไม่ได้ตั้งหัวข้อเองหรอกครับ แต่เป็นหัวข้อที่ทางคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ตั้งให้ผมพูดคุยกับนักศึกษาที่กลับมาจาการฝึกภาคสนาม และมาร่วมกันจัดงาน ตลาดนัดความรู้

 

ผมตั้งใจว่าจะเริ่มด้วยการเปิดประเด็นคำว่า ปัญญาภาคปฏิบัติ ว่าตามความเข้าใจของผมแล้ว ปัญญาภาคปฏิบัติ นี้คือสิ่งที่นักศึกษาได้มาจากการไปลงพื้นที่ ไปพักอาศัย ไปร่วมทำงานกับคนในหมู่บ้าน ในองค์กร เรียกได้ว่าเป็นความรู้ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ไม่ได้อยู่ในตำรา เป็นความรู้ที่มีชีวิตชีวา เป็นความรู้ที่เกาะติดอยู่กับบริบท ไม่ได้อยู่ลอยๆ เหมือนความรู้วิชาการที่เราคุ้นเคย เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับภูมิปัญญาและจิตวิญญาณ ไม่สามารถแยกออกมาเป็นเรื่องๆ อย่างตัดขาดจากกัน

 

ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ตรงที่ว่า . . . จะต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้สิ่งที่นักศึกษาได้มานี้ (ปัญญาภาคปฏิบัติ) ไม่ขาดตอน ไม่สูญหาย หรือเหี่ยวเฉาตายไป จะมีกลไกหรือวิธีการอะไรที่ทำให้สิ่งที่ได้มานี้ มีการขับเคลื่อนต่อไปจนเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาสังคมไทย ...ไม่รู้เหมือนกันว่าผมคิดกว้างขวางมากเกินไปหรือเปล่า? เราจะเอาความรู้หรือปัญญาทางปฏิบัตินี้ไปทำอะไรต่อ? เราจะสร้าง มูลค่าเพิ่ม ให้กับสิ่งที่มีอยู่นี้อย่างไร?จะต้องทำอะไรจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น? . . .

 

คำถามที่ตั้งไว้นี้เป็นคำถามที่ดีมาก แต่ทว่าตอบได้ค่อนข้างยาก! อาจเป็นเพราะเราถูกดึงให้มองภาพที่ใหญ่จนเกินไปหรือเปล่า? ผมได้แต่เฝ้าถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า . . . ถ้าเป็นเรา . . . ถ้าเราเป็นนักศึกษาที่กลับมาจาการฝึกงาน ได้รับแรงบันดาลใจ ต้องการจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม . . . เราจะทำอะไร? ใช่แล้วครับ ผมอยากจะถามนักศึกษา อยากให้นักศึกษาทุกคนถามใจตนเองดูว่า . . . ต้องการจะทำอะไร?  . . . อะไรคือความใฝ่ฝัน? . . . อะไรคือความมุ่งมั่น? . . . ต้องหาสิ่งนั้นให้เจอ!

 

ผมหมายถึงเป้าหมายอย่างกว้างๆ ที่เห็นเป็นแนวทางหลักๆ เป็นการบ่งบอกว่าเราต้องการจะไปไหน? ผมหมายถึง ทิศทาง หรือ Direction” แต่ไม่ได้หมายถึง จุดหมายที่ตายตัว หรือ Destination” เป็นเพียงการรู้อย่างคร่าวๆ ว่าเราต้องการจะไปทิศทางไหน? . . . ปัญหาของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ก็คือไม่รู้ว่าตนเองกำลังจะไปไหน? นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ ไหลไปตามกระแส กระแสที่ว่านี้ มีทั้ง กระแสแฟชั่น คือไหลไปตามความนิยม และ กระแสกิเลส คือไหลไปตามความอยาก ไหลไปตามความต้องการที่ถูกปลุกเร้าอยู่ตลอดเวลาจากสื่อโฆษณารอบด้าน

 

ผมกำลังบอกว่า ถ้าอยากได้ พลัง แล้ว สิ่งที่ทุกคนจะต้องกระจ่างเป็นอย่างแรกก็คือ . . . ต้องรู้ว่าเรากำลังจะไปไหน? . . . เราต้องการอะไร? อะไรคือวิสัยทัศน์หรือภาพที่พึงปรารถนา (Vision) ของเรา? ผมกำลังพูดถึง “Personal Vision” ของแต่ละคน และทุกคนคงจะนึกภาพออกว่าถ้าเรานำ Personal Vision เหล่านั้นมารวมกันนั้นจะมี พลัง เพียงใด พูดง่ายๆ ก็คือจะหา แนวร่วม ของคนที่มี Personal Vision คล้ายกัน เช่น ถ้าผมต้องการทำงานเกี่ยวกับองค์กรการเงินชุมชน ผมก็คงต้องมองหาเพื่อนที่มีความสนใจ มีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กัน จะได้ร่วมกันทำงาน เพราะพลังที่ได้จาก แนวร่วม จากผู้ที่สนใจหรือมีความใฝ่ฝันเรื่องเดียวกันนั้น จะทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่เป็นทวีคูณ ที่เราเรียกว่าเกิดการ ผสานพลัง หรือ Synergy” ขึ้น คือถ้าผมทำสิ่งนี้แล้วได้เท่ากับหนึ่ง เพื่อนที่สนใจสิ่งนี้ไปทำก็ได้อีกหนึ่ง แต่พอเอาสองคนรวมกันแล้วเกิด Synergy ก็จะมีพลังมากกว่า หนึ่งบวกหนึ่ง คือแทนที่จะได้สอง ก็จะกลายเป็นได้มากกว่าสอง ทั้งนี้เพราะมีการผสานพลังกัน

 

นี่คือเหตุผลสำคัญของการร่วมกันทำงานเป็นทีม ทำกันเป็นโครงการ หรือรวมกันเป็น “CoPs (Community of Practices)” มีการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เกิดเป็นองค์กร เพื่อสานฝันร่วมกัน ได้ออกมาเป็น “Shared Vision” การร่วมกันสร้าง Shared Vision นั้นย่อมหมายถึงว่าคนแต่ละคนอาจจะต้องยอมปรับวิสัยทัศน์ส่วนตน หรือ Personal Vision ไปบ้าง เพื่อสร้างทิศทางร่วมกัน เป็นความใฝ่ฝันที่มีร่วมกัน วิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันด้วย คือจะต้องเป็น “Shared Learning” คือเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) การเรียนรู้ที่ว่านี้ ถ้าจะให้มีพลังต้องเป็นการเรียนรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของการปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่ใช้การนึกคิดเอาเท่านั้น การใช้ความคิดเพื่อวางแผนไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่แผนที่ว่านี้ต้องมีการปฏิบัติ การเรียนรู้จึงจะชัด และ ไม่ลอย การศึกษาของเราทุกวันนี้ เป็นการเรียนรู้ที่ค่อยข้าง ลอย ไม่ติดดิน ไม่ติดบริบท ทำให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ดูสวยงาม แต่กลับหาประโยชน์อะไรมิได้ ใช้งานไม่ได้ เป็นความรู้ที่มีไว้สำหรับใช้โต้เถียงกันเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เอาไว้ใช้อ้างอิงเพื่อผลงานทางวิชาการ

 

ทำอย่างไรจึงจะเกิดการรวมตัวกันของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เช่น บางท่านสนใจเรื่องชุมชนเมือง บางท่านสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บางท่านสนใจเรื่องเยาวชน ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิด CoPs ของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน คนเหล่านั้นอาจจะอยู่กันคนละที่ แต่มีการใช้ CoPs เพื่อร่วมสานฝัน (Shared Vision) เพื่อร่วมกันเรียนรู้ (Shared Learning) เพื่อแบ่งปันและร่วมสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ (Shared Passion) . . . บางทีนักศึกษากลุ่มนี้ ผู้ที่จัด ตลาดนัดความรู้ ในครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มของการก่อตั้ง CoPs ของเรื่องทั้ง 5 เรื่องนี้ให้กับสังคมไทยก็ได้ . . . ใครจะไปรู้!!

       นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจจะพูดคุยกับนักศึกษาในเวลาสิบนาฬิกาที่จะถึงนี้ที่ชั้นสี่อาคารเรียนรวม SC ที่ มธ. ศูนย์รังสิต ครับ
หมายเลขบันทึก: 108207เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 07:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ปัญญาภาคปฏิบัติ จะจัดการอย่างไร? คือคำถามในบันทึกนี้..
  • คงต้องการคำตอบที่หลากหลายเพื่อหา Core competency
  • นิสิตอาจจะคิดถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ผ่านกิจกรรมของนิสิตก็ได้ครับ.. เขารู้ได้ด้วยตนเองแล้ว..
  • Synergy อาจารย์ประพนธ์ใช้คำไทยว่า "ผสานพลัง" ส่วนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ใช้คำว่า "สนธิพลัง" น่าสนใจครับ.. ที่ใช้คำต่างกัน

สวัสดีครับ
    ตามมาตั้งแต่อาจารย์เกริ่นว่าจะไปทำงานนี้แล้วครับ  และพอมาเห็น BAR ออกมาก็กระจ่างแจ้ง และตรวจสอบแล้วกับที่เคยคิดเคยหวังว่าจะทำอะไรอย่างไร ถ้ามีโอกาสแบบนี้  พบว่าตรงกับที่อาจารย์นำเสนอเป็นส่วนมาก  ส่วนที่ต่างก็คือส่วนที่ผมยังคิดไม่ถึง  อ่านแล้วก็ได้เติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ 
     ผมกำลังอยู่ในภาวะที่น่าจะทำอะไรได้มาก เพราะความไว้วางใจจากทีมงานโดยเฉพาะ หัวหน้า และเพื่อนร่วมงานระดับบริหาร  แต่ที่หนักใจก็คือ พบว่าคนหันไปทางเดียวกับเรา มี Direction อันเดียวกัน มีอยู่พอประมาณ แต่ระดับความจริงจัง ให้ถึงแก่นนั้น ยังเป็นปัญหาครับ คล้ายๆกับว่า จากคน 30 คน มีหันหน้าไปทางที่เราคิดว่าใช่แล้ว 10 คน  แรกๆก็ดีใจว่ามีไม่น้อย เดี๋ยวก็คงมี Synergy เกิดขึ้น แต่แล้วก็พบว่า ใน 10 คนที่เราหวังนั้น บ้างก็แค่หันหน้า ไปทางนั้น แต่ไม่ยอมก้าวเดิน  บ้างก็เดินๆหยุดๆ  บ้างก็กำหนด Destination ไว้เสร็จสรรพ ว่าอีก 100 เมตรจะเลิกเดิน หรือ อาจมีแม้กระทั่งว่า เดี๋ยวจะเดินกลับ  และไปทางอื่นดีกว่า  ง่ายกว่า สะดวกกว่า ฯลฯ 
     นี่เป็นเรื่องจริง อิงสมมตินะครับ  ฝากให้อาจารย์ช่วยคิดต่อว่า จะหาทางจัดการอย่างไรได้บ้าง ถ้าเจอแบบนั้น

สวัสดีครับ

  1. ทำอย่างไรจึงจะเกิดการรวมตัวกันของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ?
  2. ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิด CoPs ของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน ?

 น่าสนใจมากเลยครับในประเด็นนี้ ประเด็นแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องของใจ ส่วนประเด็นหลังเป็นเรื่องของการสร้างเวทีและการจัดการให้เกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาใช่ไหมครับ

 

การดึงใจคนเข้ามามีส่วนร่วม น่าจะเริ่มจากการดึงเขาเข้ามาเป็น Partnership จากจุดเล็ก ๆ  หรือ Micro partnership  Personal Vision ตามแนวคิดอาจารย์ประพนธ์) ตามด้วยผสานพลัง หรือ Synergy” สู่ระดับ  macro partnership เรื่องที่ทำยากแต่ท้าทายนักพัฒนามืออาชีพมาก ๆ เลยค่ะ
เป็นไปตามที่ คุณ anuroj48 ว่าไว้ครับ คือต้องมีทั้ง Micro Partnership และ Macro Partnership ผมพบว่า Keyword ที่สำคัญก็คือ Ownership - Commitment - Leadership
เห็นด้วยกับคุณข้ามสีทันดรครับ โดยเฉพาะเรื่อง "ใจ" และ "ปัจจัย" ก็ต้องเอื้ออำนวยด้วย เช่น มี "เวที" ให้ ลปรร.กัน ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่อง "เวลา" ครับ คนส่วนใหญ่มักชอบอ้างว่า "ไม่มีเวลา" เช่นพูดว่า งานยุ่งจนไม่มีเวลาวางแผน ไม่มีเวลาพัฒนางาน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และอีกมากมายครับ สำหรับผมแล้ว ถ้าผมพูดว่า "ไม่มีเวลา" นั่นหมายความว่า เรื่องนั้นไม่ได้อยู่ใน Direction ที่ผมกำลังมุ่งไป ครับ
ขอบคุณครับที่ทำให้ผมได้คิดต่อได้ 

ท่านอาจารย์ Handy ครับ ผมเชื่อใน Normal Curve (รูประฆังคว่ำ) ครับ ใน 100 คน ถ้ามีผู้ที่มีไฟ (ต้องการจะเปลี่ยนแปลง) สัก 10-20 % ก็น่าจะ O.K. แล้วครับ ส่วนพวกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมขยับก็คงจะมีจำนวนพอๆ กัน เพราะเป็น หาง Curve อีกด้านหนึ่ง 

สำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือพวกที่อยู่ตรงกลาง ปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงมักขึ้นอยู่กับพวกที่อยู่กลาง Curve นี่แหละครับ ถ้าองค์กรไหนได้ผู้ที่มีภาวะผู้นำมาเป็นผู้นำก็จะทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น เพราะจะสามารถโน้มน้าวคนส่วนใหญ่ให้ มีใจ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้ครับ

ขอบคุณสำหรับ "นิทาน" ของอาจารย์ที่ทำให้เข้าใจ "สถานการณ์" ได้ดีขึ้นครับ ผมจะนำไปคิดต่อ ถ้าได้อะไรดีๆ ที่เป็น "ยุทธวิธี" แล้วจะรับพูดคุยกับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท