การขยายตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย


อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาท พร้อมทั้งมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีตลาดผู้นำเข้าที่เป็นตลาดใหม่และมีศักยภาพสำหรับการขยายตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นอย่างมาก ได้แก่ รัสเซีย จีน สหรัฐเอมิเรตส์ บาห์เรน และบราซิล เป็นต้น
 ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยต้องทราบถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าในแต่ละประเทศดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ หรือออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดโดยลักษณะพฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในแต่ละประเทศ มีดังนี้
 ประเทศรัสเซีย
 เป็นประเทศที่มีชนชั้นล่างค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรตระหนักถึงการทำตลาดเพื่อคนส่วนใหญ่ (Mass Market) ในรัสเซีย ซึ่งก็คือการทำตลาดระดับล่างกับชนชั้นล่าง สินค้าที่ผลิตจึงเป็นสินค้าที่เหมาะสมกับคนที่มีรายได้น้อย โดยสินค้าเพชรเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะเพชรขนาด0.05-0.25 กะรัต และเครื่องประดับทองคำโดยส่วนใหญ่นิยมทองคำ 14 กะรัตเครื่องประดับที่นิยมในรัสเซียส่วนใหญ่ต้องมีเพชรเป็นส่วนประกอบ ส่วนทองนั้นมีความนิยมค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ ทองโทนสีแดง (Rose Gold) ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงมาคือ ทองโทนสีขาว และสีเหลือง เป็นต้น ส่วนสีของอัญมณีนั้นส่วนใหญ่นิยมสีเขียว (มรกต) มากที่สุด รองลงมาคือ สีฟ้าหรือน้ำเงิน
 ประเทศจีน
 จีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้มีความนิยมในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับค่อนข้างหลากหลาย ตลอดจนเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพและตราสินค้ามากขึ้น โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นที่นิยมในตลาดจีน คือ เครื่องประดับทอง 18 กะรัต ที่มีเพชรเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยไม่อาจแข่งขันได้ เนื่องจากจีนมีการผลิตในประเทศเป็นจำนวนมาก การค้าเพชรและเครื่องประดับเพชรของจีนมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก โดยตลาดเพชรของจีนได้รับการส่งเสริมจากผู้ค้ารายใหญ่ของโลก คือ De Beers
 ดั้งนั้นสินค้าที่ไทยน่าจะมีศักยภาพในตลาดจีนมากที่สุดคือ เครื่องประดับสำหรับตลาดระดับบน ที่เน้นคุณภาพการออกแบบ หรือเป็นสินค้าที่แสดงถึงฝีมือและความประณีต ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีนควรให้ความสำคัญกับการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ และรูปแบบที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าของตนเองมากกว่าการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก และควรมุ่งเน้นที่ตลาดระดับบนของจีน เนื่องจากผู้ประกอบการชาวไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องต้นทุนกับผู้ผลิตชาวจีนในตลาดระดับล่างได้
 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 ตลาดของประเทศนี้นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากประชากรมีกำลังซื้อสูง และมีการส่งออกต่อ (Re-export) ไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางด้วย รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการค้าเสรีและสนับสนุนให้เป็นเมืองปลอดภาษี จึงทำให้สินค้ามีราคาถูก
 การเลือกซื้อสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับของชาวพื้นเมืองในประเทศนี้ มักจะดูที่ตราสินค้าเป็น สิ่งสำคัญ และมักนิยมเครื่องประดับทองคำ 21 กะรัต โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวและกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงจะนิยมเครื่องประดับทองคำ 18 กะรัต ส่วนกลุ่มชน เอเซียใต้ (อินเดียและปากีสถาน) ที่เข้ามาในฐานะชนชั้นแรงงานมักนิยมซื้อเครื่องประดับทองล้วน 22 กะรัต โดยปัจจัยในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคส่วนใหญ่คำนึงถึงเรื่องราคาและรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
 ส่วนทางด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์นั้น เน้นรูปแบบที่แสดงความเป็นยุโรป และทันสมัยมากขึ้น โดยสินค้า ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับชุดใหญ่ (Gem Set) เครื่องประดับที่มีเพชรเป็นส่วนประกอบ และเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยพลอยสี โดยสีของพลอยที่นิยมกันมาก คือ สีเขียว (มรกต) สีแดง (ทับทิมหรือเพทาย) ส่วนพลอยสีฟ้าเป็นสีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด
 ประเทศบาห์เรน
 ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของบาห์เรนเป็นตลาดที่มีการพัฒนาและมีการแข่งขันสูงโดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการนิยมในบาห์เรนได้แก่ เครื่องประดับทองคำ 21 กะรัต (Baharaini jewelry) ที่ออกแบบในสไตล์อาหรับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาก และมีการพัฒนารูปแบบใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และสินค้าที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ เครื่องประดับมุก และเครื่องประดับทองคำ 18 กะรัตที่ประดับด้วยเพชร หรือมรกตเป็นส่วนประกอบ การนำเข้าเครื่องประดับของบาห์เรนเสียภาษีศุลกากรเพียงร้อยละ 5 และการส่งออกต่อไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ก็ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรใดๆ เพิ่มเติม
 ประเทศบราซิล
 ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของบราซิลมีลักษณะที่ค่อนข้างหลากหลาย มีการแข่งขันด้านราคาและรูปแบบที่ทันสมัยเป็นหลัก รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพมากขึ้นเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ทองคำ 18 กะรัต ทั้งที่มีอัญมณีและไม่มีอัญมณีประดับและเครื่องประดับเงินเป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประดับด้วยพลอยเนื้ออ่อน เช่น อะความารีน โทแพช ทัวร์มาลีน
 ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอให้ชาวบราซิลควรมีลักษณะที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของ บราซิล นอกจากเครื่องประดับแท้แล้ว เนื่องจากชาวบราซิลส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ เครื่องประดับเทียมหรือเครื่องประดับแฟชั่นยังคงเป็นสินค้าที่ไทยมีโอกาสมากเช่นกัน


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท