เขาคือเรา...อย่าแยกเขาไปจากเรา


วิธีการคิดเรื่องการตีตราหรือจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยเลย

     เขาคือเรา เราคือเขา อย่าแยกเขาไปจากเรา และอย่าแยกเราไปจากเขา…เลย เป็นเหมือนคำวิงวอนเพื่อให้ได้หันหลับมาทบทวนวิธีการคิดเรื่องการตีตราหรือจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยเลย แต่กตกอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมาย (พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการฯ) กำหนดไว้ให้คนพิการที่จะได้รับสิทธิตามที่ควรจะเป็น ควรจะได้นั้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการให้เรียบร้อยก่อน ผมเห็นด้วยเพียงการรับรองจากแพทย์หลังได้พยายามบำบัดและฟื้นฟูอย่างเต็มที่แล้ว ก็น่าจะเพียงพอ ไม่น่าจะต้องตอกย้ำกันซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง

     คนที่ต้องการเข้าถึงสิทธิฯ เหล่านี้ แม้แพทย์จะบอกว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับรองให้เป็นคนพิการได้ ก็จะเกิดความไม่สบายใจ พบได้จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของคนพิการในหลาย ๆ อำเภอ ของจังหวัดพัทลุง ล่าสุดก็เป็นที่อำเภอป่าพะยอม แกนนำฯ คนหนึ่งบอกว่าช่วยเล่นเส้นให้รับรองผมให้พิการทีได้ไหม (ตาบอดข้างหนึ่ง) อย่างนี้ เป็นต้น เมื่อถามว่าทำไมถึงอยากได้หนังสือรับรอง ท่านก็ตอบว่าทาง อบต.แจ้งว่าหากหมอรับรองให้ก็จะสามารถมาเข้าชื่อรับเงินสงเคราะห์เลี้ยงชีพรายเดือนได้

     การ "สงเคราะห์" ที่ถูกนำมาใช้เกินความจำเป็น ก็สามารถชี้นำให้คนเราอ่อนเปลี้ยเพลียแรงกันไปหมดทั้งสังคมได้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีศักยภาพมากมาย แต่ก็อดที่จะรอรับการสงเคราะห์ไม่ได้ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อเกือบปีมาแล้วที่ การตัดพลังคนชายขอบด้วยการสังคมสงเคราะห์   ไม่ซ้ำให้มากแล้วในบันทึกนี้

     การแยกกลุ่มคนพิการออกไปจากสังคมด้วยการตีตราหรือจดทะเบียนที่ว่านี้ ในปัจจุบันยังยกเลิกไม่ได้ แต่ใจผมอยากให้ยกเลิกเสีย รวมถึงลดการสงเคราะห์ลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นให้เครือข่ายเขาบริหารจัดการกันเองภายในกลุ่มของเขา ตามสภาพที่เขาจะตัดสินใจ โดยเราก็เป็นเพียงหนึ่งเสียงหนึ่งคนสมาชิกเท่านั้นที่จะร่วมทำงานกับเขา

     ที่พัทลุงหากจะพูดถึงกลไกการขับเคลื่อนงานคนพิการเราจึงใช้พลังร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกว่าใครคือคนพิการเพื่อ “ร่วมกันขับเคลื่อนให้สังคมปรับกระบวนทัศน์และยอมรับในศักยภาพคนพิการ โดยเน้นที่การพึ่งตนเองอย่างพอเพียง”

หมายเลขบันทึก: 107803เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เห็นด้วยกับน้องชายขอบอย่างยิ่งค่ะ ในส่วนที่ว่า  อย่าแยกเขาไปจากเรา  เพราะยังไงเราก็อยู่ด้วยกัน

การ "สงเคราะห์" ที่ถูกนำมาใช้เกินความจำเป็น ก็สามารถชี้นำให้คนเราอ่อนเปลี้ยเพลียแรงกันไปหมดทั้งสังคมได้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีศักยภาพมากมาย แต่ก็อดที่จะรอรับการสงเคราะห์ไม่ได้

ใช่ค่ะ  และอันนี้ก็ไม่ใช่แค่กับคนพิการนะคะ  รวมไปถึงคนอื่นๆด้วยค่ะ   คนมักง่าย ชอบสะดวกสบายมีเยอะค่ะ  ถ้าสะดวกสบายได้อย่างง่ายๆใครจะไม่ชอบ

พี่หนิงเจอคนขี้เกียจมาก็เยอะ (ส่องกระจกก็เจอ 555)  แต่ก็ได้พยายามบอกกับลูกๆทุกคนว่า  ต้องสู้ ต้องขยัน ต้องหมั่นฝึกฝน พัฒนาศักยภาพของเรา  ต้องก้าวไปด้วยความสามารถของเรา  ไม่ใช่บนความสงสารหรือเอื้ออาทร  เพราะอะไรที่ได้มาจากความสงสารจะอยู่กับเราได้ไม่นาน 

ต้องสอนให้เลี้ยงและจับปลาให้เป็นค่ะ  ไม่ชอบสอนให้เอาเงินไปซื้อปลา  เพราะเขาอาจจะไม่มีปลากินตลอดไป

พี่หนิงก็พาลูกๆ ที่ยังไม่จดทะเบียนคนพิการ  ไปจดทุกคนนะคะ  อิอิ  สนองนโยบายของพม.

แต่จริงๆ  พี่หนิงคิดเสมอว่า  การที่เด็ก หรือผู้ปกครองยอมจดทะเบียนคนพิการ  นั่นคือ  เขาได้เปิดใจยอมรับความพิการแล้ว  เมื่อยอมรับแล้วก็จะพัฒนาได้ง่ายกว่า  บางคนที่ยังปฏิเสธว่า..ไม่พิการ  หรือคิดว่าตัวเองจะรักษาหายให้ดีขึ้น  เหล่านั้นมักจะไม่อยากทำตัวแบบคนพิการ  ไม่ยอมเข้ารับการฝึกทักษะของความพิการนั้นๆ  ทำให้ช้าค่ะ  การฝึกทักษะยิ่งเริ่มไว ยิ่งเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง

พี่หนิงครับ

     ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนกัน ว่าแต่พี่ส่องกระจกแล้วเห็นอะไรเหรอครับ หรือเห็นคนที่อยู่ข้างหลังพี่...

      เดี่ยวนี้นะครับผมว่านอกจากเลี้ยงเป็น จับปลาเป็น ต้องอนุรักษ์และขยายพันธุ์เป็นด้วยพี่ว่าไหมครับ จึงจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง ไม่ใช่ไปซื้อพันธ์ปลาและอาหารจาก...ซีp มาเลี้ยง จนไปไม่รอดทั้งคนเลี้ยง ปลา และสิ่งแวดล้อมนะครับ

     ที่พัทลุงก็ยังมีการรณรงค์กันเพื่อขึ้นทะเบียนทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพ และของ พม.ครับ ไม่ได้ปฏิเสธอะไร แต่อาจจะดำเนินการโดยทีมงานคนพิการเองเสียเป็นส่วนใหญ่นะครับ

      ส่วนประเด็นที่เขามาขอขึ้นทะเบียนนั้น (ในรายที่พิการมานาน แต่เพิ่งจะมาขอขึ้นทะเบียน)  ผมได้สุ่มหาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว พบว่า ร้อยละ 74.30 เพราะ ทาง อบต./เทศบาล ให้เงินสงเคราะห์ยังชีพรายเดือน แต่ยังไม่มีชื่อครับ

อื้มม  ยังเป็นปัญหาที่แก้ยากนะคะ  และคงต้องพยายามปรับแก้กันต่อไป  ทำอย่างไรให้อยู่ด้วยความสามารถของตนเอง  เพื่อการดำรงชีวิตอิสระ ( IL )

พี่ก็เคยได้ยินจากคนทำงานในชุมชนค่ะ  ว่าคนพิการบางกลุ่มก็จะคิดกันอีกแบบนึง 

การให้เงินสงเคราะห์ก็ดี  แต่พี่ว่าเงินเท่านั้นไม่ทำให้อยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตหรอกค่ะ  และบอกเด็กๆว่าอย่าหวังพึ่งเงินนั้นเลย  พัฒนาตนเองและหาเองด้วยความสามารถได้เยอะกว่า

พี่หนิงครับ

     เงินนั่นนะ เขาให้เป็นรายเดือน (500 บาท/เดือน เป็นส่วนใหญ่) ผมก็พยายามเสนอไปในหลาย ๆ เวทีที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ไม่ว่าระดับใด อีกนะครับว่า น่าจะรวบรวมให้เขาเป็นเงินก้อน พร้อม ๆ ทั้งจัดการเรื่องอาชีพครับ 

     มีเด็กคนหนึ่งในเขต อ.เขาชัยสน มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ครับ พอเขาได้วัวไปเลี้ยง 1 ตัว จากองค์กรอะไรผมจำไม่ได้ แต่ผมไปพบเขานั่งเฝ้าดูวัวกินหญ้าอยู่ห่าง ๆ ผมถามว่าวัวใครเอ่ย เขารีบตอบอย่างภาคภูมิใจครับว่าเป็นของเขา และจากเดิมที่เขาเที่ยวไปไหนต่อไหน พ่อแม่เขาบอกว่า เขาเฝ้าวัวทุกวัน จูงไปเอง และพากลับคอกเองครับ 

  • เมื่อเป็นแบบนี้นะคะ คนทีไม่พิการก็อยางพิการเพื่อต้องการเงินกองทุน
  • ส่วนคนที่พิการที่แท้จริง เป็นอันตกสำรวจ
  • อย่าเอาเขาออกไปจากเรา อย่าเอาเราออกมาจากเขาคำนี้น่าคิดนะคะ เพราะว่าเราก็สามารถดำรงชีพร่วมกันได้ทำไมต้องแยก เอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการแยกประเภทของคนละคะ
  • เพราะว่าสังคมในปัจจุบันเห็นวัตถุสำคัญกว่าจิตใจทำให้สภาพสังคมย่ำแย่ แลต่ำลง  อยุ่ร่วมกันแต่เหมือนอยุ่คนละโลกจะต้องให้รอถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตแล้วถึงตอนนั้นแล้วคิดว่าจะทำอะไรได้นอกจากความเสียใจละคะ
  • พี่ชายขอบคะบางทีป้องอาจจะตอบมั่วนะคะวันนี้มึนทั้งวันเลยค่ะ (ให้อภัยนะคะในฐานะที่เราเป็นคนบ้านเดียวกัน)น้านมีการตั้งศาลเตี้ย

คุณชายขอบคะ

       แวะมาทักทายหลังจากงานPP ก็ไม่พบอาจารย์อีก  มาเจอข้อความอาจารย์ก็ขอ share หน่อยค่ะ  ในฐานะที่ดิฉันทำงานอยู่กับเด็กพิการทางการได้ยินมานานและก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนรู้เห็นการออกพรบ.คนพิการนี้   ในพรบ.นั้นเจตนารมย์คือการให้โอกาสแก่ผู้พิการทั้งหลายได้มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติทั่วไป  การที่จะมีอย่างนี้ได้ก็ต้องได้รับโอกาสการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง  ได้รับโอกาสในการศึกษา  ประกอบอาชีพ  แต่เรื่องเบี้ยยังชีพนี้เข้าใจว่าคงเพื่อให้ผู้พิการได้ใช้จ่ายในบางเรื่องที่ไม่สามารถเบิกตามสิทธิของการฟื้นฟูหรืออื่นๆเช่นค่าเดินทางไปรับการฟื้นฟูได้ก็จะเป็นประโยชน์ เพิ่มคุณภาพชีวิต จะเรียกว่าสงเคราะห์ก็ได้   ดังนั้นเราก็ต้องมีคำจำกัดความของ"คนพิการ"ให้ชัดเจนไม่เช่นนั้น  ทรัพยากรที่มีจำกัดก็ไม่ได้ใช้ไปเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริง   ยกตย.เช่นเครื่องช่วยฟังสำหรับเด็กประสาทหูพิการ จะต้องใช้คนละ 2 ข้างเพื่อให้เด็กได้ฟื้นฟูการได้ยินจนสามารถพูดได้  เรียนหนังสือได้ ประกอบอาชีพได้  ราคาข้างละเป็นหมื่นค่ะ  ถ้าต้องจัดสรรให้ผู้ที่มีประสาทหูเสียข้างเดียว(ไม่เรียกว่าพิการทางการแพทย์) ย่อมทำให้ตัดโอกาสแก่ผู้พิการจริงๆ    ดังนั้นจึงต้องมีการจดทะเบียนผู้พิการซึ่งต้องอาศัยการวินิจฉัย(รับรอง)จากแพทย์ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

    ไม่ทราบว่าอาจารย์มีความเห็นเพิ่มเติมไหมคะ

     ลัดดา

คนพิการนี่คือ disable หรือว่า handicaped

ถ้า disable มันก็ต้องช่วยจริงๆแหล่ะ ไม่ใช่แค่ให้เงินรายเดือน แต่ต้องมีการไปช่วยที่บ้านครบวงจร..เช่นปลูกบ้านที่เขาสะดวกในระดับใช้อุปกรณ์บางอย่างได้ ส่วน handicaped ต้องช่วยแต่ในระดับหนึ่งแล้วมีกฎหมายรองรับการทำงานที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ..เช่นจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์  การกำหนดหน้าที่เทศบาลที่จะต้องจัดทางเท้าที่เหมาะสำหรับคนใช้ไม้ค้ำพยุงหรือรถเข็น...

หน้าที่รัฐไม่ใช่แค่ให้เงินรายเดือนขึ้นทะเบียนคนพิการแล้วจบ....มันต้องครอบคลุมถึงการป้องกันการพิการเพิ่มเช่น การตรวจระดับเสียงในสังคม การจัดการเรื่องน้ำสะอาดเพื่อลดปริมาณแบคทีเรียที่อาจมีผลต่อการติดเชื้อฯลฯ

บางประเทศ เขามีกฎหมายรองรับภาวะ handicap ชั่วคราวของคนด้วยนะ เช่นอยู่ในภาวะเครียดมากจนอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตเขาก็จะให้หยุดงานชั่วคราว....และแพทย์จะวินิจฉัยว่ากลับไปทำงานได้ไหม.....เขาเรียกกฎหมายนั้นว่า safety net

เมืองไทย..ตราบใดที่ยังไม่มองสังคมแบบองค์รวม และการป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็ต้องวิ่งแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ และด้วยเงินๆๆ ....

ขออภัยนะคุณชายขอบ ไร้นามช้อบ ชอบ เรื่องให้คิดๆๆ แบบนี้...สนุกดี....

แต่คิดแล้วไม่ลงมือทำ..มันก็ไม่สนุก..จริงไหม.....

ถ้าไร้นามอยู่ในพื้นที่และมีหน้าที่(บวกอำนาจของภาคสาธารณสุขสักเล็กน้อย) ....ไร้นามจะจัดกิจกรรมให้เด็ก ครู นายกเทศบาล(หรือประธาน อบต) หมอ พยาบาล สสจ ปิดตาบ้าง ปิดหูบ้าง พันขาไว้ข้างบ้าง...เดินตามถนนของหมู่บ้าน....ให้ตังค์ไปคนละร้อยให้ไปหาข้าวกินเอง แล้วกลับมาทำกลุ่มว่า...เจออะไรบ้าง....ขณะนั้นคิดอย่างไร...

อ่ะนะ..ไร้นามคิดเล่นๆ ใครเอาไปทำต่อ ไม่ต้องแบ่งตังค์ทุนวิจัยให้ไร้นามนะ.....ก๊าก...

 

คุณน้องภูตะวันครับ

     มึน ๆ ไม่เป็นไรครับ แต่อย่าเมา หากเมาก็อย่าขับ นอกจากปรับแล้วติดคุกด้วยนะ ระวังล๊ะครับ
     อยากให้น้องอ่าน คห.ของอาจารย์หมอลัดดา ครับ ในประเด็นที่ถามเพิ่มเติม
     สังคมเปลี่ยนไปเป็นวัตถุนิยมนั้น หากมองอย่างไม่อคติก็มีมานานแล้วครับ แต่เมื่อก่อนเป็นวัตถุที่สนองความสุขเชิงจิตวิญญาณ มาตอนนี้เป็นการสนองกิเลส หรือสุขสบายกายมากไปหน่อยครับ

เรียน อาจารย์หมอลัดดาครับ

     ครับ ตอนนี้ผมมาช่วยอาจารย์หมอช้างที่ สพช.ครับ และประจำภาคใต้ ค่อนข้างจะห่างหายไปนานเลยครับ กว่าจะลงตัว
     ผมเข้าใจครับในความจำเป็นตอนที่ยกร่างและออกเป็น กม.ใหม่ ๆ แต่พอนาน ๆ ไป ผลลัพธ์มันเป็นอีกอย่างนะครับ ผมหมายถึงผลลัพธ์ที่เป็น Effect นะครับ เหมือนเรากำลังพยายามทำให้คนพิการน้อยลง ไม่พิการเลยยิ่งดี คนที่พิการก็พยายามที่จะให้เขาตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งตน ดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้มากที่สุด โดยสังคมคอยเื้อื้อหนุนในส่วนที่จำเป็น ก็เพื่อให้เขาใช้ศักยภาพของเขาให้ใกล้เคียงหรือเหมือนปกติให้มากที่สุด แต่ตอนนี้ Effect นั้นมันกลับทำให้คนพิการอยากได้คำรับรองว่าพิการหนักเข้าไปอีก คนที่ไม่พิการตามความหมายของแพทย์ ก็กลับอยากพิการ ตรงนี้แหละครับที่ผมพยายามสื่อสารออกไปครับ
     ในประเด็นที่ผมคิดนะครับ คือหลังจากที่แพทย์รับรองแล้ว ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนซ้ำให้ยุ่งยาก ตัดเข้าระบบในฐานข้อมูลเลยครับ ส่วนที่ยังมีหลักฐานสำเนาหนังสือรับรองที่ รพ.ก็เอามาจัดระบบเสียเลย ที่เหลืออีกไม่มากแล้วที่หลุดรอดไปก็ใช้วิธีสำรวจเท่าที่จำเป็น ผมมองว่ากระขึ้นทะเบียนอย่างเจตนาอย่างนี้ มีทั้งดีและไม่ดี ที่ไม่ดีคือเหมือนความพยายามแยกพวกเขา พวกเรา นะครับ
     ประเด็นการตีตรา/ขึ้นทะเบียนนี้ ผมได้จากการถอดบทเรียนของเครือข่ายคนพิการจังหวัดพัทลุง และจะต้องทำอีก 2 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งสนับสนุนโดยแผนงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ ให้มาทำนะครับ
     หากคืบหน้าประการใด หรือได้ประเด็นใดเพิ่มเติมอีกก็จะนำกลับมาเสนอไว้นะครับ

คุณไร้นามครับ

     ผมเหนื่อยแล้วนะ ตอบมา 2 คห.หนัก ๆ มาถึงไร้นาม โห! หนักกว่าเข้าไปอีก แต่ได้สาระดีจังครับ
     บันทึกนี้กลิ่นอะไรเอ่ย ไร้นามจึงตามมาและอยู่ให้ คห.นาน(ยาว)เลย
     องค์ความรู้ที่ไร้นามเอามาต่อยอดและเติมเต็ม ใคร่ขอขอบคุณมาก ๆ นะครับ ชอบใจมากครับ และหากมีโอกาสขอเอาไปผนวก ๆ กันเพื่อนำเสนอให้จนกลายเป็นนโยบายสาธารณะนะครับ (เผื่อมีโอกาสกะเขาบ้าง)
     การทดลองปิดตา ปิดหู เคยได้ยินแต่ยังไม่เคยฝึกเลยครับ น่าสนใจมาก หากได้กลุ่มคนเหล่านั้นไปฝึกนะครับ คิดว่าต้อง get อะไรได้มากเลยทีเดียวครับ
     ขอบคุณนะครับที่ไร้นามซึ่งผมรอเสมอมา ลปรร.ด้วย

you are welcome"my dear brother" อิอิ

บันทึกมีกลิ่นอะไรเหรอ?? สงสัยใช่ม้า.....คุณชายขอบ

ตอบว่า..มีหลายกลิ่น....เอิ๊กส์

กลิ่นที่หนึ่ง เรียกว่ากลิ่นเหนื่อยหน่ายกับความไม่รู้ของคน

กลิ่นที่สอง เรียกว่ากลิ่นอึดอักกระอักกระอ่วน กับความขาดศรัทธาของคน

กลิ่นที่ 3 เรียกว่า กลิ่นเสียงหาย กับไม่มีช่องให้เสียงลอด

ฯลฯ

อิอิ...บอกแล้วว่า ไร้นามช้อบ ชอบ เรื่องเอามาให้คิดเนี่ย...แต่ไร้นามเป็นนักปฏิบัติไง.....เลยคิดอย่างเดียวไม่ได้...ต้องหาทางปฏิบัติ....

ส่วนที่ว่าทำไมต้องให้ลองทำตัว handicap ดู...ก็คือไร้นามเคยลองด้วยตัวเองไง....ลองปิดตาแล้วเดินบ้าง หัดกินข้าวแบบปิดตาบ้าง....หัดใช้มือซ้ายเขียนหนังสือบ้าง.....

let them be insiders, they will undertand  คุณชายขอบลืมบทที่หนึ่งของงาน ethno??

อรุณสวัสดิ์ครับคุณไร้นาม

     โห! กลิ่นที่ไร้นามตามมานี่เยอะแยะเลยนะครับ แต่ละกลิ่นก็ทำเอาน้องชายหนาว ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่รู้ เรื่อง ขาดศรัทธา หรือเสียงหาย หรือไม่มีช่องให้เสียงลอด คุณไร้นามทำเอาหนาวจริง ๆ เพราะล้วนแต่จริงดังว่านะครับ
     ผมต้องขอบคุณมาก ผมลืมเรื่องขั้นตอนต้น ๆ ของ ethno ไป จริง ๆ และตลอดเวลาที่ผ่านมา 3-4 ปี กับงานคนพิการ หลงทิศผิดทางตลอดกว่าจะตั้งหลักได้ก็พบว่าใช้เวลาไปเยอะมาก ที่สำคัญยังนึกไม่ออกว่าทำไม จนมาวันนี้แหละครับ 1 ประเด็นที่ไร้นามแนะนำ ลึกซึ้งมากเลยครับ ขอบพระคุณ คุณไร้นามมากจริง ๆ

  • การช่วยเหลือในบางเรื่อง  เป็นเหมือนยาพิษ แทนที่จะดีขึ้นกลับอ่อนแอลง   เพราะเป้าหมายมุ่งหวังต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกไม่ได้ช่วยตัวเอง
  • มีบ่อยน่ะน่าฝนน้ำจะไหลเข้าบ้านแทนที่จะจับจอบมาขุดทางระบายน้ำกลับขับรถไปตาม อบต.โน้น
  • สังคมน่าคิดน่าศึกษาขึ้นทุกวัน

พี่ชาญวิทย์ ครับ

     น่าสนใจมากเลยครับ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า อย่างเช่นเรื่องการตาม อบต. อย่างนั้นบ้านเราเขาเรียก "แขะ" ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นคนใช้ไม่ได้ครับ
     ผมว่าน่าจะยังมีอีกหลายตัวอย่างนะครับ เราน่าจะตั้งวงคุยกันในเรื่องเหล่านี้สักวันนะครับ (ชักชอบเสียแล้ว)

น้องชายขอบ น้องบ่าวที่นับถือ

              กรุณาไปที่นี่ ห้องเรียนเสมือนจริงของ น.ร. ร.ร.คุณอำนวยเมืองคอน และไปที่นี่ โรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน

             ขอบคุณครับ

ครูนงฯ พี่บ่าวที่เคารพรักครับ

     ตามบันทึกไปแล้วหนึ่งบันทึกนะครับ ร่วมหุ้นและเปิดประเด็นกับ "คุณอำนวย" ที่นี่ครับ --> คุณอำนวยในการจัดการความรู้ (1) หลงผิด...คิดว่าตัวเป็๋น "คุณอำนวย"

จะพาเด็กไปขึ้นทะเบียนคนพิการได้ที่ไหนคะ เด็กเป็นออทิสติก กำพร้าพ่อ พ่อเสียชีวิต แม่หนีไป ยายไม่รับผิดชอบไม่สนใจ ดิฉันก็ภาระเยอะแล้วต้องทำงานด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท