ผลการประเมินด้านความยั่งยืน (sustainability) ของโครงการฯ


ผลการประเมินด้านความยั่งยืน (sustainability) ของโครงการกระบวนการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี
 โครงการโรงเรียนชาวนาของ มขข. ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สคส. นับเป็นโครงการที่มีศักยภาพด้านความยั่งยืนค่อนข้างมาก ดังหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้
1. การเรียนรู้ต่อเนื่องของนักเรียนชาวนาในโครงการและการขยายผลโรงเรียนชาวนาเพิ่มขึ้น
ผลการประเมินพบว่า นักเรียนชาวนาในโครงการทั้ง 4 โรงเรียน ยังคงมีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องการทำนาโดยต่อเนื่อง มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ยังคงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) ขบวนการและโรเรียนชาวนาที่ร่วมกันดำเนินการมา โดยมีผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้จาก มขข. ร่วมขบวนการ และมีกิจกรรมที่ยกระดับความเหนียวแน่นของปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ร่วมกันให้หลากหลายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น กิจกรรมส่งเสริมขบวนการการบริโภคอย่างยั่งยืนในโครงการประกวดสูตรผักน้ำพริกแต่ละท้องถิ่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ปลา-กุ้งฝอยในแปลงนา เป็นต้น กิจกรรมที่ต่อเนื่องชี้ให้เห็นถึงฉันทะในการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา
นอกจากนี้มีชาวนา ต.รางแฟบ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี สนใจที่จะเรียนรู้ในวิถีโรงเรียนชาวนา ได้รวมกลุ่มกันเองเป็นกลุ่มโรงเรียนชาวนา โดยขอรับการสนับสนุนผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้จาก มขข.    องค์กร Oxfam จากประเทศอังกฤษ มองเห็นความสำคัญของนวัตกรรมครั้งนี้ จึงได้ให้การสนับสนุน มขข. เปิดโรงเรียนชาวนาอีก 4 แห่ง กำหนดนักเรียนชาวนาไว้ประมาณ 200 คน ทั้งนี้มุ่งหมายให้เป็นนักเรียนชาวนาคุณภาพต้นแบบเพื่อขยายผลให้ชาวนาองค์กรกลุ่มอื่นมาเรียนรู้ไปขยายผลต่อ และโครงการนี้มุ่งพัฒนาและนำเอานักเรียนชาวนาที่มีทักษะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แล้วไปพัฒนาชาวนากลุ่มใหม่ เพื่อศึกษาประสิทธิผลการพัฒนา “คุณอำนวย” ในแนวทางนี้ด้วย (มขข.เชื่อมั่นการพัฒนานักเรียนชาวนาด้วยกันเองให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เนื่องจากเห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยประคับประคองให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นได้)
อนึ่ง มีเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจำนวนมากมาขอให้ มขข.ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร โรงเรียนชาวนาให้อยู่อย่างสม่ำเสมอตลอดปี โดยใช้ที่ทำการ ณ สำนักงานและแปลงสาธิตของ มขข.
2. การพัฒนากองทุนพันธุ์ข้าว
ทักษะของ มขข. และนักเรียนชาวนาในโครงการในเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป โดยเฉพาะในระดับประเทศนั้น มขข. ได้รับการยอมรับในเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนว่ามีเทคนิคเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และ มขข. ได้เคยถวายรายงานการดำเนินงานเรื่องนี้ต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงทดลองคัดพันธุ์ข้าวพระราชทานมอบให้แก่ มขข. ไปขยายพันธุ์ต่ออีกด้วย
องค์กร Oxfam ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้ระดมเงินจากเครือข่ายทั่วโลกจัดสรรให้ กับ มขข. ในลักษณะ Top project มาพัฒนากองทุนพันธุ์ข้าวหลังจากจบโครงการจาก สคส. แล้ว โดย Oxfam คาดหวังว่านอกจาก มขข. จะพัฒนาเรื่องพันธุ์ข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาในประเทศไทยแล้ว เทคนิคดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือประเทศที่ปลูกข้าวในภูมิภาคนี้ได้ด้วย นับเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ (knowledge sharing) ที่สำคัญ และเป็นแนวทางในการรับมือกับพืช GMO ที่ทันการณ์แนวทางหนึ่ง เนื่องจากชาวนาหรือเกษตรกรจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดหรือรับนวัตกรรมทางการเกษตรใดได้นั้น ต้องใช้เวลานาน นับเป็นวงจรการผลิต (crop-year) การมีความรู้เรื่องการคัดพันธุ์ข้าวจึงเปรียบเหมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวนาต่อกระแสพืช GMO ซึ่งต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลาที่นานพอหลายปี ต้องมีกระบวนการถ่ายทอดต่อเนื่องให้ชาวนาเป็นเจ้าของได้ (มิใช่ มขข. เป็นบริษัทหรือคนกลางเสียเอง) กรณีดังกล่าวนี้ นับว่าโครงการโรงเรียนชาวนาของ มขข. มีความคาดหวังสูงที่มีหลักสูตรคัดพันธุ์ข้าว เนื่องจากมุ่งหวังให้ชาวนาเป็นเจ้าของพันธุกรรมเอง ด้วยเหตุที่ในปัจจุบันและอนาคตการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรนั้น ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่เรื่องพันธุ์ (ทั้งพืชและสัตว์) หากเกษตรกรไม่มีแนวทางและเป็นเจ้าของแนวทางที่ดี เรื่องต่างๆ จะตกอยู่ในความควบคุมของบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ไปทั้งหมด หลักสูตรดังกล่าวนี้ นับว่ายากกว่าหลักสูตรแมลงหรือหลักสูตรบำรุงดินมาก การที่ชาวนาบางส่วนของ มขข.มีทักษะคัดพันธุ์ข้าวได้ จึงนับว่าโครงการมีความยั่งยืนที่จำเป็นและสำคัญมาก
ผลการดำเนินการกองทุนพันธุ์ข้าวของนักเรียนชาวนาและ มขข. พบว่าเพียงการดำเนินงานในปีแรกก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นอกจากได้พัฒนาองค์ความรู้แล้ว ในทางเศรษฐกิจพบว่าปีแรกนี้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจนสมาชิกรับปันผลได้แล้ว (ลงทุน 100 บาท รับปันผล 50 บาท)
3. ความต่อเนื่องและยั่งยืนของทักษะบางด้านที่มีในนักเรียนชาวนา
นักเรียนชาวนาของ มขข. ส่วนหนึ่งมีทักษะที่สำคัญต่อการทำนาข้าวที่ได้ผลเห็นจริง และยังคงแลกเปลี่ยนปรับปรุงทักษะเหล่านั้นทั้งภายในกลุ่มและข้ามกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น
    1. ทักษะการทำน้ำหมัก ปุ๋ย สมุนไพรไล่แมลง
    2. ทักษะการกำจัดโรคข้าว
    3. ทักษะการหมักฟางด้วยจุลินทรีย์
    4. ทักษะการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ท้องถิ่น
    5. ทักษะการวิเคราะห์ระบบนิเวศในแปลงนา
    6. เทคนิคการชี้ชวนให้ชาวนาหันมาใช้สมุนไพรแทนสารเคมี
    7. ทักษะในการถ่ายทอดพิธีกรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับการทำนา
    8. ทักษะการคัดพันธุ์ข้าว
    9. เทคนิคการดำนาด้วยต้นกล้าต้นเดียว (ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงเป็นอย่างมาก)
ฯลฯ
ทักษะความสามารถดังตัวอย่างข้างต้นนี้ มีการนำมาใช้จริง ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แม้การสนับสนุนจาก สคส. สิ้นสุดลงแล้ว จึงกล่าวได้ว่า มีความยั่งยืนและต่อเนื่องของทักษะดังกล่าวนี้ อนึ่งทักษะเหล่านี้หลายๆ เรื่องมีหลายสูตรเป็นลักษณะเฉพาะที่ (location specific) สามารถนำไปปรับใช้กันได้
4. ความต่อเนื่องยั่งยืนของการพัฒนาชาวนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล
รัฐบาลปัจจุบันโดยนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มีนโยบายให้ผู้ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ 60 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อไปขยายผลงานที่ปราชญ์เหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญ ในโอกาสนี้ คุณเดชา ศิริภัทร ผู้บริหาร มขข. ได้รับการคัดเลือกให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้วย เนื่องจากได้พิสูจน์ผลงานมาโดยต่อเนื่อง (เช่น กรณีได้รับรางวัลการวิจัยท้องถิ่นจาก สกว. และการมีนวัตกรรมทางการ เกษตรหลายๆ ด้าน) โดยกิจกรรมที่คุณเดชาจะดำเนินการ คือ การอบรมชาวนาที่มีศักยภาพรุ่นละ 50 คน จำนวน 10 รุ่น รวม 500 คน ใน 1 ปี โดยคาดหวังว่าผู้ผ่านการอบรมจะเป็นแกนนำไปสร้างขบวนการโรงเรียนชาวนาในพื้นที่ โดยในจำนวนผู้อบรม 500 คนนี้ จำแนกเป็นชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี 250 คน และชาวนาในเครือข่ายของ มขข. ในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร และพระนครศรีอยุธยาอีก 250 คน การดำเนินงานเช่นนี้จะช่วยให้มีส่วนต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายเกษตรยั่งยืน (policy reform) กรณีโรงเรียนชาวนามีความต่อเนื่องขยายผลได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มขข. มีจุดเน้นที่การสร้างนวัตกรรม (innovation) ทางเกษตรกรรมยั่งยืน มีความ มุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นแบบอย่างเป็นหลัก ส่วนการขยายผลนั้น แม้มีความสำคัญแต่เป็นจุดเน้นในลำดับรองๆ ลงมาของ มขข.
5. การสืบทอดพัฒนาองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กับเรื่องโรงเรียนชาวนาของนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก
การขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาของ มขข. เป็นที่สนใจและรับรู้ในวงกว้างพอสมควรต่อสถาบัน การศึกษาที่สนใจพัฒนานักวิชาการรุ่นใหม่ (young scholar) มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งมามีปฏิสัมพันธ์เรียนรู้ร่วมกับ มขข. ตัวอย่างเช่น หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประชากรศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี 2549-2550 มีนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ระดับละ 3 คน รวม 6 คน ได้ทำวิทยานิพนธ์ในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับนักเรียนชาวนา โดยใช้กรณี มขข. เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งนับเป็นการสร้างนักวิชาการในกระแสทางเลือก ผลิตองค์ความรู้งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมอันเป็นความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมวัฒนธรรมไทยซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความยั่งยืนให้กับขบวนการโรงเรียนชาวนา คาดว่าในอนาคตจะมีนักวิชาการรุ่นใหม่ในแนวทางนี้เพิ่มขึ้นอีก
6. การเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของ มขข.
มขข.เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมาแล้วระยะหนึ่ง โดยมักเน้นการฝึกอบรมเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่เมื่อ มขข.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องโรงเรียนชาวนาโดยการสนับสนุนของ สคส. มขข.ได้ยกระดับการเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีแนวทางเรื่องการจัดการความรู้เพิ่มขึ้นไปจากเรื่องเทคนิคซึ่งมีอยู่เดิมค่อนข้างดีอยู่แล้ว ทำให้การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มเกษตรกรมีแนวทางในการขับเคลื่อนใหม่ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการคงอยู่ การเพิ่มขึ้นของเครือข่ายเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ อนึ่ง มขข. ยังมีบทบาทในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายต่างประเทศที่ขับเคลื่อนงานในแนวทางที่สอดคล้องกันอีกด้วย
โดยสรุปการประเมินในบทนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า การทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของ มขข. ผ่านขบวนการโรงเรียนชาวนา มีผลงานโดยรวมด้านความยั่งยืนและการขยายผลที่ดี และเมื่อการสนับสนุนจาก สคส. สิ้นสุดลงแล้ว โครงการนี้ก็ยังมีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืน และขยายผลได้ต่อไปเป็นอย่างมากอีกด้วย
ข้อสังเกต
แม้ว่าโครงการโรงเรียนชาวนาที่ดำเนินการโดย มขข. จะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ แต่หากกล่าวถึงเรื่องขบวนการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในบริบทสังคมไทย ก็จะพบว่ายังคงมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งอุปสรรคหลายประการอยู่ไกลหรือนอกเหนือการดำเนินโครงการนำร่องเช่นนี้ เป็นต้นว่า การรุกคืบของกระแสแนวคิด GMO ที่ต้องอาศัยการสร้างความตระหนักรู้ เปิดพื้นที่ในแนวคิดของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ยกระดับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีสถานะในสังคมเพิ่มขึ้นด้วยการสร้างและจัดการความรู้ให้มีอำนาจต่อรองกับตลาดทุนนิยมได้มากขึ้น รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการกำหนดต่อรองกับวิถีความคิดที่ครอบงำสังคม สร้างประเด็น (agenda) สาธารณะ ร่วมตัดสินใจในนโยบายสาธารณะร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ อย่างเท่าเทียมกันได้
สัมฤทธิ์ผลในแนวทางใหม่ เช่น โรงเรียนชาวนาของ มขข. ครั้งนี้ ยังรอและต้องการผู้ร่วมทางที่จริงจังเข้มข้นมากขึ้น เป้าหมายปลายทางที่ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนมุ่งหวังยังต้องอาศัยเพื่อนร่วมทางร่วมสร้างให้แนวความคิดเป็นความจริงได้อีกมาก ทั้งนี้การขับเคลื่อนจะต้องอาศัยความรู้มุมมองใหม่ที่ต่างจากเดิม หากขาดการวิจัยและการจัดการความรู้ทางเลือกของชาวนาหรือเกษตรกรก็ย่อมมีอยู่อย่างจำกัด และท้ายสุดอาจติดกับดักเดิมคือเพียงลอกเลียนความรู้ผู้อื่นมาใช้ จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้อย่างหมดจดและยั่งยืนได้จริง
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการติดตามประเมินผลภายในและการถอดบทเรียนกระบวนการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (พฤษภาคม 2550)  
หมายเลขบันทึก: 107209เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท