ผ้าย้อมคราม...ผ้าพลิกชีวิต


ที่ว่าผ้าครามเป็นผ้าพลิกชีวิตนั้น ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะพลิกทั้งชีวิตของคุณประไพพันธ์ และแม่ฑีตา ไม่ได้เป็นการพลิกจากยากจนเป็นร่ำรวย แต่เป็นการทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ มีความสุขและยังได้เกื้อกูลผู้คนในถิ่นของตน และไม่ได้หลงอยู่ในกระแสพัฒนาแบบโอทอป

หลังจากหายไปปฏิบัติธรรมผ่านการเขียนหนังสือจนสำเร็จหนึ่งเล่ม นอกจากดีใจว่าทำงานสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ยังดีใจที่จะได้กลับเข้ามาพบท่านสมาชิกบล็อกที่แสนน่ารักทุกท่านอีก เพื่อตามอ่านเรื่องราวประเทืองสติปัญญาและอารมณ์ แล้วก็จะได้เขียนเรื่องราวมาแบ่งปันความสุขกันด้วยค่ะ

ที่จริงมีเรื่องที่ตั้งใจว่าจะเขียนมากมายจนเลือกไม่ถูกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ได้คำแนะนำจากคุณเบิร์ดว่าอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับผ้าไทย เลยขอนำเรื่องผ้าย้อมครามมาเล่าก่อนเลย สงสัยจะยาวต้องแบ่งสองตอนค่ะ เตรียมไฟล์ภาพประกอบเสร็จหมาดๆ มีคนเข้าไปชมภาพก่อนลงมือเขียน พร้อมข้อคิดเห็น ขอบคุณคุณประถมและคุณศศินันท์ที่ไปแวะชมค่ะ ทำให้รู้สึกสนุกที่จะเขียนเลยค่ะเพราะมีคนให้ความสนใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น

ที่จริงผู้เขียนเดิมเป็นคนชอบผ้าแนวชาติพันธุ์และชนเผ่ามานาน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผ้าไทยเท่านั้น แต่เป็นการชอบในฐานะ"ผู้เสพ"ความงาม ที่สร้างความพอใจ หรือสนองกิเลสของความเป็นคนชอบแต่งตัวที่ไม่ตามแฟชั่นของยุคสมัย และรู้สึก"พิเศษ"ทีใช้ของ"ทำด้วยมือ" นี่ขนาดความรู้สึกกับสิ่งดีๆยังเต็มไปด้วยกิเลสเลยค่ะ ไม่รู้ตัวเลย เคยเป็นอย่างนี้มาเป็นหลายสิบปี แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก

ผ้าย้อมครามเริ่มเข้ามากระทบความรู้สึกครั้งแรก คือเมื่อซื้อผ้าย้อมครามชิ้นแรกด้วยตนเอง ปกติคนข้างกายจะเป็นคนเลือกซื้อผ้าสวยงาม มีศิลปะสูง(ในแนวแปลกตามากกว่าสวยงามแบบอลังการ)ซึ่งผ้าพวกนี้มักมีราคาแพง รวมทั้งผ้าย้อมคราม คนเราเวลาได้อะไรที่ไม่ได้จ่ายเงินซื้อหามาเองมักไม่ค่อยใส่ใจในคุณค่าและราคาของสิ่งนั้นเท่าไร ผู้เขียนก็เคยเป็นเช่นนั้น

ยังจำได้ว่าไปงานโอทอปที่เมืองทองธานีเกือบสิบมาแล้ว เขาจัดสินค้าเป็นโซนจังหวัดๆ คนเยอะมาก เห็นร้านขายผ้าย้อมครามเป็นสีน้ำเงิน เรียงรายลานตาไปหมด ทันใดก็เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งนุ่งกางเกงเลเป็นผ้าฝ้ายคราม ที่สีน้าเงินลึกแต่สดใส เนื้อผ้าฝ้ายนั้นนิ่ม พริ้วทิ้งตัวอย่างไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ก็รีบเดินตามเขาไป ว่าจะไปถามว่าเขาซื้อผ้าอย่างนี้ที่ไหน เขาเดินไปหยุดที่ร้านๆหนึ่ง เลยไม่ต้องถามเพราะเห็นผ้าคล้ายๆกันนี้พอดี เจ้าของร้านเป็นสุภาพสตรีตัวเล็กๆ รวบผมตึงเป็นมวย ไม่ช่างพูดต่างหาก ถามราคาผ้า จำได้ว่าเขาบอกว่าเมตรละพันบาท นึกสะดุ้งในใจ ว่าทำไมแพงจัง แล้วตัวเองเคยอยู่เชียงใหม่ชินกับผ้าม่อฮ่อม สีน้ำเงินเหมือนกันซึ่งไม่แพงเลย เอาล่ะ อย่างไรก็ต้องซื้อ ซื้อมาสองเมตรเอาไปตัดเป็นกระโปรงกางเกง ทั้งสวยทั้งเท่ นุ่งสบายอีกต่างหาก

เวลาผ่านไปอีกหลายปี ตอนนั้นยังทำงานอยู่ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สองสามหลังปีฟองสบู่แตกใหม่ๆ สวทช. มีโครงการสร้างเสริมเศรษฐกิจในชนบทด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีงานวิจัยเรื่องผ้าย้อมครามอยู่โครงการหนึ่ง พอดีนักวิจัยเขาจะไปติดตามงานวิจัยนี้ที่อำเภอพรรณานิคม สกลนคร ผู้เขียนทราบเข้าเลยขอตามไปเพื่อนำข้อมูลกลับมาเขียนตามหน้าที่ของงาน และชอบอยู่แล้วที่จะได้ไปซื้อผ้าถึงแหล่ง

ได้ไปเห็นชาวบ้านมาประชุมกันตั้งแปดสิบคน เอาผ้ามาโชว์และขาย ซื้ออย่างสนุกไปเลย แต่ทีทึ่งคือ ผู้นำกลุ่มชาวบ้าน(ที่จริงชาวบ้านมาขอร้องให้เขานำ)ก็คือสุภาพสตรีที่เราไปซื้อผ้าย้อมครามเขาเมื่อหลายปีมาแล้วที่เมืองทอง และทึ่งยิ่งขึ้นไปอีกคือ วิธีคิดและโลกทัศน์ของเธอผู้นี้ เธอชื่อ คุณ ประไพพันธ์ แดงใจ และได้เจอคุณแม่ของเธอด้วย คือ "แม่ฑีตา" ซึ่งภายหลัง คุณประไพพันธ์ หรือ "จิ๋ว" ได้ใช้เชื่อ"แม่ฑีตา"เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของเธอ

 แม่ฑีตากับเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมแล้ว ผ้านุ่งแม่ฑีตางามมาก

ในงานประชุมนี้นักวิจัยในท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครคืออาจารย์อนุรัตน์ สายทอง กับทีมงานก็มาด้วย ได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบที่ไม่เคยเห็นจากงานอื่นใด สมัยนั้นตัวเองก็ยังไม่รู้จัก"การจัดการความรู้"ด้วยซ้ำไป ที่น่าประทับใจอีกประการคือเขามีการนิมนต์พระมาบรรยายเรื่องของการสร้างอาชีพ สร้างกำไรอย่างยั่งยืนอีกด้วย เรียกว่าเป็นงานแรกที่เห็นการผสมผสานของวิทยาศาสตร์และศาสนามาอยู่บนเวทีเดียวกันอย่างกลมกลืน

คุณประไพพันธ์และแม่ฑีตากับทีมนักวิจัย ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน งานวิจัยสมัยใหม่เข้าไปเสริมและแก้ปัญหาที่มีในกระบวนการผลิต ได้ประดิษฐ์เครื่องกวนน้ำครามเป็นการช่วยผ่อนแรงผู้สูงอายุ (ในหมู่บ้านมักมีแต่ผู้สูงอายุ คนวัยทำงานไปอยู่ในเมืองใหญ่กันเกือบหมด) ผู้วิจัยมีความเคารพชื่นชมผ้าย้อมครามที่ชาวบ้านทำ ถึงกับนำมาแต่งกายเป็นประจำ ชาวบ้านยังคงรักษาเอกลักษณ์ และจิตวิญญาณในกระบวนการผลิตไว้ มีสติ มีคุณธรรม ในการเลี้ยงชีพ ไม่โลภ

แม่ฑีตาสาธิตเครื่องมือใหม่ที่ได้จากงานวิจัยแบ่งปันความรู้ให้กับทุกคนที่สนใจ คุณประไพพันธ์ หรือจิ๋ว ลูกสาวคือคนทีถือไมโครโฟน

ที่ว่าผ้าครามเป็นผ้าพลิกชีวิตนั้น ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะพลิกทั้งชีวิตของคุณประไพพันธ์ และแม่ฑีตา ไม่ได้เป็นการพลิกจากยากจนเป็นร่ำรวย แต่เป็นการทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ มีความสุขและยังได้เกื้อกูลผู้คนในถิ่นของตน และไม่ได้หลงอยู่ในกระแสพัฒนาแบบโอทอป

การได้รู้จักความเป็น"ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา" ยังพลิกชีวิตผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนรื้อหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่คิดๆเขียนๆมาสองสามปีแล้วยังไปไม่ถึงไหนเพราะไปมองแค่การใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศว่าเป็นหนทางการพัฒนา มองไม่เห็น หรือไม่เข้าใจความรู้แบบอื่นๆ คิดๆไปก็รู้สึกเสมอว่า"มันไม่ใช่" จนกระทั่งมาพบของจริง

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉุกคิดเรื่องของภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีอยู่อย่างเข้าขั้นร่ำรวย ว่าเราควรมองอย่างบูรณาการความรู้ทั้งที่เรามีอยู่เป็นทุนเดิมและความรู้สมัยใหม่จากภายนอก พอรู้สึกว่า"ใช่"เท่านั้นแหละ ใช้เวลาสองปีกว่าด้วยกระบวนทัศน์ใหม่กับกรณีศึกษาทั้งหมด ๙ เรื่อง สนุกมาก ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาผู้เขียนยังได้ไปปฏิบัติธรรม เป็นครั้งแรกในชีวิต โดยฝึกการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแนวทางหลวงพ่อเทียน กับท่านพระอาจารย์สุริยา พระผู้มาบรรยายธรรมในวันนั้น ได้เกิดดวงตาธรรมและขัดเกลาตนเองมาจนทุกวันนี้

ชมภาพผู้อาวุโสแห่งพรรณานิคม

 ภูมิใจที่ได้นุ่งห่มบ่งบอกความเป็นชาติในเวทีสากล

ตอนต่อไปจะนำไปรู้จักชีวิตของแม่ฑีตา กับคุณจิ๋ว และจะบอกว่าผ้าย้อมครามมหัศจรรย์อย่างไร จากใบถึงผืนผ้ายากเย็นแค่ไหน

หมายเลขบันทึก: 106459เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะ

มาเยี่ยมชมค่ะ

จำได้ตอนเด็ก แม่ดิฉันจะให้ชาวบ้านหอผ้าฝ้าย โดยแม่ปลูกต้นฝ้ายเองและเก็บฝ้ายไปให้ชาวบ้านทอ แล้วนำมาย้อมครามเอง

แล้วจะตัดเสื้อผ้าย้อมคราม แม่ชอบใส่ตลอดเวลา เราก็คิดว่าทำไมแม่ถึงชอบใส่ แม่บอกว่าใส่สบาย ไม่ร้อน

พอเราโต เราก็ชอบใส่ผ้าฝ้ายเหมือนแม่

ขอบคุณที่เขียนเรื่องดีดีให้อ่านค่ะ

จะคอยติดตามนะคะ

  • สวัสดีค่ะ...หว้าแวะมาเยี่ยมค่ะ
  • เพิ่งจะมีเวลาพักนิดนึง  เลยเข้ามาเยี่ยมg2k
  • ได้เจองานของพี่เลยต้องหยุดอ่านค่ะ
  • ผ้าไทยสวยงามเสมอค่ะ   หว้าเองก็ชื่นชอบผ้าไทย  แต่ช่วงนี้ต้องใส่เสื้อเหลืองทุกวัน  จนชักจะชินกับเสื้อยืดซะแล้ว...
  • ว่าแล้วคงต้องไปเลือกผ้าไทยมาใส่บ้างแล้วค่ะ  เริ่มคิดถึง   เวลาที่สวมใส่ผ้าไทยแล้วรู้สึกภูมิใจจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะ

ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องผ้าสักเท่าไหร่ค่ะ แต่ชอบใส่ผ้าฝ้ายเหมือนกันนะคะ

ชอบที่เขียนตรงนี้มากๆ เลยค่ะ

ที่ว่าผ้าครามเป็นผ้าพลิกชีวิตนั้น ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะพลิกทั้งชีวิตของคุณประไพพันธ์ และแม่ฑีตา ไม่ได้เป็นการพลิกจากยากจนเป็นร่ำรวย แต่เป็นการทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ มีความสุขและยังได้เกื้อกูลผู้คนในถิ่นของตน และไม่ได้หลงอยู่ในกระแสพัฒนาแบบโอทอป

รู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมากเลย ทั้งมีการอนุรักษ์ มีเรื่องครอบครัว มีความพอเพียง เป็นตัวอย่างที่ดีจริงๆ

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะพี่นุช

เบิร์ดเข้ามาเป็นครั้งที่สามเพราะชอบมาก ! และเพิ่งโพสต์ได้ แหะ แหะ

ภูมิใจที่ได้นุ่งห่มบ่งบอกความเป็นชาติในเวทีสากล  อ่านแล้วรู้สึกภาคภูมิขึ้นมาในทันใดเลยค่ะ...รู้สึกตัวพองไปหมดด้วยความภูมิใจในความเป็นไทยที่ซึมอยู่ในทุกสายเลือด  มีความสุขมากๆเลยล่ะค่ะ ^ ^

ชอบนักค่ะ...

ที่ว่าผ้าครามเป็นผ้าพลิกชีวิตนั้น ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะพลิกทั้งชีวิตของคุณประไพพันธ์ และแม่ฑีตา ไม่ได้เป็นการพลิกจากยากจนเป็นร่ำรวย แต่เป็นการทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ มีความสุขและยังได้เกื้อกูลผู้คนในถิ่นของตน และไม่ได้หลงอยู่ในกระแสพัฒนาแบบโอทอป

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉุกคิดเรื่องของภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีอยู่อย่างเข้าขั้นร่ำรวย ว่าเราควรมองอย่างบูรณาการความรู้ทั้งที่เรามีอยู่เป็นทุนเดิมและความรู้สมัยใหม่จากภายนอก

และชอบทั้งหมดของบันทึกเลยค่ะ ขออนุญาตก็อปไว้นะคะ...อยากบอกว่าจะรออ่านตอนสองนะคะพี่นุช

ขอบคุณมากๆค่ะที่ทำให้เบิร์ดตัวพองเป็นครั้งที่สามเมื่อเข้ามาอ่านบันทึกนี้

สวัสดีค่ะพี่นุช

เบิร์ดเข้ามาเป็นครั้งที่สามเพราะชอบมากค่ะ

ที่ว่าผ้าครามเป็นผ้าพลิกชีวิตนั้น ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะพลิกทั้งชีวิตของคุณประไพพันธ์ และแม่ฑีตา ไม่ได้เป็นการพลิกจากยากจนเป็นร่ำรวย แต่เป็นการทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน ได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ มีความสุขและยังได้เกื้อกูลผู้คนในถิ่นของตน และไม่ได้หลงอยู่ในกระแสพัฒนาแบบโอทอป

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉุกคิดเรื่องของภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีอยู่อย่างเข้าขั้นร่ำรวย ว่าเราควรมองอย่างบูรณาการความรู้ทั้งที่เรามีอยู่เป็นทุนเดิมและความรู้สมัยใหม่จากภายนอก

 ภูมิใจที่ได้นุ่งห่มบ่งบอกความเป็นชาติในเวทีสากล

ช่างเป็นถ้อยคำที่ทำให้เบิร์ดตัวพองไปด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเสียนี่กระไร....

ผ้าไทยสวยนะคะและมีความผูกพัน มีความหมายอยู่ในทุกๆเส้นใย เพราะเป็นการถักทอขึ้นด้วยภูมิปัญญา  ด้วยความใส่ใจ  ด้วยความรัก ความผูกพันระหว่างกันและกันอย่างลึกซึ้ง...เป็นสายใยบางเบาที่ร้อยสายใจไทยทุกดวงไว้อย่างเหนียวแน่น

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบันทึกที่งดงามเหลือเกิน...จะรออ่านตอนสองนะคะ  ขอบคุณมากๆค่ะ

 

สวัสดีค่ะ พี่นุช·       คิดถึงนะคะ...ชอบบันทึกนี้เพราะความเป็นไทยค่ะ (สงสัยเป็นคนอยุธยาที่ค่อนข้างจะรักศิลปะความเป็นไทยโบราณอยู่มากค่ะ) และ ก็บันทึกนี้ให้ความรู้ น่าสนใจมากค่ะ..ติดใจ..·       แหววชอบผ้าไทยค่ะ ทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย ทั้งแบบพื้นบ้านหรือที่งามแบบอลังการ แล้วแต่สภาพแวดล้อมข้างเคียงค่ะ คุณแม่ก็ชอบผ้าไทย และใส่ผ้าไทยมากๆ บางครั้งไปเจอถูกใจหลายชิ้นก็ซื้อมาฝากลูกสาวซะจน ปีนึงก็ยังนำไปตัดชุดไม่หมด...เก็บอยู่ก็หลายชิ้นค่ะ·       แหววเคยไปเดินแบบผ้าไทยในงานอยุธยามรดกโลก และงานวัฒนธรรมจังหวัดอยุธยาอยู่ 2 ครั้งค่ะ..เวลาใส่ชุดไทยตอนกลางคืนที่บริเวณโบราณสถานเนี่ย..ชอบค่ะ ..ขลัง..ดีค่ะ แล้วก็จะยิ่งภูมิใจกับความเป็นไทย ฝีมือคนไทยที่ก่อให้เกิดศิลปะที่งดงาม ...(ยังมีกิเลสในเรื่องนี้อยู่มากเหมือนกันค่ะ..)·       ขอบคุณพี่นุชนะคะ ที่มีบันทึกดีๆงามๆ มาฝาก...ทำให้ย้อนระลึกและภูมิใจในความเป็นไทย ภูมิปัญญาไทย และวิถีไทยดีๆ ขึ้นมาได้อีกวาระหนึ่ง..ขอบคุณมากๆค่ะ...
  • สวัสดีค่ะ คุณคุณนายดอกเตอร์ ..

ชอบจังค่ะ  ที่ได้อ่านบทความเรื่องนี้  ต้อมเป็นอีกคนที่ชอบผ้าฝ้ายมาก ๆ  รวมไปถึงผ้าม่อฮ่อม

เวลาเห็นใครสวมใส่ผ้าฝ้าย  ผ้าม่อฮ่อม  ก็จะมีความรู้สึกอิ่มเอม  ชอบใจ  ตลอดจนต้องแอบมอง  และปกติต้อมเองก็นุ่งกางเกงเล  กางเกงสะดอ  ผ้าฝ้ายอยู่บ่อย  บางวันก็สวมเสื้อกะเหรี่ยงมานั่งทำงานเสียนี่  รู้สึกภูมิใจดีกับฝีมือชาวบ้าน

 

สวัสดีค่ะอาจารย์นุช

คอยอ่านอยู่ค่ะ เพิ่งได้เข้ามา ธุระเยอะหน่อย 2-3 วันนี้ แต่เห็นรูปแล้ว

เรื่องผ้าไทยนี้ ชอบค่ะ ใส่บ่อย แต่ไม่ได้สะสมอะไรนัก แต่มีเพื่อนสนิทที่ชอบผ้าไทย เป็นชีวิตจิตใจและจัดแสดงผ้าไทยบ่อยๆ ชื่อ ศ.(พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา   มีกรุผ้าไทยเยอะมาก ไม่ทราบเคยพบกันหรือเปล่า และเขาก็ใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสทุกวันค่ะ จนทุกวันนี้

เคยซื้อผ้าทอมัดหมี่จากสุรินทร์ บุรีรัมย์ก็สวยค่ะ แต่ถ้าเป็นแบบบางหน่อย จะรุ่ยง่ายเหมือนกัน

ที่อำเภอพรรณานิคม สกลนคร  มีชื่อมานานเรื่องผ้ายอมคราม

แต่ทำอย่างไร เราจะให้ผ้านี้เป็นที่ต้องใจของพวกDesignerล่ะคะ ที่เมืองไทยก็ได้ค่ะ แบบยั่งยืนเลย

ก็นักออกแบบ สนใจกันหลายคน แต่ยังไม่ดังมากเท่าที่ควร

ผ้าย้อมครามกับผ้าม่อฮ่อม อย่างเดียวกันไหมคะ

มีข้อที่ควรเข้าไปพัฒนาอย่างไรบ้างคะ

สมัยยังทำงานรัฐวิสาหกิจ ช่วงเสาร์อาทิตย์ จะมีงานอดิเรกค่ะคือ ไปเชียงใหม่ ไปจ้างชาวบ้านตัดเย็บชุดเครื่องนอน ส่งขายออสเตรเลีย และยุโรป ขายดี ลูกค้าเยอะ ทำไม่ทัน แต่ ปัญหา คือ คุณภาพ ไม่สม่ำเสมอ ขนาดก็ไม่ค่อยจะเท่ากัน บอกแล้ว บอกอีกจนจะทะเลาะกัน เขาว่า เขาทำได้แค่นี้หละ ไม่สั่ง อย่าสั่ง

โดนลูกค้าต่อว่ามาก จนเสียลูกค้าไปก็มี

พี่เองไม่มีเวลาไปดูแลคุณภาพงาน      เพราะทำงานประจำอยู่ ลูกก็กำลังวัยรุ่น พอดี  ออกจากรัฐวิสาหกิจมาทำโรงงานอุตสาหกรรม  เลยต้องเลิกไป ให้เพื่อนทำต่อ เขาก็ไม่ทำ เขาบอกเหนื่อย

ประเด็นคือ คนที่ทำ เขามีแนวคิดจะทำ จนเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากๆ จนเกินที่จะเป็นงานศิลปะท้องถิ่นไหมคะ เพราะ น่าจะมีอนาคตไกลค่ะ

บางที เห็นพวกDesignersต่างประเทศ ไปได้แรงบันดาลใจมาจาก ส่าหรีบ้าง กิโมโนบ้าง ก็นึกถึงประเทศเราทันที เราก็สวยไม่แพ้เขาหรอกค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

  • อ่านช้าๆ  อ่านละเอียด เก็บเกี่ยวอะไรได้มากมาย หลายชั้น หลายระดับครับ
  • ของดีที่เรายืนบัง นั่งทับ นอนทับกันอยู่ยังมีอีกมากมายนัก  น่าเสียดายที่วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี หลายครั้งแทนที่จะเข้ามาเสริมสร้าง ปรับปรุง ด้วยความเคารพ ชื่นชม และเชิดชู กลับกลายเป็นศัตรูมาไล่บี้ ตามทำลายล้างของดี อย่างน่าเสียดายครับ

สวัสดีค่ะคุณอุบลP คุณโชคดีจังเลยนะคะที่ได้สัมผัสสิ่งดีๆในชีวิตตั้งแต่เด็ก การได้เห็น ได้ใช้ชีวิตเช่นนั้นทำให้เรื่องของความพอเพียง ความตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ และสายสัมพันธ์ในชุมชน ในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่ต้องให้ใครมาบอก

กำลังเขียนเล่ากระบวนการและความมหัศจรรย์ของผ้าย้อมคราม เกิดผิดพลาดทางเทคนิค ข้อมูลที่พิมพ์ไว้ยังไม่ได้โพสต์ ไม่ได้เซฟ หายไปครึ่งหนึ่งเลย หมดแรง รออีกนิดนะคะจะพบว่าผ้าฝ้ายย้อมครามไม่ใช่แค่ใส่สบาย พรุ่งนี้คงเขียนเสร็จค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ลูกหว้าP

ดีค่ะช่วยกันใส่ผ้าไทย เลือกใช้ให้เหมาะกับโอกาส ที่จริงแม้ต้องใส่สีเหลืองก็ใช้ผ้าไทยได้

ที่พี่ไม่ค่อยเข้าใจคือทำไมการทำเรื่องดีๆอย่างรวมใจกันใส่สีเหลือง จึงไปตกอยู่ในกับดักทางการค้า หรือกับดักความสบายจนเกินไป ที่ทุกคนลุกขึ้นมาใส่เสื้อยืดสีเหลืองไปทำงานเหมือนคนจะไปเล่นกีฬากันทุกหน่วยงาน เห็นผู้ใหญ่หลายๆท่านที่มีความคิด ได้นำผ้าไหม ผ้าฝ้าย สีเหลืองมาตัดเย็บสวมใส่ งามกว่าการใส่เสื้อยืดตั้งเยอะ ที่จริงการที่เราทำอะไรดีๆถวายในหลวงน่าจะทำอย่างประณีตให้สมกับเป็นการบูชาใช่มั้ยคะ

ขอโทษนะคะได้โอกาสบ่นเล็กๆเรื่องการใส่เสื้อยืดสปอร์ตสีเหลืองไปทำงาน

 

สวัสดีค่ะอาจารย์กมลวัลย์P

ความมหัศจรรย์ของผ้าย้อมครามที่น่าภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากๆ ไม่ช่แค่การปลื้มอดีต ปลื้มวัฒนธรรมไทย กำลังเขียนตอนต่ออยู่ค่ะ

คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักผ้าฝ้าย ผ้าไหม ที่จะเลือกมาใช้ให้เหมาะกับวัย และโอกาส ที่สำคัญคือมักไม่ค่อยมั่นใจที่จะใช้ใส่ไปทำงาน ตัวเองตอนทำงานใส่ไปทำงานทุกวันในช่วงสิบกว่าปี ไม่ได้ใช้ของแพงด้วยค่ะ ผ้าถุงกะเหรี่ยง หรือลัวะ บางผืนไม่กี่ร้อยบาท ใส่ได้แบบไม่มีแฟชั่น ไม่ล้าสมัย เพราะไม่ต้องตามสมัย ขำเพื่อนบางคนพูดว่า"นี่ถ้าฉันใส่อย่างเธอนี่ ฉันจะดูเป็นขี้ค้า ขี้ข้า" เล่นเอาเรางงไปเลย

สวัสดีค่ะคุณเบิร์ดP

ช่างเป็นแฟนกันจริงๆเข้ามาอ่านตั้งสามรอบ ขอบคุณมากค่ะ และขอบคุณทีชอบสิ่งที่เขียนเพราะเขียนมาจากความรู้สึกจากสิ่งที่ได้เห็นค่ะ

ต้องขออภัยที่ให้รอตอนต่อไปนานไปหน่อย พิมพ์ๆอยู่สงสัยอินเตอร์เน็ตหลุด มัวหันไปหันมาคงไม่เห็นตอนมันเตือน แว๊บเดียวหายไปครึ่งหนึ่งเลยดีที่เซฟครึ่งแรกไว้นะคะ

อิ อิ ต้องคุยว่าตอนที่กำลังจะได้อ่านมหัศจรรย์ที่สุด เป็นความรู้ที่ฝรั่งยังไม่รู้เลย อะไรจะปานนั้น

เวลาให้ของขวัญอาจารย์ฝรั่งหรือเพื่อนคนสำคัญ มักจะให้ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา ยิ่งให้แล้วเล่าประกอบ ว้าว !ตาโต อ้าปากค้างในคุณสมบัติของผ้าครามกันทุกคน

ทุกครั้งที่หยิบผ้ามาใช้นึกถึงเรื่องราว ทำให้มีสติกับชีวิตดีจริงๆค่ะ

 

สวัสดีค่ะน้องแหววP ดีจังที่ทั้งน้องแหววและคุณแม่ชอบใส่ผ้าไทยทั้งคู่ วันหลังนุ่งผ้าไทยชวนกันมาทานข้าว หรือของว่างยามบ่ายที่บ้านพี่บ้างนะคะ จะได้รู้จักกัน น้องแหววต้องเป็นคนแต่งไทยสวยถึงได้ไปเดินแบบชุดไทยหลายครั้ง อยากเห็นจัง

ส่วนมากพี่นุ่งผ้าไทยแบบนุ่งผ้าถุง มักเสียดายที่จะตัดผ้า หรือหากตัดเย็บจะเลือกมากว่าไม่ได้ตัดผ้าทิ้งไปมาก มีกระโปรงอยู่ตัวหนึ่งแบบดีมากๆเลยแทบไม่ได้ตัดผ้าถุงที่เป็นสี่เหลี่ยมเลย ใส่แล้วสุดเก๋ ใครมาเห็นพี่ใส่มักจะขอก๊อปปี้แบบ ซึ่งก็ไม่ได้หวงค่ะหากจะทำให้มีคนใช้ผ้าไทยมากขึ้นอีกหนึ่งคน และชาวบ้านได้ขายผ้าได้มากขึ้นอีกชิ้นหนึ่ง

 

สวัสดีค่ะคุณเนปาลีP

คนชอบนุ่งกางเกงเล ผ้าคราม และม่อฮ่อม เสื้อกะเหรี่ยง อย่างนี้เป็นอาร์ติสจริงๆนะคะ เพราะเป็นธรรมชาติ และเป็นอิสระ จากชุดความคิดในกระแสทุนนิยมที่ต้องวิ่งตามแฟชั่น

ขอบคุณที่ชอบอ่านเรื่องที่เขียนค่ะ

เสน่ห์เสื้อผ้าแบบท้องถิ่นเป็นสิ่งที่จับใจตัวเองมากเช่นกัน ไม่เคยเบื่อเลยค่ะ

  • เคยแวะไปเยี่ยมที่บ้านแม่นานแล้ว
  • ไปตอนนั้นได้ไปย้อมครามด้วย สนุกดี
  • แต่ไม่ได้ลงมือเอง
  • อ่านบันทึกแล้ว คิดฮอดหม้อครามจัง

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P

ขอบคุณนะคะที่ตามมาอ่านและให้ข้อคิดแม้ว่าจะมีธุระมาก

ตัวเองก็ไม่ได้สะสมผ้าไทยค่ะ ที่ซื้อเพราะชอบ และก็ไม่ได้ซื้อผ้าแพงมากมาย ก็จะใส่ทุกผืน ใส่ทุกวันแม้อยู่บ้านจนเป็นความเคยชิน เวลาใส่ชุดสมัยใหม่รู้สึกว่ามันไม่ทำให้ตัวเราสง่างามเท่าไหร่

รู้จักสุภาพสตรีอาวุโสท่านหนึ่งที่แต่งกายนุ่งห่มบ่งบอกความเป็นชาติไทยได้อย่างงดงามยิ่งคือ "คุณสุรภีร์ โรจนวงศ์" เธอก็สะสมผ้าเช่นกันค่ะ เธออาจจะรู้จักกับดร.ชลธิรา คนในวงการผ้ามักจะรู้จักกัน ตัวเองแค่เป็นคนใช้ผ้าพื้นๆค่ะ

การใช้ผ้าไทย ต้องมีความเข้าใจ ทั้งโอกาสที่จะใช้ตลอดจนวิธีเก็บรักษา ผ้าบางชนิดเขาจะไม่ซักบ่อยๆ และบางทีที่คุณพี่ไปเจอผ้าที่รุ่ยง่ายอาจเป็นเพราะเขาไม่ประณีตในการทอเท่าสมัยก่อน พบบ่อยค่ะชาวบ้านที่อยู่ในกระแสทุนนิยมเขาจะทำเอาปริมาณมากๆ

ที่อำเภอพรรณานิคม สกลนคร  มีชื่อมานานเรื่องผ้าย้อมคราม

ใช่ค่ะ แต่ก็หายไปนานจนมีการฟื้นขึ้นมาภายหลัง เรื่องราวต้องติดตามในตอนต่อไปค่ะ

การทำผ้าแนวท้องถิ่นให้เป็นสากลนิยมอาจเป็นดาบสองคม หากผู้เข้าไปพัฒนาก็ไม่เข้าใจมิติของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วชาวบ้านก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะรักษาทั้งคุณภาพและคุณค่าของหัตถกรรมของตน

เรื่องที่อาจเขียนเล่าอีกสองตอนอาจตอบคำถามที่คุณพี่ศศินันท์ยกขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งเป็นคำถามที่คนในเมืองมักมีต่อเรื่องหัตถกรรมชาวบ้านค่ะ

การออกแบบลวดลายผ้าให้มันคลี่คลาย หรือประยุกต์ใส่แล้ว ไม่แก่ ไม่เชย หรือลายมากเกินไปจะช่วยในเรื่องตลาดมาก ผ้าย้อมครามแม่ฑีตานั้นก็ใช้หลักการนี้ค่ะ

ที่จริงเอาแค่ผลิตแล้ว คนที่ทำก็ใส่ ลูกหลานก็ใส่ คนในเมืองนั้นก็ใส่ ทำให้ประณีต ให้รู้ศักยภาพการผลิตของตน มีคุณธรรมในการผลิต ให้เกิดเป็นความพอเพียงที่พอดี จะทำส่งขายก็ทำด้วยความเข้าใจตนเอง ไม่โลภ แล้วจะไปได้เรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่คิดทำมากๆแบบโอทอปเสียคนมาหลายราย ผ้าครามที่มีคุณภาพมีตลาดเสมอ ไม่พอกับความต้องการค่ะ ตลาดมีทั้ง ยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ขนาดไม่ต้องดังนะคะ

ผ้าย้อมครามกับผ้าม่อฮ่อม อย่างเดียวกันไหมคะ

คนละอย่างค่ะ พืชคนละตัว กระบวนการย้อมก็คนละแบบ เล่าไว้ในตอนหน้าค่ะ

มีข้อที่ควรเข้าไปพัฒนาอย่างไรบ้างคะ

พัฒนาผู้ผลิตให้เขาเข้าใจกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง ได้เป็นผ้าย้อมครามที่มีคุณภาพสูง ปัจจุบันในท้องตลาดมีผ้าครามคุณภาพปานกลางถึงต่ำอยู่มาก

ทำงานกับชาวบ้านยากค่ะ เขาไม่เข้าใจวิธีคิด วิธีการแบบที่เราคุ้นชินกับเรื่องระบบคุณภาพแบบตะวันตก ที่ต้องสร้างการเรียนรู้กันมากคือเรื่องคุณธรรม ไม่ใช่เทคนิคการผลิตเท่านั้น เอาไว้คงจะเขียนเรื่องนี่เดี่ยวๆสักตอนค่ะ เรื่องมันยาว และมีตัวอย่างที่เห็นชัดด้วยค่ะ

คิดว่าหากต้องการพัฒนารูปแบบหัตถกรรม และขยายตลาดแบบให้ใหญ่เลย ต้องทำงานคลุกใกล้ชิดเขา ปล่อยไม่ได้ จะได้เกิดความเข้าใจ ระหว่างกัน สร้างสัมพันธ์กันมากกว่าเพียงการเข้าไปจ้าง"แรงงานราคาถูก"ในการผลิตของส่งให้เรา ชาวบ้านเขาชินกับการรับจ้างทำงานส่งโรงงานแบบตลาดล่างมากกว่าตลาดชั้นสูงค่ะ

งานผ้าครามแม่ฑีตานั้นไปถึงขั้นดีไซเนอร์อิตาลี นำผ้าแม่ฑีตาไปใช้แล้วค่ะ

มันไม่สำคัญว่าใครจะเห็นคุณค่า จะนำไปทำอะไร แต่อยู่ที่ผู้ทำผ้าคราม หรือหัตถกรรมไทยอื่นๆ จะรักษามิติทางจิตวิญญาณ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งสวยงามนั้นไว้ได้อย่างไร ไม่สูญเสียความเป็นตัวเองและศักดิ์ศรีเพียงเพราะต้องการเงินเป็นเป้าหมายสุดท้าย ทำอย่างไรได้ทั้งเงินและศักดิ์ศรี ให้ความรู้ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีคุณค่า รังสรรค์สิ่งที่เปี่ยมด้วย ความงามและความดี

นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์HandyP

ขอบคุณที่อาจารย์อ่านละเอียดค่ะ ตัวเองนั้นพอมาศึกษาเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เป็นคนละเอียดขึ้นมากเช่นกัน เมื่อก่อนชอบมองอะไรแบบผิวเผิน และเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง(ไม่ใช่เอาเป็นที่พึ่งนะคะ)เพราะเรียนหนังสือมาก็ถูกสอนมาอย่างนี้ เรื่องชาวบ้านนี่คิดไว้เลยว่าเขา"ขาด"ความรู้  ดีใจที่ตัวเองเปลี่ยนไปมาก ชาวบ้านที่ยังเป็นชาวบ้านอยู่ ยังไม่เสียนิสัย เขารู้อะไรมากมายกว่าเราเยอะ เขารู้ในสิ่งที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตได้ เราเรียนมาตั้งแยะ อย่าว่าแต่เอาไปปล่อยในป่าเลยนะคะ เอาแค่ปล่อยในเมือง ไม่มีเพื่อน ไม่มีเงิน ไม่มีใครจ้างงาน ตายอย่างเดียว ช่วยอะไรตนเองไม่ได้เลย

นักวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีบางคนแบางทีก็ไม่เข้าใจความเป็นชาติว่ามีสมบัติอะไรบ้าง อย่างที่อาจารย์กล่าวค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สวัสดีค่ะคุณออต ดีใจจังเลยได้รู้จักคนที่รู้เรื่องผ้าจริงๆ ศึกษาแบบลงลึกและเข้าถึงจิตวิญญาณของผ้าและผู้ถักทอ ขอเรียนรู้จากคุณด้วยคน ขอบคุณมากเลยค่ะทีแวะเข้ามา ทำให้ได้รู้จักกัน

แวะไปที่บล็อกคุณแล้วและนำไปไว้ในแพลนเน็ตของตัวเองแล้วโดยไม่ต้องขออนุญาตเพราะรู้ว่ามีใจในสิ่งเดียวกัน

การที่มีคนทำจริงได้เขียนถ่ายทอดประสบการณ์เองทำให้เห็นความละเอียดสะท้อนให้คนภายนอกได้เห็น เช่นเรื่องของการเตรียมวัตถุดิบให้พร้อม การรู้จักเก็บวัตถุดิบในเวลาที่เหมาะสมเพราะเขามีเวลาของเขา เช่นสีย้อมธรรมชาติจากครั่งที่คุณเขียนเล่าไว้ ไม่เหมือนสีเคมีที่จะใช้เมื่อไหร่ก็มี เอาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ทำให้คนขาดความประณีตในจิตใจไปเยอะ จะใช้คำว่า"หยาบลง"ก็อาจแรงไปนิด

ตัวเองรู้สึกว่าความประณีต ความช้ากว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน คือคุณค่าของผ้าไทย จะรีบอะไรกันนักหนา แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านประณีต ผลิตไม่ต้องมาก ให้คนอยากได้รู้จักรอ และให้ชาวบ้านได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเลี้ยงชีพได้ คนไทยมักนิยมของนอก ผ้าไหมอิตาลีเมตรละหลายพันบาท ต่อไม่ได้ ยังซื้อกันมากมาย แต่พอเป็นผ้าไทยชาวบ้านทำ คิดแต่ว่าจะต้องราคาถูก ต่อแล้วต่ออีก

ตอนหน้าจะเขียนถึงกระบวนการย้อมครามที่ได้ไปเห็นมา หวังว่าคุณออตคงเข้ามาช่วยเติมความรู้จากการทำจริงให้ด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์นุช

ดีใจที่มีคนที่รู้จริง ลงลึก และเข้าใจงานศิลปะที่ทรงคุณค่านี้แท้จริง นับถือจริงๆค่ะ

ทำอย่างไรได้ทั้งเงินและศักดิ์ศรี ให้ความรู้ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีคุณค่า รังสรรค์สิ่งที่เปี่ยมด้วย ความงามและความดี

พี่เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ

แต่ที่อยากจะให้พัฒนาขึ้น ก็คงเป็นที่คุณภาพที่มาคู่กับความงดงามและความดีค่ะ อยากจะให้ดีเท่าๆกันหมดน่ะค่ะ

ไม่ต้องผลิตมาก   แต่ของที่ออกมา อยากให้ชั้นหนึ่งทุกผืน ซึ่งอาจจะเป็นอยู่แล้วนะคะ พอดีไม่ได้ใกล้ชิดเท่าไร เห็นแต่เพื่อนใส่กัน

หลายคน และสวยๆทั้งนั้น

สำหรับคุณสุรภีฯ ท่านใส่สวยมากค่ะ และเป็นเอกลักษณ์ของท่านเลย รู้สึกได้มีโอกาสถ่ายรูปกับท่าน ตอนไปรับรางวัลด้วยกันครั้งหนึ่งค่ะ

อาจารย์ก็ใส่สวยมากค่ะ เอารูป มาประกอบเรื่องหน่อยซีคะ อยากชมค่ะ

ถ้าสนใจอยากจะได้บ้าง จะหาซื้อได้จากไหนคะ อาจารย์มากระตุ้นต่อมรักชาติ  นิยมไทยแล้วซีคะ กำลังรออ่านตอนต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คุณพี่ศศินันท์คะ Pไปเขียนตอนที่สองของผ้าย้อมครามแม่ฑีตาเสร็จแล้วจึงมาตอบ ที่เขียนคงได้ตอบคำถามของคุณพี่ไปได้ระดับหนึ่งนะคะ ดีใจที่มีคนถามจากเรื่องที่เขียนแสดงว่าสนใจจริงๆ ต้องขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีคะ

พูดไปแล้วเหมือนดิฉันตามหาคุณมานานแสนนานค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องหนังสือ "ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น"  ดิฉันอยากจะซื้อไปบริจาคให้กับโรงเรียนในชนบท อยากมีเอาไว้ประดับห้องสมุด เผื่ออย่างน้อยที่สุด เป็นแสงสว่างจุดประกายให้กับพวกเค้า  ซึ่งเราอาจจะค้นหาเจอเพชรในโคลนตมค่ะ

ขอแนะนำตัวเองนิดหนึ่งค่ะ  ตอนนี้ดิฉันทำงานในอุดมการณ์ส่วนตัวเล็กน้อยค่ะ อุดมการ์ณและมันสมองมีได้เท่ามันสมองมด  มีปีกบินได้เท่าปีกผีเสื้อ (บอบบางเหลือเกิน) แต่ก็ยังโชคดีค่ะที่สามารถบินได้

ตอนนี้ที่ทำด้วยอุดมการณ์ คือ ดิฉันนำผ้าไทย ทุกชนิดที่เป็นผ้าไทยมาเผยแพร่ให้ชาวยุโรปได้รู้จักค่ะ  ดิฉันเดินหาซื้อจากชาวบ้านที่พวกเค้าทำงานด้วยใจ ไม่ได้ทำด้วยความเป็นอาชีพ ที่หวังจะร่ำรวย  ชาวนาหลังจากที่พวกเค้าเสร็จจากหน้าดำนา

ดิฉันเก็บสะสมผ้า แบบต่าง ๆ แต่ก็เริ่มต้นด้วยผ้าที่เราเติบโตมา ดิฉันมาจากสุรินทร์ พวกเราพูดภาษาเขมรกันค่ะ ผ้าเขมรก็ด้วย โฮล อัมปรม ซิน เริ่มต้นก็เอาของแม่นี้แหละค่ะ ไปออกงานแฟร์ ระดับยุโรป  เชื่อใหมค่ะ เล่าไปแล้วอาจจะเหมือนนิยายเรื่องหนึ่งได้ ออกงานครั้งแรก เงียบเหงามากเลยค่ะ ไม่มีลูกค้าไม่มีใครรู้จักเราเลย  ขอลองอีกรอบค่ะ  โดยมีผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ  ย้อมผิดย้อมถูก ก็ขอได้ลอง ไปขอพึ่งราชการ ก็เหมือนไปนั่งเล่านิทานให้เค้าฟัง (ขอโทษค่ะ) ได้ผ้าเหล่านี้มาร่วมแจม  สีสรรของผ้าไม่ค่อยแจ๋มเหมือนผ้าสีเคมี  ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเธอเข้ามาในบูธ ไม่เข้าใจเธอค่ะ ว่า ทำไมเธอปลืมกับสินค้าที่ดิฉันมีอยู่เหลือเกิน แต่เธอไม่ใช่นักธุรกิจ  เธอก็เลยไม่ได้เหมาสินค้าของดิฉัน  (ซึ่งดิฉันหวังอยากให้เป็นเช่นนั้น)  แต่เธอเป็นนักเขียนหนังสือ เกี่ยวกับผ้า เธอรู้จักผ้าไทยเกือบแทบทุกชนิด เธอขอซื้อผ้าลายเขมรที่ดิฉันมี ดิฉันก็มีไม่มากหรอกค่ะ มีอย่างละชิ้นสองชิ้น  เธอชวนดิฉันทันทีให้ไปร่วมงานที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเธอให้รายละเอียดดิฉันมา  เห็นชื่อพิพิธภัณฑ์แล้ว น่ายินดีเหลือเกินค่ะ  แต่ดิฉันก็ไม่ได้ไปร่วม

แล้วก็มีคุณผู้หญิงอีกท่านหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เธอเป็นลูกค้าของดิฉันแล้วค่ะ เธอเอาหนังสือมาให้อ่านเกี่ยวกับ สีคราม (INDIGO TEXTILES ผู้เขียน Gösta Sandberg)ดิฉันก็เลยบอกไปว่า แถวอีสานบ้านฉันนะ เค้าทำคราม  ฉันขอบใจเธอที่เธออุตสาห์อยากให้พวกฉันทำได้ ที่อุตสาห์หาหนังสือมาให้ฉันอ่าน  พอดิฉันโทรกลับบ้านที่สุรินทร์ แม่บอกว่า ลูกเอ๋ยมีแต่รุ่นที่ได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว พวกที่สามารถทำครามกับผ้าไหมได้  บางครั้งสิ่งที่ใกล้ตัวเราเองเราไม่ได้เห็นคุณค่าที่แท้จริงค่ะ  ทำให้ดิฉันรู้สึกผวา และ รู้สึกเสียดาย อย่างบอกไม่ถูก  ดิฉันนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ เค้าเขียนถึงคนใช้ครามเกือบทุกทวีป และที่เมืองไทยเราด้วยค่ะ  ดิฉันอยากจะให้ชาวโลกได้รับรู้ความเป็นอารยธรรม ความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมที่ดิฉันเติบโตมาให้มากกว่านี้ 

คนไทยเรามีความภาคภูมิใจกับอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของเรามากน้อยแค่ใหนนะ   มีเรื่องเล่าค่ะ ดิฉันหาซื้อเทคไทจากร้านผ้าไหมเพื่อจะเอาไปขายเป็นของขวัญสำหรับวันคริสมาส คนขายบอกอย่างภาคภูมิใจว่า เป็นผ้าลายอิตาลี ไหมอิตาลี (อิตาลีมีไหมที่ใหน)  เอาละ เอามาลองดู  เชื่อไหมค่ะ เนคไทนี้ดิฉันขายไม่ได้เลยค่ะ ซึ่งเนคไทผ้าไหมที่ดิฉันหาซื้อจากชาวบ้านธรรมดา ขายดีกว่า  ราคาก็แตกต่างกันลิบลับ

ดิฉันอยากเผยแพร่อารยธรรม แม้ว่าจะทำได้ไม่มากกว่านี้ แต่ก็ขอเผยแพร่ด้วยผ้าไทยเรา "อารยธรรมบนผืนผ้า" ดิฉันไม่ทราบว่า มีหนังสือที่เกี่ยวกับอารยธรรมบนผืนผ้าไทยเรา มีจำหน่ายหรือเปล่าค่ะ  ดิฉันหาดูไม่มีหนังสือที่รวบรวมอารยธรรมมรดกผ้าไทยเราเลยค่ะ  อยากให้มีท่านที่มีความสามารถเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ แล้วพวกเราจะช่วยกันทำให้โลกได้รู้จักเราได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

ด้วยความศัทธา

ธาริณี

สวัสดีค่ะคุณธาริณี อ่านที่คุณเขียนมาแล้วขนลุก ดีใจเวลาได้พบคนที่คิดคล้ายกันในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

วิธีคิดของเรามักแตกต่างจากการส่งเสริมหัตถกรรม วัฒนธรรมของภาครัฐ หรือองค์กรส่วนใหญ่ที่ตั้งขึ้นมา ดิฉันและสามีเห็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆมามาก อย่าให้ต้องเอ่ยชื่อเลยค่ะ ตอนนี้เราจึงทำสิ่งคล้ายๆคุณ คือ ทำตามอุดมการณ์ความฝันส่วนตัว แม้ไม่ใช่เรื่องผ้าโดยตรง แต่ทุกสิ่งมันเกี่ยวพันกันดังระบบนิเวศ ที่ไม่มีอะไรที่จะดำรง ดีแบบเดี่ยวๆเพียงลำพัง

ฝรั่งนั้นศึกษาอะไรมักทำเป็นระบบและเอาจริง มีฝรั่งหลายคนที่ดิฉันได้เคยพบและมาทำการศึกษาเรื่องผ้าทั้งในไทยและลาว มีการส่งเสริมอาชีพ โดยเขาออกแบบ ตัดทอนลวดลายให้เหมาะสมกับรสนิยมของตลาดสมัยใหม่ แต่ยังคงใช้ความรู้และฝีมือการทอผ้า ย้อมผ้าของชาวบ้านอยู๋ แหม น่าจะได้มีโอกาสพบและสนทนากันนะคะ ดิฉันได้มีโอกาสรู้จักและเข้าไปเกี่ยวข้องเล็กน้อยกับการทำงานร่มมือกันของ CraftNet ซึ่งเกิดจาก World Crafts Council และ ASEAN Handicraft Promotion And Development(AHPADA) แต่พูดตรงๆ ก็ไม่รู้สึกว่าเขาช่วยเหลือและส่งเสริมได้ตรงจุด เมื่อไหร่ที่พูดถึงการขาย การส่งออก ให้ทำมากๆ เป็นเรื่องที่อันตรายกับการผลิตหัตถกรรมมากค่ะ

ก็มีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับผ้าไทยในเชิงค้นคว้าวิจัยไว้มากเหมือนกันนะคะ วันหลังดิฉันพบแล้วจะบอกให้ทราบ

หวังว่าคุณคงเข้ามาเยี่ยมเยียนกันอีกนะคะ

ขอบคุณมากเลยค่ะที่เห็นคุณค่าของหนังสือที่ดิฉันตั้งใจเขียน ที่จริงอยากให้นักพัฒนาทั้งหลายที่ต้องไปทำงานเกี่ยวข้องกับชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อ่านบ้างจะได้เข้าใจความรู้ของคนไทย เห็นคุณค่า และเคารพทั้งชาวบ้านและความรู้ของชาวบ้านบ้างค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท