การจัดการความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น


สัจจะออมทรัพย์ องค์ความรู้ของพระสุบิน จึงเป็นองค์ความรู้ บูรณาการระหว่างทางโลก ทางธรรมที่สร้างความสมดุลให้แก่ทุกชีวิตในสังคมบนพื้นฐานของภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่ปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์(พระอาจารย์สุบิน)กับการจัดการความรู้

ผมมีเรื่องติดค้างใจมานานแล้ว ว่าจะเขียนเรื่องของพระอาจารย์สุบิณ ปณีโต ผู้ริเริ่มการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในจังหวัดตราด โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการจัดการความรู้ของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จังหวัดตราดแห่งนี้

พระอาจารย์สุบิณ ปณีโตใช้หลักธรรม “ทิฎฐธัมมิกิตถประโยชน์” ซึ่งเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สอนให้สร้างประโยชน์ในปัจจุบันก่อนมาเป็นแนวทางในการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยใช้ “สัจจะ” เป็นฐานร่วมอันสำคัญของทุกคนทำให้กลุ่มสัจจะออมทรัพย์มีความเข้มแข็งเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และจิตใจ 

การที่พระสุบิน ปณีโต นำความรู้ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (กลุ่มสัจจะออมทรัพย์) ที่ตนเองได้ศึกษา ค้นคว้า ค้นพบ ฝึกฝนปฏิบัติจนประสบความสำเร็จแล้วไปเผยแพร่ สอน ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้นำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (กลุ่มสัจจะออมทรัพย์) ประจำปีพุทธศักราช 2545 ผมถือว่าเป็นผู้ที่มีกระบวนการจัดการความรู้ที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ

พระสุบินสนใจในเรื่องของการออมทรัพย์

พ.ศ. 2530 พระสุบิน เดินทางไปที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดสตูล เพื่อปรึกษากับข้าราชการและประชาชนว่าจะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์กันอย่างไรซึ่งข้าราชการจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจึงได้มอบเอกสารเรื่องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของครูชบ ยอดแก้ว จากโรงเรียนวัดน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้ไปศึกษา

หลังจากศึกษาเอกสารการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของครูชบ ยอดแก้วแล้ว พระสุบินได้ธุดงค์และจำพรรษาที่ภูเขาใกล้บ้านครูชบ เพื่อศึกษากระบวนการจัดตั้ง การบริหารการจัดการ กลุ่มออมทรัพย์ของครูชบอย่างใกล้ชิดมีโอกาสได้ร่วมประชุมสัมมนาจนเข้าใจในกระบวนการการดำเนินงานอย่างชัดเจนแล้ว จึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ตรงนี้ถือว่าท่านได้ศึกษาทั้งที่เป็น Tacit Knowledg และ Explicit Knowledge จากผู้รู้

หลังจากทบทวนสิ่งที่ได้จากครูชบ ออกมาเป็นกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนจังหวัดตราดอีกครั้ง (Core Competence)

พระสุบินนำประสบการณ์จากการเดินธุดงค์เผยแพร่ธรรมะมาสรุปเป็นบทเรียนกับพระครูสังฆรักษ์ว่าการที่ประชาชนในชนบทต้องมีหนี้สินและตกอยู่ในอบายมุขนั้นเป็นเพราะห่างไกลธรรมะและขาดการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เมื่อสรุปบทเรียนที่ผ่านมาอย่างชัดแจ้งแล้ว พระสุบินก็ได้เสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ขึ้น โดยเน้นในเรื่องของ “สัจจะ” ที่หมายถึงความจริงใจซึ่งหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงเรื่อง สัจจะ ขันติ จาคะ ไว้โดยคาดหวังจะให้กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นศูนย์รวมของความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของทุกคนในชุมชน  

พ.ศ. 2533 พระสุบินได้เริ่มก่อตั้งกลุ่ม “สัจจะออมทรัพย์” ขึ้นเป็นแห่งแรกที่หมู่บ้านอื่น ๆ ที่เคยไปจำพรรษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชาชนไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้การจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

พระสุบิน เดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์กับครูชบอีกครั้ง เพื่อจัดระบบการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ใหม่ซึ่งคราวนี้ พระสุบินเริ่มต้นจากตนเองด้วยการนำปัจจัยที่ได้จากการเทศน์มาเป็นงบประมาณในการดำเนินงานส่วนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของวัดไผ่ล้อม การเทศน์ก็ได้สอดแทรกแนวคิดในเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อให้ความรู้พื้นฐานแก่ประชาชนก่อนในชั้นแรกเพื่อเป็นบันไดความคิดในการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ต่อไปในอนาคต

จากการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2535 พระสุบิน สามารถส่งเสริมให้ประชาชนจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ได้เป็นผลสำเร็จ จำนวน 9 กลุ่ม ในปี พ.ศ. 2536 – 2537 ขยายผลการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ได้ปีละ 20 – 30 กลุ่ม ในปี พ.ศ. 2543 มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์แล้วจำนวน 140 กลุ่ม มีเงินหุ้นกว่า 87 ล้านบาท จาก 240 หมู่บ้าน ในปัจจุบันคาดว่าคงมีเงินหุ้นเกือบ 100 ล้านแล้ว

ปัจจุบันกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้อ่านเป็นระยะ เพื่อเป็นการลบล้างความคั่งค้างในใจต่อครับ รับรองได้ว่าน่าศึกษาครับ

หมายเลขบันทึก: 106453เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สัจจะ คือความจริง เป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ

สวัสดีครับไม่มีรูป

ขอบคุณครับ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท