ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

เขียนรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนเข้มแข็งอย่างแท้จริงได้อย่างไร


 

เขียนรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนเข้มแข็งอย่างแท้จริงได้อย่างไร 

วิทยากร เชียงกูล

ประธานคณะกรรมการอำนวยการ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ 

      การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น ต้องใส่ข้อความที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เช่น ตั้งองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น ให้มีกลไกที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เพิ่มขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เขียนให้สิทธิหรือกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐแบบกว้างๆลอยๆ

      การจะทำให้การเลือกสส. สว. ให้มีคุณภาพนั้น ไม่ได้อยู่แค่ว่าจะกำหนดคุณสมบัติที่มาของ สส. สว. อย่างไรเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง คือ ทำให้ประชาชนมีการศึกษา รู้ข้อมูลข่าวสาร จัดตั้งองค์กร มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจการเมืองเพิ่มขึ้น

      ข้อเสนอที่สำคัญของประชาชนมีหลายข้อ ที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้อ่านและไม่ได้พิจารณา เช่นกลุ่มสหกรณ์(สมาชิก 8.9 ล้านคน) เสนอให้สหกรณ์เป็นอิสระจากระบบราชการ โดยมีองค์กรอิสระมาดูแลและให้การสนับสนุนแทน การส่งเสริมให้สหกรณ์เติบโตชนิดสามารถตั้งธนาคารของสหกรณ์เองได้ ทำธุรกิจแบบเอนกประสงค์ รวมทั้งทำธุรกิจกับคนนอกได้ เหมือนสหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม จะเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญมาก ประชาชนจะพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น และเข้มแข็งทางการเมืองเพิ่มขึ้น และจะช่วยทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีผลทางปฏิบัติจริงได้ดีกว่าระบบทุนนิยมหรือตลาดเสรีด้วย

      ข้อเสนอของสหภาพแรงงานเช่นให้มีสถาบันคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ให้สหภาพแรงงานมีส่วนจัดการเรื่องกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ให้เสรีภาพคนงานตั้งแต่เตรียมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นข้อเสนอที่ถ้าทำตามแล้วจะมีผลให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งข้อเสนอของประชาชนหลายกลุ่มที่ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันอิสระเพื่อพัฒนาการเมืองภาคประชาชน ให้มีสภาเกษตรกร สภาองค์กรชุมชน องค์กรอิสระและกองทุนสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้สิทธิ์ด้านต่างๆ (ป่าชุมชน,สิทธิผู้บริโภค,การดูแลสภาพแวดล้อม,สิทธิการรับข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ) รวมทั้งสิทธิในการแก้ไขกฎหมายใหม่ ตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง การสิทธิการทำประชาพิจารณ์ ประชามติในเรื่องใหญ่ๆเช่นการทำสัญญากับต่างประเทศ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การทำโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูง

      การปฎิรูปการศึกษาและสื่อมวลชนให้มีคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการปฎิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย การจะปฎิรูปการศึกษาได้ คือต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน องค์กรประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาเองได้อย่างยืดหยุ่นโดยไม่ต้องขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างเข้มงวดแบบเก่า ให้รัฐบาลอุดหนุนสถาบันศึกษาหลากหลายรูปแบบโดยตรงบางส่วน และอุดหนุนทางอ้อมบางส่วน โดยรัฐจ่ายเป็นคูปองให้เด็กเยาวชนวัย 3-18 ปีทุกคน ให้สามารถนำไปจ่ายให้สถาบันการศึกษาแบบไหนก็ได้ เพื่อลดการผูกขาดของกระทรวงศึกษาธิการ และส่งเสริมการแข่งขันที่สร้างสรรค์ โดยให้สมศ.เป็นผู้ประเมินและรับประกันคุณภาพสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการและคนอื่น

       การปฎิรูปสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาประชาชนให้มีความรู้และจิตสำนึกเพิ่มขึ้น ก็สำคัญมากสิ่งที่ควรทำ คือ ให้สิทธิประชาชนในการรวมกลุ่มกันทำวิทยุชนชน โทรทัศน์ภูมิภาค และสื่ออื่นๆ ได้โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งเรื่องคลื่นความถี่และงบประมาณ ซึ่งควรเก็บได้เพิ่มขึ้น หากปฏิรูปวิธีการให้สัมปทานคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ให้เงินเข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

      การปฎิรูปคุณธรรมจริยธรรม น่าจะเขียนทำนองว่า “พุทธศาสนา เป็นศาสนาหลักที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะส่งเสริมให้พุทธศาสนาและศาสนาอื่นที่เป็นที่ยอมรับให้มีส่วนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนและพัฒนาสังคมได้เพิ่มขึ้น” เช่น ให้ตั้งองค์กรอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ให้คณะสงฆ์เป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับอำนาจรัฐ ให้ขึ้นอยู่กับภาคประชาชน มีพุทธบริษัท 4 คือฆราวาสมาร่วมด้วย และมีการคัดสรรบุคคลและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพและเป็นประชาธิปไตย โดยรัฐต้องให้งบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยของสงฆ์และพุทธมามะกะอย่างพอเพียง

      การจะลดอำนาจนักการเมืองและเพิ่มอำนาจภาคประชาชน ไม่ควรเพิ่มอำนาจตุลาการให้มาเลือกสว.แทนประชาชน หรือคิดว่าตุลาการร่วมกับประธานองค์กรอิสระจะเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดประชุมแก้วิกฤติทางการเมืองได้ ถ้าอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งมาตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ควรจัดตั้งสภาที่ปรึกษาประเทศ หรือสภาองค์กรประชาชนซึ่งต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยกลุ่มหรือองค์กรประชาชน เพราะตุลาการไม่ใช่ตัวแทนประชาชน และไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชน ถ้าให้อำนาจพวกเขามากไป ต่อไปนักการเมืองก็ต้องเข้ามาแทรกแซง ควรมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ได้ ไม่ใช่ให้อำนาจรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องยุบสภาได้ฝ่ายเดียว

      หากจะเปลี่ยนแปลงเป็นการเลือกสว.ทางอ้อม อาจจะให้ผู้สมัครเลือกกันเองแบบสสร. สมัยร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือจัดให้การเลือกจากกลุ่มอาชีพและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิแบบสภาที่ปรึกษาพัฒนาเศรษฐกิจสังคม หรืออาจให้เป็นแบบผสม คือให้ประชาชนเลือกโดยตรงได้ครึ่งหนึ่งและการเลือกทางอ้อมอีกครั้งหนึ่ง โดยควรกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครให้เข้มงวด เช่น ห้ามสังกัดพรรคการเมืองหรือเป็นข้าราชการระดับสูงย้อนหลังไป 3 ปี ปฏิรูปวิธีการแนะนำตัว สว. และการเลือกตั้งให้เป็นธรรมและสุจริต

      ส่วนการเลือกทางอ้อมควรแบ่งสัดส่วนให้กลุ่มอาชีพจากภาคเกษตร แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ซึ่งรวมกันแล้วเป็นประชาชนส่วนใหญ่ จำนวนที่มากพอสมควรด้วย คุณวุฒิสว.ไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้ แต่ให้มีความอาวุโส และมีประสบการณ์ในฐานะผู้นำองค์กร

      การเลือกสส.แบบเขตใหญ่ 3 คน มีข้ออ่อนให้พวกนายทุนแทรกเข้ามา หรือซื้อเสียงเป็นพวงใหญ่ได้เหมือนกัน การจะหวังว่าเผื่อคนดีจะแทรกเข้ามาได้บ้าง เป็นการคิดแบบในทางที่ดีเกินไป ถ้าเปลี่ยนเป็นเลือกแบบเขตละ 1 คน ควรจะต้องให้คนชนะได้คะแนน 50% ขึ้นไป ถ้าคนที่ได้ที่ 1 ได้คะแนนไม่ถึง 50% ต้องคัดคนที่ได้ที่ 1 และ 2 มาให้ประชาชนเลือกรอบ 2 วิธีนี้จะได้สส.ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจริง โอกาสที่นักการเมืองจะซื้อเสียงคนทั้ง 50% ทำได้ยากกว่าการเลือกรอบเดียวแบบที่ใครได้เสียงมากที่สุดก็ชนะ ซึ่งที่ผ่านมาผู้สมัครหลายคนได้คะแนนแค่ 30-35% ก็ได้เป็นสส.พรรคใหญ่ที่สุดอาจจะได้คะแนนจากผู้ออกเสียงรวมทั่วประเทศราว 50%เศษ แต่มีสส.ถึงถึง 70-80% ของสส.ทั้งสภาซึ่งไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างเป็นธรรม

      การเลือก สส. สัดส่วนแบบแบ่ง 4 เขต เขตละ 20 คน อาจจะไม่มีผลแตกต่างไปจากเลือกเขตใหญ่ทั้งประเทศ ข้อสำคัญคือควรเปลี่ยนคะแนนสัดส่วนจากขั้นต่ำ 5% มาเหลือแค่ว่าพรรคไหนได้ 1.25% ก็ได้ 1 คน (กรณีมีสส.สัดส่วน 80 คน) เพื่อให้ยุติธรรมกับพรรคเล็กและไม่เอาคะแนนไปแถมให้พรรคใหญ่ วิธีการเลือก จะนับจากการกาบัตรใบเดียวตอนเลือกสส.เขตก็ได้ แต่ต้องเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวและให้ผู้ออกเสียงกาเบอร์พรรคเล็กที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขตด้วยได้ โดยให้แต่ละพรรคจับสลากมีเบอร์ตรงกันทั่วประเทศ

      การเลือกตั้งแบบสัดส่วนเป็นการมุ่งส่งเสริมให้คนเลือกนโยบายมากกว่าเลือกคน และพรรคเล็กตั้งใหม่จะมีโอกาสเกิดได้ ผมเคยเสนอให้นับเฉพาะคะแนนผู้แพ้ในสส.เขตมาเป็นคะแนนสัดส่วนแทน เพื่อจะได้ไม่นับซ้ำกับคะแนนของคนที่ชนะได้เป็นสส.ไปแล้ว แต่วิธีนี้อาจจะก้าวหน้าและยุ่งยากมากไป ถ้าการเลือกสส.เขตเปลี่ยนเป็นเขตละ 1 คน แล้วเลือกตั้ง 2 รอบให้คนชนะได้ 50% ขึ้นไปก็น่าจะได้สัดส่วนสส.ที่เป็นธรรมขึ้น และจะทำได้ง่ายกว่า

      กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฯควรรับฟัง(อย่างตั้งใจและได้ยินจริงๆ)กลุ่มประชาชนระดับล่างให้มากและคิดทบทวนใหม่ แก้ไขอย่างจริงจัง โดยเน้นให้ภาคประชาชนมีสิทธิต่างๆรวมทั้งสิทธิที่จะตรวจสอบถอดถอนควบคุมนักการเมืองและภาครัฐได้มากขึ้น ลดอำนาจนักการเมือง และอำนาจตุลาการลง หาวิธีคัดสรรคณะกรรมการองค์กรอิสระให้เป็นกลางและมีคุณภาพมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รัฐธรรมนูญแบบให้อำนาจขุนนางตุลาการมาก ถึงอย่างไรก็กีดกันนักการเมืองหน้าเก่าหรือตัวแทนของพวกเขาไม่ได้ แต่ถ้าให้อำนาจประชาชนเพิ่มขึ้น ประชาชนยังจะมีช่องทางต่อรอง ตรวจสอบดูแลนักการเมืองได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ถึงจะใช้เวลาในการพัฒนาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นช่องทางที่มีเหตุผลและมีทางพัฒนาประชาธิปไตยที่เป็นจริงได้มากกว่าที่จะยกอำนาจไปให้ตุลาการและขุนนาง

 

หมายเลขบันทึก: 105664เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2007 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท