ทุกคนคือคุณอำนวย


ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยการจัดการความรู้ที่เกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ของตนเองได้ทุกคน

          เมื่อตอนไปร่วมงานมหกรรมKMแห่งชาติ ครั้งที่ 2 มีคำถามจากผู้ร่วมงาน ถามทีมของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร คือผมและคุณสายัณห์ ว่า "ปี 49 ได้กำหนดแผนไว้หรือไม่ว่าจะสร้างคุณอำนวยจำนวนกี่คน" ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า "ทุกคนต้องเป็นคุณอำนวย"

          ในความหมายของผมนั้น ไม่ได้คิดแยกส่วนกันว่า คุณอำนวยจะทำเฉพาะการจัดการความรู้ของหน่วยงานที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้เท่านั้น   ผมหมายถึงเป้าหมายหรือจุดหมายในการทำงานของพวกเรานักส่งเสริมการเกษตรนั้น  ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยการจัดการความรู้ที่เกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ของตนเองได้ทุกคน โดยเฉพาะนักส่งเสริมที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกคนมีพื้นที่ทำงานอย่างน้อยคนละ 1 ตำบล มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ต้องจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดการความรู้ ประมาณ 500-1,000 ครัวเรือนอยู่แล้ว หากเราติดอาวุธทางการจัดการความรู้ให้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ทุกคนซึ่งส่วนใหญ่มีทักษะในการทำงานกับชุมชนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะสามารถทำหน้าที่คุณอำนวยได้เป็นอย่างดี

          แต่การทำหน้าที่นี้อาจจะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนพัฒนา และการมองเห็นความสำคัญและสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายพอสมควร  หลายท่านอาจมองว่าคุณอำนวยที่ว่าไม่น่าจะทำหน้าที่เหมือนกัน เพราะในส่วนของนักส่งเสริมการเกษตรน่าจะเน้นไปทางวิทยากรกระบวนการมากกว่า คุณอำนวยของ KM น่าจะเป็นไปในลักษณะนายหน้าจัดการความรู้ ฯลฯ  แต่ทีมทำงานของพวกเรามองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะที่ผ่านมาเราคิดแยกกันเป็นเรื่องๆ ทุกเรื่องเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มีขอบเขต หรือกำหนดเวลาชัดเจน เราจึงถูกมองว่าทำงานไม่ค่อยสำเร็จ (ไม่เกาะติด - ทำใหม่ลืมเก่า) เพราะเป็นวัฒนธรรมทำตามสั่ง

          ผมต้องขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจในบันทึกที่ผมเขียนลงบนบล็อก โดยเฉพาะท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  พานิช ที่ได้กรุณาติดตามอ่านบันทึก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมฉุกคิดทั้งจากข้อคิดเห็นที่ได้รับ และจากการได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรม KM แห่งชาติ ที่ผ่านมาก็คือโรงเรียนชาวนา/กลุ่มเกษตรกรผลิตพืชปลอดสารพิษกลุ่มต่างๆ  

          เพราะที่ผ่านมาประมาณปี 2543 เป็นต้นมากระบวนการนี้ พวกเราเรียกว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริห์ (ข้าว/ผัก/ไม้ผล) ผมและนักส่งเสริมการเกษตรของกำแพงเพชรทุกคนในขณะนั้น  ก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากกิจกรรมนี้  มีเกษตรกรที่ผ่านกระบวนการนี้โดยเฉพาะข้าว มีมากกว่า 2,000 คน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราทำงานตามโครงการเหมือนที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้น เราจึงละเลยเครื่องมือทำงานอันมีคุณค่า ไม่เกาะติดกลุ่มเกษตรกรกลุ่มต่าง  ไม่ทำการวิเคราะห์พิสูจน์ทราบและแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ไม่หมุนวนหลายรอบ) เท่าที่ควรจะเป็น

          คงจะยังไม่สายเกินไปถ้าเรายังไม่คิดที่จะหยุดก้าวเดิน  คุณสายัณห์ ได้ปรึกษากับผมเมื่อตอนกลางวันนี้ ว่าเราจะนำข้อคิดเห็นที่อาจารย์หมอวิจารณ์ ได้กรุณาเขียนไว้บนบล็อกของกรมส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวกับการทำการเกษตรให้ปลอดสารพิษอย่างจริงจัง ว่าน่าจะนำเสนอเป็นข้อคิดเห็นในวันจัดสัมมนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวกับแผนการทำงานส่งเสริมปี 49  ในวันที่ 28 ธันวาคม นี้  เมื่อผนวกกับข้อคิดเห็นอาจารย์หมอวิจารย์ ในวันนี้ ที่ได้กรุณาชี้แนะหากจะลงสู่เกษตรกร น่าจะไปดูโรงเรียนชาวนาที่สุพรรณบุรีและนครสวรรค์ ซึ่งทีมงานก็เล็งไว้เหมือนกัน (ตั้งแต่วันงานมหกรรมฯ) แต่เราเล็งใกล้หน่อย คือที่พิจิตรเพราะไปมาสะดวก จะขอเชื่อมเครือข่ายและดูกระบวนการทำงานและกระตุ้นคนผลิต เพราะนโยบายในทุกระดับก็มีจุดมุ่งหมายที่เกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว

          คิดว่าต้นปี 49 เราคงหาทีมคุณอำนวยในพื้นที่ที่เป็นนักส่งเสริมการเกษตร ทั้งเก่าและใหม่ที่เรากำลังฝึกฝนอยู่ ทีมงานตั้งเป้าหมายไว้ว่าน่าจะได้ประมาณ 20 คน(20 ตำบล) และค้นหากิจกรรมใหม่/ของดีหรือของเดิมที่พอจะต่อยอดได้ อาจเป็นข้าว/ข้าวอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์ติดต่อคุณอำนวยในพื้นที่ได้แล้ว 1 จุด) ส้มเขียวหวานหรือกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ ทีมงานเราคงต้องลงพื้นที่กันมากขึ้น  คิดว่าทีมงานของพวกเรานักส่งเสริมการเกษตรต้องทำและต้องทำให้ได้ อย่างน้อยจะขอตั้งจุดเริ่มต้นไว้ก่อน...  แล้วจะเขียนมา ลปรร.อีกนะครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก         

         

หมายเลขบันทึก: 10453เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท