น้องใหม่ (1) : "เธอ ...ผู้มาใหม่" เสมือนคำต้อนรับเมื่อ 17 ปีที่แล้ว


เธอ คือ นกน้อยที่หัดบินใหม่

ช่วงนี้มหาวิทยาลัยอบอวลด้วยบรรยากาศ  น้องใหม่ใสปิ๊ง    สัญจรไปที่ใดก็เต็มไปด้วยป้ายรับน้องหลากรูปแบบและสีสัน  บางป้ายมีเสน่ห์เตะตา,  บ้างเฉิ่มเชย ทื่อ ๆ  บ้างราบเรียบไร้สีสัน  หรือไม่ก็ลวดลายเลอะตาจนต้องเพ่งอย่างจริงจัง   ไม่งั้นก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่า   คำและความหมายในป้ายนั้น    สื่อสารว่าอย่างไรกันแน่ ! –

   

คืนนี้มีเวลาว่างให้กับตนเองอย่างไม่น่าเชื่อ    ผมรีบเร่งค้นตู้หนังสืออันรกรุงรังของตนเอง   ไม่นานก็พบหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ  เก่า ๆ  อันเป็นเล่มที่ผมวาดหวังไว้

  

หนังสือที่ผมกำลังพูดถึงนี้,  อันที่จริงเป็นแต่เพียงจุลสารเท่านั้น   หาใช่หนังสือเลยแม้แต่น้อย  แต่สำหรับผมแล้ว  จุลสารเล่มนี้   มีคุณค่าและความหมายต่อผมอย่างมหาศาล  เพราะเป็นจุลสาร ฉบับรับน้องใหม่อันเก่าเก็บฉบับนี้ -  บางที  ทั้งมหาวิทยาลัยอาจจะมีอยู่ที่ผมเพียงเล่มเดียวเท่านั้น,  ก็เป็นได้

  

  

จุลสารต้นกล้า  ฉบับนี้,   เป็นฉบับรับน้อง’ 33  จัดทำขึ้นโดยนิสิตพรรคชาวดินที่ชนะการเลือกตั้งเป็นองค์การนิสิตในสมัยนั้น 

  

จุลสารน้องใหม่ฉบับนี้ถือเป็นฉบับทำมือก็ว่าได้   ต้นฉบับใช้กระดาษไขพิมพ์ทับด้วยเครื่องพิมพ์ดีด  เสร็จแล้วนำไปโรเนียวสำเนาเอกสารและนำกลับมาเย็บเล่มอย่างง่าย ๆ 

  

จะว่าไปแล้วจุลสารเล่มนี้ก็ดูเฉิ่มเชย  ซื่อ ๆ ราวกับหนุ่มบ้านนอกผู้ย่ำทุ่งมาอย่างช่ำชอง  หรือไม่ก็ดูราวกับหญิงสาวชาวบ้านที่ดูเรียบงามอย่างเป็นธรรมชาติ  

  

ภายในเล่ม,  มีทั้งอักษรที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด  บางห้วงก็เป็นลายมือที่สวย, แข็งแรง  หรือไม่ก็อ่อนไหว โงนเงนไปมาอย่างน่ารัก   น่าเอ็นดู 

แต่ที่ผมประทับใจเป็นที่สุดก็คือ  เนื้อหาที่ปรากฏในเล่มนั้นล้วนแล้วแต่โน้มนำแก่นคิดของน้องใหม่ไปสู่ความเป็นผู้มีจิตสำนึกสาธารณะอันดีงาม  เป็นต้นว่า  กลอนง่าย ๆ งาม ๆ  ที่เขียนด้วยถ้อยคำธรรมดา ๆ  ฝากถึงน้องใหม่ในหน้าที่  7  นั้นน่าสนใจมาก   

น้องเอ๋ย  น้องใหม่                         ใฝ่ฝัน ขยันศึกษา   

    

หมั่นเรียน เพียรค้นตำรา                 น้องเอย น้องหาสิ่งใด

 

น้องเอย    น้องรัก                         เรียนหนัก จะก้าวไปไหน

 

เรียนเพื่อประโยชน์ของใคร             น้องให้อะไรแก่ตน

 

มองดูสังคมรอบด้าน                      ปวงชนทำงานเช้ายันค่ำ

 

            สังคมไม่เคยยุติธรรม                     มวลชนระกำทุกข์ทน

 

            น้องเอ๋ย  น้องใหม่                        สดใส  บริสุทธิ์เหมือนหยาดฝน

 

            เรียนไป   เพื่อรับใช้มวลชน             สร้างตน สร้างสังคม  ให้สมบูรณ์

   

 

ขณะที่ปกหลังปิดท้ายด้วยลำนำ  แด่เธอ ...ผู้มาใหม่    อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความรัก ความปรารถนาดีของรุ่นพี่ที่มีต่อรุ่นน้องอย่างอบอุ่น  และแจ่มชัด

    

            ในวันที่ฟ้าสดใส

 

            เธอ คือ นกน้อยที่หัดบินใหม่

 

            เธอมีพี่ ๆ  ประคับประคอง

 

            เธอช่างเป็นที่สดใสจังเลย

  

            มาเถิด

 

            มาบินไปกับฉันเถิด

 

            ฉันคือนกตัวเก่า

 

            แต่ฉันจะไม่ให้เธอบินไปกับทางเก่าหรอก

 

            ฉัน คือ นกกิจกรรม

 

            ฉันบินไปทุกที่ที่อยากไป

 

            แน่นอน  ฉันย่อมรู้ว่าแหล่งไหนที่น่าอยู่มาแล้ว

 

            แต่ยังไม่สิ้นสุด

  

            เรามาบินไปแสวงหาด้วยกัน

 

            ฉันจะประคับประคองเธอให้บินไปกับฉันอย่างปลอดภัย

 

            อย่างน้อยเธอต้องบินไปไกลกว่าฉัน....

 

            ฉันมั่นใจอย่างนั้น

   

อันที่จริง,  ถ้อยคำเหล่านั้น   ก็ดูจะไม่โดดเด่นในทางวรรณศิลป์  อ่านไปก็ดูจะขาด ๆ เขิน ๆ  หล่น ๆ หาย ๆ  ไปอยู่มากโข   แต่เนื้อความอันเป็นความหมายนั้น   ก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าวาทกรรมใด ๆ  ในยุคสมัยนี้เลยแม้แต่น้อย 

ในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงกิจกรรม  ผมถือว่า  ถ้อยคำเหล่านั้นมีความ

หมายอย่างมหาศาล   เพราะมันคือถ้อยคำจาก นกกิจกรรม  ที่เพียรหวังให้นกตัวใหม่   ได้กล้าที่จะใช้เสรีแห่งปีกนั้น  โบยบินไปสู่ทางสายใหม่   โดยมีนกกิจกรรมตัวเก่าคอยดูแลอย่างไม่ไกลห่าง  

นี่คือถ้อยคำที่เป็นเสมือนคำต้อนรับ "น้องใหม่"  เมื่อ  17  ปีที่แล้ว

หมายเลขบันทึก: 103934เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2007 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

คิดถึงตอนที่ถูกรับน้อง และเป็นรุ่นพี่รับน้องๆ ก็ขำๆ ครับ ไม่รู้ทำไปได้ยังไง....ไร้สาระสิ้นดี 555

สวัสดีครับ
P

รับน้อง  กลายมาเป็นวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยและเป็นเสมือนพิธีกรรม  ซึ่งบางครั้งก็ยากยิ่งต่อการอธิบายด้วยกระบวนความแห่งเหตุผล ....

และเชื่อว่า  จะยังดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ ... 555

 

ถูกรับน้องตั้งแต่ปี 1 มารับน้องตอนอยู่ปี 2, 3, 4, 5, 6 และแม้กระทั่งเป็นอาจารย์แล้ว ก็ยังมาร่วมรับน้องบ้างเป็นครั้งคราว

ผมเองทำงานอยู่ในหน่วยกิจการนักศึกษาของคณะแพทย์ ยืนยันว่า ยังศรัทธาในการรับน้องใหม่อยู่ครับ เหมือนที่อาจารย์ว่า มันเป็นเหมือนพิธีกรรม

ปีหลังๆนี้ ผมเป็นหัวโจก นำปี 2, 3 พาน้องไปรับข้างนอก (ภายใต้กิจกรรมสร้างเสริมความสามัคคี) แม้ว่าจะไม่เหมือนเมื่อก่อน ราวฟ้ากับดิน ตามกาลเวลาที่ผันเปลี่ยนไป แต่ยังนึกอิ่มใจไม่หาย เมื่อคิดถึงวันที่ถูกรับน้องเมื่อ 17 ปีที่แล้ว (ปี 2533)

เอาอีกแล้ว...อ่านบันทึกนี้แล้วนิ่งงัน..ขนลุก

ซึ่งใจค่ะ...ดีใจที่น้องๆรุ่นใหม่อีกมากมาย มีความรัก ความปรารถนาดี..ต่อรุ่นน้องรุ่นต่อๆไป...น่ารักจริงๆเลย...

  • อ่านบันทึกนี้...("บันทึก 17 ปีที่แล้ว")....จากน้องใหม่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วค่ะ...
  • เดี๋ยวตามไปอ่านอีกบันทึกนึงก่อนค่ะ
สวัสดีครับ
P

ไม่ว่ายุคสมัยใด  ผมก็เชื่อเหลือเกินว่าการรับน้องในสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาจะไม่สิ้นมนต์ขลังและจะยังมีการสืบต่อกันไปอย่างยาวนาน

ในทางปรัชญาอันแท้จริงผมว่าเป็นสิ่งสำคัญและชัดเจนอยู่แล้วในทุกสถาบัน  ซึ่งหมายถึงการบ่มเพาะความสามัคคี  การสร้างเจตคติที่ดีต่อสถาบันและคนรอบข้าง  รวมถึงการฝากให้คิดถึงพันธกิจทางสังคม   และยังรวมถึงแนวคิดในการเรียนและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

กระนั้นก็เป็นที่น่าเสียดาย  เพราะวิธีการในบางครั้งก็ดูจะไม่สอดรับกับปรัชญาที่ตั้งไว้  และสิ่งนี้ คือ ประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง  ถึงแม้บางครั้งจะดูเหมือนเป็นพิธีกรรม  แต่ก็คงต้องมีคำอธิบายถึงกระบวนการเหล่านี้มาก

ผมยังเชื่อว่ากิจกรรมรับน้อง  คือ ปฐมบทของความเป็นหนึ่งเดียวของคนในสถาบัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ
P

จะว่าไปแล้ว  สังคมในมหาวิทยาลัย  ก็เป็นเสมือนการจำลองเอาบทบาทของพี่และน้องในครอบครัวมาให้เรียนรู้  ขึ้นอยู่กับว่า  แต่ละคน หรือแต่ละสังคมของมหาวิทยาลัยจะมีวัฒนธรรมที่เหมือน หรือต่างกันเป็นสำคัญ

ทุกวันนี้ผมยังติดต่อกับรุ่นพี่อีกหลายคน   โดยเฉพาะรุ่นพี่ที่เคยทำกิจกรรมมาด้วยกัน,

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

P

พักนี้ไม่ค่อยได้เจอะเจอกันในบันทึกนัก  แต่ก็ยังระลึกถึงเสมอ,

ช่วงนี้สามารคามมีสวนน้ำเล็ก ๆ แล้ว  ต่อไปผมกับครอบครัวก็ไม่จำเป็นต้องไปไกลจนถึงขอนแก่น..

....

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย  สำหรับผมแล้วยังเป็นปัจจุบันเสมอ  การได้อยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนจบออกมา  คือการได้ทำงานเพื่อบ้านเกิดเหมือนกัน

ขอบพระคุณครับ

 

      ผมมีดอกาศได้อ่านกลอนด้านบนมาก่อนหน้านี้แล้วที่  ชุมชนคนตลาดน้อย  ผมรุ้สึกว่าเป็นกลอนที่ง่ายๆสบายๆในการแต่งไม่มีอารายมากมาย  แต่เนื่อหาที่แฝงลงไปนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก  ผมยอมรับเลยว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากมาย

      อย่างไรเสียผมนึกว่ากลอนนี้จะไม่มีมาที่เวทีแห่งนี้แล้วซะอีก  แต่แระแล้วก็มีมา  และผมหวังอย่างมากมายเลยว่าในอนาคต  จุลสารเก่าๆพวกนี้จะถุกตีพิมพ์อีกครั้งเพื่อ  ผู้มาใหม่  แห่งดินแดนตักศิลา

คุณน้องสภา...

คำว่า  เธอ  ผู้มาใหม่..เป็นคำที่พี่ชอบมาก  และมีอิทธิพลต่อพี่มาก  ถึงขั้นนำมาใช้ในการเขียนบันทึกไว้ในหนังสือรับน้องที่พี่เป็นบรรณาธิการ  และนำไปเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนกลอนรับน้องในปีนั้นด้วย

ติดตามต่อไปนะ...จะได้อ่านบทกลอนรับน้องที่พี่เขียนอีกครั้ง

มาช่วยกันบันทึกประวัติศาสตร์ข้อมูลของเราชาว มมส ดีกว่า....

สวัสดีค่ะ

ด้วยตอนนี้หนูกำลังทำหนังสือเสี้ยวอะตอม จุดประสงค์เพื่อการรับน้องใหม่ แล้วเห็นว่ากลอนในจุลสารต้นกล้านั้น อ่านแล้วรู้สึกว่าคำว่าเพื่อน้อง ไม่ใช่แค่ขำๆ ไร้สาระไปวันๆ

ตอนนี้หนังสืออยู่ในขั้นตอนการจัดทำซึ่งเรื่องกลอน จะเป็นการคุยกันอีกทีค่ะว่าจะใช้กลอนไหนดี เลยอยากขออนุญาติใช้กลอนนี้ในการเป็นส่วนหนึ่งขอการนำเสนอค่ะ

ขออนุญาตนะคะ

ขอบคุณค่ะ

คนคนนึงที่ชอบอ่านกลอน

ขอเอาไปใช้หน่อยนะครับ  ขอบคุนมากนะครับ เป็นพระคุณอย่างล้นหลาม

ขออนุญาตินำไปใช้ในงานรับน้องหน่อยนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอนำไปใช้ด้วยนะครับ...ขอบคุณครับผม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท