คณิตศาสตร์การเงิน: การลงทุนกับสังคมชราภาพ


ชื่อเรื่องน่ากลัวมากสำหรับหลายท่าน แต่แนวคิดพื้นฐานเรียบง่าย ... อย่าลืมเรื่องเงินเฟ้อในการวางแผนชีวิต

ในทางเภสัชศาสตร์ มีวิชาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกาย ซึ่งใช้ช่วยคิดปรับใช้ขนาดยา เรียกว่า pharmacokinetics วิชานี้ ใช้สมการเชิงอนุพันธ์ อธิบายว่าผลจากการที่ยาเข้าและออกจากร่างกาย จะทำให้ ณ เวลาใด ๆ มียาค้างในร่างกายเท่าไหร่

วันหนึ่ง ก็เอะใจว่า เอ๊ะ  ถ้าลองใช้สมการเชิงอนุพันธ์มาลองทำนายเรื่องทางการเงินดูบ้างล่ะ เพราะว่าไปแล้ว เรื่องทางการเงินนี่ก็เหมือนยานั่นแหละ มีการรับเข้ามา มีการกำจัดออกไป ไม่ต่างกัน

ผมลองตั้งโจทย์ดู มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คิดว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับสังคมชราภาพ

โจทย์นั้นคือ ต้องมีเงินออมเท่าไหร่ จึงจะสามารถเลี้ยงดูคนชราที่ไม่มีรายได้ ไปตลอดชีวิต โดยเงินออมนี้สามารถนำไปลงทุนได้ทั้งหมด

คำตอบนี้ แปลงเป็นสมการเชิงอนุพันธ์ไม่ยาก คือมีระบบเริ่มต้นที่เรียกว่าเงินออม (s) และมีการกำจัดออกแบบปฎิกิริยาอันดับศูนย์ ด้วยค่าคงที่ซึ่งเรียกว่าค่าใช้จ่าย (p) และค่าใช้จ่ายนี้ จะโตขึ้นด้วยปฎิกิริยาอันดับหนึ่งด้วยผลจากเงินเฟ้อ (f) โดยตัวเงินออมเอง ก็สามารถโตขึ้น จากผลการลงทุนได้ด้วยปฎิกิริยาอันดับหนึ่ง ที่เรียกว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุน (g)

เขียนได้ว่าอย่างนี้ครับ

ds/dt = -p + gs

dp/dt = fp

ห้ามอ้าปากค้างนานเกิน 3 วินาทีนะครับ

รูปแบบนี้ คนทั่วไปสามารถ "ทดลองแก้" ได้เองครับ ผมทำแฟ้มสำหรับให้ลองปรับตัวเลขต่าง ๆ เอง เพื่อดูว่า ตัวเองจะต้องออมอย่างไร ใช้อย่างไร จะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่า แฟ้มนี้ มีความสมจริงกว่าการประมาณการแบบตรง ๆ ที่เราใช้อยู่ เพราะนำเรื่อง "เงินเฟ้อ" เข้ามาร่วมคิด (อ่อนคณิตศาสตร์ก็สามารถทดลองเองได้ครับ ..ขอบอก)

หรือจะดึงข้อสรุปอย่างคร่าว ๆ ของสมการนี้ออกมาได้ไม่ยาก เมื่อมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ได้เหมือนกัน

เพื่อให้สมการนี้จัดการง่าย ต้องสมมติก่อนว่าต้องไม่มีวิกฤติการเมืองที่นำไปสู่ อภิมหาเงินเฟ้อ  เช่นตอนปี 2540 ซึ่งเงินเฟ้อพรวดเดียว 100 % จากผลของค่าเงิน (ตรงนี้ขึ้นกับว่า วัดจากอะไรด้วย)

ในที่นี้ ผมขอใช้ตัวเลขเงินเฟ้อปีละ 4 % โดยตลอด...

(ตัวเลขนี้ น่าจะสมจริงระดับหนึ่ง ผมประมาณจากการคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วลองคำนวณจากราคาสินค้าในชีวิตประจำวันย้อนไปถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ข้าวแกง ไข่ ทองคำ ฯลฯ ได้ออกมาเป็นตัวเลขราว ๆ 4-7 % ซึ่งผมขอใช้ 4 % เพราะเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นแน่ ๆ เป็นตัวเลขขั้นต่ำ) 

สมมติว่าพอเกษียณปุ๊บ คาดว่าใช้เดือนละหมื่นบาท

กระพริบตาทีเดียว เอ้า ผ่านไป 10 ปีแล้วแน่ะ... ไวเหมือนโกหกเลย

ถ้าเงินเฟ้อ 4% ตอนนี้ต้องจ่ายเดือนละหมื่นห้าพันบาท เพื่อให้มาตรฐานครองชีพเหมือนเดิม (และจะเพิ่มเป็นเดือนละสองหมื่นสองพันในอีกสิบปีถัดไป)

ถ้าเงินเฟ้อ 7% ตอนนี้ต้องจ่ายเดือนละสองหมื่นบาท เพื่อให้มาตรฐานครองชีพเหมือนเดิม (และจะเพิ่มเป็นสี่หมื่นบาทในอีกสิบปีถัดไป)

กลายเป็นว่า วางแผนซะดิบดี มาบานปลายเอากลางทาง ผลคือ ที่คิดว่าจะอยู่ได้ 20 ปี อาจจอดป้ายตอน 13 ปีเอาดื้อ ๆ ซะงั้น เพราะไม่เคยคิดเผื่อเรื่องเงินเฟ้อ

จากการลองวิเคราะห์เชิงตัวเลขดูกรณีเฉพาะต่าง ๆ (เรียก simulation) จะพบว่า ในระยะยาว ค่าเงินออม จะกระเด็น (diverge) ออกจากค่าเริ่มต้นเสมอ โดยเป็นไปได้สองอย่าง คือ อย่างแรก กระโดดขึ้นสู่อนันต์ (=ยิ่งอยู่ ยิ่งรวย) หรืืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ สักวันหนึ่ง จะใช้หมดและกลายเป็นหนี้เป็นสิน (=ใช้จนหมด ยิ่งอยู่ ยิ่งจน)

...สมการข้างต้นแปลกมาก เพราะเงินออมจะไม่มีวันเข้าสู่เสถียรภาพแบบนิ่่งได้เลย คือจะมีปรากฎการณ์ทางสองแพร่ง (bifurcation) รอดักอยู่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ คือ ถึงเวลาหนึ่งในอนาคต ถ้าไม่รวยขึ้น ก็จนลง ไม่มีคำว่า "เหมือนเดิมตลอดไป" อยู่เลย

(หมายเหตุทางคณิตศาสตร์: ระบบนี้ ผมเชื่อว่าเป็น dynamical systems โดยมีระดับเงินออมวิกฤติ เป็น source ของ chaotic attractor)

เราจะมาดูตรงจุดคาบเส้นนี่แหละครับ เพราะคือคำตอบของโจทย์ที่ตั้งไว้ตอนแรก คือจะดูพฤติกรรมของระดับเงินออมวิกฤติ ที่มีสำหรับใช้จ่ายตลอดชีวิตได้พอดี ไม่รวยขึ้น ไม่จนลง และค่าใช้จ่ายปรับตัวตามภาวะเงินเฟ้อได้ด้วย

คือมีระดับของเงินออม ที่เรียกได้ว่าเป็นระดับเงินออมที่ "เลี้ยงดูคนได้อย่างยั่งยืน" นั่นคือ ใช้แบบไม่มีวันหมด (แต่ต้องใช้แบบไม่เปลี่ยนนิสัย) โดยการใช้เงินแบบที่ว่า นำเอาเรื่องผลจากเงินเฟ้อมาร่วมคิดด้วย (เช่น ตอนนี้ใช้เดือนละหมื่น อีกสิบเจ็ดปีข้างหน้าใช้เป็นสองหมื่น ซึ่งเกิดจากเงินเฟ้อ 4 % ที่ใช้เพิ่ม เพื่อให้กำลังซื้อยังเหมือนเดิมโดยตลอด เช่น กินข้าวได้เท่าเดิม ซื้อเสื้อผ้าได้เท่าเดิม) แต่เงื่อนไขคือ ต้องลงทุน ไม่ลงทุนไม่ได้ เพราะถ้าไม่ลงทุน มีเท่าไหร่ก็หมด (แต่หมดเมื่อไหร่ เป็นอีกเรื่อง)

แต่ในที่นี้ เราจะทุ่มความสนใจหากรณีที่ทำให้เงินเก็บ ‘ค่อนข้าง’ คงที่ คือ ไม่เพิ่มขึ้นไม่รู้จบ และไม่ลดลงจนหมด และขอเรียกค่านี้ว่า เงินออมวิกฤติ ถ้าเก็บได้ต่ำกว่าค่านี้ ในระยะยาว จะใช้หมดเสมอ <p>ถ้าเก็บได้เท่ากับค่านี้ ในระยะยาว จะค่อนข้างคงที่ แล้วหมดปุบปับจากผลของเงินเฟ้อ</p><p>ถ้าเก็บได้มากกว่าค่านี้ จะใช้ไม่มีวัันหมด และรวยขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด</p><p>สูตรคำนวณค่าเงินออมวิกฤตินี้ สามารถประมาณอย่างคร่าว ๆ  ในใจดังนี้
</p>ถ้าผมใช้จ่ายปีละ X บาท ผมลงทุนเงิน Y บาท แล้วให้ผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อแล้ว ได้ Z% <p>จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เมื่อ ผลตอบแทนนี้เลี้ยงตัวได้พอดีโดยไม่กินทุน</p><p>นั่นคือ เมื่อ รายรับ = รายจ่าย พอดี
</p><p>รายรับ = YZ/100 มาจากผลตอบแทนการลงทุน</p><p>รายจ่าย = X ก็คือค่าใช้จ่ายตามปรกติ</p><p>ํหากให้ รายรับ = รายจ่าย ทุนก็ยังอยู่เหมือนเดิม
</p><p>แก้สมการหาค่า Y จะได้ Y = X (100/Z)</p><p>หรือปรับให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ</p><p style="background-color: #ffff00">เงินออมวิกฤติ (หน่วย: บาท) ประมาณด้วย ค่าใช้จ่ายรายปี (หน่วย: บาท) คูณด้วย N</p><p style="background-color: #ffff00">เมื่อ N = 100 หารด้วย (ร้อยละผลตอบแทนการลงทุนต่อปี - ร้อยละเงินเฟ้อต่อปี) </p>หากฝีมือลงทุนอยู่ที่ 6 % จะได้ว่า เงินออมวิกฤติ เท่ากับ 50 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี (ตัวเลขนี้เป็นไปได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือกองทุนพันธบัตรหรือซื้อกองทุนรวม) <p>หากฝีมือลงทุนอยู่ที่ 10 % จะได้ว่า เงินออมวิกฤติ เท่ากับ 16.7 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี (ตัวเลขนี้น่าจะเป็นไปได้หากลงทุนสไตล์ value investor สำหรับคนทั่วไปที่ฝึกฝนฝีมือตั้งแต่หนุ่มสาว)</p><p>หากฝีมือลงทุนอยู่ที่ 15 % จะได้ว่า เงินออมวิกฤติ เท่ากับ 9 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี (คนที่ทำแบบนี้ได้ ต้องเป็นนักลงทุนฝีมือดี ประสพการณ์สูง ซึ่งอาจเกินฝันไปหน่อยสำหรับคนทั่วไป)</p><p>ลองดูว่าถ้าเป็น warren buffet ที่เป็นนักลงทุนระดับโลก ซึ่งเขามีสถิติผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 23 % ซึ่งเงินออมวิกฤติจะ เป็นเพียง 5 เท่า (ที่เงินเฟ้อ 4%) และเป็น 6.25 เท่า (ที่เงินเฟ้อ 7 %) ของค่าใช้จ่ายรายปีของเขาเท่านั้นเอง</p><p>ผลสรุปตรงนี้ ที่ผมมองว่าน่าสนใจ ก็คือ ในการตอบคำถามที่ว่า มีเท่าไหร่จึงจะพอ จะต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า ที่ฝีมือการลงทุนระดับไหน ? และใช้จ่ายระดับไหน ?</p><p>คนที่ลงทุนเก่งจริง ๆ ต่อให้มีน้อยกว่าคนอื่นนับสิบเท่า เขาก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน </p><p>(แต่ข้อเท็จจริงที่เหมือนการประชดก็คือ ถ้าเขาลงทุนเก่งแบบนั้น เขาจะรวยกว่าคนอื่นนับสิบเท่าไปแล้ว)</p><p>เงินออมวิกฤติสำหรับแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ต่อให้ใช้จ่ายเท่า ๆ กัน และมีเงินออมตั้งต้นเหมือนกันก็ตาม ! </p><p>ลองดูกราฟครับ ได้จากการทำ simulation</p><p>กรณีศึกษาที่ 1 </p><p>กรณีศึกษาที่ 2</p><p>จากทั้งสองกราฟนี้ ชี้ให้เห็นว่า ถ้าต้องการความยั่งยืนของการใช้จ่ายในภาวะแวดล้อมที่มีเงินเฟ้อ ได้ข้อสรุปซึ่งง่ายอย่างไม่น่าเชื่อจากการจำลองระบบตาม สมการเชิงอนุพันธ์ข้างต้น คือความสัมพันธ์ต่อไปน</p><p> </p><p>ี้</p><p style="background-color: #ffff00">สูตรกรณีที่ 1 
ฝีมือผลตอบแทนการลงทุนที่ควรเป็น (% ต่อปี) = ร้อยละเงินเฟ้อต่อปี + 12 คูณ (การใช้จ่ายรายเดือน เมื่อคิดเป็น % ของเงินเก็บตอนตั้งต้น)</p><p>หรือหากย้ายข้างสูตร จะได้</p><p style="background-color: #33cccc">สูตรกรณีที่ 2
การใช้จ่ายรายเดือน เมื่อคิดเป็น % ของเงินเก็บตอนตั้งต้น =  (ฝีมือผลตอบแทนการลงทุนที่มีอยู่ หน่วย % ต่อปี -  ร้อยละเงินเฟ้อต่อปี)  หาร 12
</p><p>และหากกำหนดค่าใช้จ่ายรายเดือนมาให้ และทราบฝีมือการลงทุนและทราบเงินเฟ้อ เราสามารถคำนวณหายอดเงินเก็บที่ต้องมีทั้งหมด ได้ตามสูตรต่อไปนี้</p><p style="background-color: #ccffcc">ี้</p><p style="background-color: #ccffcc">สูตรกรณีที่ 3
ยอดเงินออมที่ต้องมี(เพื่อให้อยู่ยั่งยืน) = 1200 คูณ ค่าใช้จ่ายรายเดือน หารด้วย (ร้อยละผลตอบแทนต่อปีของฝีมือการลงทุน - ร้อยละเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปี) </p><p>สูตรทั้ง 3 กรณีคือสูตรเดียวกันครับ แต่พอย้ายข้าง ก็กลายเป็นเน้นคนละประเด็น เราจะเน้นอะไร เราก็จับให้ตัวเน้นอยู่ด้านซ้ายมือ และสูตรที่ได้มาจากการทำ simulation เหล่านี้ ก็ตรงกันกับสูตรที่ใช้สามัญสำนึกคิดไว้ข้างต้นทุกประการ เป็นการยืนยันซึ่งกันและกันว่ามีความสมจริง
</p><p>สมมติว่า เงินเฟ้ออยู่ที่ 5 % ถ้าคนใกล้เกษียณตั้งใจว่าจะใช้จ่ายเดือนละ 1 หมื่นบาท และลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพสูงซึ่งคาดการว่าน่าจะให้ผลตอบแทนที่ 10 % ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ ?</p><p>ใช้สูตรกรณีที่ 3 โดยแทนค่า</p><p>(1200 คูณ 1 หมื่นบาท) หาร (10 - 5) </p><p>จะได้ว่า ต้องเก็บให้ได้ 2.4 ล้านบาท </p><p>คราวนี้ สูตรกรณีที่ 1 มีไว้ทำอะไร ?</p><p>..ดูสูตรด้านซ้ายนะครับ ฝีมือการลงทุนอยู่ด้านซ้าย แสดงว่าสูตรนี้ไว้ดูว่าเราต้องมีฝีมือการลงทุนระดับไหน จึงจะสามารถใช้ชีวิตตามเป้าหมายยามเกษียณได้แบบไม่รู้จบ </p><p>แล้วสูตรกรณีที่ 2 ล่ะ ?</p><p>สูตรนี้จะบอกว่า เมื่อมีเงินเก็บและทราบฝีมือลงทุนของตัวเองแล้ว เราจะต้องจัดสรรการใช้จ่ายต่อเดือนของเรา ให้ไม่เกินเท่าไหร เป็นกฎเหล็กที่คุมกระเป๋าเงินเราไว้ ว่า ห้ามจ่ายเกินนี้เด็ดขาด</p><p>ถ้าใช้เกิน เงินออมนี้จะหมดได้ในที่สุด ไม่เป็นอมตะอีกต่อไป</p><p>แต่ถ้าจะใช้มากกว่าที่สูตรนี้ระบุไว้ล่ะ จะทำยังไง </p><p>ก็ทำได้ แต่การแก้ปัญหาตรงไปตรงมา คือต้องหางานเสริมทำในยามเกษียณทำ ่เพื่อว่า เมื่อใช้เกินไปจากที่สูตรกำหนดไว้เท่าไหร่ ก็ต้องชดเชยทันทีทุกบาททุกสตางค์ด้วยการทำงานเสริม</p><p style="background-color: #ccffcc">สิ่งที่น่าสนใจของสูตรที่สองก็คือ เราหยิบมันมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เอาข้อมูลปัจจุบันเป็นตัวตั้ง ทำตัวเสมือนหนึ่งเพิ่งเกษียณ จะได้ “เพดานการใช้เงินล่าสุด” ซึ่งถ้าเราเดินไต่ไปตามเพดานนี้ ก็สามารถอยู่ได้นานแบบไม่มีขีดจำกัดเหมือนกัน</p><p>ดูกรณีตัวอย่างสูตรที่ 2 ผมลองแปลงเป็นรูปกราฟ โดยในรูปกราฟนี้ ผมตั้งไว้ว่า ค่าร้อยละของเงินเฟ้อ มีค่าเป็น 4 % พอดี (กราฟนี้ห้ามนำไปใช้กับกรณีที่เงินเฟ้อเป็นอย่างอื่นนะครับ จะแนะนำให้ไปใช้สูตรกรณีที่ 2 แทน)</p><p> sustainability</p><p>สังเกตให้ดีนะครับ ว่าในกรณีนี้ต้องลงทุนเอาชนะเงินเฟ้อ 4 % นี่ให้ได้ ไม่งั้นไม่สามารถเข้าข่าย ใช้แบบไม่มีวันหมด</p><p>เช่น ถ้าฝีมืออยู่ที่ 6 %(ซื้อพันธบัตร) คิดตามสูตรนี้ (หรืออ่านจากกราฟก็ได้) จะได้ว่า เราใช้จ่ายต่อเดือนได้ไม่เกิน (6-4)/12 % = 0.167 % ของเงินเก็บแรกเริ่ม จึงจะอยู่ในข่ายใช้ไม่มีวันหมด (ซึ่งเทียบเท่ากับการมีเงินเก็บ 600 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน)</p><p>ถ้าเอาเกณฑ์ที่ ดร. นิเวศน์ ซึ่งเป็นนักลงทุนหุ้นแนวหุ้นคุณค่า เคยคาดไว้ว่า นักลงทุนหุ้นคุณค่าในไทย อาจจะทำสถิติผลตอบแทนได้ที่ 10 % ก็จะได้ว่า ใช้ได้เดือนละ (10-4)/12 % = 0.5 % ของเงินเก็บแรกเริ่ม จึงจะอยู่ในข่ายใช้ไม่มีวันหมด (ซึ่งเทียบเท่ากับการมีเงินเก็บ 200 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน) </p><p>หากที่อ่านมาทั้งหมด รู้สึกว่าสูตรดูยุ่งยากไป ผมขอสรุปวิธีคิดอย่างสั้น ๆ อีกแบบอย่างนี้นะครับ </p><p style="background-color: #99ccff">ส่วนที่เรามาใช้ได้ในแต่ละปีโดยไม่เกิดปัญหาระยะยาว </p><p style="background-color: #99ccff">= เงินออม x (% ฝีมือลงทุน -  % เงินเฟ้อ) หาร 100</p><p style="background-color: #99ccff">เช่น มีเงินออม 1 ล้านบาท ฝีมือลงทุน 6 % เงินเฟ้อ 4 % หมายความว่า เราใช้ในแต่ละปีได้</p><p style="background-color: #99ccff">= 1 ล้าน x (6-4)/100 = 1 ล้าน x 0.02 = 2 หมื่นบาท</p><p style="background-color: #99ccff">นั่นหมายความว่า ตอนนี้ เงินออมต้องเป็นหนึ่งล้านกับสี่หมื่นบาท เพราะผลตอบแทนการลงทุนคือหกหมื่นบาท โดนหักไปใช้เพียงสองหมื่นบาท</p><p style="background-color: #99ccff">ดูเผิน ๆ โอ้..รวยขึ้นแฮะ..น่าเอาส่วนที่เพิ่มมาไปใช้ซะให้เข็ด</p><p style="background-color: #99ccff">เสียใจครับ เงินจำนวนนี้ จะมีกำลังซื้อเท่ากับหนึ่งล้านบาทปีก่อนหน้าเท่านั้นเอง ! </p><p>เราใช้ส่วนที่เพิ่มจากการลงทุนทั้งหมดไม่ได้ เพราะเท่ากับว่า ยอดเงินต้นคงเดิมโดนภาวะเงินเฟ้อบีบ ตัวเลขเงินต้นแม้ดูเหมือนอยู่กับที่ แต่กำลังซื้อลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนไร้ความหมายในที่สุด</p>
<p>จากที่ว่ามา เราสรุปอะไรได้บ้าง ? </p><p>1. หากไม่สามารถลงทุนได้โตกว่าเงินเฟ้อแล้ว ผลคือ คนจะใช้จ่ายหมดเร็วกว่าที่ประมาณการในช่วงแรก ๆ เสมอ เพราะผลจากเงินเฟ้อ จะทวีพลังขึ้นในระยะยาว ทำให้ช่วงหลัง ๆ เหมือนกับว่า ใช้จ่ายมือเติบขึ้น (เพื่อคงกำลังซื้อให้คงที่) เช่น สมมติว่าคาดการว่าน่าจะอยู่ได้ 16 ปี อาจอยู่ได้จริงเพียง 12 ปี เพราะปีท้าย ๆ ผลจากเงินเฟ้อจะทะยาน</p><p>2. การลงทุนอย่างระมัดระวังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมชราภาพในยุคต่อไป เพราะคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณนานกว่าคนที่เกษียณปีนี้ถึงเท่าตัว
(คาดจากอายุขัยเฉลี่ยประชากร) ซึ่งเปรียบให้เข้าใจง่าย วัยทำงานเหมือนระยะลู่วิ่ง … วิ่งเพื่อกระโดดข้ามเหวของวัยเกษียณ ซึ่งเหวที่ว่านี่ ถ่างยืดยาวออกไปเรื่อย ๆ คนรุ่นก่อน เหวที่ว่านี่แคบนิดเดียว (ตามสถิติอายุขัยเฉลี่ย อยู่ได้ไม่กี่ปีหลังเกษียณ) แต่คนยุคถัดไป เหวถ่างกว้างขึ้น ก็ต้องใช้ลู่วิ่งที่ยาวขึ้น ไม่งั้นกระโดดข้ามเหวของการใช้ชีวิตยามชราไม่พ้น (หรือไม่ก็ต้องพัฒนาทักษะกระโดดกันริมเหว แค่นึกก็ชวนหัวใจวายแล้ว !)</p><p>3. เงินเฟ้อเป็นศัตรูตัวสำคัญสำหรับผู้เกษียณ เพราะถ้าเฟ้อมาก ๆ (อย่างเช่น เฟ้อเมื่อภาคการเมืองล้มเหลวดังเช่น ในประเทศซิมบับเว เพียงปีเดียว เฟ้อไป 6000 % ) ก็เท่ากับการประกาศยึดทรัพย์ทั้งหมดของผู้เกษียณทุกคนนั่นแหละ</p><p>4. ใครอยู่ในที่ซึ่งค่าครองชีพสูง ก็ต้องมีระดับเงินออมวิกฤตินี้สูงขึ้นด้วย แบบไปด้วยกันคู่ขนาน</p><p>เช่น </p><p>ถ้าผู้สูงวัยใช้ชีวิตหลังเกษียณในมหานครที่ค่าครองชีพสูง อาจต้องหากันเป็นหลายล้าน</p><p>แต่คน ๆ เดียวกัน หากอยู่ในถิ่นที่ไม่จอแจ และไกลความเจริญ และใช้ชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีน้อยกว่ากันเป็นหลายเท่าก็พออยู่ได้</p><p>สูตรกรณีที่ 2 ชี้ว่า เมื่อเงินเก็บเท่ากัน อยู่ในที่ที่ค่าครองชีพสูง สักวันจะใช้หมด แต่หากย้ายไปอยู่ในถิ่นที่ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าระดับค่าใช้จ่ายวิกฤติ กลับกลายเป็นว่า ใช้ได้นานแบบไม่มีวันหมด </p><p style="background-color: #99cc00">อาจเป็นเพราะอย่างนี้ ฝรั่งหลายคน มาใช้ชีวิตหลังเกษียณในเมืองไทย เพราะคงคิดสะระตะแล้วว่า อยู่เมืองตัวเอง คงอยู่ได้ไม่กี่ปีก็หมด แต่เงินเก็บเท่ากัน เมื่อมาอยู่เมืองไทย อยู่ได้ตลอดชีวิต</p><p>5. การลงทุนมีความเสี่ยง ใครไม่ได้เรียนรู้ไว้แต่หนุ่มสาว ไปเรียนรู้ตอนใกล้เกษียณ มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปเป็นแมงเม่าบินเข้าตลาดทุนซะเปล่า ๆ แต่หากใช้บริการกองทุนรวมที่ประวัติฝีมือระยะยาวที่ไม่ขี้ริ้วเกินไปนัก ก็น่าจะพอเป็นทางเลือกเหมือนกัน  </p><p>6. มีข้อเขียนจากบล็อก good living</p><table border="0" width="100%" class="plain"><tbody><tr class="plain"> <td class="plain"><div style="padding: 0px 4px 4px 0px">P</div></td> <td class="plain" width="100%"><div class="info"> sasinanda </div></td> </tr></tbody></table><p>บอกว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 น่ะ ล้าสมัยแล้ว…  เนื้อหาเสริมกับเริื่องนี้พอดี น่าอ่าน (กลายเป็นกระทู้ร้อนแรงของ G2K ไปแล้วด้วย)</p><p>7. เรื่องนี้ มีภาคต่อ อาจมีอีกหลายภาค ถ้าคิดออกว่าจะเขียนอะไร เช่น</p><ul>

  • คณิตศาสตร์ของการเก็บออมสำหรับคนวัยทำงาน
  • คณิตศาสตร์การเงิน: การพนันเป็น negative-sum game
  • </ul><p> </p><p style="background-color: #ff0000"> สำหรับผู้สนใจ: </p><p>ลองดึงแฟ้มคำนวณอิเล็กทรอนิกส์นี้ไปลองเล่นดูนะครับ</p><p>http://gotoknow.org/file/wwibul/Sustainability.xls</p><p> </p><p> </p><p> </p>

    หมายเลขบันทึก: 102281เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (12)

    น่าสนใจทีเดียว
    อยากได้ตัวอย่างประกอบเพิ่มเติม
    และอยากเห็นภาพของกราฟที่ simulate ไว้แล้ว
    อาจจะเข้าใจได้มากขึ้น
    ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีครับ คุณ
    P

    คนข้างฝา

    • ผมเพิ่งใส่ให้แล้วนะครับ (ท้ายเรื่องข้างบน)
    • ปรับตัวเลขได้เฉพาะโซนที่ใส่สีไว้นะครับ
    • ตัวเลขที่สูงหรือต่ำผิดปรกติบางค่า อาจได้ผลการคำนวณที่เพี้ยน ๆ ไปบ้าง ไม่รับประกันความถูกต้องแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะอันที่จริง ก็เป็นการคำนวณอย่างประมาณเท่านั้น

    สวัสดีครับอาจารย์

    ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากครับ ปัจจุบันได้มีงานวิจัยหลายชิ้น และสถาบันการเงินและประกันภัยหลายที่ ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ พวกที่จ่ายเงินเดือนหลังเกษียณกันมากมายครับ

    อย่างที่กราบเรียนครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปัจจุบันมีคนทำวิจัยกันมากครับ เพียงแต่ว่าการทำวิจัยเรื่องนี้นั้นสนุกตรงที่ว่า การแพทย์ไม่สมควรจะก้าวหน้ามากครับอาจารย์ เพราะถ้าก้าวหน้ามากเกินไปนั้น เราจะอายุยืนกว่าที่เราคาดการณ์ว่าจะตายครับ เช่นว่า ถ้าเราคาดการณ์ว่าเราจะอายุแค่ 80 จากสภาพร่างกายและการใช้ชีวิตของเรา เราก็อาจจะวางแผนการใช้เงินถึงแค่อายุ 80 เท่านั้น แต่ถ้าเกิดการแพทย์เจริญก้าวหน้าเกินไปนั้น แล้วเราเกิดอายุยืนถึง 90 อีก 10 ปีที่เกินมานี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าอยู่ยังไง เพราะว่าเขาจ่ายเงินถึงแค่แปดสิบตามที่เราซื้อสัญญานะครับ 

    เรื่องที่สองครับ เนื่องจากวิทยาการที่ก้าวหน้าทางด้านการเงิน ปัจจุบันนั้นก็มีงานวิจัยทางด้านการเงินหลายชิ้นมากครับที่ทำเรื่อง asset allocation mangement ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เราจะจัดสรร ปันส่วน สินทรัพย์หรือว่าเงินของเรายังไง ให้มันดีที่สุด คำว่าสินทรัพย์ในที่นี้นั้นรวมถึงทุกอย่างครับ เช่น หุ้น บอนด์ พวกตลาดอนุพันธ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งตลาดอสังหาครับ แต่คำว่า asset allocation management นั้น มันมีด้านค่าใช้จ่ายด้วยครับ ซึ่งผมคิดว่า ถ้าโมเดลด้วยวิธี asset allocation management (ALM) นั้นดูจะเหมาะกว่า แต่ก็ยากกว่าเยอะครับ เพราะท่าทางมันจะเป็น NP problems นะครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์จะโมเดลมันแบบไหน ถ้าเป็นแค่ Linear Program มันก็ยังโอเคครับ (แต่ว่ามันจะไม่ค่อยถูกเท่าไร เพราะว่า Linear Programming นั้น มันแก้ปัญหาแบบ deterministic ครับ)

    เรื่องสุดท้ายครับ อันนี้ผมขออนุญาตอาจารย์นิดหนึ่งครับ ขอกราบเรียนถามอาจารย์ด้านเทคนิคหน่อยครับ คืออาจารย์บอกว่า ใช้ simulation แก้ปัญหาของสมการการวิวัฒนาการของเงินออมแล้วก็ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็น simple Differential Equation

    คำถามผมอยู่ตรงนี้ครับอาจารย์ ทำไมมันถึงเป็น Simulation ในการแก้ปัญหาครับ ในเมื่อการแก้ปัญหา simple Diff Equation นั้น มันไม่จำเป็นต้องใช้ simulation นี่ครับ (ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นจากกราฟ เพราะว่าเราสามารถแก้ Diff equation ได้โดยวิธีการ analytical เพราะคำตอบของสมการที่อาจารย์ให้จะอยู่ในรูปของ exponential function) 

    ดังนั้นผมเลยคิดว่ามันไม่น่าจะเรียกวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า simulation นะครับ ในแง่ที่ว่า อาจารย์ได้ค่าคำตอบเหมือนกันทุกครั้ง (ตราบเท่าที่ initial condition นั้นยังเป็นค่าเดิม)

    ซึ่งจากความเข้าใจของผม (ถ้าผิดก็ขออภัยนะครับ) simulation นั้นเป็นการจำลองสถานการณ์ใดๆ ดังนั้น คำตอบของระบบเดิม (initial condition เดียวกัน) ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันไป เนื่องมาจาก seeds หรือ random numbers ที่เป็นตัวต้นกำเนิดของ simulation process นั้นต่างกันครับ ดังนั้นคำตอบของ simulation เลยเป็นสถิติ เช่นค่าเฉลี่ย   

    ผมเลยคิดว่าวิธีที่อาจารย์แก้ปัญหานั้นน่าจะเรียกว่า numerical analysis มากกว่านะครับ

    แต่ถ้าผมเข้าใจอะไรผิดก็ขอกราบประทานโทษอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

    ขอบพระคุณครับอาจารย์ 

    P
    wwibul
    เมื่อ อ. 19 มิ.ย. 2550 @ 15:52 จาก 202.12.74.5 ลบ [297505]

    สวัสดีครับ

    คุณ P ไปอ่านหนังสือ

     

    ขอบคุณอย่างสูงครับ สำหรับการอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ และให้เกียรติตั้งคำถาม เห็นคำถามแล้วผมดีใจครับ 

     

    เอาประเด็นแรกก่อนนะครับ..ว่า ถ้าเกิดอยู่ยาวเกิน 80 ปี

     

    • เรื่องนี้ เป็นเรื่องสุดวิสัยครับ
    • เรื่องอายุขัยของตัวเองนี่  ตามปรกติ ไม่ใช่สั่งกันได้ (มีคนที่โง่พอที่จะพิสูจน์ประโยคนี้มาแล้ว)
    • ถ้าอายุยืน ก็สุดวิสัย
    • อยู่ลำบากเพราะวางแผนรองรับไว้ไม่ถึง ก็สุดวิสัย
    • สำหรับคนไม่คนดูแลยามแก่เฒ่า อายุยืน ไม่จำเป็นต้องแปลว่าพรอันประเสริฐ
    • แต่เรื่องนี้ ก็ขึ้นกับคนอีกนั่นแหละ ว่าจะรู้จักชื่นชมวันเวลาที่มีอยู่แต่ละวันได้แค่ไหน
    • ลองดูชีวิตของ "ปู่เย็น" สิครับ

     ประเด็นถัดมา เรื่องการวางแผนการเงิน

    • มีวิธีการวางแผนร้อยแปด ว่าจะเอาแบบซับซ้อนขนาดไหน
    • ผมนำเสนอในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงมาก แต่ขอเพียงอธิบายความเป็นไปโดยกว้าง ๆ ได้ระดับหนึ่ง ให้คนฉุกใจคิดถึงทางเลือกหนึ่งของชีวิต ว่ามองไปข้างหน้าของชีวิต จะมีอะไรรออยู่ ให้คนที่ไม่เคยฉุกคิด ได้ฉุกคิด ผมก็ถือว่าการนำเสนอนี้ บรรลุเป้าหมาย
    • ถามว่าสมจริงไหม ผมเชื่อว่า แค่พอดูได้ ผิดแน่ แต่คงไม่มาก
    • ถามว่าดีพอสำหรับการวางแผนรวยไหม ผมเชื่อว่า ไม่
    • เพราะเงินเฟ้อไม่ใช่ค่าคงที่
    • เพราะค่าใช้จ่ายไม่ใช่ค่าคงที่
    • เพราะชีวิตไม่ใช่ค่าคงที่
    • แต่ดีพอที่จะฟันธงว่า ถ้าใครมองข้ามเงินเฟ้อ ก็เตรียมตัวออกรายการ โศกนาฎกรรมบันเทิงหลังข่าว ไว้ได้เลย
    ประเด็นที่สาม
    • ความหมายของ simulation ตามที่ผมเข้าใจ คือการหาผลเฉลยเพื่อเลียนแบบปรากฎการณ์จริง
    • มีคำอธิบายไว้ในวิกิพีเดียทำนองนี้เหมือนกัน ว่า หมายถึง

      A computer simulation is an attempt to model a real-life or hypothetical situation on a computer so that it can be studied to see how the system works. By changing variables, predictions may be made about the behaviour of the system.

    • ดังนั้น แค่แก้สมการอะไรสักอย่าง หากสมการนั้นอธิบายปรากฎการณ์ได้ ก็ควรจะเรียก simulation
    • แต่ที่ทำให้สงสัยในกรณีนี้ คือมีกรณีเฉพาะของการทำ simulation อยู่ ที่เรียกว่า stochastic simulation ซึ่งจะใช้กระบวนการเชิงสุ่มในการประเมินความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของผลเฉลย ซึ่งจะเป็นอย่างที่ถามมานั่นแหละครับ  คือทำซ้ำในเงื่อนไขตั้งต้นต่าง ๆ และมีตัวท้าทายมาแทรกแซงเป็นระยะเพื่อเพิ่มความสมจริง
    • บังเอิญว่าวิธี stochastic simulation นี้ใช้กันมากจนกลายเป็นคำพ้องของ simulation ไป
    • ตัวอย่างเช่น การ modeling ทางอุตุนิยมวิทยา ใช้วิธีแก้สมการ partial differential equation เต็มรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องสุ่มค่าตั้งต้น แต่ใช้ค่าตั้งต้นที่วัดได้จริงแบบ real time มาป้อน ในกรณีนี้ การแก้สมการทำนายไปยังเวลาถัด ๆ ไป ก็ถือว่ายากเหลือเฟือ โดยไม่ต้องนำเรื่องกระบวนการเชิงสุ่มมาร่วมคิดด้วยซ้ำไป  จะเรียกว่าการแก้สมการตรงไปตรงมาก็คงได้
    • ดูเผิน ๆ ก็เลยเหมือนกับผมใช้ผิดความหมายไปนี๊ดนึง
    • แต่คิดว่า ไม่ได้ผิดความหมายไปไกลหรอกครับ เพราะผมใช้ในความหมายแบบหลวม ๆ ที่สุด
    • ในกรณีนี้ แฟ้มที่ผมทำไว้ จะเรียกว่า calculation ธรรมดาก็คงได้ครับ อาจไม่ถึงขั้น numerical analysis ด้วยซ้ำไป
    ปิดท้าย
    • โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาชีวิต-ปัญหาสังคม ไม่ใช่ปัญหาคณิตศาสตร์แต่อย่างใร
    • คำตอบถูกคร่าว ๆ ก็พอเพียงสำหรับการใช้งานครับ
    • รู้สึกเป็นเกียรติครับ ที่ได้ตอบคำถาม

     

     

    สวัสดีครับอาจารย์

    กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับคำตอบ ผมเห็น simulation ผมก็คิดถึงแต่ stochastic simulation ครับ

    เรื่องนี้จริงๆเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเมืองไทยต้องการปรับให้ตัวเองเป็นรัฐสวัสดิการนิยม (ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้มากซะด้วย เนื่องจากนโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จในการหาเสียงของรัฐบาลที่ผ่านมา)

    ดังนั้นผมคิดว่าคงจะถึงเวลาที่กระทรวงการคลัง แล้วก็สถาพัฒน์ คงจะต้องทำหน้าที่คาดการณ์โดยใช้โมเดลคณิตศาสตร์พวกนี้แหละครับ เพื่อเอามาใช้ในการกำหนดนโยบายบางประการของรัฐบาลต่อไปครับ

    สวัสดีครับ คุณ

     P

    ไปอ่านหนังสือ
    •  ผมเชื่อส่วนตัว (แต่ไม่มีข้อมูล) ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขามีโมเดลคณิตศาสตร์พวกนี้ไว้ใช้อยู่แล้ว และคงมีมานานมากแล้วด้วย เพียงแต่ไม่ได้เผยแพร่ออกมาในระดับรายละเอียด เพราะเคยเห็นหนังสือทำนองนี้มากพอสมควร (ตำราภาษาอังกฤษ)
    • ยกตัวอย่าง กรณีของ กบข. ผมเองเชื่อว่า ก็คงเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโมเดลทำนองนี้ มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว (อายุ กบข. ปีนี้ ครบ 10 ปี แต่ต้องมีการชงเรื่องก่อนหน้านั้นมานานพอสมควร)
    • ศาสตร์แขนงนี้ ค่อนข้างจะสุกงอมสำหรับ policy maker หรือนักลงทุนระดับสถาบัน แต่ไม่ค่อยเห็นมีการนำมาใช้ในระดับ รากหญ้า ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน  ถ้ามี ก็มักเป็นข้อสรุปสำเร็จรูป ดังเช่น
    • ในกรณีตัวอย่างแรก
      P
      บอกว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 น่ะ ล้าสมัยแล้ว... ก็ยกตัวอย่างว่ามีผู้บอกว่า ในเมืองไทย ต้องมี 20 ล้าน จึงจะพอ ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนว่า อาจจะ จริงสำหรับคนที่ฝากเงินโดยไม่ลงทุนอื่น และอาจไม่พอด้วยซ้ำ แต่ไม่น่าจะจริงสำหรับคนที่ฝีมือการลงทุนอยู่ตัว (ไม่ใช่พวกเล่นรอบนะครับ แต่เป็นพวกเต่าคลาสสิกตามนิยามของ ดร.นิเวศน์) 20 ล้านนี่ คงตั้งไว้สำหรับการอยู่อย่างสบายในมหานครใหญ่ ก็ต้องกลับมาดูวิถีการดำเนินชีวิตและฝีมือการลงทุนด้วย  เช่น อยู่ตามชนบทแบบสบาย ๆ ทำไร่นาสวนผสมเพื่อเน้นเลี้ยงตัวเองได้ ค่าใช้จ่ายนี่ต่างกันเป็นสิบเท่าเลย ก็จะทำให้เป้าหมายเงินออมลดลงมาได้หลายเท่า กลายเป็นเก็บเพื่อสำรองเรื่องรักษาสุขภาพ ไม่ใช่เก็บเพื่อใช้จ่าย
    • หรือในกรณีตัวอย่างที่สอง  ที่มีผู้กล่าวว่า ต้องเก็บให้ได้ 200 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน นี่คงใช้ตัวเลขคาดการณ์ว่าต้องมีฝีมือลงทุน เอาชนะเงินเฟ้อได้ 6 % ต่อปี (นั่นคือ ถ้าเงินเฟ้อ 5 % ต้องมีผลตอบแทนการลงทุน 11 % ต่อปี) เพียงแต่ไม่ได้พูดออกมาโต้ง ๆ เท่านั้น
    • การใช้จ่าย การดำเนินชีวิต ยึดตามกระแสพระราชดำรัสไว้นั่นแหละครับ ใช่เลย

    สวัสดีอีกรอบครับอาจารย์

    โดยส่วนตัว ผมก็คิดว่างานวิจัยทางด้านการเงินนั้นสุกงอมเต็มที่แล้วครับ และผมก็คิดว่ากระทรวงการคลังก็อาจจะมีโมเดลพวกนี้ใช้อยู่เหมือนกันครับ (แต่ผมไม่แน่ใจว่าไปซื้อมาหรือคิดเองครับ)

    สำหรับเรื่องการใช้โมเดลพวกนี้ในระดับรากหญ้าซึ่งยังไม่แพร่หลายนั้น ผมว่าเราคงจะต้องรอไปอีกระยะหนึ่งครับ เพราะว่าตลาดการเงินเมืองไทยนั้นยังโตไม่เต็มตัวเท่าไรครับ

    ดังนั้นตลาดการเงินของเมืองไทยนั้น จึงไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้ อย่างที่คนหลายคนคิด อันนี้ยังไม่รวมถึงความคิดที่นักลงทุนรายย่อยบางคนคิดถึงการปั่นหุ้นในตลาดว่ามีตลอดเวลา ทำให้โมเดลที่สร้างกันขึ้นมา (และสร้างกันมาโดยที่เราตั้งสมมติฐานว่า การขึ้นลงของหุ้น เป็นไปตามกลไกตลาด) อาจจะไม่มีค่าอะไรกับนักลงทุนรายย่อย หรือชาวรากหญ้าครับ

    อีกข้อสังเกตหนึ่งครับอาจารย์ อุปลักษณะนิสัยของคนไทยนั้นเป็นอย่างไร ผมไม่รู้ว่าโดยทั่วไปคนไทยนั้นมีนิสัยอดออมกันจริงๆจังๆหรือเปล่า หรือเป็นประเภทพวกหวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งเรื่องพวกนี้นั้นมีผลต่อการนำมาใช้ครับ  อันนี้รวมไปถึงความคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการแสวงหากำไรระยะสั้นมากกว่าการลงุทนในระยะยาว (speculation vs hedging) เพราะโดยพื้นฐานแล้ว โมเดลพวกนี้สร้างมาเพื่อหลบหนีความเสี่ยงครับ

    ท้ายสุดครับ โดยหลักการเรื่องการเงินมันง่ายครับ แต่ทางปฏิบัติมันยากมากครับ ก็ยากขนาดที่ว่า คนที่คิดสร้างโมเดลหาราคา options แล้วก็ได้รางวัลโนเบล ยังทำให้บริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเจ๊งได้เลยครับ  

     

    สวัสดีครับ คุณ

     

    •  ผมเห็นด้วยว่าปัญหาระดับประเทศ อาจไม่ได้อยู่ในเรื่อง ความรู้ แต่อยู่ที่ ค่านิยม หรือจะบอกว่า อยู่ที่ ทัศนคติ ก็ได้
    • คือ รักความเสี่ยงเข้าสายเลือด
    • แม้แต่คนที่ใช้ความรู้เพื่อ ป้องกันความเสี่ยง ดู ๆ ไปแล้ว ผมว่า วิธีคิด สุ่มเสี่ยง
    • หรือปากบอกว่า ใช้ความรู้ป้องกันความเสี่ยง แต่เอาเข้าจริง ไม่รู้ให้จริง จะได้ไม่เสี่ยง
    • เช่น ตราสารอนุพันธ์...
    • ทฤษฎีบอกว่า เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง
    • แต่นักเก็งกำไรที่เก่งจริง ๆ อย่างซอรอส เขามองว่า เป็นเครื่องมือถ่ายเทความเสี่ยง จากคนที่เก่งกว่า ไปให้คนที่ไม่เก่ง
    • แต่ถ้าสมมติว่าผมเป็นนักลงทุนสถาบันที่หัวอนุรักษ์ ผมก็เห็นด้วยว่า ตราสารพวกนี้ ใช้ป้องกันความเสี่ยงได้จริง เช่น ขาย short เมื่อกังวลว่าตลาดร้อนแรงและหุ้นยังเต็มมือ กลายเป็นเครื่องมือสำหรับถอนตัวออกจากตลาดอย่างเงียบ ๆ ของสถาบันไป
    • จึงขึ้นกับว่า ผมใช้มันอย่างไร ไม่ใช่ ในฐานะว่า ผมใช้อะไร
    • เห็นโฆษณาให้คนเล่น future ของ set50 ไหมครับ ?
    • ผมเห็นแล้วหนาวเยือก
    • ไม่เซียนจริง อย่าแหยม (หากจะเล่นเก็งกำไรรายวัน)
    • กำไรหรือขาดทุน 100 % ในวันเดียว อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าตลาดถล่มแรง ๆ อย่างเช่น 19 ธค 2549 ที่ผ่านมา ที่ตลาดลงไปวันเดียวร้อยกว่าจุด (และถูกบังคับจ่ายทันทีด้วย)
    • ถึงตายได้ครับ
    • ลองนึกถึง...แมงเม่ามาตรฐาน เริ่มต้นเข้าตลาดหุ้น ก็ดิ่งไปหา future ดูนะครับ..
    • นึกแล้ว คงคล้าย ๆ กับในหนัง Alien ปะทะ predator ยังไง ยังงั้นเลย
    • ความรู้ กับ ทัศนคติ เป็นคนละเรื่องกันครับ
    • อย่างเช่น เรื่องเก็บออม
    • ขึ้นกับว่า ใช้ความรู้ หรือใช้ทัศนคติ
    • ใช้อย่างแรก ก็มักจะบอกว่า รอไปก่อนนะ ขอให้พร้อมกว่านี้ รอไปเรื่อย ๆ รอ รอ รอ ...
    • ใช้อย่างหลัง  รอไม่ได้แม้แต่วันเดียว
    • Knowledge ยังพอจัด management ได้
    • แต่ Attitude นี่ ทำ management ยากกว่าเยอะครับ

    ขอบคุณมากค่ะ  สำหรับสิ่งดีๆ ที่ผู้รู้มาแนะนำ ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่อยากวางแผนชีวิต แต่ยังหาหลักในการคิดไม่ได้  อ่านบทความแล้วพอได้หลัก คงนำไปปรับคิดกับชีวิตของตัวเองได้นะค่ะ  ขอบคุณ ทุกท่านอีกครั้ง

    สวัวดีครับ คุณไม่มีรูป วิมล

    • ด้วยความยินดีครับ
    • อ่านตรงไหนแล้วยังงงงงก็ขอให้ช่วยบอกนะครับ จะปรับให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นครับ 

     

    คือว่าอยากถามว่า

    ถ้าเรามีอพาร์ทเมนต์ เพิ่งสร้างเสร็จ ต้นทุน 12 ล้านบาท

    แล้วมีคนมาขอซื้อที่ราคา 27 ล้านบาท เราได้กำไรมาในวันนี้เลย กับ

    เราเก็บไว้ เก็บค่าเช่า ไป 10 ปี เราถึงได้ ต้นทุน และกำไรที่จะได้คืนมาในวันนี้

    เราจะคิดยังไงค่ะ ว่าเงิน 27 ล้านบาทในอนาคต จะมีมูลค่าเท่าไร ถ้ารวมอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย

    สวัสดีครับ คุณ กุลรัตน์

    คำถาม ตอบไม่ง่ายเลยครับ แต่น่าสนใจมาก ๆ

    "ถ้าเรามีอพาร์ทเมนต์ เพิ่งสร้างเสร็จ ต้นทุน 12 ล้านบาท

    แล้วมีคนมาขอซื้อที่ราคา 27 ล้านบาท เราได้กำไรมาในวันนี้เลย กับ

    เราเก็บไว้ เก็บค่าเช่า ไป 10 ปี เราถึงได้ ต้นทุน และกำไรที่จะได้คืนมาในวันนี้

    เราจะคิดยังไงค่ะ ว่าเงิน 27 ล้านบาทในอนาคต จะมีมูลค่าเท่าไร ถ้ารวมอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย"

    กรณีนี้ จะต้องดูหลายมิติครับ

    1. ขายแล้วเอาเงินไปทำอะไร ? ผลตอบแทนการลงทุนอื่นที่ตั้งใจ เป็นเท่าไหร่ที่ระดับความเสี่ยงเดียวกับการบริหารอพาร์ทเมนต์
    2. เงินเฟ้อที่คาด เป็นเท่าไหร่ ?
    3. อนาคตของ "ทำเล" อพาร์ทเมนต์นี้เป็นอย่างไร
    4. ความผูกพันและเงื่อนไขส่วนตัวอื่น เช่น มีที่อยู่แล้วยัง มีงานอื่นไหม สังขารไหวไหมที่จะดูแล ฯลฯ 

    แต่ละข้อ จะขึ้นกับความเชื่อ ทักษะการประเมิน และปัจจัยส่วนตัวมาก และนำไปสู่การตัดสินใจที่ต่างกันไปในแต่ละคน และจะบอกว่าดีหรือไม่ดีก็คงยาก

    ตัวอย่าง ถ้าผมมองว่า ทำเลนี้สุดยอด และมองว่า ต่อไปเงินเฟ้อรุนแรง และขายแล้วฝากเงินเอาชนะเงินเฟ้อไม่ได้ ผมจะไม่ขาย

    กรณีนี้ ถ้าผมขายทันทีได้ 27 ล้านบาท แล้วฝากธนาคารที่ถูกเงินเฟ้อเอาชนะไปปีละ 4 % ก็เท่ากับว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ผมจะเหลือกำลังซื้อเพียงเทียบเท่า 18 ล้านบาท

    ในมุมกลับ ถ้าผมไม่ขาย อีก 10 ปีข้างหน้า ก็เป็นไปได้ว่า ผมยังขายได้เทียบเท่ากำลังซื้อ 27 ล้านบาทของตอนนี้ บวกกับรายได้จากค่าเช่าเป็นของแถม

    แต่ถ้าผมมองว่า ทำเลก็ปานกลาง เงินเฟ้อไม่รุนแรง และตัวเองมีความสามารถในการลงทุนด้านอื่นอยู่ในเกณฑ์ดี เอาชนะเงินเฟ้อได้พอสมควร ผมจะรีบขาย

    กรณีหลังนี้ ถ้าผมขายทันทีได้ 27 ล้านบาท แล้วลงทุนเอาชนะเงินเฟ้อได้ 2 % ต่อปี ก็เท่ากับว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ผมจะมีกำลังซื้อเทียบเท่า 33 ล้านบาท

    แต่ต่อให้คำนวณแล้วน่าขาย ผมอาจมีเรื่องอื่นต้องคิด เช่น สมมติว่าตัวคนเดียว ไม่มีใครดูแล และมีอายุมากแล้ว ต่อให้ขายแล้วเหมือนดีกว่า แต่การไม่ขาย ก็อาจเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่าก็ได้ เพราะเท่ากับว่าตัวเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองเลือกได้

    อ่านแล้วจะงงหรือเปล่าครับ วันนี้ผมกำลังง่วง ๆ อาจเขียนแล้ววกวนหน่อย

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท