ครูแจ้ง คล้ายสีทอง“ ช่างขับคำหอม”(ตอนที่๒)


ครูแจ้ง  คล้ายสีทอง

ช่างขับคำหอม

        ครั้นพออายุได้ราว 14 ปี ครูแจ้งก็กลับไปอยู่บ้านช่วยแม่ทำนา เมื่อวงปี่พาทย์ครูแคล้วรับงาน ครูแจ้งก็ไปร่วมวงด้วยเสมอ ครูแจ้งจึงเป็นชาวนา แต่มีอาชีพเสริมเป็นนักดนตรีด้วย และครูแจ้งก็นำความรู้ความสามารถทั้งสองอาชีพมาผสมผสานกันจนมีความสามารถพิเศษทำขวัญข้าวได้ เมื่ออายุได้ 17 ปี กำนันสนิท  โพธิ์หิรัญ ลูกเขยครูแคล้ว ได้ชวนเข้ากรุงเทพฯ ตอนนั้นคงราวๆปีพ..2495และได้ทำงานที่กองยกบัตร สะพานแดง เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารก็ถูกเกณฑ์เป็นพลทหารประจำอยู่หน่วยเสนารักษ์ ทำให้ได้มีโอกาสต่อเพลงกับ ครูไก่ สืบสุด ดุริยะประณีต นักระนาดฝีมือเอกแห่งบ้านบางลำพู จนได้ร่วมออกงานหารายได้พิเศษ เมื่อปลดจากราชการทหารเกณฑ์แล้ว ครูแจ้งจึงตัดสินใจยึดอาชีพนักดนตรีวงปี่พาทย์อยู่บ้านบางลำพู  บรรเลงรับการแสดงลิเกวิทยุกรมการรักษาดินแดน ตีระนาดไปนานเข้า ก็ช่วยเล่นลิเกได้จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นพระเอกลิเกวิทยุ ใช้ชื่อพระเอกอรุณ  คล้ายสีทอง แต่ไม่กล้าออกแสดงหน้าเวทีเพราะร้องเป็นอย่างเดียวรำไม่เป็นเลย

                      ความเป็นครูเสภาของครูแจ้งเริ่มฉายแววสดใสเมื่อท่านได้มีโอกาสฝึกร้องเพลงกับครูเสภาชื่อครูสุภา โดยการฝากฝังของครูโชติ  ดุริยประณีต ทำให้ครูแจ้งมีความรู้และประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น  เกิดความมั่นใจเมื่อได้เข้าประกวดขับร้องเพลงไทยที่สถานีวิทยุ วปถ. จึงได้รับรางวัลชนะเลิศฝ่ายชาย

          ต่อมาในปี พ..2508 ครูแจ้งได้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา หรือที่รู้จักกันว่าตำแหน่งขับร้องเพลงไทย แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร รับเงินเดือนขั้น 450 บาท  ขณะที่อยู่กรมศิลปากร ครูแจ้งก็ได้ฝึกหัดการขับร้องเพิ่มเติมกับครุอาวุโสและได้รับความกรุณาจาก ม..สุรักษ์  สวัสดิกุล พาไปศึกษาเทปบันทึกเสียงของท่านครูหลวงเสียงเสนาะกรรณ ครูเหนี่ยว  ดุริยพันธุ์ และนักร้องรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นแนวทางและพัฒนาการขับร้องให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการขับเสภาและการขยับกรับเสภานั้น  ครูโชติ ดุริยประณีต เป็นผู้ฝึกหัดให้ เมื่อครูโชติถึงแก่กรรม ครูแจ้งก็ได้ศึกษาการขับเสภากับอาจารย์มนตรี ตราโมทพร้อมทั้ง  ครูท้วม ประสิทธิกุล กับครูประเวท  กุมุท และบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ครูแจ้งเคารพยกย่องมากอีกท่านหนึ่งคืออาจารย์เสรีหวังในธรรม ท่านผู้นี้ให้การสนับสนุนและแนะนำวิธีการร้องต่างๆแก่ครูแจ้งตลอดมาถึงปัจจุบัน(ปัจจุบันอาจารย์เสรี หวังในธรรม ถึงแก่กรรมแล้ว) นอกจากนี้ครูแจ้งยังได้เรียนเสภากับครูเจือ  ขันธมาลา ผู้มีความสามารถในการขับเสภาและขยับกรับเสภา ครูเจือนี้ท่านเป็นศิษย์และเป็นหลานของท่านครูหมื่น  ขับคำหวาน ครูแจ้งจึงได้วิธีการขับเสภา การไหว้ครู และเกร็ดย่อยอื่นๆอีกมากมาย

 ด้วยโอกาสและ ความถึงพร้อมด้วยคุณธรรมแห่งอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ ความรักในคีตศิลป์ วิริยะ ความมานะบากบั่น เพียรพยายาม จิตตะ ความเอาใจจดจ่อ ใส่ใจศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติม และวิมังสา ความรู้จักคิดไตร่ตรอง ครูแจ้ง   คล้ายสีทอง จึงกลายเป็น ช่างขับคำหอม ที่คนฟังเพลงไทยและคนฟังเสภาทั่วประเทศชื่นชมและยกย่อง และสิ่งที่เป็นรางวัลยิ่งใหญ่ในชีวิตของครูแจ้ง  คล้ายสีทองก็คือ ท่านได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ·       สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์) ประจำปี 2538 เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2539นี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตครูแจ้ง  คล้ายสีทอง ที่ชาวสองพี่น้อง และชาวสุพรรณบุรี ภาคภูมิใจยิ่ง
คำสำคัญ (Tags): #เสภา
หมายเลขบันทึก: 102240เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบฟังการขับเสภาชนิดที่รู้สึกว่าเพราะกว่าฟังเพลงทั่วๆ ไป 

อยากขับเสภาเป็นมากๆ เลยค่ะ  มีที่ไหนสอนบ้างคะ

แต่อยากเรียนกับครูแจ้ง คล้ายสีทองที่สุดในโลก  เพราะท่านทำให้ดิฉันชื่นชอบการขับเสภาและเสียงกรับเสภามากๆ

ดีใจที่เกิดมามีคนขับเสภาให้ได้ยินในชาตินี้

กราบขอบคุณ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ที่ท่านขับเสภาได้เพราะที่สุดในโลก

 

  • ขอบคุณ คุณดวงเดือนครับ นับว่าคุณดวงเดือนเป็นผู้มีใจรัก ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติคนสำคัญอีกคนหนึ่งทีเดียว
  • ครูแจ้ง ท่านมีความคิดที่จะสอนขับเสภาที่บ้านของท่าน ใกล้วัดโบสถ์ดอนลำแพน อ.สองพี่น้อง
  • แต่ไม่ทราบว่าตอนนี้ท่านดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
  • เพราะภารกิจท่านมากเหลือเกิน

ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของครูผู้มีแต่ให้และขอให้ครูจงไปสู่สุขคติเทอญ

เสียใจกับการจากไปของครูแจ้ง ขอไว้อาลัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท