เรียนโครงงานกับครูชำเลือง ตอนที่ 5


เรียนรู้กันแบบนี้ ผมมองเห็นเขามีความสุข

 

เรียนโครงงานกับครูชำเลือง

ตอนที่ 5 (การนำเสนอผลงาน) 

          ในตอนที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการประเมิน เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบ  ความซื่อสัตย์ (เป็นคุณธรรม) ซึ่งจะฝังลึกในตัวนักเรียนได้ ถ้ามีการฝึกปฏิบัติจริงๆ  แล้วถ้าเรามาคิดในทางกลับกัน นักเรียนที่เรียนโครงงานโดยมิได้เกิดจากการตัดสินใจเลือกทำด้วยตนเองโดยแท้จริงแล้วคำว่า มีความถูกต้อง กระบวนการ ประหยัด ปลอดภัย และได้ชิ้นงาน นำเอาไปใช้ประโยชน์ ก็น่าที่จะไม่มี หรือมีได้ แล้วนักเรียนจะได้สิ่งใดมาแทน ซึ่งในวันนี้ จะต้องหันมาสนใจความแตกต่างระหว่างบุคคลให้มาก ดังนั้นผมจึงจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนเป็นรายบุคลคนและรายกลุ่ม เพื่อที่จะเฝ้ารอดูความเจริญงอกงามของเขา  ผมจึงไม่มีคำว่า สอนไม่ทัน สอนไม่จบ  เพราะผมยังมีความหวังผลที่การพัฒนา

          กลับมาที่ห้องสอนโครงงานศิลปะ ซึ่งเด็กของผมมีจำนวน 30 คน เขามิได้ทำโครงงานศิลปะกันทั้งหมดหรอกครับ  ผมให้อิสระในการคิด วิเคราะห์จนได้พบตัวตนของเขาเอง แล้วเลือกโครงงาน ตั้งชื่อโครงงาน รวมกลุ่มกับเพื่อนก็ได้ หรือจะทำคนเดียวเดี่ยวๆ เลยก็ได้  บางคนเก่งกีฬาทำโครงงานปิงปอง  เคยมีนักเรียนทำโครงงานมวยไทย (นานมาแล้วปี 2545) มีนักเรียนทำโครงงานอาหารไทย  โครงงานปักผ้า ฯลฯ มีหลากหลาย  ผมปล่อยให้นักเรียนทำงานอย่างอิสระ ตามความสามารถ แต่จะมีช่วงหนึ่งที่ผมแนะนำนักเรียนว่า โครงงานเป็นการนำเอาความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลายมาใช้ ดังนั้นนักเรียนที่ทำโครงงานต่าง ๆ ลองคิดหาวิธีเชื่อมโยงโครงงานที่ทำกับความงามและประโยชน์ด้วย (อันที่จริงทำได้ไม่ยาก) เด็กที่เคยทำโครงงานมวยไทย ตอนปรับปรุงผลงาน ชิ้นงานเขาเป็นโปสเตอร์มวยไทย แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการชกมวย วาดภาพระบายสีตามความสามารถของเขา มีทั้งชิ้นงานที่เป็นเอกสาร การวางแผนการชกในแต่ละนัด มีภาพสรุปผลการชก และภาพการใช้แม่ไม้มวยไทย เด็กเขาทำดีนะครับ มองเห็นภาพเลยว่า  เขาเก่งกีฬาชกมวยไทย  (วันนี้เขาเป็นนักมวยอาชีพ ขึ้นชกบนเวทีมาตรฐานไปแล้ว)

          มีนักเรียนที่เรียนโครงงานกับผมอีกกลุ่มหนึ่ง 3 คน (อิม, ยุ้ย และต้อม) กลุ่มนี้ มีความสนใจ ถนัดเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน ก็ไปสืบค้น พบครูเพลง ได้เนื้อเพลงนำมาพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วก็มาฝึกร้อง รำ เจรจากันด้วยนะ แกเล่นเพลงพื้นบ้านได้ทั้ง 3 คน แต่พวกเขาทำโครงงานประเภทพัฒนาความสามารถ พอจะถึงกำหนดส่งชิ้นงาน ก็รวมเป็นเล่ม แยกเป็น เพลงไหว้ครู เพลงออกตัว เพลงตับ เพลงเล่นเป็นเรื่อง (นำเสนอการพัฒนา 3 อย่าง คือ ร้องด้น, พูดสด, ทำท่าทางตามบทเพลง) ผมให้นักเรียนส่งงานที่เป็นลายมือได้ จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ด้วย Printer Computer ในช่วงท้าย ๆ ของการเรียนรู้โครงงาน ผมแนะนำให้นักเรียนนำเอาศักยภาพ (ความสามารถ) ที่เขามีอยู่ เอาออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด การเรียนในปัจจุบันมีข้อกำหนด คุณลักษณะอันพึงประสงค์เอาไว้ด้วย นักเรียนจะต้องฝึกในเรื่องของทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ด้วย วิชาโครงงานดูจะมีทุกอย่างผสมผสานอยู่ในการเรียนรู้ตลอดปี ผมว่าเป็นวิชาหนึ่งที่มีการเชื่อมโยงสาระต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย (ถ้าเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำตามที่เขาถนัด) มาถึงผลการเรียนรู้ที่คาดหวังข้อที่ 7 ต่อด้วย 8-9 ไปเลยนะ

          ผลการเรียนรู้ข้อที่ 7-9 การเขียนรายงานอธิบายวิธีการจัดทำโครงงานของตนนำเสนอผลงานให้เห็นภาพตั้งแต่เริ่มต้นจนงานสำเร็จ รายงานผลการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในการเขียนรายงานโครงงานนั้น ผมแนะนักเรียนว่า  จัดทำได้ 2 ลักษณะ (น่าที่จะคล้าย ๆ กันนะ) คือ

         1. เขียนรายงานโดยใช้รูปแบบของงานวิจัย ประกอบด้วยเนื้อหา  5 บท ได้แก่

             บทที่ 1  บทนำ ที่มาของปัญหาในการจัดทำโครงงาน วัตถุประสงค์

             บทที่ 2  หลักการ ประเภทของโครงงาน รูปแบบโครงงาน การวางแผนโครงงาน

             บทที่ 3  การดำเนินโครงงาน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

             บทที่ 4  การประเมินผล ปรับปรุง ผลการดำเนินงาน

             บทที่ 5  สรุปผลโครงงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ

                      เอกสารอ้างอิง และภาคผนวก (ถ้ามี)

         2. เขียนรายงานแบบ แบ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญ  ได้แก่

            2.1 บทคัดย่อ (สรุปเนื้อหา เฉพาะประเด็นที่สำคัญของโครงงานเป็นความเรียง 1 หน้า)

            2.2 หลักการและเหตุผลในการจัดทำโครงงาน (เขียนบอกปัญหา ที่มาความจำเป็น)

            2.3 วัตถุประสงค์ของโครงงาน (แสดงจุดมุ่งหมายในการทำโครงงาน เขียนเป็นรายข้อ)

            2.4 ขอบเขตของโครงงาน (ระบุกลุ่มเป้าหมาย สถานที่ ระยะเวลาในการดำเนินงาน)

            2.5 ขั้นตอนในการวางแผนดำเนินงาน (เขียนขั้นตอนในการวางแผน)

            2.6 วิธีการดำเนินงาน (แสดงผังหรือวิธีการดำเนินงาน  ปฏิทินงาน   มีภาพประกอบ)

            2.7 งบประมาณ (บอกค่าใช้จ่าย และแหล่งเงินสนับสนุน)

            2.8 การประเมินผลงาน  ปรับปรุงผลงาน และผลของการดำเนินงาน

            2.9 สรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และแนวทางในการแก้ไข

            2.10 เอกสารอ้างอิง หรือ บรรณานุกรม และภาคผนวก

ในการนำเสนอผลงานนั้น ผมแนะนำให้นักเรียนได้จัดทำแผ่นสรุป ซึ่งมีหลายรูปแบบ  เช่น

          1. แผ่นสรุปย่อโครงงาน  1 หน้ากระดาษ (ติดบนแผ่นชาร์ต, บอร์ด หรือแผ่นตั้งก็ได้)

          2. แผ่นพับ (Brochure) สรุปย่อโครงงานทำเป็น 3-4 พับออกแบบให้มีเนื้อหาและรูปแบบสวยงาม

         3. แผ่นป้าย (Board) ขนาด 60 X 240 ซ.ม. (อาจจะขนาดเล็กกว่านี้) ทำเป็น 3-4 พับ บอกชื่อโครงงาน วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน การประเมินผล สรุปผลการดำเนินงาน

อาจมี แผนภูมิ ตาราง และภาพประกอบด้วย 

         4. สื่อนำเสนอได้แก่ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวในการดำเนินงาน เช่น แฟ้ม เทปบันทึกเสียง วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี เป็นต้น

          เมื่อนักเรียนเขียนรายงานการจัดทำโครงงานเรียบร้อยแล้วและมีเอกสารสรุป 1-2 ชิ้น ผมจะนัดหมายให้นักเรียนเตรียมตัวนำเสนอผลการดำเนินงานด้วยการอธิบาย ชี้ให้เห็นภาพการดำเนินงานอย่างย่อ แต่ผู้ฟังมีความเข้าใจ นักเรียนจะต้องนำเอาผลงานดังต่อไปนี้มาจัดแสดงด้วย  ได้แก่

          1. รายงาน 1 ฉบับ ความหนา ตั้งแต่ 10 หน้าขึ้นไป  มีภาพและตารางประกอบได้

          2. แผ่นพับ 2-5 พับ หรือแผ่นป้าย (ขนาดไม่กำหนด)

          3. ผลงานหรือชิ้นงานที่จัดทำ (เฉพาะชิ้นเด่น ๆ)

          4. นำเสนอด้วยการอธิบาย และหรือใช้สื่อประกอบ (นำสื่อมาเสนอด้วย)

เท่าที่ผ่านมาในวันที่นักเรียนนำเสนอผลงาน เป็นวันที่ครูจะได้มองเห็นศักยภาพของนักเรียนซึ่งบางคน เราไม่รู้เลยว่าเขาเก่งคอมพิวเตอร์ เขาเก่งวาดภาพ เขาเก่งกีฬา เขาเก่งร้องเพลงแหล่ เก่งเพลงอีแซวเพราะในการนำเสนอผลงาน นักเรียนจะนำเอาความสามารถทั้งหมดมาแสดงให้ครูและเพื่อนได้รับรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (เปิดตลาดวิชาการเล็ก ๆ) ในห้องเรียนที่น่าชื่นชมมากครับ (มีภาพประกอบ)

          ผมเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถามข้อสงสัยได้ คำถามที่พบมากที่สุดคือ ผลงานที่ทำเสร็จแล้วจะนำ เอาไปใช้ที่ไหน อย่างไร ครูไม่ต้องซักถาม เด็กเขาอยากรู้กันเองโดยอัตโนมัติ  คำตอบที่ผมได้รับฟังจากการที่นักเรียนตอบในห้องนำเสนอผลงาน คือ นำเอาภาพที่วาดไปประดับห้องนอน  ห้องนั่งเล่น  นำเอาขนมที่ทำ ไปรับประทานและจำหน่าย  นำเอาผลงานกัดกระจกไปจำหน่าย และประดับผนังห้อง  นำเอาภาพโฆษณาไปติดประกาศที่หน้าห้องเรียน  นำเอาเทปบันทึกเสียงเพลงอีแซวไปเปิดฟังที่บ้าน ฯลฯ ผมดีใจกับเด็ก ๆ ที่พวกเขาได้คิด สร้างสรรค์ผลงานและนำเอาความภาคภูมิใจมาเสนอ การตัดสินผลการเรียนผมพิจารณา 2 ทาง คือ ให้คะแนนกระบวนการ คิด วิเคราะห์ วางแผน และดำเนินงาน (กระบวนการทำงาน) 80 คะแนน และให้คะแนนนำเสนอผลงาน (ชิ้นงานทั้งหมด) 20 คะแนน  รวมเป็น  100 คะแนน

          เรียนรู้กันอย่างนี้ ผมมองเห็นเด็กๆ เขาก็มีความสุขนะ บางครั้งเด็ก ๆ ก็ถูกครูตำหนิบ้าง บางครั้งทำงานผิดแนวทางบ้าง ค่อยปรับปรุงแก้ไขกันไป ไม่ถือว่าผิด เพราะการพัฒนานักเรียนต้องพัฒนาทุกคน มิใช่พัฒนาคนใดคนหนึ่งเท่านั้น (ยกเว้นฝึกเด็กไปแข่งขัน) และที่สำคัญ คือ เด็กที่เรียนอ่อน กำลังรอครูเข้ามาให้ความช่วยเหลือ พวกเขาเหล่านั้น เป็นบุคคลที่ครูจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโรงเรียน (ไม่ควรทอดทิ้ง วางเฉย และตอกย้ำ) วันนี้ผมอายุมากแล้ว ความคิด ความอ่าน เป็นไปในมุมกว้าง มองภาพรวม ๆ เสียมากกว่า อยากเห็นนักเรียนที่สอน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี มีคุณธรรมติดตัวไป ผมจึงต้องคิดหาแนวร่วมในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มอ่อน  ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสาร และจะต้องรีบเร่งพัฒนาให้มากที่สุด ครับ

(ในโอกาสต่อไป ผมจะเล่าเรื่องการทำโครงงานของนักเรียนประเภทต่าง ๆ ทั้ง 4 ประเภท)

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 100202เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2007 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สาธุ...เด็ก บ.จ.๑ โชคดี ที่มีครูอย่าง
  • อ.ชำเลือง รักษาไว้ให้ดี
  • อย่าให้เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ(ง่าย)มาเบียดเบียนเสียก่อน

ดีครับ ขอให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ

 

ขอย้อนไปขอบคุณ อาจารย์พิสูจน์ ก่อน

  • น้องชายคนเก่งและขยัน มีความตั้งใจและมีความจริงใจสูงมาก
  • ผมยังคงสนุกอยู่กับงานครูในช่วงโค้งสุดท้าย
  • เหลือเวลาอีกเพียง 4 ปี เท่านั้นเอง
  • มันช่างรวดเร็วจริง ๆ
  • เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ เก้า ไขมัน ฯลฯ ขอเอาติดตัวไปด้วยนะพิสูจน์ ผมไม่ให้ใครเด็ดขาด

          ขอขอบคุณและขอให้การงานก้าวหน้านะ

สวัสดี คุณบัลลังก์

  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม
  • ในเรื่องงานสอนคงทำได้เต็มที่อีกเพียง 4 ปี
  • ผมจะเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2554 นี้
  • ในช่วงเวลาที่ยังเหลือคงต้องเร่งงานที่ค้างอยู่อีกหลายเรื่อง ทั้งทัศนศิลป์ เพลงพื้นบ้าน และเทคโนโลยีที่ผมถนัด
  • ผลงานคงจะนำมาเล่าที่นี่ต่อไปอีก ในบางส่วนครับ ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
P
sasinanda
สวัสดีค่ะ

เห็นที่สุพรรณมีครูบาอาจารย์เก่งๆมีจิตวิญญษณของความเป็นครูอย่างแท้จริง อย่างนี้ น่าชื่นใจ ไม่แพ้กรุงเทพค่ะ

ขอบคุณมากครับ คุณ ศศินันท์

  • ให้เกียรติมาเยี่ยมสุพรรณฯ โดยเฉพาะที่อำเภอศรีประจันต์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเมือง
  • ผมทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนมาเกือบตลอดชีวิตราชการด้วยใจรักที่จะทำงานอย่างนี้
  • ให้คำแนะนำ สอนความรู้ ฝึกหัดอาชีพ และพานักเรียนไปเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
  • ณ เวทีการแสดงจริง มานานกว่า 17 ปี
  • น้ำใจที่แบ่งปันมาให้ดุจยาหอมเพิ่มแรงงานได้อีกโข จะขอเดินหน้าต่อไปจนถึงปลายทางชีวิตครับ

           

 

 

      

 

ผมชื่นชมอาจารย์มานานแล้ว ตั้งแต่อยู่กรมสามัญฯด้วยกัน ผมยอมรับว่าอาจารย์มีความสามารถในหลายด้านจริง แวะเข้ามาเยี่ยม ถ้ามีโอกาสจะแวะไปขอรับการปรึกษา.......ศิลปะสวนแตงวิทยา

ดีนะค่ะที่มีการส่งเสริมศิลปะพื้นบ้านแบบนี่ และยังอยู่ในสื่อการเรียนการสอนแบบนี้ น่าชื่นชมค่ะ

ขอให้ร่างกายแข็งแรงดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท