เกษตรกรคนเก่ง : เรื่องเล่าจากคุณมนตรี จันทร์เนตร


จุดสำคัญอีกอย่างของการทำเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการไม่พึ่งพาภายนอก พึ่งตนเองให้มาก

 

                                                 
 คุณมนตรี  จันทร์เนตร

เรื่องเล่าจากคุณมนตรี  จันทร์เนตร   กับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง            

          คุณมนตรี จันทร์เนตร ประธานสภา อบต.คุยบ้านโอง ได้เล่าให้กับนักส่งเสริมการเกษตรที่เข้าร่วมงานสัมมนาประจำเดือนกรกฎาคม ของสายที่ 1 ฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง    ว่าตนเองได้ไปเรียนรู้จากหลายๆ ที่ และได้นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพของตนเอง    ในตำบลคุยบ้านโองนี้  ชาวบ้านจะทำนากันเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่ามีปัญหาสารพัด  ดังนั้นการที่จะไปบอกให้เกษตรกรเปลี่ยนอะไรนั้นเป็นเรื่องยาก   แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีหลักคือ

          ·       พอกิน

          ·       พอใช้ และ

          ·       มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง 

          ได้ลงมือปฏิบัติกับตัวเองก่อน  ให้มีของกินของใช้  ทำไร่นาสวนผสม มีบ่อปลา และขณะนี้กำลังเลี้ยงหมูหลุม จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 5 ตัว ต่อไปจะขยายเป็น 4 รุ่น ซึ่งจะทำให้มีการขายหมูได้ทุกเดือน  เหตุที่เลี้ยงเพราะได้ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดน่าน ประกอบกับตนเองได้ไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงหมูในจังหวัดนครปฐมมา 6-7 ปี มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงหมูเป็นอย่างดี   และการหมูหลุมนี้เมื่อศึกษาแล้วได้ให้ประโยชน์คือ

          1.   ได้ปุ๋ยคอก ประมาณว่าเดือนละ  1 ตัน
          2.   มีการออมเงิน
         
3.   มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 – 7,500 บาท
         
4.   ลดเวลาในการจัดการเพราะดูแลง่าย  สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ด้วย
         
5.   มีความปลอดภัย  เพราะหมูไม่เครียดทำให้การใช้ยาน้อย และไม่สร้างมลพิษด้านกลิ่น 
         
นอกจากนั้นตนเองยังมีการเลี้ยงปลา โดยการทำคันดินในพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อเลี้ยงปลากินพืช ไม่มีการให้อาหาร แต่จะใช้ปุ๋ยคอก   บนคันนาก็ทำการปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยูคาลิปตัส ไม้ยืนต้นรอบๆ แปลงนา  ขณะนี้มีคนทำตามแล้ว 8-9 ราย  เมื่อทำไร่นาสวนผสมแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง  จากอดีตต้องซื้อทุกอย่าง เช่นในวันหนึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวน 100 บาท ก็จะซื้อทั้ง 100 บาท  แต่ปัจจุบันลดลงมากจะไม่ซื้อทั้งหมด เพราะจะมีสิ่งที่ผลิตได้เองมาทดแทน  ยกตัวอย่างเช้าวันนี้ก็ได้ปลาไหลและปลาอื่นๆ ประมาณ  1 กิโลกรัมก็ได้นำมาทำอาหารเช้า  เห็นไหมครับว่าไม่ต้องจ่ายอะไร    
          
สาเหตุที่หันมาปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มมากขึ้นก็เพราะมาคิดได้ว่า ขณะที่เราทำมาหากินได้เช่นในขณะนี้ก็ไม่เป็นไร   แต่เมื่อไร ที่เราแก่ตัวขึ้น เราหากินเองไม้ได้แล้ว  ใครจะมาเลี้ยงเรา  นี่คือปัญหาของอาชีพการเกษตรทุกๆ คน    ข้าราชการยังมีบำเหน็จบำนาญกินไม่เดือดร้อน    อีกทั้งประกอบกับตนเองได้ไปเรียนรู้กับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  ที่ปลูกไม้ยางนาทิ้งไว้    ต่อมา 30 ปีให้หลังกลับมีมูลค่ามหาศาล  จึงได้รู้ว่าการปลูกไม้ยืนต้นนี่แหละที่จะเลี้ยงตัวเรา
         
จุดสำคัญอีกอย่างของการทำเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการไม่พึ่งพาภายนอก   พึ่งตนเองให้มาก  ใครที่ไปดูบ่อปลาในหน้าฝนอาจจะเห็นว่าที่ขอบสระมีหญ้ารกมาก  อย่าหาว่าเจ้าของบ่อขี้เกียจนะครับ    แต่ที่จริงแล้วคันนาหรือคันบ่อในหน้าฝนจะไม่ตัดหญ้า เพราะเวลาฝนตกลงมาเมื่อมีน้ำไหลปลามักจะว่ายออกจากบ่อ  หากไม่มีหญ้าช่วยกันไว้ นี้เป็นความรู้หนึ่งที่ได้เรียนรู้  และขณะนี้ก็มีเกษตรกรรายอื่นเริ่มเห็นความสำเร็จและเอาเป็นแบบอย่างทั้งจากภายในหมู่บ้าน ตำบล และจากภายนอกขอมาศึกษาดูงานอยู่เสมอ
บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ
วีรยุทธ  สมป่าสัก

 

หมายเลขบันทึก: 40693เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ได้ความรู้ใหม่มากเลยครับ คงต้องเอาไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่เมืองกาญจน์ครับ
  • ขอบคุณมากครับ

เรียน อาจารย์ขจิต

  • ยินดีมากเลยครับหากความรู้ของเกษตรกรที่กำแพงเพชรจะได้ถูกนำไปใช้และต่อยอดที่กาญจนบุรีครับ
  • ต้องขอขอบพระคุณ Gotoknow และ สคส. ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท