การจัดการความรู้สู่การพัฒนาการส่งเสริมการเกษตร (2) ประสบการณ์ KM นครพนม


ที่นครพนม CKO คือ ท่านเกษตรจังหวัด เป็นผู้เห็นความสำคัญ ของ KM และ ใช้ KM เป็น

                คุณทวี มาศขาว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ในฐานคุณอำนวย ของจังหวัดนครพนม ได้ขึ้นเวทีเล่าประสบการณ์การจัดการความรู้ ของจังหวัดนครพนม ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่ห้องกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 1 ธค 49   คุณทวี  เล่าว่า

                           KM50.jpg

               คุณทวี มาศขาว (คนที่ 3 ) บนเวทีเสวนา   

  • แรกเริ่มเมื่อปี 2548  ปีแรก ไม่รู้จริงๆว่า KM คืออะไร
  • ได้มารับความรู้ และกลับไปก็พยายามทำตามรูปแบบของราชการเป็นหลัก มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ กำหนดเป้าหมาย ดำเนินการ
  • สิ้นปี 2548  มีการทบทวน ว่าทำแล้วได้อะไร อย่างไร ในรอบ 1 ปี ที่ทำ  ทีมงาน ก็ยังโดนต่อว่าว่ารับไม่ได้ เอางานมาเพิ่มให้หรือเปล่า
  • ในปี 48 เราทำเฉพาะเจ้าหน้าที่  KV คือ พัฒนาเจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่มีหลายประเภท  รู้ไม่จริงแต่ทำเป็นรู้  พอเราไปวัดผล ประเด็นที่พบคือ การไม่เข้าใจของ จนท. ว่างานนี้ทำอะไร มีเป้าหมายอะไร  เป็นปัจจัยหนึ่ง ต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมต้องทำ KM
  • ที่นครพนม CKO คือ ท่านเกษตรจังหวัด เป็นผู้เห็นความสำคัญ ของ KM และ ใช้ KM เป็น  ตอนหลัง จนท. ก็เริ่มได้เห็นประโยชน์  ถ้าไม่ทำจะไม่รู้ว่า KM ช่วยเคลื่อนงานเราได้อย่างไร
  • ตัวอย่าง  เมื่อก่อนสำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ  เกษตรตำบลคนหนึ่ง รับผิดชอบตำบล  ก.  อีกคนหนึ่ง รับผิดชอบ ตำบล ข.  คนหนึ่งมีความสามารถในการจัดเวที ประชุมได้ดี  อีกคนทำยังไม่ได้ หรือได้ไม่ดี  เกษตรอำเภอสั่งการอย่างเดียว    เมื่อมี KM เข้าไป ก็ให้เอา นาย ก. กับ นาย ข. มาแลกเปลี่ยนกัน 
  • กรมส่งเสริมการเกษตร มีระบบส่งเสริมการเกษตร ที่ให้มีการประชุมทุกเดือน (DM)  คือเป็นวัฒนธรรมองค์กรของกรมฯ เป็นจุดเด่นของกรมฯ  
  • เราเริ่มนำ KM  เข้าไปขับเคลื่อน เริ่มฝึกทำ เป้าหมาย ตารางอิสรภาพต่างๆ เราก็พยายามทำ แต่ไม่ได้อินข้างใน
  • พอมาปีที่ 2  (ปี 49)  เราเริ่มนำ KM เข้ามาทำงานในเนื้องานปกติ  ทำถึงตัวเกษตรกร และเครือข่าย
  • มีการตั้งเป้าหมาย เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจในเนื้องาน ผลลัพธ์ ผลผลิต ต้องการอะไร  เริ่มที่การผลิตสินค้าปลอดภัยและได้มาตรฐาน    กรณีตัวอย่าง แตงโม  ใน 200 ครัวเรือน มีการควบคุมคุณภาพทั้ง 200 ครัวเรือน ได้เหมือนกัน ทำอย่างไร
  • ในขณะนี้ จนท.จังหวัด มีการกำหนดเป้าหมายการทำงาน เริ่มทำมาเรื่อยๆ โดยอิงกับระบบส่งเสริมการเกษตร  เกษตรตำบล บางคนเก่งหลายเรื่อง ประสบการณ์เหล่านี้ อยู่ในตัวคน ต้องพยายามทำให้ KS เกิด พยายามเชื่อมตรงนี้  เมื่อเชื่อมได้ ก็จะเกิดประเด็นความรู้ มีการทบทวนบทเรียน ทุกเดือน  ทุกคนเริ่มมีการมา ลปรร. กัน
  • ผลที่ได้จาก KM 

          1. ได้เรื่องงาน  ได้เห็นเทคนิคการทำงาน  เดิมไม่ได้มีสติที่จะพิจารณางาน 

           2. ทำให้ลดกระบวนการงานที่ซ้ำซ้อน  การไม่มีส่วนร่วมลดลง ปรับเปลี่ยนบทบาท CKO  จากเกษตรอำเภอ เดิม เคยสั่งการ ไม่สนใจ โดยละเลยกระบวนการที่มีศักยภาพ ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น  มาเป็นการ ลปรร. ซึ่งกันและกัน

           3. ตัว จนท. เริ่มมีการตื่นตัว พัฒนาตนเอง  เรื่องนี้ทำไมเขาทำได้ดี เกิดการแลกเปลี่ยน  ในการแลกเปลี่ยน ตอนแรกๆ เกษตรตำบลอาวุโส  เหมือนๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน จะไม่ค่อยเชื่อกัน แต่ถ้าเอาผู้พร้อมให้ มาแลกเปลี่ยน กับรุ่นน้อง จะได้ประโยชน์เยอะ มีการแสวงหา พัฒนาตนเอง  คุณภาพ จนท. เริ่มเกิด องค์กรก็ได้ประโยชน์  สังเกตุจากเรื่องการร้องเรียน ฟ้องร้อง ในสำนักงาน ลดลงมาก  ตัว จนท.ได้มีส่วนร่วม กำหนดทิศทาง ลดเรื่องการต่อต้าน 

              สุดท้ายคุณทวี ได้สรุปว่า  KM ปีที่ 2  ได้พัฒนางาน ได้พัฒนา จนท. พัฒนาองค์กร  ได้เห็นศักยภาพ เปิดโอกาสให้มีเวทีแสดงศักยภาพ ได้เห็นใครมีความสามารถ ชำนาญเรื่องอะไร   ได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้............และ เสน่ห์ของ KM คือ ได้เรียนรู้หลายระดับ หลายขั้นตอน ทำให้ จนท.เปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง  การสิ้นสุด คือการเริ่มต้นใหม่.......

            

   นันทา ติงสมบัติยุทธ์

    7 ธค.49

หมายเลขบันทึก: 65815เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียน คุณนันทา

         ได้เห็นการพัฒนางาน  พัฒนาคนของกรมส่งเสริมการเกษตร  และเห็นรูปแบบ KM ที่ดิฉันคงจะได้นำไปใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรด้วยการจัดการความรู้

         เสียดายที่ไม่ได้เข้าไปนั่งฟัง  แต่ก็ดีใจได้เก็บเกี่ยวสิ่งดี ๆ ที่คุณได้ถ่ายทอดมาครั้งนี้

เรียน คุณวิไล

  • ขอบคุณมากค่ะ ที่เข้ามาทักทาย 
  • ดีใจค่ะ หากบันทึกนี้ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ สำหรับผู้สนใจ KM
  • หวังว่าคงจะได้มีโอกาสเจอกันในโอกาสหน้านะคะ

ผมไปนั่งฟังแล้วงงมาก ที่ว่ากรมส่งเสริมเริ่มKMที่ Tacit Knowledge ที่ผมเดาเอาเองว่าทำได้ยากมาก

ซึ่งอาจเป็นตรงที่บอกว่า ความรู้ที่มีอยู่ในบุคคลเจ้าหน้าที่ ที่ทางกรมส่งเสริมบอกว่า เป็นการเริ่มที่ Tacit Knowledge

ที่จริงอาจจะเป็น Explicit knowledge ที่ยังไม่บันทึกมากกว่าจะเป็น Tacit knowledge แต่ทั้งสองอันมันก็เชื่อมต่อกันนั่นแหละครับ เพียงแต่อยู่คนละมุมเท่านั้น

ความรู้บางเรื่องก็อยู่กลางๆ มีทั้งบอกคนอื่นได้ (Explicit) และบอกใครไม่ได้ แสดงให้ดูได้อย่างเดียว (Tacit) ปนๆกัน แต่ไปเริ่มที่ Tacit จะอยากมาก สู้เริ่มที่ Explicit ไม่ได้ ถ้าทำได้ก็สุดยอดเลยครับ

ผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

ตอบด้วยนะครับ ไม่มีโอกาสถามในห้อง

 

 

เรียน ดร.แสวง รวยสูงเนิน

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ ที่เข้ามา ลปรร.
  • ไม่ทราบว่าจะเข้าใจถูกหรือเปล่านะคะ เราเข้าใจว่า Tacit Knowledge  ก็คือ ความรู้ฝังลึกที่อยู่ในตัวคน ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานส่งเสริมการเกษตร จนท.เราแต่ละคนมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาไม่น้อยกว่า 10-20 ปี  ได้เรียนรู้วิธีการทำงานกับชุมชน มีเทคนิควิธีการส่งเสริมการเกษตรที่แตกต่างหลากหลาย มีตัวอย่างที่ดีๆ  อยู่เยอะมาก  แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา  จนท.เรา ทำงานอย่างเดียว และทำงานในพื้นที่เยะมาก แต่ไม่มีการจดบันทึก ถอดบทเรียนต่างๆ ที่ได้ทำมา ความรู้ในแต่ละเรื่อง จึงอยู่กับตัวผู้ปฎิบัติ เมื่อเกษียณ ก็ตามออกไปด้วย
  • แต่เมื่อ มี KM เข้ามา เราได้เรียนรู้กระบวนการ  KM   และได้นำ KM  เข้ามาใช้กับงานส่งเสริมการเกษตร จึงทำให้เราเริ่มเข้าใจ ว่า แท้จริงแล้ว  KM ถูกจริตกับงานส่งเสริมการเกษตรอยู่แล้ว เพราะว่า  ลักษณะของงานส่งเสริมการเกษตรเกษตร ที่เราทำอยู่นั้น ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับกระบวนการ KM อยู่แล้วในบางส่วน  แต่อาจจะยังไม่ครบทั้งกระบวนการ
  • เราจึงนำกระบวนการ KM มาต่อยอดกับงานเดิมที่เราทำอยู่  ส่วนไหนที่เรายังขาด หรือส่วนไหนที่เรามีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับกระบวนการให้ดีขึ้น  เช่น มีการตั้งเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน  (KV)   มีการจัดเวทีในลักษณะการ ลปรร. (KS)   ซึ่งอันนี้ เราปรับจากเดิม ซึ่งจะเป็นลักษณะการถ่ายทอดเทคโนโลยี จนท. เป็นผู้สอน มาเป็น การ ลปรร. โดย จนท. เราเป็นคุณอำนวย  ให้ชาวบ้าน ได้มาเล่าประสบการณ์ การปฏิบัติของตนเอง  ลปรร.ซึ่งกันและกัน โดย จนท.เราก็ร่วม ลปรร.ด้วย  แม้ในในที่ประชุมประจำเดือนของจังหวัด (DM)  ซึ่งเป็นเวทีประชุม จนท.ส่งเสริมการเกษตรของจังหวัด แต่เดิมจะเป็นการประชุมลักษณะชี้แจงโครงการ สั่งการให้ทำ ก็ได้ปรับกระบวนการเป็นเวทีที่ให้ จนท. ได้มา ลปรร. ในงานที่ทำ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ (ดังที่เห็นใน วีดีทัศน์ การขับเคลื่อน KM ประเทศไทย)   และสำหรับส่วนที่เราเติมเต็มคือ การจดบันทึก (KA)  เมื่อมีการ ลปรร.กันทุกครั้งจะต้องมีการจดบันทึก และถอดเก็บเป็นองค์ความรู้ ทั้งในระดับ จนท. และเกษตรกร
  • ซึ่งเราเข้าใจว่า  การ ลปรร. จากประสบการณ์การทำจริง ของ จนท. และเกษตรกร  ก็คือ Tacit Knowledge  ซึ่งเราเน้นตรงนี้มากกว่าการ ลปรร. จากเอกสาร ตำรา ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเรามีอยู่มากในคลังความรู้ แต่ไม่ได้นำมาใช้ 
  • เราเน้น 2 P  คือ Process & People  มากกว่า 2 T   คือ Tool  & Technology ค่ะ
  • ไม่ทราบว่า..... ตอบได้ชัดเจน ตรงคำถามหรือเปล่านะค่ะอาจารย์   ยินดี ลปรร.ค่ะ   

เรียน พี่นันทา

  • มุมมองอาจมองได้หลายแง่มุม  ซึ่งในกระบวนการ KM ก็คุยกันว่าไม่มีผิดมีถูกทุกคนต่างก็เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันไป  องค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็น Tacit Knowledge  หรือ Explicit Knowledge   ก็ตามเมื่อใครคนใดคนหนึ่งนำมาใช้ก็เกิดความรู้หน้างาน  อาจโดยบังเอิญหรือตั้งใจปรับปรุงทดลองคิดที่ต่างออกไป  เมื่อดีขึ้นก็คือการเกิดการพัฒนา  ซึ่งคือ Tacit Knowledge  อีกชั้นหนึ่งเมื่อบันทึกไว้เป็นคลังก็เป็น Explicit Knowledge 
  • การจัดการความรู้  ถ้ามองที่ศูนย์กลางของความต้องการ เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเป้าหมายหนึ่ง   บางครั้งเมื่อได้ Tacit Knowledge แล้ว อาจไม่พอที่จะจัดการกับเป้าหมายได้  ซึ่งคุณอำนวยเองเป็นผู้มองเห็น ก็จำเป็นที่จะต้องนำ Explicit Knowledge  จากข้างนอกเข้ามาปรับใช้ร่วมด้วย  สองอย่างรวมกันก็เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ เมื่อนำไปใช้ก็เกิดประสบการณ์ใหม่อีก หมุนวนกันไป
  • การส่งเสริมการเกษตร เราทำงานกับคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสองฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ และเกษตรกร
  • กระบวนการ KM มุมมองผม  ตัวแท้จริงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรเหมือนกัน แต่เมื่อลองใช้ดูในช่วงนี้ถือว่าได้ผล  เราจะได้องค์ความรู้แบบใดมาผมไม่ทราบครับ  แต่เป้าหมายคือเกษตรกรเขามีความสุขในการรับความรู้แบบแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันนี้ ก็พอใจแล้วครับ

คุณนันทา

ผมเดาล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นอย่างที่ผมคิด ว่าเป็นความแตกต่างในความเข้าใจศัพท์ KM

ผมก็ไม่แน่ใจแล้วตอนนี้ว่า Tacit Knowledge แปลว่าอะไร

พูดภาษาไทยดีกว่านะครับ

คำว่า "ฝังลึก" ต้องต่างจาก คำว่า "ยังไม่นำมาเล่า" หรือ "ยังไม่ตีพิมพ์" อย่างแน่นอน

เพราะ ฝังลึก คือระบบที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ เป็นเช่นนั้น เป็นปัจจัตตัง ผู้ปฏิบัติเป็นผู้รู้

ผู้ไม่ปฏิบัติ ไม่มีทางรู้

เช่น ให้บอกว่าคนที่ไม่เคยกินพริกว่า การกินพริก มีรสชาติเป็นอย่างไร

ความรู้นี้ "ฝังลึก" ในผู้รู้รสพริก บอกใครก็คงได้นิดหน่อย แต่ไม่สามารถบอก จนผู้ฟัง "รู้" ว่ารสพริกเป็นอย่างไร

จะบอกได้ก็เปนคำอธิบายกว้างๆ เลียบๆเคียงๆ และอาจจะโชคดีถ้าเขาเคยกินขิง กระเทียม พริกไทย ที่มีบางส่วนใกล้เคียงกัน

แต่ยังไงก็ไม่ใช่อยู่ดี

คุณนันทา ลองทำอย่างที่ผมเล่ามาซิครับ

แล้วจะรู้ว่า คำว่า ความรู้"ฝังลึก" มันเล่นยากยังไง

แค่เลียบๆเคียงๆก็ยังยาก

ทีนี้ เรายังมาสับสนระหว่าง

ความรู้ กับ ข้อมูล และ เอกสารอีก

อันนี้ผมก็กลัวแบบไม้แพ้กับประเด็นแรก

ที่บอกว่าบันทึกนั้นคือข้อมูล (information) ไม่ใช่ความรู้

การทำงานจึงอาจสับสนระหว่าง การจัดการข้อมูล กับการจัดการความรู้อีก

อันนี้เป็นปัญหาทางวิชาการอย่างสาหัส

ที่ทำให้ KM แทบก้าวไม่ออก

เพราะเราไปวุ่นวายกับการจัดการข้อมูลมากกว่าจัดการความรู้

หนังสือ เอกสาร คอมพิวเตอร์ไม่มีความรู้ มีแต่ข้อมูลที่จะทำให้เกิดความรู้

ถ้าคน(ที่จะจัดการความรู้)อ่านไม่ออก เปิดไม่เป็น ก็ไม่รู้ ต่อให้มีข้อมูลมาเท่าใดก็ตาม

เพราะความรู้อยู้ในตัวคนครับ ไม่อยู่ในเอกสาร

มีประเด็นที่ผมยังไม่เข้าใจอีกมากครับ

เดียวผมจะลง บล็อก ครับ เพราะมาคุยกันตรงนี้ไดประโยชน์น้อยครับ

ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรดี

แต่ยังไงผมก็ไม่กล้าคิดจัดการ ความรู้ฝังลึกครับ เอาแค่ชัดแจ้ง ผมก็หืดขึ้นคอแล้วครับ

ผมจึงนับถือคนที่ทำในสิ่งที่ผมทำไม่ได้ไงครับ

แค่นี้ก่อนนะครับ

ค่อยหารือกันในบล็อกอีกทีครับ

จะส่งวันนี้แหละ

เรียน ดร.แสวง

  • คงจะเป็นความเข้าใจที่แตกต่างในคำศัพท์
  • เรื่องนี้ อ.ดร.ประพนธ์ ได้เคยทำความเข้าใจและยกตัวอย่างไว้ที่บล็อก http://gotoknow.org/blog/beyondkm/36844
  • จะคอยติดตามอ่าน  ขอบคุณค่ะ

คุณนันทา ครับ

ผมว่าคุณยังเข้าใจผิดเรื่องใหญ่ๆ อยู่เริ่องหนึ่ง คือ ความแตกต่างระหว่างเอกสารข้อมูล และความรู้ ซึ่งต่อเนื่องกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โปรดไปอ่าน ข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างความรู้ฝังลึกกับความรู้ชัดแจ้ง

แต่สำหรับความสับสนประเด็นที่ 2 ที่ไม่ใหญ่นัก ก็คือความแตกต่างระหว่างความรู้ชัดแจ้ง และความรู้ฝังลึก นั้นให้พิจารณาจาก ความรู้ชัดแจ้ง บอกให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ความรู้ฝังลึก ยังไงก็ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ปฎิบัติเอง จึงจะรู้ด้วยตนเอง ทั้งสองอย่างนี้ อยู่ในบล็อกเรื่องเดียวกัน และคุณยังสับสนอย่างแรง ระหว่างเอกสาร และความรู้ชัดแจง ซึ่งแทบไม่เกี่ยวกันเลย เพราะผู้ที่อ่านเอกสารไม่ออก คือ อ่านแล้วไม่เข้าใจ คนนั้นไม่ได้ความรู้แน่นอน เพราะเอกสารไม่ใช่ความรู้ ความรู้อยู่ในตัวคน หวังว่าคงพอจะเข้าใจนะครับ

คุณก็ทำงานอย่างที่คุณทำน่ะดีอยู่แล้ว แต่อย่าสื่อความหมายว่าเป็น ความรู้ฝังลึก จะทำให้เกิดความสับสนเปล่าๆ วันหลังผมจะคุยกับอาจารย์ประพนธ์เอง

ขอบคุณมากที่ตอบคำถาม 

เรียน ดร.แสวง

  • ขอบคุณค่ะที่ชี้แนะ
  • เรื่องความเข้าใจของคำศัพท์ จะถูกผิดอย่างไร คงต้องให้ผู้รู้ระดับปรมาจารย์ ช่วยชี้แนะ
  • แต่การทำงานเราคงไม่ยึดติด หรือติดกับดักกับคำศัพท์ที่ว่าไว้มากนัก
  • อย่างที่คุณชาญวิทย์ ได้ให้ข้อคิดไว้นั้นถูกต้องที่สุด  กระบวนการ KM ไม่มีผิดถูก ทำไปเรียนรู้ไป ผู้ทำมีความสุข เกษตรกรมีความสุขในการ ลปรร. 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท