ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เห็ด : ในระบบเกษตรประณีต กับการเลือกใช้วัสดุที่พอเพียง


การพึ่งตนเองในระบบการผลิตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมในท้องถิ่น เช่น การเลือกใช้ขี้เลื่อยในท้องถิ่น หรือจากไร่นามาใช้ในการเพาะเห็ด

เมื่อตอนบ่าย....18 มีนาคม 2550 ผมได้มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวค่ายอาสาสมัคร "เพื่อนพึ่งเพื่อน" ของชมรมเพื่อนแก้วจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นชมรมที่น่าทึ่งมากทีเดียวครับ เพราะเป็นชมรมที่เน้นการให้การช่วยเหลือนิสิตที่พิการ โดยเฉพาะพิการทางสายตา (ตาบอด ตาฝ้ามัว) เป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าพิการด้านอื่นๆ จะไม่ช่วยนะครับ ประธานชมรมยืนยันว่าช่วยเหลือหมดทุกคนครับ

กิจกรรมเห็ดกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวค่ายผู้พิการทางสายตา เป็นความสนใจพิเศษสำหรับการที่จะเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ด ณ มหาชีวาลัยอีสาน ของสมาชิกชาวค่าย ผมจึงต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กว่าสามชั่วโมงให้กับน้องๆ นิสิตทั้งหลาย พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติสำหรับการเพาะเห็ดในถุพลาสติก คือเห็ดนางรม เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ ฯลฯ

ทุกคนตั้งใจในการฝึกปฏบัติเป็นอย่างดี พร้อมกับมีหลายคนบอกว่ากลับจากค่ายจะให้คุณพ่อ คุณแม่ไปเพาะที่บ้านเพื่อจะได้มีผักที่ปราศจากสารพิษสำหรับการบริโภคในครัวเรือน และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

วัสดุเพาะเห็ดกับการพึ่งตนเอง หลังจากที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องของการเพาะเห็ดแล้ว นิสิตจึงพบว่าการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกในปัจจุบันนั้นมีปัญหาเรื่องของวัสดุเพาะหลักคือ ขี้เลื่อย ซึ่งปกติพี่น้องเกษตรกรโดยทั่วๆ ไปนิยมนำมาใช้ในการเพาะเห็ด แต่ในปัจจุบันน้ำยางมีราคาสูงจึงไม่ค่อยมีใครโค่นต้นยางเพื่อมาแปรรูป ดังนั้นปริมาณขี้เลื่อยจึงลดลง แถมยังส่งผลให้มีราคาสูงถึง 25,000 บาท (ประมาณ 13 ตันเท่ากับ 1 รถสิบล้อ) จึงไม่คุ้มในการที่จะนำเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดต่อไป

ผมจึงเล่าว่านี่แหละครับคือปัญาใหญ่ของผม ที่กำลังคิด และทุ่มเทในการหาทางออกแห่งการแก้ปัญหาโดย การใช้วัสดุชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเห็ด โดยเฉพาะเห็ดขอนขาวที่มีความต้องการของพี่น้องชาวอีสานค่อนข้างมาก

ตอนนี้เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขี้เลื่อยไม้ยูคาลิปตัส ไม้มะม่วง ไม้นุ่น และขี้เลื่อยไม้รวมของชาวบ้านในเขตพื้นที่นั้น เพื่อทดแทนปริมาณการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา เพราะไม้ดังกล่าวมีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงน่าจะมีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า และจากการศึกษาร่วมกับเกษตรกรจังหวัด อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ เมื่อปีที่แล้วปรากฏว่าได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ไม่ต่างจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราเลยทีเดียว

จากแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องวัสดุ ดังกล่าวผมจึงต้องพิสูจน์อีกครั้งว่าขี้เลื่อยในท้องถิ่น เราจะสามารถช่วยเหลือคนในท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงใด

ในการที่จะผลิตเห็ดให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ อย่างไรก็ตามดังที่ผมได้กล่าวใว้นะครับว่าการเพาะเห็ดนั้นเป็นเพียงกิจกรรมที่เล็กๆ ที่อยู่ในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต แต่ถ้าหากเราผลิตขี้เลื่อยเองก็นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอบ่างคุ้มค่า เพราะไม่ต้องไปซื้อเขา  เราจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งในการนำไม้มาใช้ทำขี้เลื่อยเราอาจจะได้จากการตัดแต่งกิ่งต้นไม้มาบดสับ ซึ่งเหลือต้นเดิมไว้ และในขณะเดียวกันเราก็คงต้องปลูกเพิ่ม และชดเชยในส่วนที่สูญเสียไป

หลังจากเก็บผลผลิตเห็ดหมดแล้ว เราสามารถนำก้อนเห็ดเก่าไปทำปุ๋ย และวัสดุปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นการเกื้อกูลในระบบได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะมีความพอเพียงและยั่งยืน

ขอบคุณครับ

อุทัย อันพิมพ์

18 มีนาคม 2550

หมายเลขบันทึก: 84956เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ที่จริงอยากจะอยู่ร่วมกิจกรรมด้วยครับ แต่ด้วยภารกิจต้องกลับมาก่อน คงจะมีโอกาสได้ไป ลปรร. อีกในวันหน้า
  • เอารูปมาฝากครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

นับเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลังมากทีเดียวครับ

ทึ่ง จริงๆ ครับอาจารย์ ตอนที่กระบวนการ AAR  นักศึกษาที่ตาบอด สามารถอธิบาย และเล่าเรื่องการดำเนินกิจกรรมได้ดีกว่านิสิตที่สายตาดี

นั่นแสดงให้เห็นว่า ความพิการของสายตาไม่ใช่อุปสรรคของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สำหรับนักศึกษา มมส.เลยครับ

ทึ่งจริงๆ  และขอชื่นชมน้องๆ นิสิตทุกๆ คนครับ

 

เป็นการเลือกใช้วัสดุที่พอเพียงจริงๆค่ะอาจารย์  เช่นเมื่อวานหนิงก็เพิ่งทราบว่า 

  • มันฝรั่ง มีประโยชน์นำมาใช้ทำอาหารเชื้อเห็ด 
  • ข้าวฟ่างมีประโยชน์นำมาใช้ในการเลี้ยงเชื้อเห็ดได้ด้วย

ขอบพระคุณค่ะ

 

ผมยังความเชื่อมต่อความพอเพียงและยั่งยืนไม่ออกครับ

  • พอเพียงอย่างไร
  • ยั่งยืนอย่างไร

กรุณาขยายความ และหลีกเลี่ยงการใช้คำกำกวมด้วยครับ สื่อกันตรงๆดีกว่า

แค่สื่อตรงๆก็เข้าใจยากแล้ว คำกำกวมยิ่งไปกันใหญ่ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท