ชีวิตที่พอเพียง : 100. เรียนรู้จาก ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต


         ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ กค. ๔๙   และผมก็ได้บันทึกเรื่องของท่านไว้ใน บล็อก เรื่อง "บูชาครู : ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต" ในวันเดียวกัน     วันนี้ได้โอกาสแล้ว     ผมจะบันทึกการเรียนรู้จากท่านโดยฟื้นจากความทรงจำ

         เดิมผมรู้จัก ศ. ดร. สิปปนนท์ จากชื่อเสียงของท่าน ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว      แต่หลังจากได้ร่วมทำงานที่ สกว. และในงานอื่นๆ อีกหลายเรื่อง     ก็มีความสนิทสนมกันมาก     ผมถือเป็นครูคนหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้มากจากท่าน     เป็นการลักจำ หมั่นสังเกต พยายามถือเป็นพ่อแบบแม่แบบที่ผมบอกตัวเองว่าถ้าเราทำได้สักหนึ่งในสิบของท่านก็เพียงพอแล้ว      ผมมีวิธีปกป้องตัวเองไม่ให้เครียดเกินไป     เพราะผมมีธรรมชาติเป็นคนทะเยอทะยาน  เห็นคนเก่งๆ ก็อยากเป็นอย่างเขาบ้าง  อยากฝึกตนให้ทำได้อย่างเขาบ้าง      แต่ผมยังมีดีหน่อยที่พอจะรู้ประมาณตนเอง ว่าพอจะทำได้แค่ไหน     จึงหาวิธีสอนตัวเองให้รู้จักประมาณตนควบคู่ไปด้วย

        มาได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านประมาณปลายปี ๒๕๓๖ หรือต้น ๒๕๓๗     เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นประธานกรรมการ สกว.

     ที่จริงทางผู้ใหญ่ที่เป็นผู้คิดริเริ่มก่อตั้ง สกว.    ได้แก่ท่านปลัดอภิลาส โอสถานนท์ (ปลัดสำนักนายก)    ท่านปลัดวิจิตร ศรีสะอ้าน (ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย)    และท่านปลัดเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)     ต้องการให้ท่าน ศ. ดร. สิปปนนท์ เป็นประธานกรรมการนโยบาย สกว. ตั้งแต่ต้น     แต่ช่วงนั้นกระแสการเมืองไม่เอื้ออำนวย     นักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นไม่ชอบคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นผู้ออก พรบ. ก่อตั้ง สกว.     ในช่วงแรกจึงไปขอให้ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน      ต่อมางานทางสำนักงานทรัพย์สินฯ มากขึ้น     ท่านจึงขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย สกว.     คณะกรรมการจึงลงมติเสนอให้ ครม. แต่งตั้ง ศ. ดร. สิปปนนท์ เป็นประธานแทน

         ช่วงนั้นท่านเป็นประธานคณะกรรมการ ปตท. อยู่ด้วย      สำนักงานของท่านจึงอยู่ที่ชั้นบนสุดของตึก ปตท. ที่อยู่ติดกับสนามกอล์ฟรถไฟ     ทีมบริหาร สกว. ก็ไปหาท่านที่นั่น เพื่อนำเสนอเรื่องที่จะเข้าที่ประชุม      มองจากห้องทำงานของท่านเห็นทิวทัศน์สนามกอล์ฟสวยงามมาก     ผมได้เรียนบทเรียนแรกจากท่านคือวิธีตั้งเรื่องเชิงนโยบายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย  

         ที่จริงโดยธรรมชาติของผมก็เป็นนักทำงานเพื่อสร้างคุณค่าในเรื่องใหญ่ๆ ต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว     แต่เรามันกระดูกอ่อน เปรียบเหมือนเรือที่เคยแต่แล่นอยู่ในลำคลอง     ท่านจึงช่วยชี้ให้เห็นว่าถ้าจะไปแล่นในมหาสมุทรต้องคิดเรื่องอะไร เตรียมข้อมูลอะไรไว้เป็นทางหนีทีไล่     คือผมได้เรียนรู้การคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) นั่นเอง     เรื่องการเรียนรู้วิธีคิดกระบวนระบบนี้ ผมซึมซับจากท่านตลอดระยะเวลาประมาณ ๑๓-๑๔ ปีที่ได้ใกล้ชิดกับท่าน     ทั้งจากการทำงาน สกว.  การประชุมร่วมกันในงานต่างๆ เช่น สภามหาวิทยาลัย   โครงการ คปก.  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ  กิจการของสภาการศึกษา เป็นต้น

         อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และซึมซับจากท่าน คือการให้เกียรติคนอื่น     ท่านจะให้เกียรติคนอื่นอย่างน่าประทับใจในที่ประชุมต่างๆ     และในการทำงานเพื่อสาธารณะ ที่ผมมีโอกาสร่วมกับท่าน ท่านจะเอ่ยถึงที่มาที่ไปของงานนั้น     เอ่ยถึงการฟันฝ่าอุปสรรค และบทบาทของคนหลายๆ คนที่ช่วยกันต่อสู้ฟันฝ่า   

         ตอนเริ่มทำงาน สกว. ด้วยกันในปลายปี ๒๕๓๖ ผมรู้สึกเกรงบารมีท่านมาก     เวลาเราไปหาท่านก็ไปกัน ๓ คน คือผม  ศ. ดร. ปิยะวัติ  และ รศ. ดร. บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา  ตอนหลังก็มี ผศ. วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน เพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง     การพูดคุยกันก็เกร็งๆ     แต่ไม่นานท่านก็ให้ความเป็นกันเองและไว้วางใจพวกเรามาก     เพราะเราเริ่มทำงานเป็นผลดีขึ้นเรื่อยๆ      ดูท่านจะสนุกที่ได้ร่วมคิดร่วมโต้แย้งกับพวกเราในการคิดริเริ่มทำงานใหญ่ๆ ด้านการส่งเสริมการวิจัยให้แก่ประเทศ

         พอเราขยายพื้นที่สำนักงาน สกว. ซึ่งอยู่ที่ชั้น ๑๘ ไปอยู่ชั้น ๑๙ อาคารมหานคร-ยิบซั่ม ถนนศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ครึ่งชั้น     เราก็จัดห้องทำงานให้ท่านประธานด้วย     พอดีท่านโดนรัฐมนตรีอุตสาหกรรมปลดจากประธานบอร์ด ปตท. (เพราะไปขวางทางผลประโยชน์) ท่านจึงมานั่งทำงานที่ สกว. มากขึ้น     เราจึงได้ใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น    แต่ท่านก็ยังมีที่ทำงานหลักอยู่ที่สภาพัฒน์ ซึ่งท่านเป็นประธานคณะกรรมการ     และยังมีที่ทำงานที่สภาการศึกษา   และที่ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานโครงการการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย

        กล่าวได้ว่า การวางรากฐานของ สกว. เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ ของ ศ. ดร. สิปปนนท์โดยแท้    พวกผมเป็นแค่ผู้ลงมือปฏิบัติเท่านั้น     แต่คนก็จะให้เครดิตพวกผมมาก    โดยที่ท่านก็ให้เครดิตเช่นนั้นด้วย     นับเป็นความใจกว้างอย่างยิ่งของท่าน

         สิ่งที่ท่านพูดบ่อยมากคือความพอดีในความสัมพันธ์ระหว่างประธานบอร์ด กับ ซีอีโอหรือผู้อำนวยการ      ท่านบอกว่าท่านเคยอยู่ในฐานะ ซีอีโอ มาก่อน และเคยอึดอัดมาก่อน หากประธานบอร์ดเข้ามาใกล้ชิดเกินไป     ผมจึงโชคดีสองชั้น     คือชั้นแรกได้ความสัมพันธ์ที่พอเหมาะ    ไม่ห่างเกิน และไม่ชิดเกิน กับประธานบอร์ด     ที่จริงตอนนั้นเราคิดว่ายิ่งชิดยิ่งดี เพราะเราอยากเรียนจากท่าน     และได้คุยถกเถียงกันทีไรเรารู้สึกเหมือนได้เข้าชั้นเรียน     คือท่านมีประสบการณ์ มีมุมมองที่เราไม่มี ให้เราได้กลับมาคิดเสมอ     ข้อที่เราชื่นชมมากคือท่านไม่บอกว่าเรื่องนี้ต้องทำอย่างนี้    แต่ท่านจะคุยกับเราในหลายๆฉากสถานการณ์ (scenario)    และชี้ให้เห็นโอกาสที่จะเกิดแต่ละฉากสถานการณ์ และผลที่จะเกิดขึ้น    รวมทั้งทางหนีทีไล่ในแต่ละฉากสถานการณ์     แล้วให้โอกาสเราไปคิดต่อ แล้วมาคุยกันใหม่ หรือเอาเข้าไปอภิปรายกันในที่ประชุม บอร์ด

         โชคดีชั้นที่สอง ต่อบทเรียนเรื่องความพอดีของระยะห่าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประธาน บอร์ด กับ ซีอีโอ ก็คือเวลานี้ผมเริ่มต้องทำหน้าที่ประธานบอร์ดแล้ว      ขณะนี้ก็ทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล      ผมได้ใช้วิทยายุทธที่เรียนจากท่านในการทำหน้าที่นี้

         สิ่งที่พวกเรา ผู้บริหาร สกว. ได้ประโยชน์มากอีกอย่างหนึ่งคือความกว้างขวางของท่าน     รู้ว่าการริเริ่มโครงการใดโครงการหนึ่งจะไปกระทบอะไร     จะมีคนกลุ่มไหน หน่วยงานไหน พอใจหรือไม่พอใจ     พวกเราเป็นไก่อ่อน แทบจะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของสถานการณ์     ยิ่งผมไปทำงานบ้านนอกอยู่เกือบ ๒๐ ปี และฝังตัวตั้งหน้าตั้งตาทำงานวิชาการ และงานวิจัย ผมจึงเป็นคนแคบ     ความรู้รอบตัวน้อย     สกว. และผู้บริหาร สกว. จึงได้ประโยชน์มากจากความรอบรู้และกว้างขวางของท่าน     ทำงานด้วยกันสัก ๓-๔ ปี มีคนมาทักว่าผมมีความรู้กว้างขวาง      ผมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และบอกตัวเองว่าคนที่ช่วยสอนให้ผมมีความรู้กว้างขวางคนหนึ่งคือ ศ. ดร. สิปปนนท์  

         ทำงาน สกว. ไปได้สัก ๒ ปี เราก็เห็นแล้วว่าการสนับสนุนการวิจัยมีคอขวดอยู่ที่จำนวนนักวิจัยมีน้อยเกินไป     และอาชีพนักวิจัยจริงๆ ก็ไม่มี (เวลานี้ก็ยังไม่มีนะครับ)     เราจัดประชุมระดมความคิดที่ชะอำตอนต้นปี ๒๕๓๙    และเกิดโครงการ คปก. (โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก) ในปีนั้น     ท่าน อ. สิปปนนท์ เป็นผู้ผลักดันให้โครงการผ่าน บอร์ด สกว.     เพราะในตอนนั้นมีคนมองกันว่าเป็นโครงการของคนเป็น megalomania    แล้วท่านก็ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา     ผลักดันให้โครงการนี้ผ่าน ครม.    และท่านได้ช่วยเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายของโครงการนั้นตลอดมาจนท่านสิ้นชีวิต     ผมมีความเห็นว่า โครงการ คปก. เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จที่สุดโครงการหนึ่งในการสร้างนักวิจัย นักวิชาการระดับปริญญาเอกให้แก่ประเทศ     น่าเสียดายที่วงการอุดมศึกษา  วงการสนับสนุนการวิจัย  และวงการเมืองของไทยเราทำเพื่อหน่วยงานของตนเอง  พวกของตนเอง  และเพื่อตนเองมากไป     โครงการนี้จึงไม่ได้รับงบประมาณตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

        บันทึกตอนนี้ยาวเกินไปแล้ว     แต่การเรียนรู้จาก ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ยังมีอีกมาก

วิจารณ์ พานิช
๒๒ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47178เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์จะมีต่อใช่ไหมคะ ยังอยากอ่านอยู่ค่ะ

    ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ .. เข้ามาอ่านผ่านเครื่องในห้องฝึกอบรมหลักสูตร นี้ ที่ มช. ครับ   
    บันทึกอย่างนี้ยิ่งยาวยิ่งดีครับผม  มีคุณค่ามาก
ได้ความรู้มากค่ะ

อาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นคนน่านับถือค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท