วิธีทำ KM ในองค์กรภาครัฐ : 15. เล่นไม่ยากถ้าเริ่มจากความสำเร็จ


• ปัญหาใหญ่ของ KM ในองค์กรภาครัฐ คือไม่รู้จะเริ่มอย่างไร    ทำไปก็เพิ่มงาน เพิ่มภาระ  รู้สึกไม่สนุก    ทำแบบถูกบังคับ ถ้ารู้สึกอย่างนี้ แสดงว่ากำลังเดิน KM ผิดทาง ผิดวิธี
• KM ในองค์กรภาครัฐของไทยต้องใช้ความสำเร็จ (success story) เป็นเครื่องมือ เปิดทวารทั้งห้าของสมาชิกในองค์กร    ได้แก่เปิดปาก  เปิดหู  เปิดตา  เปิดใจ  และเปิดอารมณ์    เป็นการเปิดรับ และเปิดปล่อยสิ่งดีๆ แก่กัน   ซึ่งจะมีผลทำให้ทุกคนมีจิตใจที่สดชื่นขึ้น    เคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น   เห็นคุณค่าซึ่งกันและกันมากขึ้น    คึกคักขึ้น   บางคนอาจเกิด transformation ในเวลาอันรวดเร็ว    ใครไม่เชื่อให้มาคุยกับคุณแกบ ผู้จัดการสำนักงานของ สคส.
• ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่เข้ามาร่วมกระบวนการจะค้นพบศักยภาพ หรือความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัว และหาไม่พบมาเป็นเวลานาน อาจจะหลายสิบปี   แต่พอได้บรรยากาศที่เป็นอิสระ  บรรยากาศเชิงบวก เชิงชื่นชม    จะคล้ายๆ เมล็ดพันธุ์ที่สงบ (dormant) อยู่นาน ตื่นขึ้นรับน้ำรับแสง แล้วงอกงามเบ่งบานอย่างรวดเร็วไม่น่าเชื่อ   
• ดังนั้น สิ่งที่ต้องการคือ “คุณอำนวย” ที่จะทำหน้าที่จัดเวที   เสาะหา “คุณกิจ” ที่มีเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ (ย้ำว่าในเบื้องต้นให้เน้นความสำเร็จเล็กๆ อย่ามัวหลงไปหาความสำเร็จใหญ่ๆ) ตามวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กร จำนวนมาก เอามา ลปรร. กัน   โดยจัดเวทีเล่าเรื่อง (storytelling) ภายใต้บรรยากาศเชิงบวก เชิงชื่นชม    หรือ Appreciative Inquiry   แล้วหาทางเดินเรื่องหรือขยายการ ลปรร. ต่อไปเรื่อยๆ อย่างเป็นพลวัต    ใช้แนวทางที่ไม่เป็นทางการเป็นตัวนำ    มีส่วนที่เป็นทางการหรือเป็นระบบเสริม    ส่วนนี้คือส่วนที่เป็นทักษะ ในการกระตุ้น และสร้างความคึกคัก
• ในขณะเดียวกัน ก็มีการฝึกทักษะสมาชิกขององค์กร ในการ เปิดปาก (เล่าเรื่อง  พูดแบบ dialogue ไม่ใช่ discussion  หรือพูดแบบ Appreciative Inquiry)  เปิดหู (ฟังอย่างลึก – deep listening)   เปิดตา มองให้เห็นภาพรวม ภาพใหญ่ มองด้วย ”ตานก”   เปิดใจ รับฟังความคิดที่อยู่ต่างทิฐิ (mindset) กับตนเอง  
• หาทางทำให้เรื่องราวของความสำเร็จน้อยใหญ่เป็นเรื่องที่อบอวล พูดถึงกันแล้วพูดถึงกันอีก ภายในองค์กร  พูดถึงด้วยถ้อยคำที่ต่างกัน ด้วยต่างมุมมอง   แต่เหมือนกันที่ความชื่นชม   นอกจากพูดก็มีการเขียนบรรยาย   ตีความ   ถอดความรู้   เอาออกมาเผยแพร่
• เมื่อไรก็ตามที่มีการ reuse ความรู้ที่ได้จากเรื่องราวของความสำเร็จนั้น   ก็ให้มีการบอกกล่าวเล่าเรื่องซ้ำ   ยิ่งเป็นการ reuse ด้วยวิธีการที่ต่าง (เพราะเป็นงานในต่างบริบท) และได้รับความสำเร็จ ยิ่งต้องสร้างโอกาสชื่นชมยกย่อง 
• อย่าลืมให้รางวัล   โดยเน้นที่คุณค่าทางใจ มากกว่ามูลค่าของสิ่งของ
• ผู้บริหารอย่าลืมเข้ามาแจม โดยเข้าไปชื่นชม ยกย่อง ให้รางวัลแก่คนหรือกลุ่มคนที่มีความสำเร็จน้อยใหญ่เหล่านั้น   และให้โอกาสขยายผล 

องค์กรภาครัฐ 14

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 35021เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

           ดิฉันนางเพ็ญศรี  สุภาวสิทธิ์ นิสิตปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน   เป็นครูสอนที่โรงเรียนอนุบาลเมืองเชียงราย  และเป็นลูกศิษย์ของ  รศ.เทียมจันทร์  พานิชย์ผลินไชย

          ในขณะที่กำลังศึกษา   ท่านอาจารย์ให้โอกาสดิฉันและเพื่อนอีก 6 คน เข้ารับฟังคำบรรยายเรื่องการจัดการความรุ้  ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดขึ้น      โดยมี ดร.วิบูลย์  วัฒนาธรเป็นผู้บรรยาย  ทำให้ดิฉันและเพื่อนมีความรู้เรื่องนี้มากขึ้นกว่าเดิม  จากนั้นท่านอาจารย์ให้พวกเรา สมัครเป็นสมาชิก     โดยการสร้าง blog ของตนเอง ซึ่งดิฉันใช้นามแฝงว่า ครูหนิง  blog  ของดิฉันจะพุดถึงแต่การเรียนการสอน คณิตศาสตร์ เท่านั้น

        สิ่งที่ดิฉันกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการนำการจัดการความรุ้ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ แต่เนื่องจากประสบการณ์ยังน้อย ยังไม่แตกฉานในเรื่องนี้  ทำให้การนำไปใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

        แต่เนื่องจากดิฉันมีความสนใจในเรื่องนี้มาก ดิฉันจึงพยายามหาเวลาเข้ามาอ่านความรู้ที่ท่านได้เขียนลงใน blogนี้  ดิฉันสนใจที่ท่านได้เขียนเล่าเรื่อง การจัดมหกรรม KM ที่ สคส.จัดขึ้น   ที่ไบเทคบางนา ดิฉันได้เรียนถาม ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร  ท่านได้แนะนำให้ดิฉันสม้ครเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ( ในโปรโมชั่น 2,500 บาท ถ้าสมัครไม่เกินวันที่ 30 กันยายน )

       วันนี้ดิฉันได้อ่านที่ท่านอาจารย์ได้เขียนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการทำ workshop แล้วทำให้ดิฉันอยากมีโอกาสเข้ารับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ในวันที่ 15 กันยายน 49 นี้เป็นอย่างมาก

         จึงเรียนมาขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์เกี่ยวกับการอบรมดังกล่าวข้างต้น  ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

                                    ครูหนิง

                        

ต้องถามไปที่ คณะศึกษาศาสตร์ มมส. ครับ     ทาง สคส. ไม่ได้เป็นผู้จัดครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท