เรื่องเล่าจากเวที “ครูวิทย์ในดวงใจ” กลุ่มที่ 1


               ดังได้บันทึกไว้เมื่อวานนี้     ว่า บวท. ได้จัดเวทีครูวิทย์ในดวงใจ เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2550    ใช้เทคนิค SST – Success Story Technique    และ บวท. ได้ส่งเอกสารบันทึกเรื่องเล่า     ที่ “คุณลิขิต” บันทึกไว้     ผมจึงนำมาเผยแพร่ต่อ

ประสบการณ์ที่ดีและความภาคภูมิใจในการเป็นครูวิทยาศาสตร์   กลุ่ม 1
คุณลิขิต (อารัมภ์)
คุณอำนวย (อ.อุดมศิลป์)

อาจารย์นิทัศน์  ฝักเจริญผล
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม จ.นครปฐม

         ความสำเร็จที่อาจารย์ภาคภูมิใจ คือ สามารถทำให้นักเรียนมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยดูได้จากมีเด็กมาเรียนวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น และมีการหาปัญหาใหม่ๆ เพื่อมาทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อาจารย์ได้ใช้วิธีการตั้งคำถาม หรือสถานการณ์ที่ต่อเนื่องจากบทเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดเพิ่มเติมจากความรู้เดิมที่มีอยู่ ซึ่งนักเรียนจะรู้สึกประสบความสำเร็จที่สามารถนำความรู้ทีมีไปแก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้สนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะอาจารย์คิดว่าคนเราถ้าประสบความสำเร็จในเรื่องใด ก็อยากจะทำเรื่องนั้นต่อไป นอกจากนี้สิ่งที่อาจารย์จะใช้เสมอในการสอน คือ คำชมเพื่อให้กำลังใจแก่นักเรียนอีกด้วย

อาจารย์เพ็ชรรัตน์  ศรีวิลัย
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จ.กรุงเทพมหานคร

         อาจารย์สอนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมปลาย โดยในชั่วโมงของอาจารย์ นักเรียนจะตั้งใจเรียน และเข้าเรียนตรงเวลา นั่นทำให้อาจารย์มีความภูมิใจเป็นอย่างมาก เมื่อถามว่าอาจารย์ใช้เทคนิคอะไรที่ทำให้นักเรียนอยากมาเรียน อาจารย์ก็บอกว่าไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจารย์จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็น ไม่ดุเมื่อนักเรียนทำผิด แต่จะถามเหตุผล และมีข้อตกลงที่ชัดเจน เวลาตอบคำถามในห้องเรียนจะไม่มีบอกว่าผิดหรือถูก แต่จะคอยแก้ไข เพิ่มเติม และมีคำชม สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน และจากข้อมูลที่นักเรียนเขียนเกี่ยวกับตัวอาจารย์ตอนปลายปี ทำให้เชื่อได้ว่าแนวทางการสอนของอาจารย์ทำให้เด็กอยากจะเข้ามาเรียน

อาจารย์อรทัย  เฉลิมสินสุวรรณ
โรงเรียนเพลินพัฒนา  จ.กรุงเทพมหานคร

          อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่ามีนักเรียนคนหนึ่งชื่อ “เจนวิทย์” ขณะนี้ศึกษาระดับชั้น ม.5 ซึ่งได้รับทุนจาก สวทช. ภายใต้โครงการอัจฉริยภาพฯ เพื่อศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอก ความภาคภูมิใจของอาจารย์ ก็คือ “เจนวิทย์” ได้บอกกับอาจารย์ว่า อาจารย์เป็นผู้จุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้รักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงเด็กเกือบทุกคนในห้อง จากการที่อาจารย์ไปสอน LAB ให้ตั้งแต่ตอนเรียนชั้น ป.1 โดยเป็นการทดลองเล็กๆ ง่ายๆ และการทดลองนั้นจะเป็นประเด็นในการพูดคุยกันทั้งสัปดาห์ สำหรับเทคนิคในการสอนของอาจารย์ ก็คือ จะไม่ให้คำตอบในทันที แต่จะให้นักเรียนออกแบบการทดลองเพื่อหาคำตอบ เพราะอาจารย์เชื่อว่าการหาคำตอบด้วยตัวเอง จะทำให้ความรู้นั้นอยู่กับตัวได้นานกว่า และยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองด้วย

อาจารย์ประยงค์  อยู่ใจเย็น
โรงเรียนเทศบาลศรีบุณยานุสรณ์  จ.สมุทรสาคร

         วิธีการสอนของอาจารย์ คือ ใช้การตั้งปัญหาจากชีวิตประจำวัน ให้นักเรียนช่วยกันหาคำตอบ แล้วจึงรวบรวมความคิดจากทุกคนเป็นข้อสรุป โดยจะสอดแทรกเรื่องสนุกๆ เข้าไปด้วย   ทำให้เด็กอยากมาเรียนกับอาจารย์ แต่ก่อนเวลาสอนอาจารย์จะเป็นคนดุ แต่การดุไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนลักษณะของตนเองใหม่ ซึ่งก็สามารถจูงใจเด็กได้
มีนักเรียนอยู่คนหนึ่งมีบุคลิกที่เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ แต่อาจารย์เห็นแววว่าเป็นเด็กขยันและเรียนดี อาจารย์อยากจะสนับสนุนจึงเรียกให้มาเรียนเพิ่มเติม แต่เด็กคนนี้ไม่ค่อยมีเวลาเนื่องจากต้องทำงานไปด้วย จึงเลือกที่จะขอหนังสือไปอ่าน และเมื่อมีข้อสงสัยจะมาซักถาม ซึ่งอาจารย์จะแนะแนวทางหาคำตอบ แล้วจึงอธิบายให้ความรู้เพิ่มเติม และเด็กคนนี้สามารถไปแข่งขันได้รับรางวัลของกรมส่งเสริมฯ และขณะนี้ก็ได้รับทุนของ พสวท. ศึกษาจนถึงปริญญาตรี

อาจารย์นันท์ทิรา  โพธิ์เทียนทอง
โรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ  จ.กรุงเทพมหานคร

         เนื่องจากนักเรียนของอาจารย์ไม่ได้เป็นเด็กที่เก่งมาก ดังนั้น ความสำเร็จของนักเรียนทุกคน จึงเป็นความภูมิใจของอาจารย์นันท์ทิรา ความสำเร็จเหล่านั้นเกิดมาจากการวางแผนจัดกระบวนการการเรียนการสอน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สำรวจตั้งแต่ตัวนักเรียน เนื้อหา กระบวนการ พฤติกรรม การวัดผลและประเมินผล เพื่อสร้างกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการอ่าน การเขียน การคิด การสรุป การนำเสนอ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะการสร้างกิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้จะทำให้เด็กที่มีความแตกต่างกัน สามารถประสบความสำเร็จได้

อาจารย์พัฒนา  น้อยประดิษฐ์
โรงเรียนศรัทธาสมุทร  จ.สมุทรสงคราม

          สิ่งที่ภูมิใจ คือ เป็นแรงบันดาลใจ จุดประกายให้เด็กอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ “เดชา” คือนักเรียนคนนั้น เมื่อตอนจบ ม.6 “เดชา” ได้โควต้าเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ แต่ก็สละสิทธิ์ เนื่องจากอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้ไปสอบโครงการ พสวท. ตามคำแนะนำของอาจารย์ ซึ่ง “เดชา” บอกว่าอาจารย์ คือ แรงบันดาลใจของตน  อาจารย์เคยสอน “เดชา” เพื่อเข้าแข่งขันทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตอน ม.ต้น และได้รับรางวัลที่ 1 ในระดับประเทศ โดยในการสอนจะใช้คำถาม เพื่อให้ค้นคว้า และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ จุดประกายให้อยากจะศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป

อาจารย์น้ำผึ้ง  ศุภอุทุมพร
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จ.กรุงเทพมหานคร

         อาจารย์ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้นักเรียนมีจิตวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง มากกว่าการที่จะมุ่งหวังรางวัลจากการแข่งขันหรือว่าคะแนนจากการสอบ โดยตลอดในทุกๆ เรื่องที่สอน อาจารย์จะพยายามปลูกฝังเรื่องความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน จะใช้หลักจิตวิทยาในการไม่มุ่งเน้นรางวัลเป็นรายบุคคล แต่จะให้รางวัลเมื่อมีผลสัมฤทธิ์เป็นทีม เหตุที่อาจารย์ใช้หลักนี้ในการสอนเนื่องจากประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนในโครงการครีม ซึ่งจะคัดนักเรียนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมโครงการ เด็กกลุ่มนี้จะมีการแข่งขันสูง และยึดค่านิยมทางสังคมเป็นหลัก และบางคนก็มีปัญหาเมื่อเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์พยายามให้นักเรียนเปิดใจเพื่อให้ค้นพบตัวเอง ซึ่งการเปิดใจกว้างขึ้นทำให้สามารถค้นพบตัวเอง และหลายคนก็มองอนาคตของตัวเองได้กว้างขึ้น

อาจารย์กัญญา  ภิญญกิจ
โรงเรียนเสนา "เสนาประสิทธิ์" จ.พระนครศรีอยุธยา

         ความสามารถของนักเรียนที่จะนำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงออกมาในรูปของโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นความภาคภูมิใจของอาจารย์กัญญา อาจารย์เล่าว่าในการสอนจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดสถานการณ์จากสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ให้นักเรียนคิดวิธีการทดลองด้วยตัวเอง แต่ก็จะสามารถสรุปความได้ว่าความรู้ที่ได้คืออะไร และสุดท้ายจะให้นักเรียนเสนอโครงงานฯ ว่าสามารถคิดค้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อะไรที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตน ซึ่งเด็กก็จะเห็นว่าสิ่งที่ทำขึ้นมา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ อาจารย์จะใช้กระบวนการเช่นนี้ในทุกๆ กิจกรรม โดยมีความคิดว่า การทำซ้ำบ่อยๆ จะติดตัวไปได้นาน เป็นความเคยชิน และเมื่อนักเรียนไปเจอกับปัญหา ก็จะสามารถวิเคราะห์หาวิธีในการแก้ปัญหาได้

อาจารย์เนาวรัตน์  ธรรมนิตยกุล
โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี  จ.ลพบุรี

         ในการเรียนการสอน อาจารย์มีเกณฑ์ว่า ก่อนที่นักเรียนจะเรียนจบ จะต้องทำโครงงานอย่างน้อยคนละ 1 โครงงาน โดยเริ่มจากที่เห็นว่าเด็กชอบทำการทดลอง การทดลองทุกอย่างจะสามารถกำหนดเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุมได้ ให้เด็กเรียนรู้จากบทเรียนแล้วนำมาคิดโครงงานง่ายๆ โดยเริ่มตั้งแต่การหัดเขียนเค้าโครง ตั้งแต่ชื่อโครงงาน ผู้จัดทำ ไปจนถึงแผนปฏิบัติงาน ซึ่งกระบวนการในการทำโครงงานฯ เหล่านี้จะสามารถนำมาบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ได้ และความภูมิใจของอาจารย์ก็คือมีนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งได้รับทุนเด็กอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และอยากจะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งอาจารย์ก็ได้ดูแล ช่วยเหลือจนขณะนี้กำลังเรียนอยู่เตรียมทหารชั้นปีที่ 1 แล้ว ซึ่งนอกจากเด็กคนนี้ก็ยังมีอีกหลายๆ คนที่สามารถนำความรู้จากโครงงานวิทยาศาสตร์ไปสอบตามที่ต่างๆ ได้อีกด้วย

วิจารณ์ พานิช
4 ก.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 125136เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท