ฝันสลายของ กศน. กับการศึกษาตลอดชีวิต


ผมคิดว่าการศึกษานอกโรงเรียนน่าจะทำงานด้านการศึกษาตลอดชีวิตที่เป็นส่วนที่อยู่นอกโรงเรียนจริงๆ

ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยได้ยินคำว่า กศน. มานานเท่าไหร่แล้ว เพราะไม่ได้ใส่ใจมากนัก และส่วนใหญ่ก็ได้ยินว่า ถ้าใครอยากจะเรียนลัด ให้ไปเข้า กศนฺ. ผมก็เลยประมาณเอาว่า กศน. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษาของคนที่พลาดโอกาสปกติ จะได้มีทางเรียนตามคนอื่นได้ทัน

แต่ทำไมเรียกว่า กศน. ล่ะ ทำไมไม่เรียกว่า โรงเรียนทางเลือก หรือ โรงเรียนลัด หรือ โรงเรียนด่วน ที่คล้ายกับทางลัด หรือทางด่วน หรือทางเลือกในการเดินทาง ผมว่าสื่อความหมายมากกว่า 

แต่เมื่อใช้คำว่า การศึกษานอกโรงเรียน แล้วทำไมยังมีโรงเรียนอีกละครับ ผมก็เลยแซวเล่นๆว่า เป็นการศึกษานอกโรงเรียนหนึ่ง แต่ไปอยู่ในอีกโรงเรียนหนึ่งละมั้ง

 

ผมคิดว่าการศึกษานอกโรงเรียนน่าจะทำงานด้านการศึกษาตลอดชีวิตที่เป็นส่วนที่อยู่นอกโรงเรียนจริงๆ 

 

คำว่าการศึกษาตลอดชีวิตนี้ เป็นคำที่พูดกันอย่างทั่วไปและพบบ่อยมาก แต่มีสักกี่คนที่จะลึกซึ้งในเนื้อหาว่าการศึกษาตลอดชีวิตคืออะไร ทำอย่างไร เพื่อใคร ใครเป็นคนทำ และมีตัวอย่างดีๆ ที่ไหนบ้าง 

 

จริงๆ แล้ว คำนี้เป็นคำที่ใช้กันมานาน (ในทางปฏิบัตินะครับ) แต่พึ่งมาใช้ในเชิงแนวคิดและหลักการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้เอง อันเนื่องมาจากความหลงผิดว่าการศึกษามีอยู่เฉพาะในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่กลับกันเลยครับ เพราะชีวิตของคนทุกคนมีการเรียนรู้และมีการศึกษาอยู่ตลอดเวลาทุกนาทีที่สามารถเปิดช่องให้ความรู้ สอดแทรกเข้าไปในระบบความคิด ความจำ ความเข้าใจ ความรู้ และภูมิปัญญาได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ดังนั้น ระบบการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นระบบที่มีประโยชน์ต่อทุกๆ คน ไม่จำกัดวัย เพศ หรือสถานะทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น ใครก็ตามที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็สามารถมีการศึกษาได้ 

 

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดระบบการศึกษาตลอดชีวิตได้ เมื่อมองย้อนกลับไปมาแล้วก็คือหลักการของการจัดการความรู้นี่เอง 

 

การจัดการความรู้ ทำให้เราตื่นตัว รับความรู้ต่างๆ เข้ามาผสมผสานกลมกลืนในระบบการพัฒนาชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในคน ระบบอินเตอร์เน็ต และระบบสิ่งแวดล้อม แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเป็นความรู้เพื่อการใช้งานด้านต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างชาญฉลาด ภายใต้ระบบทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางสังคมและทางธรรมชาติ 

 

ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ไม่เห็นจำเป็นจะต้องมีอะไรแปลกประหลาด ตื่นเต้น

 

แต่ในทางหลักการแล้ว ทางระบบราชการ หรือ กศน. อาจจะสนับสนุนให้คนมีกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ 2 เรื่องใหญ่ๆด้วยกันคือ

 
  1. ระบบการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้
  2. ระบบการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้
 

ทั้ง 2 ระบบนี้ สามารถหนุนช่วยกันเองที่จะทำให้มีการเปลี่ยนข้อมูลและความรู้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ และทำให้เกิดปัญญาที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพ สามารถเปลี่ยนความรู้เป็นวิชาชีพ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตทั้งของตนเอง ครอบครัว และสังคมดีขึ้นกว่าเดิม 

 

ผมว่าถ้า กศน. ทำตรงนี้สำเร็จ ไม่น่าจะมีใครกล้ามายุบ หรือมาวุ่นวาย เพราะตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และชีวิตคนส่วนใหญ่ก็อยู่นอกโรงเรียน ดังนั้น กศน. จึงน่าจะใหญ่ที่สุดนะครับ

 แต่ทำไม กศน. จึงจะถูกยุบ หรือ จะปรับเป็นอย่างอื่นไปซะละครับ 

คน กศน. ลองวิเคราะห์ตัวเองแล้วอธิบายให้สังคมฟังได้ไหมครับ ว่าท่านทำถูกหรือดีแล้วในเรื่องอะไร และอะไรที่กำลังทำอยู่อย่างจริงจัง แต่ยังไม่สำเร็จ หรืออะไรที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็จะทำให้ท่านมีเพื่อนมากขึ้น แล้วใครจะทำอะไรให้ท่านลำบากใจก็ยากหน่อยล่ะครับ

 

แต่ถ้าท่านเพียงแต่เขียนว่าไม่เห็นด้วยเฉยๆ โดยไม่อธิบายในงานที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ผมว่าคงไม่มีใครเข้าใจท่านอย่างแท้จริง

 อย่างมากก็แค่เห็นใจแบบตื้นๆ ที่ไม่มีทางเป็นแนวร่วมของท่านได้เลยครับ จึงเรียนมาด้วยความเคารพครับ
หมายเลขบันทึก: 68871เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 04:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
ยังดีที่เคยมีความฝัน และมีโอกาสได้ฝัน แม้ฝันนั้นจะเป็น ฝันค้าง ก็ตาม ถามว่า..ต่อไปจะฝันเป็นสี หรือฝันเป็นขาวดำ ประวัติอันยาวนานไม่ได้ช่วยอะไรกับสถานภาพของ กศน. เลยเชียวหรือ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ ดร.แสวง รวยสูงเนิน ครับ ที่ให้ทัศนะมุมมองของผู้ที่มีความเข้าใจการศึกษาตลอดชีวิต และให้ข้อเสนอแนะต่อกศน.ที่มีคุณค่า   กศน.นั้นไม่เพียงทำงานด้านจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนที่โรงเรียนไม่สามารถจัดได้ตั้งแต่ผู้ไม่รู้หนังสือไปถึง ม.ปลาย และ ปวช. การศึกษาอื่น ๆ ก็จัด อาทิ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน บนความหลากหลายของกิจกรรม จนรัฐมนตรีบางท่าน ถามว่า แล้ว Core Business ของคุณคืออะไร ก็มี แต่ดูอีกทีก็เหมือนจั๊บฉ่าย ดูแล้วไม่น่ากิน แต่ก็อร่อยดีมีประโยชน์ต่อผู้คน
  • การจัดองค์กรกศน.ที่คั่งค้างอยู่นี้เพราะความเป็นเด็กดีในอดีตตอนที่ผู้มีอำนาจร่างกฏหมายแล้วกศน.ว่านอนสอนง่ายไม่เคลื่อนไหวใดๆ (ต่างกับอาชีวะต่อสู้อย่างเป็นระบบเคลื่อนไหวจนได้ชัยชนะเป็นแท่งอิสระเติบโต ทั้งๆ ที่สภาพก็เหมือนกับกศน.ขณะนั้น) จนกฏหมายออกมาแล้วแก้ยากเพราะเขียนปมมัดไว้หมดแล้ว รัฐบาลที่แล้ว กศน.ได้พาผู้เกี่ยวข้องไปสัมผัสงานในพื้นที่จริงคนเหล่านั้นจึงเข้าใจ แต่แก้ไม่ได้ต้องแก้กฏหมายใช้เวลา จึงตกลงให้กศน.อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปก่อน ไม่ต้องไปอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่รัฐบาลนี้เข้ามาทีมที่ปรึกษากฏหมายของรมต.ศธ มาคิดกลับไปเหมือนเดิมจะยัดเยียดไปใส่ในเขตพื้นที่อีก ที่จริงงานคิดในเชิงก้าวหน้าต่อยอดที่กระทรวงยังมีต้องทำอีกเยอะ รื้อกันไปรื้อกันมาก็คงหาความก้าวหน้าไม่ได้ ผมจึงสงสัยว่าความเป็นนิติรัฐที่           กำหนดกฏหมายมานั้นถ้าไม่สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริง จะค้นหาความจริง ความดี ความงาม ได้ไหมหนอ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ ดร.แสวง ด้วยความเคารพครับ

ขอบคุณท่าน ผอ ดิศกุล ที่ให้ความกระจ่างครับ

แต่ผมว่า กศน น่าจะมีบ้านสวยกว่านี้นะครับ ประเทศชาติยังคงต้องรอต่อไปนะครับ

โถ..... ประเทศไทย

  • เห็นด้วยกับ ดร.แสวงครับ โดยเฉพาะที่ว่า "การศึกษานอกโรงเรียนน่าจะทำงานด้านการศึกษาตลอดชีวิตที่เป็นส่วนที่อยู่นอกโรงเรียนจริงๆ" 
  • งานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการศึกษานอกโรงเรียนนั่นเอง
  • หากเปลี่ยนวิธีคิด และเป้าหมายของการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจริงๆ ได้เมื่อไร (ไม่ใช่เพื่อให้ได้ใบอะไรซักอย่าง) เมื่อนั้นจะเห็นว่า กศน.ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

สวัสดีครับ อ.ดร.แสวง

            วันนี้มาดึกหน่อยครับ เพราะมีหลายเรื่องต้องจัดการ เรื่องหลังสุดคือถอดเทปคำสัมภาษณ์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อส่งไปให้เบื้องบนประกอบการตัดสินใจเรื่อง กศน.นี่แหละครับ ว่าจะให้อยู่บ้านสวยอย่างที่อาจารย์วาดฝันหรือบ้านที่เสาโอนเอนจวนเจียนจะอยู่จะไปเมื่อต้องพายุ

             อาจารย์ให้คน กศน. ลองวิเคราะห์ตัวเองแล้วอธิบายให้สังคมฟังว่าท่านทำถูกหรือดีแล้วในเรื่องอะไร และอะไรที่กำลังทำอยู่อย่างจริงจัง แต่ยังไม่สำเร็จ หรืออะไรที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ผมครูนอกโรงเรียนตัวเล็กตัวน้อย ผมว่า กศน.เป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้กับประเทศมานานพอสมควร ผ่านยุคต่างๆมา ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ที่ยำแย่ที่สุดก็เห็นจะเป็นยุคปฏิรูปการศึกษานี่แหละครับ ถูกล้อมกรอบเสียจนแทบจะเรียกว่าหาการศึกษานอกโรงเรียนที่แท้ได้ยากมาก ปี 2546 กศน.คิดการใหญ่จะทำ 4 ภาระกิจ เรียกว่าฝันก็ได้ คือจะทำทั้งการศึกษาเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาสายสามัญที่ในระบบเขาจัดไม่ได้แล้ว หรือเขาไม่ถนัดจัด) การพัฒนาทักษะชีวิตผู้คน การพัฒนาอาชีพ และการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ฝันหรือหัวปลาตั้งไว้ดีมากครับ แต่พอดูเงินงบประมาณที่ใส่ให้ก็มีแต่การศึกษาเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้นแหละครับที่พอจะมีเงินทำอะไรได้บ้าง ได้บ้างนะครับ ไม่ใช่จะเอามาทำคุณภาพ อื่นๆก็ตามยถากรรมแหละครับ ที่งานการศึกษาเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐานได้บ้างเพราะพออาศัยกับงบอุดหนุนที่กระทรวงศึกษาธิการเขาอุดหนุนนักเรียนนักศึกษา เข้ากรอบตรงนั้น ซึ่งก็เป็นเงินอุดหนุนรายหัวที่ถูกๆ ครับ ส่วนกิจกรรมอื่นที่อยู่นอกกรอบนี้ก็ได้เล็กได้น้อย ทำอะไรไม่ค่อยได้ครับ ไม่ทราบว่าทำไม เป็นเพราะอะไร หรือว่าถ้าไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรืออุดมศึกษาแล้วละก็ตั้งเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ การศึกษานอกโรงเรียนเมื่อถูกแวดล้อมด้วยอิทธิพลของโรงเรียน อิทธิพลของการศึกษาในระบบ ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

           ในส่วนของเนื้องานที่เป็น กศน.แท้ๆที่สังคมคาดหวังจึงดูแผ่วไป(หรือเปล่า) คนใน กศน.ก็ปรับตัวซิครับ รู้ว่าทำตรงไหนทำแล้วเข้าทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็วางน้ำหนักไปทำตรงนั้น จึงดูว่าใกล้เคียงการศึกษาในระบบเข้าไปทุกวัน งานอื่นๆที่เป็นงาน กศน.แท้ๆ กลับมีน้อย เพราะไม่มีงบสนับสนุน เพราะไม่เข้าทางกระทรวงฯ ซึ่งหากศึกษาประวัติศาสตร์ของ กศน.ก็จะพบนะครับว่างาน กศน.แท้ๆในอดีตนั้นมีเยอะมากนะครับ เรียกว่าเป็นจอมยุทธ์ก็ได้ ปรัชญาคิดเป็นที่ใช้กันไปทั่วก็อดีตอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน ดร.โกวิท วรพิพัฒ์ รูปแบบกิจกรรมต่างๆมากมายที่เป็นโครงการทดลองนำร่อง เกิดที่ กศน.ครับ แต่ในยุคอดีตเขาจัดวางน้ำหนักดีครับ ดูแล้วกลมกลืน เดินไปสู่เส้นทาง กศน.แท้ๆ เดินไปสู่เส้นทางการศึกษาตลอดชีวิต  สวนทางกับเดี๋ยวนี้มากครับ

            ผมจึงคิดว่าการที่ กศน.จัดกิจกรรมเองแต่น้อย ส่งเสริมให้เพื่อนจัดเยอะๆ ซึ่งวางน้ำหนักการจัดกิจกรรมไว้ที่จัดเองร้อย 20 ส่งเสริมให้เพื่อนจัดร้อยละ 80 ก็ดี การทำโครงการยกระดับปีการศึกษาเฉลี่ยประชาการวัยแรงงาน 15-59 ปี ให้ได้ที่ 9.5 ปี (มัธยมศึกษาปีที่ 2 ครึ่ง)ในปี 2551 ก็ดี เป็นเรื่องที่ดี สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนนโยบายเขาคิดถูกแล้วครับ แต่จะยกระดับปีการศึกษาเฉลี่ยได้อย่างไรครับถ้าไม่ใส่งบประมาณไปให้ ให้ กศน.แต่ละแห่งรับนักศึกษาเพิ่มได้ 1 คน ต่อเมื่อมีนักศึกษาจบ 1 คน อย่างนี้แล้วจะต้องใช้เวลากันกี่ปีครับถึงผู้คนในประเทศจะมีศักยถาพแข่งขันกับต่างประเทศได้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นคุณเอื้อที่ไม่ดีในการหนุนเสริมเรื่องนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผมเป็นครูนอกโรงเรียนตัวเล็กตัวน้อยคนหนึ่งที่คิดว่าสังคมสามารถทำหน้าที่นี้ได้คือสามารถร่วมจัด กศน.ได้ หรือร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นได้ ไม่ว่าจะแบบเพื่อนเรียนรู้หรือเพื่อนช่วยเพื่อนหรือรูปแบบใดก็แล้วแต่ จึงเริ่มชักชวนพรรคพวกคนคอเดียวกันมาร่วมทำในจุดเล็กๆพื้นที่เล็กๆ ผมเห็นแล้วว่าการจัดการความรู้นี้มีพลานุภาพมากจึงบอกต่อไปยังจุดเล็กๆอื่นๆมาร่วมกัน ร่วมกันค้นหาพื้นที่ศักยภาพ อย่างที่อาจารย์ก็ได้เห็นบ้างแล้วที่มหกรรม KM 3 จริงๆแล้วมีเยอะแยะมากมายครับ

       บ้านหลังใหม่จะสวยหรือไม่ จะเล็กจะใหญ่ ไม่สำคัญสำหรับผมเท่าไหร่ครับอาจารย์ สำคัญว่าให้หน่วยงานใหม่นี้ได้เป็นกลไกของประเทศในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ออกแบบโครงสร้างอย่างไรก็ได้ ให้คนทำงานได้ทำงานไปโลด ทำให้คนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ก็แล้วกัน

       พรุ่งนี้มาวิเคราะห์ต่อครับอาจารย์

  ช่วงที่อลวนว่า  จะเอา กศน.ไปวางไว้ที่ตรงไหน

ในขณะเดียวกันรัฐฯก็ผุดสถานศึกษาหน้าตาแปลกๆ

เช่น วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยการอาชีพ

ถ้าเอาการศึกษาใหม่ๆเหล่านั้นมารวมไว้ที่ กศน.

หรือเอางบประมาณนั้นมาพัฒนา กศน. ให้กศน.

เติบโตตามเส้นทางการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการ

ศึกษาตลอดชีวิต  ทิศทางการศึกษานอกระบบก็จะ

ช่วยให้สังคมนี้เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ขาดโอกาสทาง

การศึกษา

..ขณะนี้มีการเปิดสอนระดับปริญญาตรีมากมาย

เช่นการจัดการศึกษาของม.รามคำแหง ม.ราชภัฏ ต่างๆ

จะเห็นว่า..ส่วนอื่นๆคิอทำอะไรได้หมด

แต่ กศน.ติดกั๊ก!!  เพราะอะไร ทำอะไร มีร่องรอยอะไร

ความเข้มแข็งอยู่ในระดับไหน  พอจะยืนหยัดขึ้นมา

ใหม่ได้ไหม ถามใจตนเอง!

สวัสดีครับ ดร.แสดง

  • เช้าแล้วครับ ว่ากันต่อนะครับอาจารย์ เมื่อคืนดึกไปหน่อยกว่าจะได้เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์
  • ผมอยากได้ความเห็นอาจารย์ต่อเรื่องนี้ครับ อาจารย์จะกรุณาสักอีกหนึ่งบทความ หรืออีกหนึ่งสักความเห็นยาวๆก็ได้ครับ จะได้หูต่าสว่างกันทั้งสังคม ว่าบ้านหลังใหม่ใหม่ กศน.ควรจะเป็นบ้านแบบไหน บ้านเช่าเขาอยู่ชั่วคราวหรือบ้านมั่นคง จะได้เห็นแล้วว่านี่แหละใช่เลยเหมาะสมสอดคล้องกับงานการศึกษาตลอดชีวิต เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย รวมทั้งท่านอื่นๆด้วยจะได้ช่วยกันต่อความเห็น ให้คนที่มีอำนาจในเรื่องนี้ที่กำลังออกแรงสู้กันฝุ่นตลบ จะได้รู้ว่ารอบรั้วเมืองไทยเขาคิดเรื่องนี้อย่างไร
  • ผมว่าคนส่วนใหญ่ใน กศน. ก็ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ชุมชน องค์กรต่างๆจัดครับไม่ว่าจะโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตร น้องสิงห์ป่าสักทำอยู่แนวคิดของครูบา สุทธินันท์ ที่ทำอยู่ และอีกทุกหน่วยงานที่ทำอยู่ เพื่อการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมนี้นับไม่ถ้วน แต่มันเชื่อมต่อไม่ได้ ตรงนี้อ่อนแอเหลือเกิน คงจะเนื่องจากกึ๋นของคน กศน. นโยบายของ กศน. เครื่องมือของ กศน.นโยบายและความจริงจังของ ศธ.ก็ได้นะครับที่ประกอบกันเข้า  ทั้งๆที่น่าจะมีพลัง สร้างความเด่นชัดให้กับ กศน.ได้
  • รบกวนอาจารย์แต่เช้าแค่นี้ก่อนครับ ขอบคุณครับ

          

โอ้โห.........ครูนงครับ

คิดว่าผมจะไปสร้างกระแสคลื่นได้เลยหรือครับ

ผมจะลองเก็บเป็นการบ้านนะครับ

ขอเวลานิดหนึ่งนะครับ

ผมต้องย่อยความคิด และย่อยข้อมูลต่างๆ แล้วเอามาปรุงใส่กัน ถ้ารีบมันก็จะสุกๆดิบๆ หรือเร่งไฟก็อาจจะไหม้ หรือสุกเฉพาะข้างนอก คนอย่างครูนงคงไม่ชอบอาหารแบบนั้นหรอกนะครับ

รักแล้วรอหน่อยนะครับ

ครูบาครับ

ผมเชื่อว่า ไม่เฉพาะ กศน. หรอกครับ

การศึกษาทั้งระบบต้องมานั่งดูกันใหม่

  • ล้างพิษที่คาอยู่
  • ตัดแต่ง
  • จัดระบบ และ
  • ต่อเติม ให้ครบส่วน

แต่ใครจะเอากระพรวนไปแขวนคอแมวครับ

สวัสดีอีกครั้งครับ ดร.แสวง

          ผมสมควรตายครับ พิมพ์ชื่ออาจารย์ผิดข้างบนนั่นครับ ผิดอย่างแรงเลย ขออภัยด้วยครับ เพิ่งเห็นเมื่อกี้นี้ครับ

          ดีใจที่อาจารย์เก็บข้อมูลไปทำการบ้าน ปรุงให้สุก แล้วนำมาจ่ายแจกแลกเปลี่ยนรอบใหม่ ดีใจครับอาจารย์ ขอบคุณหลาย....ยยยยยย ๆ เด้อครับ

         ช่วยกันทำกระพรวนให้เสร็จก่อนดีไหมครับอาจารย์.....แล้วค่อยไปผูกด้วยกัน

ครับ ครูนง

แล้วจะจัดการให้ครับ

ขอบคุณครับ

  คำเตือน
      ตอนถือเดินย่องเข้าจะไปผูก ระวังให้ดีครับ อย่าให้กระพรวนขยับจนมีเสียงออกไปแม้แต่น้อย  แมวส่วนใหญ่ ขี้ขลาด และ กลัวการเปลี่ยนแปลง ครับผม

สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

 

   เอายานอนหลับคลุกข้าวให้แมวกิน แล้วค่อยผูก

   กระพรวน ดีไหมครับ!

ใช้ลูกดอกอาบยาสลบ ยิงให้สลบแล้วผูกปลอดภัยกว่านะครับ ครูบาถนัดอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยวัวพลาสติก ไม่ใช่หรือครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท