Storytelling หรือจะสู้เล่านิทาน


สิ่งที่ผมประทับใจในกระบวนการเรียนรู้ของผมเองก็คือการเล่านิทาน ที่ใช้กันมากในระบบการสอนแทบทุกระบบ ยิ่งวงการศาสนานั้นผมพบว่าการเล่านิทานแทบจะเป็นแก่นของระบบการสอน เช่น นิทานชาดก เป็นต้น

 ตามที่ผมนั่งดูการเล่าเรื่องใน blog นั้น มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เล่าว่า

  • เล่าการทำกิจกรรมประจำวัน
  • เล่าเชิงเป็นอุทาหรณ์
  • เล่าเพื่อสะท้อนความคิด
  • เล่าเชิงสรุปประเด็นเข้าหาสาระ
  • เล่าเป็นพื้นฐานของหลักการและทฤษฎี
  • เล่าเป็นเรื่องๆ แบบนิยาย
  • เล่าแบบหามุขขำขัน
  • ฯลฯ

 ในบางครั้งผมพยายามหาประเด็นว่าแต่ละเรื่องที่เล่านั้นมีเนื้อหาใดที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านรับทราบ หรือเป็นเพียงบันทึกประจำวันส่วนตัวเท่านั้น

หรืออาจเป็นเรื่องที่คนอื่นเขาสื่อกันรู้เรื่องอยู่แล้ว มีแต่ผม คนนอกวงที่บังเอิญผ่ากลางวงเข้ามาแบบไม่รู้ อิโหน่อิเหน่ ว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ก็เลยงงอยู่คนเดียว เท่านั้นเอง 

ในกรณีนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน สิ่งที่ผมประทับใจในกระบวนการเรียนรู้ของผมเองก็คือการเล่านิทาน ที่ใช้กันมากในระบบการสอนแทบทุกระบบ ยิ่งวงการศาสนานั้นผมพบว่าการเล่านิทานแทบจะเป็นแก่นของระบบการสอน เช่น นิทานชาดก เป็นต้น 

ในสมัยเด็กๆ ก่อนที่ผมจะอ่านหนังสือออก แม่ผมจะเล่านิทานให้ฟังทุกเย็นก่อนนอน จนกว่าลูกขี้อ้อนจะหลับกันหมดทุกคน แม่ผมนั้นท่านอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่กลับเล่านิทานได้ละเอียดจับใจ ถึงบทขำขัน พวกเราหัวเราะกันท้องแข็งไปเลย แต่พอบทโศกก็ไม่มีใครกลั้นน้ำตาไว้ได้ เรียกว่า Tacit knowledge ของแม่ผมเรื่องการเล่านิทานนี่ใช้ได้ทีเดียว ส่วนพ่อผมนั้นไม่มี Tacit knowledge เรื่องนี้เลย (แต่มีเรื่องการทำมาหากินมากกว่า)

ผมได้เรียนรู้มากมายจากการเล่านิทานของแม่ แม่มีนิทานไว้เล่าเป็นสิบๆเรื่อง เล่าซ้ำไปซ้ำมาจนเราจำได้เกือบทั้งหมด เราก็ไม่เบื่อกัน หรือถ้าใครคิดว่าเบื่อก็ไม่ต้องฟัง ประมาณนั้นมั้งครับ 

ในระหว่างที่แม่เล่าเราก็จะสร้างจินตนาการในใจตามไปเรื่อย ทั้งในเชิงหน้าตาตัวละครและสถานที่ ในจินตนาการที่พอผมถามพี่ๆ พบว่าไม่มีใครคิดจินตนาการตรงกันเลย แม้จะเป็นนิทานเรื่องเดียวกัน 

ณ วันนี้ผมมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผมเชื่อว่าผมและพี่ๆ ได้สร้างและพัฒนาจินตนาการผ่านการเล่านิทานของแม่มามากทีเดียว  และอาจเป็นทุนที่สำคัญที่สุดที่ผมมีในชีวิตผมก็ว่าได้ แต่ เมื่อผมมองย้อยกลับมาใน blog ที่เราเขียนกันแบบ storytelling ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าเหมือนกับการเล่านิทาน

  • หรือว่าเป็นเทคนิคเฉพาะบุคคล เลียนแบบกันไม่ได้
  • หรือว่ามีความแตกต่างจากการเล่านิทาน

 ข้อแรก ขอผ่าน เพราะถ้าเป็นเฉพาะบุคคลคงเป็น Tacit knowledge ที่นำมาอธิบายได้ยาก เหมือนกับเรื่องเดียวกัน แต่ละคนจะเล่าตลกได้ไม่เท่ากัน (ที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรกำลังหาทางพัฒนาให้เท่าเทียมกัน และผมกำลังตามดูอยู่ห่างๆ) 

ข้อสอง วิธีการเล่าที่เป็น Explicit knowledge นั้น น่าจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ง่ายหน่อย แต่ก็ไม่ง่ายทีเดียว เพราะเรื่องนี้มันอยู่แถวๆรอยต่อของ Tacit knowledge และ Explicit knowledge แต่ค่อนมาทาง Explicit knowledge เท่านั้น จึงทำให้บางเรื่องตามประเด็นได้ง่าย บางเรื่องไม่รู้ว่าผู้เล่าจะพาไปไหน 

ทีนี้ผมก็เลยมาพิจารณาดูว่าการเล่านิทานนั้น มีอะไรต่างจากที่เขียนมาใน blog ดังกล่าวข้างต้น ก็มีข้อสรุปมาแลกเปลี่ยน คือ

  • การเล่านิทานนั้นมักเป็นเรื่องที่กำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายสุดท้ายก่อนการเล่าเรื่อง
  • บางทีก็กล่าวนำถึงข้อสรุปคร่าวๆก่อนการเล่า
  • ใครนึกตามไม่ทัน ให้ลองไปฟังเพลงแหล่ ดาวลูกไก่ของ พร ภิรมย์  

จะมีการสรุปถึงชีวิตคนโดยรวม ว่า มีสุข โศก ปนเศร้าก่อนการขึ้นต้นจึงตั้งสัจจาสาธก ถึงยาจก ยากจน มีตากับยายสองคน......แล้วก็ดำเนินเรื่องไปจนจะจบ

ก็สรุปว่า “…ด้วยอานิสงค์ใจประเสริฐ ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว..... 

เห็นไหมครับ นี่คือการเล่านิทาน มีการนำทาง มีความชัดเจนของเป้าประสงค์ มีการดำเนินเรื่องให้เห็นประเด็นสำคัญ จนจบก็มีสรุป 

ทีนี้ Storytelling นี่ ผมไม่แน่ใจว่ามีเป้าหมายเดียวกันหรือเปล่า

(ใครรู้ช่วยขยายความหน่อยนะครับ)

  • ว่าต้องการให้ผู้อ่านเรียนรู้แบบเดียวกัน หรือคล้ายกับการเล่านิทานหรือไม่
  • หรือจะเปิดประเด็นไว้ให้คนอ่านหาที่ขึ้นที่ลงเอาเอง 

ถ้าเป็นเช่นกรณีหลัง จะมาเล่าให้คนอื่นฟังทำไมครับ เก็บไว้อ่านเองไม่ดีหรือครับ 

ที่ผมว่า ไม่น่าจะใช่นะครับ 

ดังนั้น จากรายการที่ผมพยายามเขียนแจงไว้ข้างต้นนั้น น่าจะพยายามปรับมาหารูปแบบการเล่านิทานจะได้ประโยชน์มากกว่าไหมครับ โดยมี

  • การกำหนดเป้าหมาย และวัตถุประสงค์
  • การเกริ่นนำ
  • การสรุปนำ สร้างความสนใจ (แบบคำสำคัญ สาระสำคัญ ประมาณนั้น)
  • การดำเนินเรื่อง
  • การขมวดปมเรื่อง
  • การสรุปเรื่องและบทเรียน

 แต่ลูกเล่นนั้นขอให้เป็น Tacit knowledge ของใครของมัน บอกกันไม่ได้อยู่แล้วครับ 

หรือว่าจะทำให้ง่ายเกินไป โจ่งแจ้ง จนไม่มีประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ไม่ทราบนะครับ 

คนเล่าคงรู้ดีอยู่แล้ว

บางทีก็มีคนบอกว่าวับๆแวมๆ จะกระตุ้นการอยากรู้ได้มากกว่าเปิดเผยทั้งหมด

ก็มีส่วนจริงอยู่ครับ 

ผิดถูกอย่างไรก็ช่วยชี้แนะให้มือใหม่หัดขับด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 68457เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • ขอบคุณค่ะผ่านมาอ่านด้วยความสนใจ
  • และก็ได้แนวคิด การเล่าเรื่องไปเต็มๆ
  • เล่าอย่างไรให้เร้าใจ เหมือนเล่านิทาน
  • อาจารย์ยกตัวอย่าง เพลงดาวลูกไก่ ใช่เลยค่ะ
  • ขอบคุณอีกครั้ง

ตอนเป็นเด็ก จำได้ว่า พ่อชอบปิดเพลงดาวลูกไก่

และก็จำได้ว่า เพลงชุดนี้ จะเป็นเรื่องราว ถ่ายทอดมาเป็นเพลงค่ะ

แต่บางที่ การเปิดประเด็นไว้ให้คนอ่านหาที่ขึ้นที่ลงเอาเอง ก็น่าสนใจเหมือนกันนะคะ เอาไว้แลกเปลี่ยนมุมมอง หรือบางที มันอาจจะมงไปถึง จินตนาการ ของแต่ละบุคคลที่มีได้เหมือนกัน

ขึ้นอยู่กับเทคนิค และความชอบของแต่ละบุคคล

     ผมคิดว่าทั้งหมดคืออุบายที่เกิดจากการมีใจอยากจะแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น  ตามจริตหรือความถนัดของแต่ละคน  บางคนพูดไม่เก่งเล่าไม่เก่ง เขาอาจจะสาธิตหรือแสดงให้ดู  ถ้าเล่าเก่งก็อาจใช้ Storrytelling หรือเล่านิทาน ฯลฯ แต่ถ้าเล่าจากสิ่งที่ตนทำแล้วสำเร็จมันก็มีพลังในตนเองทั้งคนเล่าและคนฟัง 
    ถ้าจะถามว่าอะไรดีกว่าอะไรคงพูดยาก  ต้องดูที่บริบท  ถ้าเล่าเอาแต่เรื่องสนุกที่ขาดสาระอันเป็น best practices ก็คงเสียเวลา เราคงต้องดูที่เป้าหมาย แล้วหาเทคนิคให้บรรลุเป้าหมาย ตามบริบทที่เป็นอยู่ อย่างเป็นธรรมชาติ และสื่อใจสู่ใจ น่าจะเป็นหลักสำคัญนะ 

  ขอบคุณค่ะ สำหรับความรู้ที่ได้รับการแบ่งปันในวันนี้  ถ้าเป็นตัวดิฉันเอง  ซึ่งเป็นมือใหม่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีความรู้อะไรมาแบ่งปันคนอื่น  ก็คงจะต้องเล่าเรื่องของตนเองไปก่อนค่ะ พร้อมกับศึกษางานของท่านอื่นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้ดียิ่งๆ ขึ้นค่ะ

 

  ที่ต้องเล่าเรื่องของตัวเองเพราะรู้ดีที่สุด และอาจมีบางจุดที่ทำให้บางคนได้สะกิดใจ เหมือนกับการดูละครที่หลายคนบอกว่าน้ำเน่า  แต่ในน้ำเน่าก็อาจจะมีน้ำดีผสมอยู่บ้าง

  • เวลาจะอ่านเรื่องหรือcomment ฉันมักดู consept.ของblogก่อนวิจารณ์..ไม่เอาตัวเองเป็นเกณฑ์มากนัก..เพราะบางblogก็ชัดเจนในงานเขียนของเขาค่ะ..
  • ขอบคุณที่ให้มุมมองค่ะ

ขอบคุณครับชมรมคนนอนดึกและตื่นเช้า

ที่ผมเขียนมา เป็นการโยนก้อนหินถามทางนะครับ ผมไม่แน่ใจว่า storytelling มันคืออะไรกันแน่

แต่ก่อนผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับเล่านืทาน

แต่พออ่านๆไป ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องนะครับ

อยากฟังจริงๆ ว่าผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

ทาง สคส เจ้าภาพใหญ่ก็กบดานเงียบกริบ เหมือนเกรงว่าเหยื่อจะตื่น ประมาณนั้น

ผมถามอะไรไม่เคยได้คำตอบ

หรือ ให้เราหากันเอง

หรือ ยังไม่มีคำตอบเหมือนกัน????

อาจารย์ครับ

  ขอลปรร. ตามความเข้าใจของผมที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมฝึกงานกับสคส. 3 เดือนนะครับ

  Storytelling ของสคส. คือเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการที่จะทำให้คนถ่ายทอดประสบการณ์ หรือความรู้ หรือกลเม็ด ที่ใช้ในปฏิบัติจริงออกมา โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศในวงสนทนาให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์และความคิดเชิงบวก ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและเคารพในตนเอง และความเชื่อมั่นและเคารพซึ่งกันและกัน โดยนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้รับจากวงสนทนาไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติต่อไป

  สำหรับ blog นั้น เป็นเสมือนการบันทึกประจำวันส่วนตัว (diary) ซึ่งก็มีหลายเว็บไซต์เปิดให้บริการ ส่วน gotoknow เป็นเว็บไซด์ของ สคส. ที่ต้องการเปิดให้เป็นพื้นที่หรือเวทีสำหรับการลปรร. โดยมุ่งเน้นความรู้ที่ได้ใช้หรือได้รับจากการปฏิบัติงาน เรื่องเล่าในนี้บางทีจึงอาจจะแข็งๆ มีกลิ่นอายของวิชาการอยู่บ้าง หรือบางทีก็เป็นการสะท้อนความคิดจากสิ่งที่ได้ประสบในแต่ละวัน และบางทีก็เป็นเรื่องเฉพาะที่แต่ละกลุ่ม ก้วน หรือแก๊งค์ สนใจร่วมกัน ซึ่งคนภายนอกหากเผลอไผลเข้ามาก็ต้องงงเป็นธรรมดา ไม่ใช่งงเพียงคนเดียวเฉพาะอาจารย์หรอกครับ

  และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับข้อจำกัดหรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น (อ.นันทวรรณ กับ อ.ธวัช ก็พยายามปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาให้ใช้งานง่ายขึ้น) ข้อดีข้อเสียเมื่อเทียบกับกระดานสนทนา(web board) ก็มีหลากหลาย แต่ส่วนที่ผมชอบใน blog ก็คือมันเสมือนสมุดบันทึกของเราเวลาจะกลับมาหามันง่าย บางครั้งจะได้กลับมาทบทวนมันดีสำหรับคนความจำสั้นอย่างผม

  สำหรับรูปแบบที่อาจารย์เสนอมาผมเห็นด้วยครับ ขอรบกวนอาจารย์เป็นผู้นำในการเปิด blog ขึ้นมาใหม่ อาจจะใช้ชื่อว่า "นิทานความรู้" หรืออะไรประมาณนี้ เอาชื่อที่มันโดนใจ แล้วมาร่วมกันแลกเปลี่ยเรียนรู้เทคนิค วิธีการ กลเม็ดเด็ดพราย ในการสร้างนิทานที่แฝงไว้ด้วยความรู้ฝังลึก ผมว่ามันท้าทายดี (นี่กระมังที่ทำให้ได้สิ่งใหม่ที่เกิดจากการลปรร.กันใน blog)

  และสุดท้ายที่ผมจะลปรร. ก็คือ ผมเคยอ่านหนังสือชื่อ "Tales for Change" ของ Margaret Parkin ซึ่งได้เธอกล่าว่า "เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือที่มีพลังสำหรับการเปลี่ยแปลง ไม่ว่าจะเล่าโดยชาวเผ่าเร่ร่อน หรือนักปราชญ์" และผมก็ได้ใช้เรื่องเล่าลักษณะนี้ในการทำ OD ให้กับหลายหน่วยงาน ซึ่งก็มีลักษณะที่แตกต่างจาก Storytelling ในบริบทของสคส. อาจารย์ลองหาอ่านดูนะครับ และ Margaret Parkin ยังมีผลงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องเล่าอีกมาก

อาจารย์ครับขออนุญาต ลปรร.อีกครั้ง

   บันทึกแรกของผมเริ่มสร้างบันทึกก่อนที่อาจารย์จะส่งบันทึกเข้ามาเมื่อเวลา07.30น. แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการจิ้มดีด และความช้าของกระบวนการของสมองในการคิดและถ่ายทอด ก็อยากเก็บก้อนหินและบอกทางตามความรู้ของผมดังนี้ครับ

  Storytelling จะว่าเหมือนกับนิทานก็ใช่ จะว่าไม่เหมือนก็ใช่ ที่เหมือนก็คือเป็นการเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนก็คือวิธีการและเนื้อหา นิทานอาจเล่าจากจินตนาการ อาจเป็นสิ่งสมมุติ และ Storytelling ก็อาจะเป็นเช่นนั้น

  แต่Storytelling ของสคส. เขานำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการสกัด Tacit ออกจากตัวบุคคล หากเป็นเวทีสนทนาจริงก็จะมีการตั้งโจทย์หรือหัวปลาในการเล่า แล้วก็ให้เล่าความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ฟังนำไปประยุกต์ใช้ ส่วนรูปแบบของการเล่าก็ขึ้นอยู่กับทักษะในการเล่าหรือการถ่ายทอดของแต่ละคน บางคนเหมือนสารคดี บางคนเหมือนนิทาน บางคนเหมือนขำขัน และที่สคส. เน้นก็คล้ายกับเรื่องจริงผ่านจอ คือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ของผู้เล่า

  Margaret Parkin เห็นว่าStorytelling เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถพัฒนาองค์กรได้ โดยการใช้ นิทาน นิยาย พุทธประวัติ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ในองค์การมาใช้เป็นStorytelling เพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง

   ไม่ทราบว่าพอจะทำให้อาจาร์ยพอจะมองเห็นทางลางๆ ไหมครับ

   นี่แหละเป็นจุดด้อยของ blog อีกอย่างหนึ่งก็คือ โอกาสที่คนจะเข้ามาอ่าน blog ของเรามีน้อย ยกเว้นชนเผ่าเดียวกันหรือแฟนพันธ์แท้ ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้คำตอบในสิ่งที่เราต้องการเนื่องจากเขาไม่เห็นว่าเราถาม ของผมบันทึกเรื่องเกียวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่เดือนกันยายน เพิ่งจะมีคนเข้ามา ลปรร. เมื่อวานนี้เองครับ มันไม่เหมือน web board พอเราตั้งกระทู้ทุกคนที่เข้ามาก็จะเห็น มองในแง่ดีก็คงจะเป็นกุศโลบายสคส. ที่จะทำให้เราต้อง ลปรร. กันเอง เหมือนกับนักตระกร้อที่ชงเองกินเอง หากอาจารย์ต้องการพื้นที่มันๆ ในการ ลปรร. ลองเข้าไปที่ www.managerroom.com มีหลากหลายห้องสนทนาที่อาจจะบอกทางที่ชัดเจนให้กับอาจารย์ได้

ขอบคุณครับคุณพันธ์บุณย์

ผมยังแยกไม่ค่อยออกระหว่างเล่านิทาน กับ storytelling

และผมก็ไม่เคยเชื่อว่า storytelling จะเอา Tacit knowledge ออกมาได้ครับ

ถ้าได้ ป่านนี้ผมคงเล่านิทานเก่งแล้วครับ เพราะแม่ผมมี Tacit knowledge เรื่องนี้สูงมาก

และพ่อผมก็เล่าเรื่องการทำมาหากินให้ผมฟัง ผมก็ไม่เคยหาปลาเก่งเท่าพ่อผมครับ

ผมได้จากพ่อและแม่มาเฉพาะ Explicit knowledge ครับ

ผมเลยยังไม่เชื่อวิธีการนี้ครับ

ไม่เท่าไหร่อะครับ อิอิ ล้อเล่ง

เออ Storytelling กับ เล่านิทาน คืออย่างเดียวกันนะคะ แค่อันนึงภาษาอังกฤษ อันนึงภาษาไทย

ผมได้ตั้งข้อสัเกตว่าควรจะเหมือนกันครับ

แต่ที่ผมตามอ่านกลับไม่เหมือนนะซิครับ

นี่คือคำถามครับ

ผมคิดว่าเราเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

ผมเขียนไว้ก็หลายปีแล้ว ยังไม่มีใครมาอรรถาธิบายเลยครับว่าจริงๆแล้วที่เขียนๆกันนั้น เป็นการเล่านิทานไหม ถ้าใช่ทำไมไม่ค่อยมีประเด็นสาระอะไร แบบที่เขากำหนดไว้ในนิทานทุกเรื่อง

ผมเคยคุยเรื่องนี้กับ ดร. อาจอง ชุมสาย ที่โรงเรียนสัตยาไสย ท่านบอกว่าท่านใช้วิธิการเล่านิทานทุกเช้าหน้าเสาธง แต่งเองบ้าง ปรับมาบ้าง จำมาบ้าง

ที่มีวิธีการและข้อสรุปชัดเจน แบบไม่ต้องให้ผู้ฟังเดาเอาเอง

หรือท่านมองต่างมุมอย่างไรครับ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์
  • สำหรับผมทุกบันทึกมีคุณค่าหมดครับ เพราะมาจากความตั้งใจของผู้ที่เขียนบันทึก ทุกเรื่องมีวัตถุประสงค์ในการเล่า แต่อาจไม่ใช่เป็นความรู้ใหม่ อาจเป็นเพียงการเล่าเรื่องสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองส่วนตัว ประสบการณ์ส่วนตัว ที่นำมาแลกเปลี่ยน หรืออยากเล่าให้ฟัง บางบันทึกเนื้อหาทางวิชาการอาจไม่มากนัก แต่ก็ได้แง่คิด ได้ประสบการณ์ในการนำไปใช้ในการทำงาน เพราะคนเราเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประสบการตรงไปทุกเรื่องและก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีความชำนาญไปทุกเรื่อง เมื่อผมเข้ามาเห็นมีผู้เขียนหลายอาชีพ ได้เห็นมุมมองต่างๆ ซึ่งก็เป็นการเล่าเรื่องที่ตนเองได้ไปพบประสบมา ส่วนนิทานมีคุณค่าก็ตรงที่สุดท้ายได้คติสอนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เขาผูกมาเป็นเรื่องราวโดยมีตัวละคนสมมุติขึ้นมา โดยนิทานจะสนุกก็ตรงที่วิธีการเล่า และคนฟังก็จินตนาการตามเรื่องที่เล่าแต่ก็ได้ประเด็นสอนใจในบางเรื่อง ส่วนการเล่าเรื่องใน gotoknow นั้นเรื่องที่เขียนบางทีเป็นการเปิดมุมมองให้คนอ่านได้คิดตาม ซึ่งก็อาจมีความเห็นหรือมุมมองที่ต่างไปจากคนเขียนก็ได้ครับ ตรงนี้คือประโยชน์ของการเขียนบันทึก เพราะคนหนึ่งคนอาจมีเพียงบางมุมมอง แต่ถ้าหลายคนมีหลายมุมมอง อาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ครับว่าในเรื่องนั้นอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเรียกว่า เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนั่นเองครับ
  • Storytelling กับ นิทาน จึงต่างเป็นการเล่าเรื่องที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกันครับ แต่Storytelling อาจไม่ใช่การเล่านิทาน แต่เป็นการเล่าเรื่องประสบการณ์ของตนแล้วซึ่งก็แล้วแต่ว่าคนอ่านจะสนใจหรือไม่ ว่าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือการทำงาน หรือเพียงแค่ต้องการความรู้ใหม่ เรียนรู้ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรืออาจเป็นแค่เพียงบันเทิงเริงใจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งนั้นครับ
  • ขอบคุณครับ

ผมขอมองต่างมุมนิดๆครับ

การเล่าเรื่องของตนเองนั้น

  • จะเล่าไปเฉยๆ เรื่อยๆ ก็ได้
  • จะเล่าแบบเล่านิทานก็ได้ โดยการเลียนแบบการเล่านิทาน (telling tales)
  • หรือแบบเล่าเรื่อง (story telling) แบบไม่มีข้อสรุป ไม่มีกล่าวนำเข้าสู่เรื่องก็ได้

แต่ผมคิดว่า

การเล่านิทานจะเป็นการให้ข้อมูลและบริบทที่ครบถ้วนมากกว่ากัน

และช่วยให้คนอ่านเข้าใจประเด็นได้อย่างถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้เล่ามากกว่า

ผมเพียงเสียดายในมุมที่ขาดความครบก้วนตามเจตนาของผู้เล่าเท่านั้นแหละครับ

เพราะเรื่องเดียวกัน ปล่อยให้คนตีความหมายไปเอง ก็ไม่ผิดหรอก แต่บางทีก็ผิดเจตนาของผู้เล่า

เช่น นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า

ที่คนที่ฟังนิทานจบแล้วจะเข้าใจประเด็นว่า

แม้จะด้อยกว่าแต่ตั้งใจและขยันก็อาจชนะคนที่เก่งกว่าได้

แต่อีกมุมหนึ่ง มีคนมองว่า

ทำไมเต่าจึงคิดจะเอาชนะกระต่าย เห็นกระต่ายหลับก็น่าจะปลุกและวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมๆกัน จะได้เป็นเพื่อนกัน

เพราะการแพ้ชนะทำให้กินใจกันมากกว่า (จากเพลงของคาราบาว)

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ผมจึงอยากเห็น การเล่านิทาน (telling tales) มากกว่า การเล่าเรื่อง (story telling) ครับ

นี่คือที่มาของการเขียนเรื่องนี้ครับ

ขอเพิ่มเติมที่มาของเรื่องนี้อีกนิดหนึ่งครับ

ผมคิดว่าน่าจะมีใครบางคน หรือแม้แต่ตำราบางเล่มที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเราสามารถจะดึง Tacit knowledge ออกมาได้ โดยการให้เขาเล่าเรื่อง

ผมไม่เคยทำได้เลย ผมเลยไม่เชื่อเรื่องนี้ครับ

เพื่อให้ชัด ขอยกกรณีต่างๆ ดังนี้

  1. ผมฟังนิทานตลกมามาก ฟังทีไรขำทุกที แต่ผมยังไม่เคยรู้วิธีเล่าให้ขำ เพราะผมนำมาเล่าเอง หาคนขำยากมาก
  2. ผมดูรายการ "สู้แล้วรวย" ทีไร ผมไม่เคยเข้าใจเลย เพราะคนสู้แล้วจนมีมากกว่า และฟังๆไปคนที่สู้แล้วรวยไม่ใช่แค่มี tacit knowledge อย่างเดียว ยังมีโชค จังหวะ และ โอกาสมากกว่า คนที่สู้แล้วจน
  3. ผมดูรายการสัมภาษณ์คนดัง แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจจริงอย่างที่เขาเล่า
  4. ผมฟังคนเล่าวิธีการขับรถ (ว่ายน้ำ ฯลฯ) ที่ดีมามาก แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจวิธีการขับรถ (และอื่นๆ) (จนกว่าผมจะหัดขับเอง-สร้าง tacit knowledge เอง)
  5. ผมฟังวิธีการร้องเพลงให้เพราะมามาก แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะร้องเพลงให้เพราะน่าฟังได้อย่างไร
  6. ฯลฯ

อย่างมากผมก็พอรู้สิ่งที่เขาเล่ามา ที่เป็นส่วนของ explicit knowledge หรืออย่างมากที่สุดก็แค่รอยต่อของ tacit และ explicit แต่ tacit จริงๆ นั้น อย่างมากได้ยินแค่หัวเรื่อง ก็เริ่มไม่เข้าใจแล้ว

ผมจึงไม่เชื่อว่าการเล่าเรื่อง หรือ แม้แต่การเล่านิทานจะดึง tacit knowledge ออกมาได้

นี่ยังไม่พูดถึง ทักษะ (skill) ที่ต้องไต่ไปอีกไกลหลายระดับครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท