เมื่อชีวิตไม่น่าอภิรมย์อีกต่อไป


การุณฆาต (Euthanasia)

วันนี้จะขอชวนคุยเรื่องน่าสนใจ (ในความคิดของผม) สักเรื่องนึง คือ การุณฆาต หรือ euthanasia ครับ

 Online Etymology Dictionary - Cite This Source
euthanasia 
1606, from Gk. euthanasia "an easy or happy death," from eu- "good" + thanatos "death." Sense of "legally sanctioned mercy killing" is first recorded in Eng. 1869.


Online Etymology Dictionary, © 2001 Douglas Harper

ฟังๆอาจจะแปลได้หลายนัย เช่น แปลดื้อๆก็คือ "ตายดี" แต่อีกความหมายนึง ถ้าเป็น การกระทำให้เกิด ก็จะกลายเป็น การทำให้ตายดี หรือตายอย่างสบายๆ ไม่ทรมาน

นัยแรกนั้นอภิปรายไปแล้วในบทความนี้ และบทความนี้ แต่นัยที่สองที่อยากจะนำมาขยายสักนิดนึง และอยากจะได้ความเห็นในเรื่องนี้จาก bloggers ที่นี่หน่อยนะครับ

ศาสนาส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญของ "ชีวิต" มาก เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ที่เราได้คิด ได้สร้างอะไรต่อมิอะไรมามากมายนั้น เพราะสองเหตุผลคือ 1. เรามีชีวิต และ 2. เราอยู่กันในสังคม ดังนั้นชีวิตจึงมีศักดิ์ฐานะในการรับรู้ทั้งด้านความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา กระบวนทัศน์ของคนมานานนมตั้งแต่มีอารยธรรมก็ว่าได้

เช่นนั้น วาระเช่นไรที่ทำให้ชีวิตนี้ไม่น่าอยู่อีกต่อไป ไม่น่า "มี" อีกต่อไป? ผมคิดว่าถ้าจะอภิปรายเรื่องการุณฆาต เราน่าจะค้นไปที่ "ต้นตอ" พร้อมๆกับการศึกษาความหมายที่เกิดตามมาทีหลังการกระทำ ทั้งสองประการ คือ ต้นตอ และ ผลตาม มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยง เลื่อนไหล เป็น interconnectedness อย่างไม่อาจจะแยกวิเคราะห์ได้

และถ้าหากคนเราถึง "วาระที่ว่า" นี้ euthanasia จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดจริงหรือไม่?

ถ้าจริง อะไรจะเป็นผลตามมา จากการที่สังคมมีการนำเอา euthanasia มาใช้จริง? ต่อสังคม ต่อจิตใจ ต่อคุณค่าของชีวิต?

ถ้าไม่จริง คือ euthanasia ไม่ใช่ทางออกของวาระที่ชีวิตไม่น่าอภิรมย์อีกต่อไปแล้ว อะไรคือทางออก?

อะไรเป็นผลตามของทางออกที่ว่านี้ ต่อสังคม ต่อจิตใจ?

หมายเลขบันทึก: 88944เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2007 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ อ.สกล

เบิร์ดสนใจเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ..เคยสมมติ( ในใจ )ว่าถ้าญาติสนิทที่รักของเบิร์ดกำลังอยู่ในช่วง terminal phase ที่เรารู้อยู่ว่าไม่สามารถกลับคืนมาได้ และเค้าดูทรมานเบิร์ดจะทำมั้ย ?...คำตอบ ( ในใจ ) คือไม่กล้าเพราะกลัวบาป ! !...

แต่ในทางกลับกันถ้าเบิร์ดเป็นคนป่วยและเบิร์ดรู้ตัวเองว่ายังไงก็ไม่รอดและเบิร์ดไม่อยากทรมาน..เบิร์ดจะอนุญาตให้ทำมั้ย ?...คำตอบคือ..เอาเลยเร็วๆได้ยิ่งดี ! !

ความแตกต่างระหว่างสองเหตุการณ์นี้อยู่ที่บาป ( ในฐานะผู้กระทำ ) และความทรมาน ( ในฐานะผู้ถูกกระทำ )...

เบิร์ดเคยลองคิดถึงขนาดว่าถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่รักของเราล่ะ ถ้ามันกำลังทรมานใกล้ตาย..เราจะทำมั้ย ? ...พบว่าคำตอบคือ ทำ ( แปลกนะคะเบิร์ดไม่ยักกะคิดถึงคำว่าบาป ! ! )...คนกับสัตว์ ค่าชีวิตแตกต่างกัน ( สำหรับตัวเบิร์ดเอง ) ..แต่ความมีชีวิตของทั้งสองแบบนี้ไม่แตกต่างกัน...

และเคยสมมุติว่าตัวเองเป็นหมาที่บ้านแล้วก็กำลังทรมานจะตาย..ก็ได้คำตอบเดิมว่า ทำเล้ยนาย ผมไม่ไหวแล้ว..

บางทีการเป็นผู้กระทำที่ต้องทำกับสิ่งที่มี " ค่าชีวิต " แตกต่างกัน..การตัดสินใจก็ต่างกัน  แต่ในฐานะผู้ถูกกระทำที่กำลังทรมาน.." ค่าชีวิต " ก็ไม่สำคัญเท่าความเจ็บปวดที่ได้รับ...

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ที่ทำให้วันนี้เบิร์ดได้ทบทวนสิ่งที่เคยอยู่ในใจตนเองอีกครั้ง..

ได้อ่านเรื่องราวใน Reader Digest ฉบับนึง เป็นเรื่องของคนที่มีแรงบันดาลใจ อยากเป็นแพทย์ แม่เธอก็ได้ให้ concept แก่เธอไว้สั้นๆว่า "เป็นหมอ หน้าที่ก็คือรักษาชีวิตคนไว้ก่อน"

Concept นี้ก็ยังใช้กันอยู่กว้างขวางทั่วไป "ชีวิต" เป็นอะไรที่มีค่า ไม่มีชีวิตเราก็จะไม่ "รับรู้" อะไรได้เลย (จริงหรือ?)

ตอนเราเรียนแพทย์ เราเรียนทุกอย่างที่จะเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ เรายอมแม้กระทั่งเจ็บตัว หรือทุกข์กว่าปกติ ชั่วขณะ เพื่อตรวจวินิจฉัย หลายๆอย่างเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าภิรมย์เลยก็ยอม เพื่อหาย เพื่อไม่ตาย การมีชีวิตหมายถึงมี "โอกาส" ที่จะทำโน่น ทำนี่ และมีคุณค่า มีความสุข ดังนั้นตอนเป็นนักเรียนแพทย์ เราจะแทบไม่ได้เห็นมุมที่ว่า ชีวิตไม่มีค่าควรอยู่ต่อ เลย แม้แต่มดปลวกก็ยังรักชีวิต หนีภัยเมื่อคุกคาม เป็นพลังดึกดำบรรพ์ที่คงไว้ซึ่งการสืบเนื่องต่อไปของ species นั้นๆ

เมื่อไหร่การตายจะดีกว่าการอยู่?

เมื่อครั้งแรกที่มีการพิจารณาว่า "ตายดีกว่าอยู่" นั้น น่าจะมีภาวะวิกฤติบางอย่างที่ ไม่ธรรมดา เกิดขึ้น การเท่าทันประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราใช้ framework ธรรมดาๆมาจับ จะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจในสภาวะนี้ ถ้าเราพยายามจะ apply ใช้กฏสากลในกรณีพิเศษนั่นเท่ากับเราจะมี compromize ไม่สามารถเข้าใจหรือ empathy คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ได้

ปกติเมื่อคนเราทุกข์ สิ่งแรกที่ต้องการคือการพ้นทุกข์ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ดังนั้นนั่นคือ กฏธรรมดาสากล เมื่อป่วยก็มาหาหมอสิ ไปรักษาให้หาย ทำไมต้องไปฆ่าตัวตาย หรือขอให้หมอทำให้ตายด้วย

แล้วป่วยแบบไหน คนไข้จึงขอให้หมอทำให้พ้นทุกข์โดยการทำให้ตายล่ะ?

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

ถ้าตามหลักจิตวิทยาแล้วล่ะก็ เราก็ต้อง explore ต่อใช่ไหมครับว่า ที่ว่า "บาป" หมายความว่าอย่างไร ที่ว่า "กลัว" หมายความว่าอย่างไร

ตอนเด็กๆผมชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ (ตอนนี้ก็ยังชอบอยู่ แต่คนแต่งที่ชอบเก่าๆ ตายไปหมดแล้ว คือ Isaac Asimov และ Arthur C Clarke) ถ้าพูดถึง Isaac Asimov ก็ต้องพูดถึง Robot series และ กฏสามข้อของหุ่นยนต์ อันโด่งดัง

  1. หุ่นยนต์ไม่สามารถกระทำ หรือไม่กระทำ แล้วมีผลทำให้ทนุษย์ได้รับอันตราย
  2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนษย์ ตราบใดที่ไม่ขัดกับกฏข้อที่หนึ่ง
  3. หุ่นยนต์จะต้องพยายามปกป้องตัวเอง ตราบใดที่ไม่ขัดกับกฏข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง

กฏทั้งสามข้อนำเอานิยายวิทยาศาสตร์ก้าวทะลุแฟรงเกนสไตน์ complex ที่คนกลัวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งที่วิทยาศาสตร์ ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป้น robot หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทำท่าจะ take over และทำใหมนุษย์หมดค่าลงไปทุกทีๆ

เรื่อง euthanasia ก็จะเป็น dilemma สำหรับหุ่นยนต์ และตามกฏข้อที่หนึ่ง หุ่นยนต์จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่ได้ (ห้ามทั้งการกระทำ หรือการนิ่งเฉย) เพราะมนุษย์กำลังได้รับอันตรายอยู่กับตา เป้น dilemma ระหว่างความทุกข์ทรมานทางกาย และความเป็น/ตาย ในสภาพเช่นนี้นักจิตวิทยาหุ่นยนต์ อย่าง Dr Susan Kelvin ก็คงจะสงสารหุ่นยนต์ที่มาเจอ paradox ที่ไม่สามารถแก้ได้ สมองโปสิตรอนก็จะไหม้และถูกทำลายถาวรไปในที่สุด

คำว่า บาป ของคุณเบิร์ดหมายถึงการทำลายล้างชีวิตใช่ไหมครับ แต่ผ่านการนิ่งเฉย (เพราะไม่ทราบว่าจะช่วยได้อย่างไร) มนุษย์คนนั้นก็จะได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส อย่างนี้ ไม่เป็นบาป?

อย่างที่พรานพบสัตว์เจ็บพิการ หรือที่ประเทศอังกฤษเจอสัตว์ในฟาร์มที่รับอุบัติเหตุ ก็ยัง put to sleep หรือฆ่าเพื่อระงับความทรมานเสียได้ เพราะเป็นการ "ดีกว่า" ที่จะปล่อยให้ทรมานกว่านี้

หรือว่า การทรมานอย่างที่สุด นั้น เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมา? และเมื่อแพทย์หมดปัญญาจะช่วย ก็จงรับความทรมานนั้นต่อไป?

ปัญหาอีกประการก็คือ การทำ euthanasia นั้น เป็นการตัดสินใจแบบ one-way ticket ผิดแล้วแก้ไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เราจะมี ความมั่นใจระดับนั้น?

ปัญหาที่ว่าเรา ตัดสินใจได้เพียงหนเดียว เป็นเรื่องใหญ่มากพอสมควร แต่นั่นต้องมาหลังจากที่เรา "ทำใจ ยอมรับได้ แม้แต่กับ 100% confidence แล้วหรือยัง?"

"ใครที่ qualified จะตัดสินเรื่องแบบนี้?" ในสังคมนี้ทั่วๆไป การฆ่าตัวตาย มักจะพ่วงมากับการวินิจฉัยว่า insane หรือวิกลจริต ถาวรหรือชั่วขณะก็ตาม แต่สังคมส่วนหนึ่งก็ยังเชื่อว่าการจะสิ้นสุดชีวิตของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปกติอยู่

ความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่เหนือจินตนาการ การที่มนุษย์สามารถ complete gene mapping สำเร็จก่อนเวลาที่ anticipate ไว้ก็เพราะความรุดหน้าของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผนวกกับจำนวน genes ที่น้อยกว่าที่คิดไว้เยอะมาก (แต่ก็เป็นฝันร้ายของนักวิทยาศาสตร์ เพราะนั่นแปลว่า gene ทำงานแบบ interconnectedness ที่ซับซ้อนมหาศาลกว่าที่คิดไว้ด้วย) เราจะบอกได้อย่างไรว่าโรค หรืออาการที่ยังไม่ cure ได้ ณ เวลานี้ จะเป็นหารหมดหวังในอนาคต (อันใกล้)

 กระนั้น ความทุกข์ทรมาน ในการมีชีวิตนั้นเป็นผสมผสานกันระหว่างปัจจัยหลายมิติ การแพทย์อาจจะช่วยทางด้าน bio-physiology ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเข้าใจมิติของจิตใจ มิติของสังคม และมิติจิตวิญญาณ นั้น ยังอยู่ในระยะไม่ถึงไหน

ณ ขณะนี้ เรามีความมั่นใจแค่ไหนที่จะช่วยคนๆหนึ่งเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมาน?

  • คุณหมอครับ ผมและครอบครัวกำลังก้าวเข้าสู่ critical ของประเด็นนี้ (อาจจะครับ) คือ คุณแม่อายุท่าน 97 นอนอยู่บนเตียงมา 8 ปีแล้ว เราต้องจ้างคนดูแล 2 คน กลางวันกับกลางคืน หน่วยความจำท่านดีมาก เพียงแต่ช่วยตัวเองไม่ได้ ขยับได้แต่แขน ยกขึ้นลงเท่านั้น ทุกอย่างต้องมีคนช่วย โชคดีที่ท่านพูดได้ สั่งได้
  • มาปีนี้ทรุดลงมาก อาหารทานน้อย ถึงไม่ได้ทาน จำเป็นต้องให้ทางสายยาง ผิวหนังมีน้ำมาคั่ง บวมเป่ง หากกดแรงๆก็อาจจะแตกโพละออกมาได้ คุณหมอต้องทำการลดน้ำออกจากร่างกาย  การพูดจาก็ไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว หลับมากขึ้น  ท่านเป็นเบาหวานจึงต้องรักษามาตลอด
  • เคยเข้า ICU มา 3 ครั้งแล้ว คุณหมอเก่งมากรักษาจนคืนสู่ปกติ  ผมเองคิดเสมอว่าในภาสะใดบ้างที่เราไม่ควรให้คุณแม่ต้องทรมานอีกต่อไป  โดยภาวะแวดล้อมแล้วญาติพี่น้องทุกคนโดยเฉพาะลูกสาวทุกคนก็อยากจะให้รักษาจนสุดท้ายจริงๆ มิใช่ทำ Euthanasia แต่ผมก็สองจิตสองใจเสมอมา เรื่องนี้ผมคิดมาในใจตลอดไม่ได้เปิดปากแลกเปลี่ยนกับพี่น้องคนใดนะครับ
  • ความคิดสองด้านที่เกิดขึ้นคือ ทำไมต้องให้ท่านทรมาน แต่อีกด้านคือ ชีวิตแม้จะอยู่ในสภาพเช่นไรก็ต้องรักษาไว้จนถึงที่สุด โดยเหตุผลเท่าที่ผมประเมินจากการพูดจากันก็คือ ลูกผู้ชายเกือบทั้งหมดยอมรับสภาพได้ว่า ทำไมต้องให้คุณแม่ทรมานต่อไป  แต่ลูกผู้หญิงส่วนใหญ่เช่นกันจะรู้สึกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องให้คุณแม่อยู่ให้นานที่สุด ไม่ว่าสภาพใดก็ตาม
  • แน่นอนที่สุดครับตลอดเวลาในช่วงที่ท่านพูดได้ ท่านจะบอกเสมอว่าท่านยังไม่อยากจากไป เป็นห่วงหลานๆ คอยสอบถามอยู่เสมอ
  • เป็นการยากครับที่จะตัดสินใจเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพราะชีวิตไม่ได้ขึ้นกับเจ้าของชีวิตเท่านั้น  แต่ขึ้นกับลูกหลาน ญาติพี่น้องด้วย สังคมเป็นอย่างนั้น
  • แต่ผมก็เชื่อว่าอาจจะมีบางครอบครัว คนไข้บางท่านที่ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว และอาจจะสั่งไว้ก่อนก็ได้ ว่าหากมีอาการเช่นนั้นก็ขอให้ปล่อยชีวิตไปเถอะโดยการทำ Euthanasia
  • หากถามตัวผมเอง  วันนี้อาจจะตัดสินใจว่าทำได้ แต่เมื่อถึงวิกฤตินั้นจริงๆจะคิดอย่างไรไม่ทราบได้ครับ
  • แต่ผมชอบศาสนาที่สอนให้คนเตรียมตัวตายก่อนตาย  สอนให้ยิ้มสู่ความตาย สอนให้มีสติก่อนตาย และสอนให้ทำความดีสะสมกรรมดีเพื่อชีวิตหลังความตายครับ

อาจารย์บางทรายครับ

เราเริ่มคุ้นเคยกันอย่างรวดเร็ว น่ามหัศจรรย์ของการสนทนาแลกเปลี่ยนนะครับ

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างย่งที่อาจารย์กรุณามา share  เรื่องนี้ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากก็ยาก ง่ายก็ง่าย ผมคิดว่าวิธีหนึ่งที่พอจะทำได้คือการมี สุนทรียสนทนา ระหว่างญาติพี่น้องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกันครับ

เปิดอกคุยกัน ใครคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร การสนทนานี้ไม่จำเป็นต้องได้ข้อสรุป หรือ vote อะไรเลยนะครับ แต่ผมคิดว่า น่าจะมีการสนทนานี้ ขึ้นมา จะช่วยคนที่เหลืออยู่ได้มากครับ และเราจะได้รับฟังความคิดความเห็นที่อาจจะเก็บไว้ในใจด้วย อาจารย์เชื่อใน voice dialogue ผมคิดว่าอาจารย์อาจจะเชื่อในการสื่อสารอย่างกรุณา ว่าในที่สุดแล้ว พุทธะปัญญา จะบังเกิดขึ้นเมื่อคนเราได้สื่อสารพูดคุยกันดดยมีความปราถนาดี ความรักเป็นที่ตั้ง ในที่นี้ก็คือเอาคุรภาพชีวิตของคุณแม่เป็นสรณะนั้นเอง

ในกรณีที่ไม่มีการทรมานอะไรเลย คงจะไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะทำ euthanasia การเสียตามธรรมชาติน่าจะดูดีที่สุดในความเห็นของผมเอง ธรรมชาติเหมือนกับ destiny ที่ได้กำหนดมานั่นเองว่าจะให้อยู่ถึงไหนแค่ไหน

จะมีก้กรณีที่จะต้องตัดสินใจเพิ่มเติม เช่น การต้องใช้ท่อช่วยหายใจ การนวดปั๊มหัวใจ หลายๆอย่าง ประสบการณ์ตรงตอนที่คุรแม่เคยเข้า ICU อาจจะเป็นประเด็น เป็นข้อมูลในการสนทนา และถ้ามีคุรหมอผู้ดูแลเป้นคนให้ข้อมูลทางการแพทย์ ก็จะยิ่งมองเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าความสวยงามที่เกิดขึ้นกับคนไข้ที่เคยดูแลมา ไม่ได้ขึ้นกับ รูปแบบ เท่านั้น แต่ขึ้นกับการที่มีการสื่อสาร พูดคุย และทุกคนได้แสดงออกซึ่งความรัก ความห่วงใย ความกตัญญู การได้สื่อสาร ได้พูดจาสิ่งที่อยากจะพูด อยากจะให้ทราบ การขจัดข้อเป้นห่วง หรือ unfinished business ต่างๆให้ทราบ บางคนก้ต้องการการให้กำลังใจว่าจะไม่อยู่โดดเดี่ยวจนวาระสุดท้ายก็ทำให้เกิดความสงบลง รวมทั้งการใช้เครื่องมือ หรือ สัญญลักษณ์อะไรก็ตามที่เป็น เครื่องยึดเหนี่ยว ของตัวคนไข้เองด้วยครับ

ถ้ามีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่จะรับใช้เท่าที่มีสติปัญญาและกำลัง ขอส่งจิตภาวนาเป็นกำลังใจให้อาจารย์บางทรายแลครอบครัวด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอครับ

แม้จะเป็นบทความเก่า แต่อ่านแล้วยังรู้สึกเข้าใจหลายเรื่อง แม้จะมีคำศัพท์ทางการแพทย์แต่ก็พอเดาได้บ้างว่ามันคืออะไร และผมว่าผมเข้าใจความรู้สึกของอาจารย์บางทราย เพราะเพื่อนที่เป็นทนายความมีเส้นโลหิตในสมองแตก เขาเป็นคนแปลกที่เส้นโลหิตในสมองมัดเส้นประสาทเป็นลำอยู่กลางกะโหลก ถึงท้ายทอย เคยมีอาการปวดหัวจนหมอที่รักษาบอกให้ญาติทำใจเขาจะไปภายใน ๖ ชั่วโมง ทุกคนร้องไห้อยู่ๆมันก็เหงื่อออกแล้วรู้สึกตัว มันบอกว่ามีพระมาชวนให้จุดกระดาษเล่น หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ ปี ไปเล่นกอล์ฟ ๓๖ หลุม แล้วหมดสติเส้นโลหิตในสมองแตก หมอผ่าตัดรักษาอาการเริ่มดีขึ้น แล้วก็แตกอีก คราวนี้หมอบอกว่าถ้าผ่าตัดช่วยชีวิตอีกรอบที่ได้ก็คือร่างที่นอนอยู่กับที่ จะให้หมอผ่าตัดไหม ในที่สุดญาติๆก็ยกธงยอมแพ้ คุณพ่อคุณแม่กับพี่น้องเขาคุยกันว่าจะถอดท่อหายใจ ถามคุณหมอแล้ว หมอบอกว่าถ้าไม่มีออกซิเจนที่เลี้ยงอยู่เขาไปนานแล้ว และเมื่อเอาท่อออกเขาจะไปอย่างสงบ สรุปแล้วพ่อบอกว่าพ่อถอดเอง

เขานิมนต์พระมาสวดก่อน พระออกมาบอกว่า อาตมาว่ากว่าจะไปก็โน่นและสว่างนั่นแหละ (ตอนนั้นเที่ยงคืน) พ่อกับแม่และพี่น้องเข้าไปถอดท่อกันเอง รอกันชั่วโมงหนึ่งแล้วยังเฉย ผมก็กลับบ้านเพราะเห็นด้วยกับพระ(ก่อนหน้านั้นผมทำสมาธิและขอให้เขาไปดี ผมรู้สึกเหมือนเขามาบอกว่าเขาจะไปตอนสว่าง) จึงกลับมานอนที่บ้าน รุ่งเช้าประมาณหกโมงเช้า ผมรู้สึกตัวมีแสงสว่างแปล๊บข้างตัว พร้อมกับรู้สึกเหมือนเขายิ้มแล้วพูดว่า "พี่ผมสบายแล้ว" ผมจับตัวเองผมไม่ได้ฝันนี่นา โทร.ไปถามอาเขาก็รู้ว่าเขาสิ้นตอนตีห้ากว่าๆ ถ้าหากถามว่าผมเห็นด้วยกับคุณพ่อเขาไหม ผมว่าผมเห็นด้วยเพราะดูอาการที่เขานอนนิ่งๆในตาแดงแบบเส้นเลือดในตาแตก และถามคุณหมอแล้วคุณหมอก็บอกว่าถึงมีชีวิตอยู่ต่อก็คือนอนหายใจอยู่กับที่

ผมจึงสนใจเรื่องสิทธิของผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่แบบผักหรือเขามีสิทธิแค่ไหนที่จะตัดสินชีวิตตนเอง

ขอบคูณสำหรับเรื่องราวที่น่าสนใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท