เผชิญความตายอย่างสงบ ตอน 5: ตายดี (อย่างไร?)


บางทีกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ (มุมมองของเรา) เราไม่ได้นึกถึงว่าอาจจะเป็นฉาก หรือเป็นความทรงจำอันมีค่าหามิได้ตลอดชีวิตของคนที่เหลือก็ได้

ตายดี (อย่างไร?)

ตอนต่อจาก เผชิญความตายอย่างสงบ ตอน 4

หนึ่งในบรรดารายการ "ตายดี" คราวนี้ที่มีคนตั้งมา (หรือขอมา) คือ ตายในสภาพศพที่สวยงาม ซึ่งคิดว่าน่าสนใจ

ผมไม่คิดว่าเป็นเพราะสาเหตุเรื่อง "ความสวยงาม" เพียงประการเดียวในเรื่องนี้ แต่เป็นการที่เรา "รู้สึก" อย่างไรกับสภาพศพที่ไม่สมประกอบ มันมีความสะเทือนใจจาก disfigured body เหล่านี้อย่างมาก ซึ่งเชื่อว่ามีความรู้สึกเช่นนี้ร่วมกันในหลายชาติ หลายภาษา ดูได้จากการที่เวลามีการรบ มีสงคราม วิธีหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเรียกว่าค่อนข้างโหดร้าย) ก็คือการ mutilate body หรือการทำลายซากศพของศัตรูในลักษณะต่างๆ ถือว่าเป็นการทำลายขวัญกำลังใจอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกอวัยวะ หรือการทำร้ายจนเสียรูปในลักษณะต่างๆ

ตอนที่พี่จุฑ ของรพ.ม.อ. นำเอาเรื่องการแต่งหน้าศพมาเป็นกิจกรรมเสริมแก่ผู้ป่วยและญาติ ก็คิดอยู่ว่า idea ดี แต่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นการโดนใจคนค่อนข้างมาก จนกิจกรรมนี้เผยแพร่ไปหลายๆหอผู้ป่วย ดูเหมือนญาติจะขานรับพิธีกรรมกึ่ง formal เช่นนี้มากทีเดียว

บางทีกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ (มุมมองของเรา) เราไม่ได้นึกถึงว่าอาจจะเป็นฉาก หรือเป็นความทรงจำอันมีค่าหามิได้ตลอดชีวิตของคนที่เหลือก็ได้

อย่างไรก็ดี การตกแต่ง แต่งหน้า แต่งตัวให้ผู้ที่เสียชีวิตไป ก็ยังไม่ได้ควบคุมกรณีอุบัติเหตุต่างๆ อย่างที่หลวงพี่ไพศาลตั้งปุจฉาไว้ว่า พอจะมีอะไรบ้างไหมที่เราจะได้ "ตระเตรียม" ไว้ล่วงหน้า

ประเด็นเรื่องการ มีสติ ที่ผมได้ยกมาเป็นปัจจัยในการ ตายดี ของผม ก็ได้มีการอภิปรายกันพอสมควร คุณเล็กลองเสนอ choice เปรียบเทียบเช่น ถ้ามีอาการปวด เราจะยอมปวดเพื่อจะมีสติอยู่ หรือจะเอายาแก้ปวดน๊อคจนไม่รู้สติ หรือเบรอๆ

หรือระหว่างหัวใจวายตายไปตอนนอนหลับ หรือตายตอนยังรู้สติแต่มีความทุกข์ทรมาน?

ผมตอบไปว่า ผมเชื่อว่าถ้ายัง มีสติ จริงๆ ไม่ใช่หมายถึง conscious นะครับ แต่หมายถึง mindful ซึ่งไม่เหมือนกัน ผมมีความเชื่อว่าการมีสติ และได้พิจารณาความปวด ความทรมานนั้น ก็จะช่วยบรรเทาอาการลงไปได้ ไม่มากก็น้อย (James Lee เคยบอกว่ามีคนไข้ที่สามารถ "พิจารณาความปวด" เสมือนเป็นคนดูจนกระทั่งหายปวดก็มี) ตรงนี้ผมเองก็ไม่เคยลงอ แต่คิดว่าอยากจะลอง และคิดว่าน่าจะ work เพราะผมเชื่อในพลังอำนาจของจิตใจคน

หลวงพี่ไพศาลพูดถึงเรื่องความเชื่อเชิงพุทธว่า การคิดอะไรเกี่ยวกับภพภูมิที่ดีก่อนตายนั้น อย่างน้อยก็จะช่วยได้บ้าง แต่คิดอกุศลก็จะมีผลต่อภพภูมิได้ ยกตัวอย่างพุทธตำนานที่มีพระภิกษุสาวกองค์หนึ่งมีจิตอกุศลเพียงแว่บเดียวก่อนเสียชีวิต กรรมก็บรรดาลให้เกิดเป็นตัวเล็นเกาะอยู่ที่จีวรใหม่ พระพุทธองค์ต้องตรัสให้ไม่ให้มีใครเอามาซัก เอามาสวม จนอีก 7 วัน ตัวเล็นหมดอายุขัยไปเสวยบุญที่ได้ทำมา จึงค่อยเอาจีวรผืนนั้นมาสวมใส่ได้

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทำชั่วมาตลอดชีวิต แล้วจะอาศัยสติชั่วแว่บมาลบล้าง แต่กรรมล่าสุดนี้จะถูดชดใช้ก่อน ดังนั้นหมาโจรที่อาจจะทำใจชั้วขณะก่อนตาย ก็จะได้ "บุญ" แป๊บนึง ก่อนที่จะไปชดใช้กรรมต่างๆจนครบถ้วนภายหลังเมื่อถึงวาระ

หลายๆครั้งที่เราเคยเห็น กรรมเก่า ที่ตามมาทันตอนที่ชัวโมงสุดท้ายนี้เอง ผมเคยพูดว่าถ้าคนไข้เป็นครู ผมสามารถจะเชียร์ให้มีกำลังใจได้ 100% แค่พานักศึกษาแพทย์ไปคารวะ ขอเรียนจากเขา/เธอ แม้ว่าจะไม่มีพลัง ไม่มีกำลังเหลือแล้ว ส่วนใหญ่พอได้ยิน ก็จะยินดีจนมองเห็นจากประกายตาได้ ว่าเรายังเป็นครูอยู่นะ เรายังเป็น ผู้ให้ ได้อยู่นะ ๆไม่ได้เป็นผู้รับเพียงโสตเดียว

มียกเว้นอยู่รายเดียว เป็นครูมาหลายวสิบปี อนคนมาเป็นจำนวนมาก มีลูกศิษย์ลูกหาที่ทราบว่าป่วย ก็มาเยี่ยมกันไม่ขาดสาย หลายๆคนประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานเป็นใหญ่เป็นโต น่ายินดี แต่การณืปรากฏว่าเธอมีความเศร้าเสียใจอย่างบอกไม่ถูก พอเราไปเลียบเคียงถาม ปรากฏว่าเธอบอกว่าเธอเสียใจที่แต่ก่อนดุนักเรียนมากเหลือเกิน ไม่น่าไปดุเด็กขนาดนั้นเลย เสียใจจริงๆ

มิใยที่เราพยายามจะชี้ให้เห็นว่ามีคนได้ดีเพราะการสอนสั่งอบรมมากแค่ไหน จิตใจของครูรายนี้ก็ยังวนเวียนกับความสำนึกผิดจนกระทั่งวาระสุดท้าย ไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้

ผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย เหนือควบคุม ใครที่คิดว่าสามารถ "ลืมกรรมเก่า ลืมสิ่งกระทำผิด" ไปได้มาตลอดทั้งชีวิต แต่ตอนที่เรากำลังจะเปลี่ยนภพนั้น ความทรงจำที่เก็บกดบดบังไว้นับสิบปีก็ตามมาเท่าทันได้อีกครั้งหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 85299เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ อาจารย์ Phoenix

        ได้อ่านบทความ เผชิญความตายอย่างสงบ ของอาจารย์แล้วด้วยความชื่นชมครับ

         ผมเองแทบไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับความตาย แต่ก็รู้สึกฉงน มีคำถาม และครุ่นคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ (คงจะเหมือนกับคนทั่วๆ ไป?) & ต่อไปนี้คือประเด็นที่ยังคั่งค้างในจิตใจ (ยังตีไม่แตก)

         1) บางครั้ง เวลามีความวุ่นวายมากๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่กระทบเฉพาะตัวเอง หรือกระทบคนส่วนใหญ่ อย่างเรื่องวุ่นวายทางการเมือง ผมมักจะจินตนาการไปว่า....อีก 100 ปีนับแต่นี้ คนที่อยู่บนโลกนี้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนก่อปัญหา คนที่มีปัญหา หรือแม้แต่คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเลย ก็จะไม่ได้อยู่อีกต่อไป...แต่โลกก็ยังคงอยู่ (แม้จะไม่เหมือนเดิมก็ตาม)

         2) ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดว่า จริงๆ แล้วสามีของท่านไม่ได้ตายหรอก เขายังอยู่ในตัวลูกหลานของเขา....ตอนฟังครั้งแรก ผมก็ว่าแปลกดี

           แต่หลังจากเลี้ยงลูกมาได้เกือบ 10 ปี (ผมมีลูก 2 คน คนโต 9 ขวบ คนเล็ก 6 ขวบครับ) ผมก็ได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างของตัวเองในตัวลูก ทั้งลักษณะปรากฏ ท่าทาง วิธีคิด และพฤติกรรม กลายเป็นกระจกสะท้อนตัวเองได้อย่างชัดเจนไม่น้อย ทำให้คิดได้ว่า อ้อ! ที่ว่า "ยังไม่ตาย แต่อยู่ในลูกหลาน" นี่ สงสัยจะเป็นแบบนี้ (ผ่านทางยีน & การเลี้ยงดู-การเลียนแบบ)

          คิดย้อนกลับไป ตัวเองก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายพ่อ-แม่ ทนทำงานนานๆ ได้คล้ายพ่อ คิดเร็ว-พูดเร็วคล้ายแม่ ฯลฯ

          หากว่ากันตามแนวนี้ ใครที่มีลูกมีหลาน ก็จะไม่ได้ "ตาย" ไปจริงๆ เพราะ (บางส่วนของ) ตัวเขา อาจจะไปโผล่ให้เห็นอีกในรุ่นลูก รุ่นหลาน หรือแม้กระทั่งเหลน โหลน ก็ได้....ทำให้ชอบใจที่อาจารย์บอกว่า ต้องนิยามคำว่า "ตาย" ให้ชัดๆ ;-) 

               

ขอต่อหน่อยครับ ไหนๆ ก็ตื่นเช้าขึ้นมาคุยกับอาจารย์แล้ว ;-) (วันนี้พอดีนอนเร็วมาก ไม่ถึง 3 ทุ่ม)

        ขัดแย้ง? : คิดดูเล่นๆ ได้ว่า หากข้อ 2) เป็นจริง ก็ดูเหมือนจะไปขัดกับข้อ 1) เพราะคนที่ "ตายทางกายภาพ" ไปหมด จะฝากตัวตนของเขาไว้ในลูกหลาน ซึ่งจะมาเจอกันใหม่!

        แต่ในสภาพจริง สังคมที่คนเหล่านี้มา "เจอกันใหม่" ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เงื่อนไขใหม่อาจทำให้....คนที่เคยเป็นคู่อริกัน กลายเป็นมิตร คนที่เคยเป็นมิตร อาจกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักกัน และแทบจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อกันโดยตรง

         ดังนั้น ข้อสรุปของผมในขณะนี้คือ 1) และ 2) ไม่น่าจะขัดแย้งกัน (แต่อาจจะผิดทั้งสองข้อตั้งแต่ต้นก็ได้!)

         คิดต่อ : เป็นไปได้ไหมครับว่า คนที่สะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้มากมายมหาศาลนั้น แม้จะโดนทักว่า "ตายแล้วก็เอาไปไหนไม่ได้" แต่เขาคิดแบบ 1) คือ ตัวตนยังคงอยู่ในลูกหลานอย่างสุดโต่ง?

 

        3) ผมถูกฝึกสอนมาแบบนักฟิสิกส์ ทำให้คิดเรื่อยเปื่อยไปว่า อันที่จริงเราทุกคนต่างก็ "ตาย" (และเกิดใหม่) กันอยู่ทุกเสี้ยวของเสี้ยววินาทีอยู่แล้ว

             - เซลล์ทั้งหมดแก่ลง บางส่วนตายจากไป บางส่วนเกิดใหม่

             - ตัวผมเมื่อตอนที่เริ่มคุยกับอาจารย์ก็ไม่ใช่ตัวผมตอนนี้แบบเป๊ะๆ เพราะมีความคิด ความรู้สึกบางอย่างที่เพิ่มเข้ามา บางอย่างก็หายไป

          และอีกครั้งที่ต้องนิยามคำว่า "ตาย" ให้ชัดเจน ว่ากำลังคุยกันด้วยนิยามไหน (ตายในข้อ 3) นี้ไม่ใช่แบบที่อาจารย์เขียนมา 5 ตอน)

           ข้อสังเกต : เดี๋ยวนี้มีการพูดถึง Chaos Theory, Complexity, Quantum กันมากเมื่อพูดถึงเรื่องที่เกียวกับจิต หรือความสัมพันธ์ต่างๆ จึงอยากฝากข้อคิดเห็นไว้ตรงนี้ว่า มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากตัวทฤษฎีจริงๆ ไปพอสมควร และผู้นำไปอ้าง (โดยเฉพาะนักสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่...ขออภัยนะครับ...แพทย์บางท่าน) มักจะ "ลาก" ทฤษฎีเหล่านี้ไปสนับสนุนความเชื่อ หรือสมมติฐานของตน

           อย่างในกรณีของบทความที่มาจากกลุ่มจิตวิวัฒน์นี่ เมื่อพูดถึงฟิสิกส์ทีไร จะมีความเพี้ยนปะปนอยู่ด้วยเสมอ (อย่างไรก็ดี ผมก็ยังติดนิสัยแบบไทยๆ อยู่ คือ ไม่กล้าทักท้วงโดยตรง เพราะยังไม่รู้นิสัยใจคอของคนเขียนดีพอ...สำคัญเหมือนกันครับ)

           แต่เรื่องนี้แก้ไขได้ไม่ยากนักครับ หากให้ผู้รู้ในประเด็นนั้นๆ มาสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ (สุนทรียสนทนา?)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

            คุยกับอาจารย์ไว้เยอะเลย หากมีข้อความใดที่ทำให้อาจารย์งง หรือขุ่นใจ ก็ต้องขออภัยครับ สำหรับผมจะรอติดตามบทความชุดนี้ของอาจารย์ด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน (สำนวนมติชนสุดสัปดาห์)

ขอบพระคุณมากครับ :-)

บัญชา

            

สวัสดีครับ อ.บัญชา

ตีสามตีสี่นี่ปกติผมจะออกมาสนทนาเมื่อไม่ได้นอนเท่านั้นเอง ไม่ได้เพราะตื่นเช้า!! เป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ได้ใช้เวลาอันมีสมาธิ นิ่งสงบเช่นนั้นมาอ่านบทความของผม

หลวงพี่ไพศาลอ้างถึงคำพูดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลว่า "ยามเมื่อมองไปในกระจก เห็นรอยย่นของใบหน้า ก็นึกรู้ว่าตัวเรานี้ไม่ยั่งยืน ยามเมื่อมองไปในท้องฟ้า เห็นหมู่ดาวพราวพราย ก็นึกรู้ว่าตัวเรานี้กระจ้อยร่อยกระจิดริด"

การที่สำนึกว่าเราไม่ยั่งยืน เรานี้เป็นเพียงเศษเถ้าธุลีของจักรวาล ก็ทำให้ ความเสี่ยง ของการตายไม่ดีลดลงได้เยอะตามมติพุทธแล้ว นั่นคือไม่ติดในตัวตน และไม่ติดในกามตัณหา

ผมใช้วิธีที่อาจารย์พูดถึงบ่อยๆครับ ในประเด็นที่ชี้ชวนคนไข้ให้เห็น "เงาตนเอง" ในลูกหลาน หรือแม้กระทั่งลูกศิษย์ลูกหา ในกรณีที่เป็นครูบาอาจารย์ เพราะบางทีการ "ตกทอด" ของเรานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่เป็น material จับต้องได้ อย่างยีน อย่าง DNA หรือการสำนึกว่าเด็กคนนี้มี "ฉัน" อยู่ในสัดส่วนเท่าไร แต่คำว่า "ฉัน" นี้ออกจะเป็น "นามธรรม" ออกมาสักหน่อย

"ฉัน" อาจจะเป็นการตกทอดคุณค่า คุณธรรม อะไรบางอย่างที่เรา "อิง" ก็ได้ ผมชอบคำแปลคำว่า "จิตวิญญาณ" ของอาจารย์สิวลี ศิริไลมากที่สุด อาจารย์สิวลีเป็นอาจารย์นักปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดลครับ ท่านสอนแนะนำและอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และพวกเราที่ ม.อ. เคยได้รับเกียรติท่านมาบรรยายให้ความรู้หลายครั้ง อาจารย์แปลว่า "จิตวิญญาณนั้น เป็นอะไรที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน แต่มีความหมายมีพลังทำให้ชีวิตนี้มีค่า ควรอยู่ต่อ หรือเป็นเหตุผลแห่งการดำรงตน" ในอุปมาอุปมัยนี้ "ฉัน" อาจจะเป็น "อะไรที่ละเอียดอ่อน" อย่างที่ว่านี้ ก็จะเปิดช่องทางให้คนไข้ "เห็นทางออก" ได้กว้างมากขึ้น (เช่นในกรณีที่ไม่มีลูกหลานเป็นต้น) ยกตัวอย่างคำที่แสดงให้เห็น concept นี้ ก็อย่างเช่น "ตัวตาย แต่ชื่อยัง" หรือ "สละชีพเพื่อชาติ" เป็นต้น ทั้ง "ชื่อ" และ "ชาติ" นั้น มีความหมายมากกว่า material แน่นอน และเป็นสิ่งที่ถือว่า "ตกทอด" ทำให้จิตวิญญาณของผู้สละไม่เสียดาย คำว่า "ไม่เสียดาย" นี้ก็คือ "ละวางได้" นั้นเอง เป็นธรรมะสูงสุดอย่างหนึ่งที่เราแสวงหา

ความ "อยากนิยาม" นั้น เป็นแรงผลักดันที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเรา เพราะเรา "อยากเข้าใจ" แต่คำว่า "เข้าใจ" นั้น มีทั้งความคิด และอารมณ์ปนๆกันอยู่ บางทีเราก็เผลอคิดว่า "เข้าใจ" เป็นเรื่องของตรรกะเพียวๆ หรือเป็นเรื่องของเหตุผลเท่านั้น ผมคิดว่าคำ "เข้าอกเข้าใจ" อาจจะพอช่วยได้

ผมพึ่งอ่านหนังสือน่าสนใจมากเล่มหนึ่งครับ ชื่อ อยู่กับมาร (Living with the devils) ของ Stephen Batchelor คุณสดใส ขันติวรพงศ์ แปล มีตอนหนึ่งกล่าวว่ามีปราชญ์สมัยโบราณพยายามจัดกลุ่มนิยาม "มาร" ว่ามีกี่แบบ เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวป้องกัน ต่อต้าน ปกป้องได้ แต่มารนั้นกลอกกลิ้งนัก การพยายามจัดกลุ่มนิยาม เป็นการตกหลุมพราง เพราะมันจะมาในรูปที่เราไม่ได้จัดกลุ่มไว้ได้เสมอ ถ้าเราพยายามจัดกลุ่ม หรือนิยาม "ตาย" อาจจะง่ายกว่า แต่บางทีก็อาจจะไม่ง่ายเสมอไป คือว่า "ภาษา" ที่เราใช้นั้นมีขอบเขตจำกัดมากเลยครับ หลายๆอย่างที่เราคิดว่า "สื่อได้" จริงๆเป็นไปไม่ได้ที่จะ "สื่อตรง" อย่างเช่น ผมบอกว่า "อร่อย" นั้น ไม่ได้สื่อถึง "รสชาติ" ให้คนฟังเลย แต่เป็นการสื่อว่า "ผมชอบ" อาหารที่กำลังทานอยู่ต่างหาก ดังนั้นแม้ผมอยากจะ "บรรยาย" อร่อยเพียงใด รู้สึกอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ ผมเปรียบเทียบ analogy นี้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาคุยกับฝรั่งเรื่อง "ปฏิบัติพุทธศาสนาแล้วเป็นอย่างไร" ผมว่ามันเหมือนกับ I บอก U ว่า this dish is so delicious นั่นแหละ U จะเข้าใจได้ต่อเมื่อ "ชิมเอง" เท่านั้น ภาษาเราก็ยังมีความจำกัดอยู่เยอะทีเดียว

ผมมีความคิดพยายาม "เชื่อมโยง" ศาสตร์ทุกสิ่งเข้าหากัน ตรงนี้อาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า สาเหตุทีเรามี หรือมีเรา นั้น เป็นเพราะสองประการ คือ หนึ่งเรามีชีวิต และสองเราอยู่ในสังคม ดังนั้น ที่เราทำ ที่เราอยู่ ที่เราเรียน เราทำงาน เราค้นคว้า ความรู้ทั้งหมด น่าจะลงเอยมาสิ้นสุด ณ ที่เดียวกัน คือที่เรามีชีวิตและที่เราอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเสมอ

พวกเรามีขอบเขตในการทำความเข้าใจ เรามีบริบท มีกรอบ ครอบงำมาตั้งแต่เด็กว่า เราสายวิทย์ เธอสายศิลป์ ฉันเข้าใจเรื่องนี้ เธอเข้าใจเรื่องนั้น ตรงนี้ฉันทำ ฉันเป็น expert ตรงนั้นเธอทำ เธอเป็น expert แต่แล้วเราก็ไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไร

เวลาผมได้มีโอกาสไปยืนอยู่ ณ ปลายเตียงคนไข้ที่กำลังจะจากไป ณ เวลานั้นเป็น privilege  อย่างยิ่งที่จะได้รับฟังเรื่องราวที่เสมือนดั่ง highlight ของชีวิตคนๆหนึ่ง ถามว่า "เข้าใจไหม" ผมคิดว่าผมคงเข้าใจตามบริบท ตามประสบการณ์เก่าของผมเป็นส่วนใหญ่ครับ คงไม่ได้เข้าถึงนัยสำคัญจริงๆของคนเล่าได้ขนาดนั้น แต่ นัยสำคัญ หรือ การรับรู้ ของคนเล่านั้น จริงใจ และจริงที่สุด ของเขา เราไม่มีอำนาจ หรือสิทธิอะไรที่จะบอกว่าคุณเข้าใจผิด หรือบอกเขาว่า "ผมคิดว่าไม่ใช่" แต่ ณ เวลานั้น ผมศิโรราบในความโชคดีของผมที่ได้ยืนอยู่ตรงนั้น รับฟังเรื่องราว และเก็บเกี่ยวนำมาใช้ต่อไป

ขอบพระคุณอีกครั้งครับที่ได้กรุณามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สวัสดีครับ อาจารย์ Phoenix

        ขอขอบคุณอาจารย์ที่ตอบกลับอย่างละเอียดครับ :-)

        พอดีหายไปให้สัมมนาซะ 2 วัน เพิ่งจะกลับมานี่แหละ ผมขอเวลาไปทบทวนรายละเอียดในประเด็นนี้ + อ่านเพิ่ม แล้วจะกลับมาคุยกับอาจารย์อีกนะครับ ;-)

 

ยินดีอย่างยิ่งครับ

จริงๆคนที่เชื่อมโยงควอมตัมฟิสิกส์ ทฤษฎีเคออส อะไรนี่ เท่าที่ผมเคยอ่านดูเขา reference หลักๆมาจากคนสองคน ได้แก่ Fritjof Capra ซึ่งเป็นนักทฤษฎีฟิสิกส์ และสุนทรียสนทนาก็เริ่มมาจากการสนทนาของ David Bohm ซึ่งผมเข้าใจว่า (เท่าที่อ่านคนอื่นวิจารณ์) ว่าเป็นเพื่อนรุ่นน้อลและเป็นผู้สืบทอดไอสไตน์คนนึงทีเดียว ยังไงๆถ้าได้อาจารย์ที่เรียนทางฟิสิกส์มาช่วยเชื่อมโยงให้อีก ผมว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

Tao of Physics

The Turning Point

Web of Life

The Hidden Connection

และ On Dialogue

ผมอ่านแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะบางเรื่องออกนอก field (immunology หรืออีกนัยหนึ่ง เกือบทุกเรื่อง)

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท