มรณวิทยา กับ แพทยศาสตรศึกษา


ถึงตอนนี้ ควรจะมี "มรณวิทยา" อยู่ในแพทยศาสตรศึกษาหรือไม่?

มรณวิทยา (Thanatology) "ศาสตร์ที่ว่าด้วยผลกระทบ ผลแวดล้อมจากความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตวิทยาและด้านสังคม"

ที่ ม.อ. เรามี Block รายวิชา "Human Life Cycle" หรือ "วงจรชีวิตมนุษย์) ว่าไปตั้งแต่ปฏิสนธิ เกิด แก่ เจ็บ แต่ surprise surprise ไม่มี ตาย

โดยส่วนตัวผมคิดว่า (และเห็นด้วยโดยพี่เต็มศักดิ์ ..... แฮ่ะๆ ขออนุญาตยืมชื่อมาเป็นหมอนหนุนหลังหน่อยนะครับ ... เผื่อเวลามีคนยัน !!) มันยังไม่ค่อยเป็น cycle เท่าไรนะครับ เพราะ "เจ็บ" มันยังไม่ต่อไปเป็น "เกิด" ได้ และที่พูดในคราวนี้ไม่ได้มีเจตนาจะให้มีการพิจารณาเปลี่ยนชื่อ block เอาคำ cycle หรือ วงจร ออก อะไรทำนองนั้นนะครับ อยากจะให้ใช้ชื่อเดิม แต่ "เติมให้เต็มวงจร" เท่านั้นเอง

สำคัญอย่างไร อืม... ต้องเริ่มจาก "สำคัญไหม?" นะครับ แล้วก็ "สำคัญแค่ไหน มากไหม?" แล้วค่อยไปถึง "สำคัญอย่างไร?" เอ.... หรือแบบเดิมดีแล้วหว่า? ช่างเถอะ เอาเป็นว่าลองพยายามตอบทุกๆอันนี้ก็แล้วกัน

1. สำคัญไหมที่แพทย์จะทราบเรื่องผลกระทบจากความตาย? ทราบแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ไม่ทราบแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ปกติแล้ว พวกเราๆก็จะอยากคิด อยากพูด อยากทำเรื่องที่เราคุ่นเคย เรื่องที่ไม่มีอันตรายมาก ไม่คุกคามตัวตนของเรายิ่งดี เสริมตัวตนของเราเองยิ่งแจ๋ว ในขณะเดียวกันเราจะหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องที่เราไม่คุ้น เรื่องเสียวไส้คุกคามต่อความสงบ (ของกลุ่มสนทนา) หรือเสียวไส้คุกคามต่อตนเอง (เรื่องปมด้อย เรื่องความไม่ถนัด) เรื่องที่ทำให้ self value ของเราลดน้อยลง

ความตาย เป็นหัวข้อสนทนาแบบไหน?

สมมติว่าเราถูก "ปรับ" ให้เกิดความรู้สึกว่าความเป็นเรื่อง "อธรรมชาติ" เป็นเรืองแปลก หรือเป็นเรื่องต้องห้าม อัปมงคล ถ้าเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ถูกสอดใส่มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เราก็จะไม่พูดถึงมัน เราก็จะไม่มี model ในเรื่องนี้ แม้แต่ของตัวเราเอง ไม่ต้องไปพูดถึงของคนอื่นเลย หมอที่ไม่มี model การตายของตนเอง สามารถจะเข้าใจ model ของผู้ป่วยที่กำลังจะตายได้หรือไม่? อาจจะได้ครับ แต่ถ้าสาเหตุที่ไม่มี model ไม่ใช่เป็นเพราะ "ยัง" ไม่คิด แต่เป็นเพราะ "ไม่กล้าคิด ไม่อยากคิด เกลียดตัวเองที่จะคิด กลัวที่จะคิด" สงสัยว่าการที่จะ empathy คนที่เผชิญความตายจะเป็น uphill task หรือแม้กระทั่ง impossible task สำหรับบางคน ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญสำหรับแพทย์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อแพทย์ไม่ "เข้าใจ" ความรู้สึกของผู้ป่วยหรือญาติ เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่ empathy ไม่มีการใช้ อตฺตานํ อุปมํ กเร

เรื่องนี้จึงสำคัญ (หรือไม่?)

2. สำคัญแค่ไหน? severity หรือ ระดับความสำคัญน่าจะเอาไปประมาณกับนิยามความสำเร็จ/ล้มเหลว หรือวิสัยทัศน์/พันธกิจ ดังนั้นคำถาม pre-requisite ว่าสำคัญมากน้อยแค่ไหน ต้องตอบจากคำถาม "อะไรคือนิยามของความสำเร็จของการเป็นแพทย์"

ตอนเรียนๆอยู่ เราไม่ค่อย "นิยาม" เรื่องนี้กันชัดเจนบ่อยเท่าที่เราคิดว่าเราได้ทำ แต่เราดีใจเสียใจกับอะไรบ้างที่เกียวกับการเรียนล่ะ? เกรดออก อาจารย์ชม พ่อแม่ชม เกรดออก เกรดออก เกรดออก.... บางคนก็อาจจะดีใจที่คนไข้หายกลับบ้านได้ อาจจะน้อยคนที่ดีใจที่คนไข้เกิด complications หรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาล อาจจะ น้อยที่สุด ที่เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่าแม้คนไข้จะตาย แต่เขาได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว กลุ่มหลังนี้ผมสงสัยว่ามัน "น้อยที่สุด" หรือเป็น "ไม่มีเลย" ตั้งแต่สมัยเราเรียน เราเรียนเพื่อ "เอาชนะ" โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เรารู้สึก achievement เมื่อเราทราบว่าเราได้ถูก empowered ที่สามารถรักษาให้หายโรคได้มากมาย จบออกมาเป็นเฉพาะทาง ยิ่งภาคภูมิใจเพราะโรคที่เราทำให้หายนั้น ไม่ใช่หมอทุกคนทำได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราให้นิยาม "ความสำเร็จ" เราได้แอบตั้งนิยามของ "ความล้มเหลว" ไปโดยไม่รู้ตัวเสมอ เรียนๆไปเราอาจจะตกหลุ่มพรางว่าเราเอาชนะได้ แม้กระทั่งความตาย เรามอง mortality rate/ morbidity ด้วยสายตาเกลียดชัง (จากความกลัว ความไม่รู้ อวิชชา) ความตายกลายเป็นของที่ไม่ธรรมชาติ แต่เป็นสัญญลักษณ์ของความล้มเหลวแห่ง pride ส่วนตัวของหมอ

misconception นี้เป็น direct contradiction ได้เพราะเราจะ "ไม่เคย" เอาชนะความตายได้เลยแม้แต่รายเดียว เพราะคนทุกคนต้องตาย ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติพอๆกับการเกิด แก่ เจ็บ แต่สามประการนั้นโดยสาเหตุบางประการ (ที่น่าสนใจมากๆ) ทำให้เรารับได้ ในวงจรชีวิตที่แท้จริง เรารับได้แค่นั้น แต่เรารับความตายไม่ได้ ถ้าเรามี misconception นี้ เป็นการการันตีความลัมเหลว เพราะเรากำลังหาทางทำ impossible task เราพยายามหลีกเลี่ยงปฏิเสธ absolute truth และข้อสำคัญเรา (หมอ) เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่เราอาจจะทำอะไรได้หลายอย่างแก่ผู้ป่วย--คนที่เราปวารณาตัวทุ่มเทเพื่อประโยชน์-- อาจจะทำให้เราไม่สามารถไปอยู่ในที่ที่เราสาบานตนว่าจะมาอยู่แต่แรก

เรื่องนี้จึงสำคัญมาก (หรือไม่)

3. สำคัญอย่างไร? ตอบไปแล้ว

ในการ round palliative care (ที่ ม.อ. เราเรียกว่า holistic doctor programme round) อุปสรรคที่สำคัญมีหลายประการ อ้อ... ลืมอธิบายว่า holistic doctor programme คืออะไร เป็นการราวน์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ extern ที่กำลังจะจบได้ร่วมกิจกรรม โดยมีอาจารย์แพทย์เจ้าของไข้ อาจารย์จิตเวช อาจารย์หน่วย pain และอาจารย์หน่วย palliative ดูผป.ประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งอภิปราย นำเสนอ case และไปที่ bedside round แสดงการสัมภาษณ์แบบ interview ไม่ใช่ "ซัก" (ฟอกขาวผู้ป่วย) แบบที่ทำๆกันทั่วๆไป แต่เป็น interview ที่เพื่อ "เข้าใจการรับรู้ของผู้ป่วยตั้งแต่ต้น" นอกเหนือจากได้ข้อมูลครบทุกมิติของสุขภาพ เรายังได้ข้อมูลประเภทผู้ป่วย (และญาติ) มีความสุขจากอะไรได้บ้าง (นอกเหนือจากทุกข์เพราะอะไรบ้าง)

แต่ความยากเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไปถึง "ความตาย" เมื่อทุกๆอย่างทาง biology ล้มเหลว ยาที่มีไม่ work เมื่อหมอรู้สึก powerless เมื่อหมอไม่ทราบว่าจะตอบผป.ได้อย่างไร หรือไม่ทราบว่าจะให้ความ "มั่นใจ อุ่นใจ" กับผู้ป่วยว่าเราจะอยู่ช่วยเขาจนถึงที่สุด เพราะเราเองก็ ไม่อยาก ไม่กล้า รับรู้เรื่อง emotional แบบนี้

ถึงตอนนี้ ควรจะมี "มรณวิทยา" อยู่ในแพทยศาสตรศึกษาหรือไม่?

หมายเลขบันทึก: 76530เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
อาจารย์ค่ะ คำว่า block  ในบันทึก อาจารย์หมายถึง blog หรือ  บล็อก ใช่ไหมค่ะ

สวัสดีครับ อ.จันทวรรณ

Block ในที่นี้คือ block จริงๆครับ ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เราแบ่งรายวิชาออกเป้น block เช่น Human Life Cycle Block, Block Adult, Block Health promotion, etc แต่ละ block มีกรรมการมาจากหลายภาควิชา เป็นผลมาจากการบูรณาการให้กลุ่มรายวิชาที่คล้ายคลึงกันมาช่วยกันสอนใน block เดียวกัน เช่น Block pre- and post-operative care ก็จะมีภาควิชาศัลยศาสตร์ วิสัญญี ออร์โธปิดิกส์ มาช่วยกันสอนเป็นต้นครับ

ฮา :) ดีใจค่ะที่อาจารย์เขียนไม่ผิดค่ะ
เช่นกันครับ ขอบคุณที่ช่วยกรุณาทักครับ ผมเขียนผิดบ่อยครับ เพราะไม่ใช่มือพิมพ์อาชีพเหมือนกัน ภาษาอังกฤษยังดีมี programme ช่วยเช็ค (ใน word) แต่ภาษาไทยนี่ค่อนข้างฝืดกว่าเยอะครับ

มายกมือเห็นด้วยค่ะอาจารย์ เพราะคนที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ป่วยและญาติโดยตรงควรจะมีแนวทางและทักษะในเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเพื่อคนไข้และญาติแล้ว ยังเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจแพทย์สำหรับสิ่งที่ต้องพบแน่นอนในชีวิตการเป็นแพทย์

ความจริงแล้วในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพควรจะมีหลักสูตรนี้ด้วย จำได้ว่าเรียนมาจนจบ โอกาสที่เราคิดถึงคนไข้จริงๆนั้นน้อยมาก เราเน้นกันที่ตัววิชาความรู้มากกว่า เน้นที่ผลที่เราต้องการ ทำให้นักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพสนใจตำรามากกว่าผลที่ได้จากการนำความรู้ในตำราไปใช้ กว่าจะมีสำนึกในเรื่องนี้ ก็ทำงานไปพักใหญ่ๆแหละค่ะ คิดแล้วเสียดายว่า เราน่าจะส่งเสริมให้คนเห็นคุณค่าของการทำงานเพื่อคนอื่น (ในสาขาของวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเห็นเป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจนที่สุด)มากกว่าที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบัน

อยากให้มีมากค่ะ  ยกมือสูงๆด้วย

 จำได้  เคยประสบเองและเคยสังเกตุ เพื่อน พี่ อาจารย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่  ทีมพวกเรา  ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เวลาคนไข้ที่เรารักษาตาย เราทำอะไร ทีมรักษาไม่ค่อยยืนอยู่ด้วย หนีไปซะ เป็นส่วนมาก  

เคยหนีออกไปยืนที่ระเบียงกับหัวหน้าตึกมองตา ไม่ได้คุย สักครู่เขาร้องไห้  เราก็เกือบ

เคยแอบไปร้อง ในห้องน้ำ ที่บ้าน

 บางทีส่วนน้อยที่ยังอยู่ ก็ยังไปซักถามเพิ่มในบางจุดเพื่อหาสาเหตุเพิ่ม ขณะเขากำลังโศรกเศร้าอาดูร เพื่อหาเหตุผลประกอบว่าไม่ได้ผิดที่ฉันนะ

บางทีก็อยู่ อยู่ในห้อง ไม่ละทิ้งแต่ ก็ลืมทำหน้าที่มนุษย์ ลืมใส่หัวใจว่าเขากำลังทุกข์     ทำหน้าที่เป็นหุ่น  เก็บของ อุปกรณ์ ทำ 5 ส  วุ่นวาย

 สังเกตุน้องๆแพทย์ใหม่ก็ไม่ต่างจากเราสมัยก่อน จัดการไม่เป็น ไม่รู้จะยืนตรงไหน อย่างไร พูดอะไร ในที่สุดก็รีบหนีไป

มิน่าญาติถึงฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล เพราะ เศร้าจริง เสียใจ ทุกข์ แต่หมอ พยาบาลผู้ดูแลตีจากไม่ไยดี (จริงๆ คือทำไม่เป็น)

ตอนนี้ คิดได้ว่า ควรสอนอย่างยิ่งค่ะ ได้ประโยชน์หลายชั้น แล้วยังอาจต้องให้ลองปฏิบัติ และ ควรให้ลองรับข้อมูลสะท้อนกลับด้วย ว่าทำได้ดีเพียงไร

 

เพิ่งเจอเด็กตายด้วย Chickenpox แล้ว มีโรคแทรก เสียชีวิต เมื่อวานซืน ต้องกำหนดสติ และ พยายามยืนอยู่และลองทำ อย่างที่เราจะต้องการให้หมอทำ เมื่อเราเป็นญาติ สังเกตุ อินเทอร์นที่อยู่เวรดูน้องเป็นกังวล และทำท่าอยากหนี  ใท่สุดก็ยืนด้วยกัน

blog อาจารย์ ทำให้ต้องททท ทำทันที เย็นนี้ ต้องคุยกับ Internค่ะ ประเด็นคงเป็น การปฏิบัติตัวเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เอาตย ผป สดๆ มาทวนซ้ำ แต่ไม่ทวนเชิงวิชาการ ทวนเชิงการจัดการและจริยธรรมมากกว่า

อยากได้คำแนะนำเพิ่มด้วย

ขอบคุณค่ะ ที่เป็นแรงบันดาลใจ

สกลครับ

ขออนุญาต เอาบันทึกนี้ไปไว้ใน รวมบันทึก ของผม ที่นี่ นะครับ

สวัสดี พญ รวิวรรณ หาญสุทธิเวชกุล ครับ

ขออนุโมทนาครับ บุญกุศลที่อาจารย์กำลังทำให้คนไข้ สอนนักเรียน นักศึกษาต่อ ขอเป็นพลังใจให้อาจารย์ต่อๆไป

ผมไม่มีอะไรแนะนำมากหรอกครับ ถ้า Intern หรือ extern ของอาจารย์ ยังสงสัย ยังไม่กล้า ลงอให้เขามาทำพร้อมๆกับอาจารย์ ขณะทำให้สำรวจอารมณ์ตนเอง อารมณ์คนรอบข้าง และความรู้สึกของญาติ ไปพลางๆ ให้เขาสะท้อนหลังทำอีกสักรอบ

จะมีอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกิดขึ้น เมื่อพวกนักเรียนเราได้ สะท้อน สิ่งที่เขาเห็น ทำ ได้ยิน ออกมาเป็นความรู้สึกของตนเอง

======================

พี่เต็มครับ

เป็นเกียรติครับ เป็นเกียรติ ยินดีอย่างยิ่ง (กำลังคิดจะโทรไปถามทีเดียวว่า ถ้าจะขอให้เอาของผมไปลงจะต้องจ่ายเท่าไหร่!!!)

อ่านดูแล้วมรณาวิทยาเหมือนมรณานุสติเลยค่ะ
เหมือนด้าน psychology ครับ ส่วนด้านสังคมจะมีประเด็นที่กว้างกว่ามรณนุสติอีกบางประเด็น เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา ระดับชุมชน ระดับประเทศ ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท