เรียนรู้ได้ในทุกประเด็น ทุกเวลา และทุกการกระทำ


ในยุคนี้ข้อมูล (data) เพื่อช่วยในการตัดสินใจมีเยอะมาก เยอะจนจะท่วมตัวเรา แต่ข่าวสาร (information) ที่ดีเพื่อการตัดสินใจยังมีน้อย เหตุผลเพราะเราไม่วิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เหมาะสมกับการที่เราจะนำไปใช้

     ปลายปีนี้ ผมต้องไปทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษอีกครั้ง ในวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (The Economics of Public Health) รหัส 4074201  2(2-0)  ปีการศึกษา  2549  ภาคการเรียนที่ 2 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน)  Bachelor of Science (Community Health) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หลังจากที่ผัดการสอนไปครั้งหนึ่ง เนื่องจากติดภารกิจราชการที่เป็นงานประจำ ก็ได้ฤกษ์เบิกชัยยะ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา คาบแรกนอกจากผมจะเริ่มทำความรู้จักกับผู้เรียน และตกลงกันว่าผมจะไม่ใช่ครูหรืออาจารย์ แต่ละมาทำหน้าที่ให้เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน รวมถึงแลกเปลี่ยนกันกับผมด้วย ในฐานะที่ผมก็เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ ขอให้เป็นบรรยากาศของการร่วมเรียนรู้ระหว่างกัน จากกนั้นก็ให้แต่ละคนได้แนะนำตัวพร้อมช่วยระบุความคาดหวังให้ผมทราบ (ตอนหลังให้รวบรวมเขียนใส่กระดาษด้วย) เมื่อทักทายกันแล้ว ก็เข้าสู่การตกลงเรื่อง การวัดผลและประเมินผล โดยผมขอกำหนดเพียงการสอบปลายภาคจะคิดคะแนนร้อยละ 20.00 ส่วน การทดสอบหลังเรียน การจัดทำรายงานที่ได้รับมอบหมาย และการนำเสนอรายงานในเชิงวิชาการ (เป็นวงสัมมนาเล็ก ๆ) ขอให้นักศึกษาได้กำหนดตกลงสัดส่วนกันเอง

     ทันทีที่ผมบอกให้ประชุมเพื่อร่วมกันหาข้อตกลงร่วม บรรยากาศการมีส่วนร่วมดีมาก ทุกคนพูดได้โดยอิสระ หัวหน้าห้องก็เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ปล่อยให้สมาชิกได้พูดกันจนยุติ แต่เขาลืมไปเรื่องหนึ่งคือ ผมยังไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อตกลง พอผมบอกเงื่อนไขไป และแถมด้วยคำพูดที่ว่า การตัดสินใจเลือก เมื่อเลือกแล้วคือพอใจที่สุด ดีที่สุด สิ่งสำคัญจึงต้องมีข้อมูลข่าวสารพร้อม นักศึกษาจึงได้ประชุมตกลงกันใหม่ สัดส่วนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ละคนล้วนมีเหตุผลและมีบริบทของกลุ่มตนเอง

     ในที่สุดก็ได้ว่า การทดสอบหลังเรียน ขอสัดส่วนร้อยละ 40.00 เนื่องจากพวกเราไม่ค่อยขาดเรียนกันหากไม่จำเป็นจริง ๆ ส่วนรายงานที่ได้รับมอบหมาย ขอร้อยละ 20.00 และการนำเสนอรายงาน ขอร้อยละ 20.00 จึงเป็นข้อสรุป ผมให้กลุ่มสรุปว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการหาข้อตกลง ก็ได้ความว่า “การตัดสินใจตอนที่มีข้อมูลพร้อม กับไม่มี ได้ข้อสรุปต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้บริบททุกอย่างจะเหมือนเดิม” ผมสรุปตบท้ายให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งว่า ในยุคนี้ข้อมูล (data) เพื่อช่วยในการตัดสินใจมีเยอะมาก เยอะจนจะท่วมตัวเรา แต่ข่าวสาร (information) ที่ดีเพื่อการตัดสินใจยังมีน้อย เหตุผลเพราะเราไม่วิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เหมาะสมกับการที่เราจะนำไปใช้ จะด้วยเหตุผลประกอบย่อย ๆ อื่นใดก็แล้วแต่ การตัดสินใจที่ขาดข่าวสารที่เหมาะสม ก็เหมือนเราใช้ดวงในการตัดสินใจ ถูกก็เพราะดวงดี โอกาสมันน้อยกว่ามาก

 

หมายเลขบันทึก: 70387เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2006 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท