ลปรร. "แบบแอบๆ"


มีข้อสังเกตว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บน GotoKnow ดูจะน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนบันทึก

วันนี้มีข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมครับ

เดือน Page views GotoKnow/home GotoKnow/login GotoKnow/dashboard
มกราคม 1,896,933 67,033 26,171 28,344
กุมภาพันธ์ 2,068,880 80,886 30,366 37,376
มีนาคม 2,114,599 91,397 29,750 37,117
เมษายน 2,166,839 99,595 25,590 30,948
พฤษภาคม 2,597,074 111,382 28,866 32,048
มิถุนายน 3,768,306 114,707 29,006 31,344

การเข้ามาดูหน้าแรกของ GotoKnow เฉลี่ยอยู่ประมาณ 3% กว่าๆ ของการอ่านทุกหน้าบน GotoKnow ครับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม หน้าแรกของ GotoKnow ก็เป็นหน้าที่ร้อนแรงที่สุด โดยยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีหน้าอื่นแซงได้ ยิ่งกว่านั้น ศูนย์รวมข้อมูล (portal) ในปัจจุบัน ช่วยให้สมาชิกติดตามเรื่องที่ตนเขียนไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกหรือการให้ความคิดเห็นบนบล๊อกใดก็ตาม

สำหรับการแสดงความคิดเห็นนั้น จำต้องล๊อกอินเพื่อแสดงตัวก่อน (ที่จริงไม่จำเป็น แต่ต่อไปเชื่อว่าการไม่แสดงตัวจะไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้)

สำหรับสมาชิกที่ได้แสดงตัวต่อระบบแล้ว สามารถจะใช้ แผงควบคุม (dashboard) ซึ่งสามารถทดแทนหน้าแรกได้ทั้งหมด เชื่อว่าแผงควบคุมเป็นสิ่งที่สมาชิกเก่าๆ คุ้นเคยเป็นอย่างดี; โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทุกหน้าที่ท่านอ่าน จะมีเมนูเส้นทางหลัก ซึ่งใช้แทนหน้าแรกได้อย่างสมบูรณ์ หากยังไม่เคยลองใช้เมนูเส้นทางหลัก อยากแนะให้ลองครับ สะดวกดี และระบบทำงานเร็วกว่าการเปิดหน้าแรกด้วย

GotoKnow มีบันทึกใหม่ประมาณ 250-300 บันทึกต่อวัน และมีการเข้าระบบเฉลี่ย 967 ครั้งต่อวันในเดือนมิถุนายน ผมคิดว่าน้อยครับ

สรุปว่าไม่สรุปดีกว่า! แต่การที่สมาชิกล๊อกอินเข้าระบบกันน้อย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันน้อยตามที่ตั้งข้อสังเกตกันครับ -- โดยส่วนตัว ผมไม่กังวลเรื่องจำนวนบันทึก+ความคิดเห็น เท่ากับคุณภาพและประเด็นของบันทึกและความคิดเห็น แต่เรื่องของคุณภาพ วัดไม่ได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ครับ

GotoKnow มียอดฝีมือ ยอดนักคิด ยอดนักปฏิบัติใช้งานอยู่มาก หากมีโอกาสได้เสวนากับท่านเหล่านี้ ก็ต้องนับว่าเป็นโอกาสดีในชีวิต แต่ว่าเพชรนั้น คงไม่หล่นอยู่ตามทางที่เราเดินผ่าน ถ้าจะหาเพชร ก็ต้องแสวงหาเอาครับ เมื่อพบแล้ว รับเข้าแพลนเน็ตเลย

หมายเลขบันทึก: 109725เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะคุณConductor

สมาชิกกลุ่ม อ๊อดฯ มารายงานตัวค่ะ  ขอบพระคุณคุณConductor มากๆนะคะ  สำหรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์และให้ความรู้ทันการณ์   ดิฉันอ่านข้อมูลไอทีเข้าใจมากกว่าเดิมเยอะ (ยกเว้นที่เป็นตัวเลขเยอะๆนะคะ)  : )

โดยส่วนตัวดิฉันไม่ลำบากใจกับการสื่อสารแบบแสดงตัวตน (ล็อกอิน)นะคะ  แต่รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกันว่าผู้เข้ามาสื่อสารอาจน้อยลง  เพราะบางท่านที่แวะผ่านมาอาจมีความเห็นดีๆ  แต่มิได้ต้องการแสดงตัว  ท่านเห็นมีข้อจำกัดท่านก็คงไม่เข้ามา 

เคยเห็นpantip มีระบบบัตรผ่าน แต่คงใช้ไม่ได้เหมือนกันหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ 

ว่าแล้วก่อนที่อะไรๆจะมีผลบังคับใช้  ดิฉันคงต้องไปจัดการกับแพลนเน็ตเสียก่อน  เข้ามาเป็นหลายเดือนแล้ว  ยังไม่ได้มีแพลนเน็ตกับเขาเลยค่ะ  

ขอบพระคุณคุณ   Conductor  มากๆอีกครั้งนะคะ

พยายามจะจิตนาการไปถึงสถิติของ blog ต่างๆ หลัง พรบ. คอมฯ ประกาศใช้นะคะ ยังไม่กล้าเดา กลัวใจตัวเอง

แฮ่ๆ อย่าห่วงสถิติมากนักเลยครับ ถึงอย่างไร GotoKnow ก็ไม่ได้ติดโฆษณาหรือมีรายได้แปรผันกับ hitrate

ผมเข้าใจว่า สคส.ตั้ง GotoKnow มาเพื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ของ KM เพื่อให้เกิดเครือข่าย เพื่อการสังเคราะห์ความรู้หลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี ฯลฯ

เชื่อว่าสมาชิกตั้งใจถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก และเป็นกัลยาณมิตรต่อกันอย่างเต็มที่ แม้ผมจะเขียนเรื่องคุณภาพ/ประเด็น ของบันทึก/ความคิดเห็น แต่ก็เชื่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีคุณค่า/ความเหมาะสมไม่เหมือนกันสำหรับสมาชิกแต่ละท่าน แต่เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่ GotoKnow ให้อิสระแก่สมาชิกที่จะเสพเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์/เหมาะสมกับตน

ดังนั้นในระหว่างที่ยังมี GotoKnow อยู่ (หวังว่าจะมีต่อไปเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน) เราก็ควรใช้ GotoKnow ให้คุ้มค่าที่สุด ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมรอบข้างครับ

สวัสดีครับ

ผมมีความเห็นว่า GotoKnowนี้ มีบันทึกดีๆอยู่พอควร แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้น้อยไป และการให้ความเห็นบางทีอ่านดูแล้ว   ส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นเอาใจเจ้าของบันทึก   ไม่ค่อยมีการถามประเภท why /how เท่าใด หรือกลัวจะถูกค้อนก็ไม่ทราบครับ

อ่านพบ2-3 ราย บอกว่า เขาต้องระวังในการให้ความเห็นด้วย

ซึ่งถ้า ให้ความเห็นด้วยความจริงใจและสุภาพก็ไม่น่ามีอะไรนะครับ

แต่สรุป ภาพรวมก็ดีครับ

ผมเห็นด้วยกับคุณกรครับ

คนเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีผิดพลาดได้ มีการสื่อสารไม่สมบูรณ์ได้ เขียนไม่ตรงกับที่รู้สึก ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น นึกประโยคไม่ออก อ่านข้อความผิด อ่านความหมายผิด ตอบไม่ตรงประเด็น ผิวเผิน เกรงใจว่าจะใช้พื้นที่มากไปเลยย่อจนหลุดประเด็นที่อยากเขียน ฯลฯ ไม่ใช่ความผิดที่คนเราไม่สมบูรณ์แบบ

แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือแต่ละคน เรียนรู้อะไรจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น จัดการกับความแตกต่างทางความคิดอย่างไร เรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน เป็นทักษะที่ฝึกได้ครับ

คงไม่มีความจริงใจไปกว่าการพูดความจริง แต่วิธีบอกกล่าวคงมีหลายวิธีที่เลือกได้ครับ -- ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ใช้อีเมลผ่าน GotoKnow ได้ครับ ที่อยู่ของเขาเราไม่ต้องรู้ ที่อยู่ของเราก็ไม่ต้องเปิดเผย GotoKnow จัดการส่งข้อความให้

ไม่มีกระจกส่อง/ไม่ส่องในน้ำ ก็มองไม่เห็นหน้าตัวเองหรอกครับ ถ้ามีกระจกส่องแต่ดันหลับตา ก็มองไม่เห็นเช่นกัน เหมือนมีของที่มีค่าแต่กลับไม่เข้าใจคุณค่า

สวัสดีค่ะ คุณ conductor

เข้ามา "แอบ" อ่านไปสองครั้งก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้ให้ความเห็น เพราะว่าพยายามจับประเด็นและทำความเข้าใจกับตัวเลขค่ะ

ดิฉันอ่านสิ่งที่ท่านบันทึกแล้วเข้าใจว่า 1. หน้าแรกเป็นหน้าที่คนจะเข้ามาคลิกมากกว่าส่วนอื่นๆ 2. การ log in จะเห็นว่าสัมพันธ์เชิงบวกกับการคลิกหน้า dash board  แต่ไม่สัมพันธ์กับการคลิกหน้าแรก 3.ตัวเลขก็เป็นที่มาของสมมติฐานว่าการ log in สัมพันธ์กับการให้ความเห็น...4. แต่การให้ความเห็นนั้นเรื่องคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ....ซึ่งตรงนี้ก็มีอยู่แต่ก็จะดีกว่านี้ถ้าเพิ่มปริมาณของความเห็นคุณภาพ 5. การให้ความเห็นอาจมีมิติของสังคมแบบเกรงใจ ไม่แน่ใจ กลัวเข้าใจผิด ฯลฯ 6. ทางออกคืออาจจะส่งอีเมล์ แทนก็ได้ถ้าอยากบอกแต่ยังติดมิติในข้อ 5 แต่ถ้าพูดความจริงก็ไม่น่ากังวล ฯลฯ

 ขอแสดงความเห็นในข้อ 5 นะคะ ในมุมมองของดิฉัน ดิฉันถือว่าทุกบันทึกที่ไม่ได้ปิดกั้นการให้ความเห็น คือบันทึกเปิด...เป็นการเปิดประเด็น เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วม เปิดสมองให้คิด เปิดเส้นทางต่อยอดฯลฯ......หากมิเช่นนั้นเจ้าของบันทึกคงเขียนแล้วไม่แสดงต่อผู้อื่นหรือปิดการให้ความคิดเห็น ดังนั้นถ้าเรื่องนั้นอยู่ในความสนใจก็ควรสบายใจที่จะพูดคุย...ส่วนจะสาระมากน้อย..บอกยากค่ะ เพราะอารมณ์ของบันทึก(หมายถึงเรื่องที่เขียน บรรยากาศการตอบโต้จากเจ้าของบันทึกฯลฯ) ก็มีส่วนเหมือนกันค่ะ 

อาจารย์จันทรรัตน์P: อาจารย์จับประเด็นมาแบ่งเป็นข้อซะเข้าใจง่ายเลย ขอบคุณอาจารย์มากนะครับ

คนในยุคปัจจุบัน คุ้นเคยกับการสื่อสารทางเดียวจนคิดว่าเป็นการสื่อสารแบบธรรมชาติเช่น

  • การปกครอง คำสั่ง "เจ้านาย"
  • ป้าย เครื่องหมาย
  • หนังสือ ข้อสอบ
  • สื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์; บางอย่างดี บางอย่างไม่ดี แต่ก็เป็นการสื่อสารทางเดียว

ผมคิดว่าเครื่องมือเหล่านี้ ช่วยในการรับรู้มากกว่าเรียนรู้ครับ -- ชีวิตเราต้องใช้ประัโยชน์และผสมผสานระหว่างการสื่อสารทางเดียวกับการสื่อสารหลายทาง; GotoKnow เป็นเครื่องมือช่วยฝึกทักษะเหล่านี้ได้ ถ้าเราเรียนเป็นครับ

GotoKnow.org - คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยกับคุณกร

ยังไม่ได้เป็นสมาชิกค่ะ แต่เข้ามาอ่านบ่อย

ที่นี่ดีนะคะ แต่การแสดงความคิดเห็นค่อนข้างจำกัด

มีเรื่องความเกรงใจเข้ามาเยอะ   อ่านดูจะทราบ ดิฉันว่า บางทีก็ไม่ได้ต่อยอดความเห็นกันเท่าใด

ไม่มีอะไรค่ะ แค่เข้ามาบอกว่า เป็นการเรียนรับ มากกว่าเรียนรู้ ไม่ค่อยมีคำถามแตกยอด มีแต่สนับสนุน

ถ้าเป็นพันทิพย์ จะแตกยอดมากกว่า อาจไม่สุภาพเท่า แต่ก็ดีกว่าเดิมมากค่ะ ตั้งแต่โดนรัฐเข้ามาตรวจสอบ

ทางผู้พัฒนามองเห็นประเด็นเรื่องการต่อยอดความรู้ค่ะ จึงพยายามที่จะออกแบบปรับปรุงระบบให้สนับสนุนการอ่านและการแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มขึ้นค่ะ เช่น

- หน้าแรกจะนำเอาแพลนเน็ตคลังความรู้ย่อยๆ มานำเสนอให้มากขึ้น

- เน้นความสำคัญของหน้าศูนย์รวมข้อมูลมากขึ้น

- แสดงให้เห็น comments ที่เกิดขึ้นของแต่ละ user เป็นต้นค่ะ

ทั้งหมดนี้เป็นการพยายามวิเคราะห์และออกแบบตาม Feedback ที่ได้รับมาจาก users โดยแท้จริงค่ะ ต้องขอบคุณทุกท่านค่ะ

ดิฉันเชื่อว่า หลายๆ ท่านมีความคิดเห็นตรงกันค่ะว่า การที่เราเห็นว่ามีการให้ comments น้อยนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะ GotoKnow เป็นสังคมเปิดเผย และในสังคมไทยมีความเกรงใจ และมีลำดับขั้นทางสังคม (Social status) เป็นรากฐานมานาน จึงทำให้โดยทั่วไปแล้วการแสดงความคิดเห็นหรือโต้ตอบกับคนที่อยู่ในสังคมที่เปิดเผยเช่นนี้ กลับมีน้อยเมื่อเทียบไม่ได้กับข้อคิดเห็นจากใน webboard ค่ะ

คำว่า "สังคมเปิดเผย" ดิฉันหมายถึง มีการแสดงตัวตนชัดเจน หรือบางท่านอย่างเช่น คุณ Conductor แม้จะใช้นามแฝงแต่มี Identity ที่ชัดเจนค่ะ และในแวดวงในโลกแห่งความจริง ผู้คนมากมายรู้จักตัวตนของคุณ Conductor กันมานานแล้วค่ะ หรือท่านอื่นเช่น อ.JJ อ.beeman คนไร้กรอบ เพื่อนร่วมทาง ก็ล้วนใช้ชื่อแฝงทั้งสิ้นค่ะ แต่ท่านจะมีรายละเอียดระบุใน profile ของท่านไว้ด้วยค่ะ

"สังคมเปิดเผย" ขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่นำโลกความจริงลงสู่โลกเสมือน และพร้อมกับการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ของตนเองออกมาโดยตรง เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่เว็บไซต์ GotoKnow ค่ะ

และนี่เป็นการ สร้างความน่าเชื่อถือ และ สร้างคุณภาพของข้อมูล และ สร้างเครือข่ายผู้ชำนาญการต่างๆ ของประเทศได้ดีมากและเรื่องจำเป็นของการจัดการความรู้ของประเทศค่ะ

นอกจากนี้ ถ้อยคำที่เขียนลงไปในบล็อกจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ถือเป็นแหล่งอ้างอิงที่สามารถใช้ได้สำหรับการต่อยอดความรู้เพื่อการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ได้นะค่ะ เพราะมีบุคคลที่แสดงตนอย่างชัดเจนค่ะ

การที่เจ้าของบล็อกใน GotoKnow เข้ามา "ให้" ความรู้ด้วยใจ เมื่อเขาพอที่จะมีเวลาว่างนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมค่ะ :) เพราะเพียงแค่ได้มีคนอ่าน (ดูจากสถิติการอ่านในแต่ละหน้า) เขาก็พอใจแล้วค่ะ แม้จะมีการแสดงความคิดเห็นน้อยก็ตามค่ะ

และบางคนสามารถเขียนบันทึกได้น่าอ่านมาก มีความเป็นกันเอง และเนื้อหาเป็นเรื่องที่นำไปใช้ได้ในวงกว้าง เช่น เรื่องสุขภาพ เป็นต้น และท่านเหล่านี้เปิดเผยตนเองด้วยนะค่ะ ก็จะได้รับข้อคิดเห็น และ คำถาม  และ อีเมล์ เยอะมากจนไม่มีเวลาตอบก็มีอยู่หลายท่านเช่นกันค่ะ


ส่วนทางทีมพัฒนาก็จะพยายามปรับปรุงระบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากขึ้นค่ะ :)

 

เมื่อแรกเริ่มเข้าเป็นสมาชิก ผมมองแบบใช้ความรู้สึกวัดเอา และไม่ชอบเอาสถิติมาเป็นตัวชี้วัดความสุขครับ 

แต่วันนี้คุณ Conductor  ก็มาต่อเติมเสริมประเด็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มองเห็นภาพของประเทศได้มากขึ้น ...ตรงนี้ต้องขอบคุณมากครับ

"สังคมเปิดเผย" สำหรับบ้านเราคงต้องใจเย็นๆ กว่านี้ครับ ทุกอย่างมีวิวัฒนาการ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท