APHN Diploma of Palliative Care ๑๖: การบอกข่าวร้าย


ผมบันทึกต่อ หลังจากต้องหยุดไปเพราะโมเด็มเสียนะครับ

ทักษะการบอกข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็น การบอกการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ว่าคุณกำลังจะเสียชีวิต ทั้งที่บอกผู้ป่วยหรือครอบครัว เป็นประเด็นสำคัญมากๆ ไม่มีใครเถียง แต่สิ่งที่ผมอยากรู้มากๆก็คือ
ศาสตราจารย์ David Currow จะสอนเรื่องนี้ยังไง

ครับ ด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ

แต่เขาไม่ได้ให้ผู้เรียนแสดงเอง เขาให้ผู้เรียนเป็นคนคิดว่า จะพูดว่าอย่างไร เหมือนคนเขียนบทละคร แล้วตัวศาสตราจารย์จะเป็นคนแสดง โดย Meg Hegarty รับบทผู้ป่วยสดๆ ตอบโต้จากความรู้สึกข้างใน กับคำพูดที่เป็นของเราผ่านศาสตราจารย์

ผมนั่งดูการแสดงบทบาทสมมุติชุดนี้แล้วค่อนข้างลำบากใจ ยอมรับครับว่า ดูไม่รู้เรื่อง เพราะคนแสดงจะพูดกันแบบสดๆ มันคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงนั้น ซึ่งผมจับได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารของผมเองจริงๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจับต้องได้ แล้วได้รับการเน้นจากการเข้าไปคุยกับผู้สอนเพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยเข้าใจ ก็คือ มันเป็นเรื่องที่ถูกสื่อสารออกมาจากข้างใน จากภายในใจที่เกิดขึ้นต่อคำพูดก่อนหน้านั้นของคู่สนทนาของเรา ไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากการเรียนมาว่า จะต้องพูดอะไรบ้างตามลำดับ

ตอนอธิบาย เขาเอามือกุมที่หน้าอก แล้วสะบัดมือก่อนชี้ที่ศีรษะ มันเป็นเรื่องจากใจ ไม่ใช่สมอง
เรียกได้ว่า ผมถึงกับอึ้งไปเลย บทเรียนครั้งนี้กระตุกใจผมเอามากๆเลย

เป็นครั้งแรกที่ผมเรียนรู้เรื่องนี้ โดยไม่มีคำพูดที่ว่า หนึ่ง คุณต้องทำอะไร สองคุณต้องทำอะไร พอคนไข้ตอบมาอย่างนี้ คุณต้องตอบว่าอย่างไร อย่างที่เราคุ้นเคย

ผมยังงงๆกับมันครับ แต่เริ่มเข้าใจ มองเห็นอะไรบางอย่างในการสื่อสารของตนเองที่เคยทำมา และคงจะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อได้มีโอกาสทำเรื่องนี้จริงๆกับคนไข้ของตนเองในชีวิตจริง

มาถึงวันนี้ผมประเมินตนเองได้ว่า ผมขยับไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งแล้ว
ไม่น่าเชื่อนะครับ ชั่วโมงที่ไม่่เข้าใจที่สุด ทำให้เราเรียนรู้ได้มากที่สุดอีกครั้ง

<< APHN Diploma of Palliative Care ๑๕: ความเศร้า

APHN Diploma of Palliative Care ๑๗: บทบาทสมมุติ >>

หมายเลขบันทึก: 116926เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าสนใจคะ

ชั่วโมงที่ไม่่เข้าใจที่สุด ทำให้เราเรียนรู้ได้มากที่สุดอีกครั้ง

แล้วศาสตราจารย์ที่สอน นี่ท่าทางจะเรียนการละครมานะคะ สอนแบบนี้ น่าจะประทับใจและสนุกเวลาเรียน

กระผมหอบความคิดถึงและแวะมาบอกข่าวดีที่ เชียงใหม่ สัมมนาการจัดการความรู้ ให้อาจารย์หมอเต็มครับ

 

 

P ครับ

  • แกคงไม่เรียนการละครหรอกครับ แต่เล่นละครชีวิตเลยครับ
  • วิธีการที่ตาโปรเพสเซอร์ใช้นี้ ผมค้นดูเรื่องการเรียนการสอนแล้ว เขามีศัพท์เรียกเฉพาะครับว่า interactive demonstration
  • ข้อดีของวิธีนี้คือ คนที่แสดงเป็นผู้ป่วย สามารถให้ความเห็น บอกความรู้สึกของตนเอง ต่อคำพูดที่นักเรียนคิดขึ้นแล้วสื่อผ่านคนแสดงโดยตรงครับ

P

  • สวัสดีครับ อาจารย์เอก
  • เข้าไปตาม link แล้ว ไม่ถึงครับ
  • ขอไปนอนก่อนครับ 

แวะมาอ่านครับ เห็นจริงว่าขั้นตอน/เทคนิค/ทักษะจะไร้ความหมายถ้าเรามิได้สื่อจากใจ เรื่องร้ายจะกลายเป็นดีได้ใช้ความจริงใจเป็นสำคัญ

P ครับ 

  • ไม่คิดว่า ผมจะตกข่าวงานสำคัญได้ขนาดนี้
  • ดูวันและเวลาแล้ว คงไม่ได้ไปครับ ตรงกับงานประชุมวิชาการคณะแพทย์ ที่ม.อ. และผมรับปากนักศึกษาแพทย์จากอเมริกา ๒ คนว่าจะดูแลเขาช่วงมาดูงานครับ
  • อยากไปมาก อยากเห็นตัวเป็นๆของอาจารย์พิชัย อาจารย์เอก และท่านอื่นๆ ครับ

P

  • นมัสการหลวงพี่ครับ
  • ผมไม่ได้เข้า G2K เสียนาน ห่างพระไปเหมือนกันครับ
  • มีเรื่อง มือซ้ายทำหน้าแตก ของผม อีกแล้วนะครับ นิมนต์หลวงพี่ไปทิ้งรอยเพื่อประเทืองปัญญาผมด้วยครับ 

P

  • ความจริง เรา รู้ นะครับ ว่าเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่ ทำกับข้าว ที่มันต้อง หนึ่ง สอง สาม แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ มัน โดนใจผมอย่างจัง และทำให้ผมเปลี่ยน พฤติกรรม ได้เลยทีเดียว

     นี่เป็นสิ่งที่สร้างความลำบากใจแก่ดิฉันแทบจะทุกครั้งเลยค่ะ อาจารย์ เนื่องจากเวลาตรวจแล้วต้องบอกวินิจฉัยนี่ ดิฉันเลยเลี่ยงไปบอกญาติแทนเป็นส่วนใหญ่ หรือให้คุณหมอที่เค้าส่งตรวจบอกแทนจากในใบreport ค่ะ

      เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อไหร่ก็ยังรู้สึกว่า ทำได้ไม่ดีสักทีค่ะ

P

  • น้องหมออนิศราครับ ผมก็ยังรู้สึกอย่างนั้น มันทำให้เราคิดที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่เรื่อยๆครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท