APHN Diploma of Palliative Care ๑๕: ความเศร้า


เราเรียนรู้เรื่อง ความเศร้า ผ่านภาพยนตร์สั้นจากออสเตรเลีย เกี่ยวกับ ชายชราคนหนึ่ง ที่เพิ่งสูญเสียภรรยาคู่ใจไป

ในภาพยนตร์สื่อให้เห็นชีวิตประจำวัน ตอนที่เขาอยู่กับภรรยาสองคน ฝ่ายหญิงจะรีดนมวัวมาให้เขาผสมกินกับกาแฟตอนเช้าเป็นประจำ แต่เมื่อภรรยาเขาจากไปชีวิตประจำวันเขาก็เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่นั่งซึมอยู่กับเก้าอี้โยก งานส่วนใหญ่ถึงแม้จะมีอาสาสมัครในวัยสูงอายุมาช่วยเป็นประจำ ทั้งการซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน แต่ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิม แม้แต่เสียร้องมอๆ ของวัวคู่ทุกข์คู่ยาก ที่เคยรบกวนเขาอยู่ตลอดเวลาก็หายไป เขาพยายามจะเอาตัวมันไปรีดนมด้วยตนเอง แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมันกลับไม่ยอม  จนกระทั่งวันหนึ่ง เขามองเห็นชุดของภรรยาที่ใส่เวลารีดนม ถูกอาสาสมัครซักแล้วตากอยู่ แล้ววัวตัวนั้นก็ทำให้เขารู้สึกถึง ความผูกพันของมันกับภรรยาและตัวเขา เขาตัดสินใจแต่งตัวด้วยชุดของภรรยา แล้วเอาวัวตัวนั้นไปรีดนมสำเร็จในที่สุด


ภาพยนตร์เติมมุขตลกแทรกไว้ให้เรากลั้วเสียงหัวเราะ เมื่ออาสาสมัครสาววัยไม้ใกล้ฝั่งสองคนผ่านมาเห็นภาพนั้นพอดี ..ชายแก่ในชุดของภรรยา

ภาพสุดท้ายคือ ภาพที่ชายชราผู้นี้เอานมที่ได้จากการรีด เทใส่ถ้วยกาแฟยามเช้าของตนเองในตำแหน่ง ท่วงท่าแบบเดียวกับที่ภรรยาเคยทำให้อย่างไม่ผิดเพี้ยน


ภาพยนตร์เรื่องนี้ยาวไม่ถึง ๑๐ นาที ที่เหลือเป็นการถกปัญหากัน แลกเปลี่ยนในระหว่างผู้เข้าเรียน

ตอนแรก ต้องยอมรับเลยว่า ผมคิดอะไรไม่ค่อยออก แต่พอเริ่มฟังคนอื่นแล้ว ผมเริ่มคิดออกทั้งเรื่องที่ต่อเนื่องกับผู้เรียนคนอื่น และมุมมองใหม่ที่เราผุดนึกออกขึ้นมาเอง เป็นการประสบการณ์การเรียนรู้ที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา หรือ contemplative education ชัดๆอีกครั้งหนึ่งสำหรับตนเอง

เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องความเศร้า พิธีกรรมและการไว้ทุกข์หลังการเสียชีวิตของคนๆหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวมากมาย จากประเทศที่เป็นอู่วัฒนธรรมอย่างจีนและอินเดีย มันทำให้ผมรู้สึกเลยว่า ไทยเรารับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามา ปรุงจนกลายเป็นแบบไทยๆ ได้อย่างแนบเนียน

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ ที่ทำให้ครอบครัวของผู้ตายต้องวุ่นวาย และได้รับแรงสนับสนุนจากเพื่อนฝูงและสังคมรอบข้าง ตั้งแต่การไม่นอน อยู่เฝ้าศพ ที่มีทั้งการดื่มและเล่นพนัน ที่ได้รับการผ่อนปรนเป็นพิเศษ ความเชื่อที่ว่า ๗ วัน ผู้ตายจะกลับมา การฉลองปลดทุกข์ ๑๐๐ วัน และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย

สิ่งเหล่านี้ทำให้ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ของสังคม เป็นสัญญลักษณ์ที่ทำให้ความตาย ไม่ได้ถูกผลักใสให้ออกไปให้ห่างตัวเรา หรือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แต่มีคุณค่าในตัวของมันเอง มีกระบวนการจัดการความเศร้า ที่ถูกสืบทอดต่อๆกันมา จากคนรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่นหนึ่งอย่างมั่นคง เพียงแต่ว่าสังคมปัจจุบัน เรากำลังค่อยๆลืมความหมายที่แฝงอยู่นี้ไปเท่านั้น

เราปิดท้ายกันด้วยคำถามที่ว่า จากภาพยนตร์ ใครคือผู้ที่มาช่วยให้ชายชราคนนี้คลายเศร้า แน่นอน เจ้าวัวคู่ทุกข์คู่ยาก นั่นเอง

<< APHN Diploma of Palliative Care ๑๔: เปิดใจ..ประสบการณ์ส่วนตัว

APHN Diploma of Palliative Care ๑๖: การบอกข่าวร้าย >>

หมายเลขบันทึก: 104632เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อาจารย์เสนอมุมมองต่องานศพที่ทำให้ผมได้จัดกรอบความคิดใหม่ที่บางรคั้งผมก็ไม่ค่อยได้นึกถึง
อาจารย์ครับ ลองเข้าไป ที่นี่ ดูสิครับ จับใจ

สวัสดีครับ คุณหมอ

หายไปนานไม่ได้มาเยี่ยมเลยครับ

ผมเห็นด้วยว่าในปัจจุบันพิธีงานศพของเรามักเน้นที่พิธีกรรมเป็นรูปแบบ มิได้เน้นที่หลักความคิด การระลึกอาอัยถึงคุรงามความดีของผู้ตาย การให้กำลังใจผู้อยู่ และการเจริญมรณานุสติอันเป็นแก่นของพุทธศาสนาครับ

เห็นภาพเลยคะ หนังสั้น 10 นาที เรื่องนี้ มุมมองที่เปลี่ยนความเศร้าเป็นความอบอุ่น

ทำให้เห็นว่า ความตายไม่ใช่ความตาย แต่เป็นสิ่งมีอยู่

และทำให้ใจผู้สูญเสียคลายทุกข์

เคยฟังอาจารย์มาบรรยายเลยขอสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกPalliative care ด้วยคนค่ะ From สมาชิกใหม่(yudya)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท