หนังสือทำมือ (1) : ชมรมวรรณศิลป์อีกกลุ่มวรรณกรรมแรกเริ่มของหนังสือทำมือในรั้ว มมส


มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่คึกคักด้วยบรรยากาศของหนังสือทำมือและมีกลุ่มวรรณกรรมผลิบานขึ้นมาอย่างไม่รู้จบ

อันที่จริงก็รับปาก คุณบอน  ไว้นานแล้วว่าจะเขียนบันทึกถึงเรื่องหนังสือ ทำมือ (มือทำ)  ที่ก่อเกิดและดำเนินไปในวิถีรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ทั้งในฐานะที่เคยคลุกคลีอยู่กับกลุ่มแรกเริ่มและในฐานะที่ร่วมวงไพบูลย์เป็นกลุ่มวรรณกรรมผลิตหนังสือทำมือมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 

 

 

 

อันที่จริงในระยะแรก ๆ ในกลุ่มพวกผมเรียกหนังสือที่ขีด ๆ เขียน ๆ  แล้วทำเป็นต้นฉบับ  เสร็จแล้วก็นำไปถ่ายสำเนาเย็บเล่มด้วยมือโดยไม่ผ่านกระบวนการสำนักพิมพ์นี้ว่า หนังสือทำมือ  แต่เมื่อครั้งที่ได้พูดคุยกับอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี  ปูชนียบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือน ตู้วรรณกรรมเคลื่อนที่  จึงได้รู้ว่าถ้าจะให้ถูกควรต้องเรียกว่า หนังสือมือทำ  !

 

กระนั้นผมก็ขออนุญาตใช้คำว่า หนังสือทำมือ  ก็แล้วกัน  เพราะฟัง ๆ อ่าน ๆ แล้วรู้สึกคล่องหูคล่องตากว่าเป็นไหน ๆ    

 

ในส่วนที่เป็นต้นตำนานการเกิดหนังสือทำมือนั้นผมไม่ทราบแน่ชัด  และอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรีเองก็ไม่ได้ฟันธงชัดเจนนัก  ผมรู้แต่เพียงคร่าว ๆ ว่าในอดีตคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ขึ้น  โดยปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าจังหวัดเชียงใหม่ คือ อีกหัวเมืองหนึ่งที่หนังสือทำมือยังคงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาสืบมาจนถึงบัดนี้

    

 

แต่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ก็ถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่คึกคักด้วยบรรยากาศของหนังสือทำมือและมีกลุ่มวรรณกรรมผลิบานขึ้นมาอย่างไม่รู้จบ  แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะรู้ว่ากลุ่มวรรณกรรมใดที่เป็นกลุ่มแรกในการลุกขึ้นมาเขียนบทกวี เรื่องสั้น ฯลฯ และรวบรวมเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ  ง่าย ๆ จำหน่ายจ่ายแจกแก่บรรดาคอวรรณกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย 

 

 

 

 

ล่าสุดในการเปิดตัวนิตยสาร 3 ฉบับของนิสิต มมส,   ผมก็ได้เรียนข้อมูลนี้แก่นักเขียนซีไรต์ (ไพฑูรย์  ธัญญา)  หรือ ผศ.ธัญญา  สังขพันธานนท์  ว่าหากไม่นับชมรมวรรณศิลป์แล้วต้องถือว่า กลุ่มวรรณกรรมป่งใบ  คือ กลุ่มวรรณกรรมกลุ่มแรกที่เป็นต้นกำเนิดหนังสือทำมือใน มมส (ยุคนั้น คือ มศว มหาสารคาม) โดยหนังสือทำมือฉบับแรกเผยโฉมออกสู่ชาวมมส เมื่อปี 2536

 

 

 

  

แต่ก่อนท่านทั้งหลายจะรู้จักกับกลุ่มวรรณกรรมป่งใบนั้น,  ผมมีหนังสือทำมือ 2 เล่มของชมรมวรรณศิลป์ที่น่าสนใจมาบอกกล่าว,  เป็นหนังสือทำมือที่ทำขึ้นเพื่อประกอบการจัดโครงการ วรรณกรรมสัญจร  ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องมายาวนานถึง 15 ปี

 

 

 

 

เล่มแรกเป็นหนังสือทำมือที่ระลึกในวรรณกรรมสัญจร ครั้งที่ 7  ตอน เพลงภูพาน เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่าวรรณกรรมสัญจรครั้งที่ 7 จัดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติภูพาน จ.สกลนคร  ผืนแผ่นดินที่จิตร ภูมิศักดิ์ (นักรบประชาชน)  ได้จบชีวิตลงที่นั่น

 

 

การไปจัดกิจกรรมที่นั่นจึงย่อมหลีกไม่พ้นต่อการไปย้อนรำลึกตำนานการต่อสู้ของนักรบประชาชนท่านนี้  โดยที่ภายในเล่มหนังสือนั้นมีการบันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ วรรณกรรมสัญจร จากครั้งแรกมาถึงปัจจุบัน  รวมถึงการรวบรวมผลงานของนิสิตที่คัดสรรมาจากเวทีวรรณกรรมสัญจรเมื่อครั้งที่ผ่านมา  ตลอดจนการนำเสนอประวัติของนักเขียนที่เป็นวิทยากรในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน    

 

หนังสือทำมือเล่มที่ 2  ที่ผมนำมาแสดงนั้นเป็นวรรณกรรมสัญจร ครั้งที่  11 ตอน ไปเขาใหญ่  (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)  เล่มนี้ใหญ่หนาผิดกับเล่มก่อนมาก เทคนิคและสีสันก็ดูเจิดจ้ามากกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด เนื้อหาภายในก็หลายหลายขึ้น  และโดยเฉพาะทักษะทางวรรณกรรมของนิสิตก็ดูจะจัดจ้านกว่าครั้งก่อน ๆ  

  

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนังสือทำมือของชมรมวรรณศิลป์ที่ถือได้ว่าเป็นองค์กรนิสิตที่บุกเบิกเส้นทางหนังสือทำมือไว้ใน มมส อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ซึ่งต่อมาไม่นานก็เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มวรรณกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและผลิตหนังสือทำมือออกมาอย่างเป็นทางการให้ได้เสพวรรณกรรมกันอย่างต่อเนื่องและข้นเข้ม !

   

นี่คือ..บางเรื่องเล่าที่บันทึกเบิกร่องก่อนไปสู่กลุ่มวรรณกรรมต่าง ๆ ใน มมส  ที่สร้างปรากฏการณ์หนังสือทำมือได้อย่างน่าอัศจรรย์ !  จนผมอดไม่ได้ที่จะยกย่องว่าหนังสือทำมือ  คือ  พลังทางปัญญาของหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัย

 

หมายเลขบันทึก: 75806เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะ  ^___^

  • เห็นบันทึกนี้ เห็นกิจกรรมนี้ แล้วอยากจะย้ายตัวเองไปอยู่มหาสารคามจังเลยค่ะ อิอิ
  • ชอบเรื่องขีดๆเขียนๆ และการทำหนังสือทำมือเหมือนกัน
  • มีความรู้สึกว่า หนังสือทำมือ มันให้ความจริงใจ จากผู้ทำ ถึงผู้อ่าน เพราะมันผ่านขั้นตอนการจัดทำหลายๆอย่างด้วยมือเราเอง
  • จึวรักหนังสือทำมือ และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของมัน มากกว่าหนังสือที่ได้ตีพิมพ์เสียอีก
  • อยากให้มีกิจกรรมนี้บ้างทางนี้ค่ะ แต่เสียดายที่หาแนวร่วม หรือหาคนที่ชอบเหมือนๆกันไม่ได้เลย (หรือว่าอาจจะมี หรือเราหาไม่เจอนะ T_T )
  • ดีใจที่ได้อ่าน และได้รู้ว่ามีบันทึกนี้
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ^___^
  • เป็นบันทึกที่ดีมากครับ
  • เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือทางเลือกในอีสาน
  • มีภาพประกอบด้วยทำให้บทความรื่นรมย์มาก
  • ขอบคุณบันทึกดีดี
  • มาเลยนะคะคุณk-jira มาอยู่ด้วยกัน  อิอิ ^__*
  • ขอบคุณมากครับพี่มนัสสำหรับ "หนังสือทำมือ"
  • ตอนที่ผมเข้ามาเรียน ป.ตรี ปี 39 ก็ได้ยินชื่อ "ไพฑูรย์ ธัญญา" ว่าเป็นกวีซีไรด์ ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็น รศ.ดร.ไพฑูรย์ สุขศรีงาม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
  • แต่พอเรียนไป ประมาณปี 2 เพื่อนเอกไทยจึงให้ความกระจ่างว่า นามแฝง "ไพฑูรย์ ธัญญา" ก็คือท่านอาจารย์ ผศ.ธัญญา  สังขพันธานนท์ ผู้มีเสียงก้องกัมปนาท
  • ขอบคุณครับพี่มนัส
  • ชื่นชมมมส.ที่ส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย    น่าสนใจมากค่ะสำหรับหนังสือทำมือ  ไม่สงสัยเลยสำหรับสำนวนของคุณแผ่นดินในแต่ละบันทึก   ที่แท้ก็แวดล้อมอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมนี่เอง
หากมีกิจกรรมหนังสือทำมือ  ขออนุญาตให้ครูและเด็กๆที่เม็กดำ   ได้ร่วมเรียนรู้ด้วย  ครับ
  • สวัสดีครับ
    P
     
  • ที่ มมส หนังสือทำมือสร้างนักเขียนไปแล้วหลายคน
  • รวมถึงเป็นกระบอกเสียงของนิสิตที่มีต่อมหาวิทยาลัยและสังคม
  • ที่นี่คึกคัก...และเขียนหนังสือขายกันหลายคน
  • สัปดาห์ที่แล้วก็คุยกับน้องนิสิตว่าน่าจะจัดเวทีรวมพลคนหนังสือทำมือกันอีกสักครั้ง
  • ถ้าเป็นรูปเป็นร่างจะเรียนเชิญมาร่วมด้วยนะครับ...และเป็นกำลังใจให้ที่โน่นไม่เงียบเหงา
ดิฉันชื่นชมท่านที่อ่านวรรณกรรมเหล่านี้ค่ะ...ซึ่งดิฉันไม่มีความพยายามเลยในการอ่าน..ต้องหัดอ่านบ้างแล้วค่ะ....อ้อ...คุณบอกว่าจะไปอุตรดิตถ์พรุ่งนี้...ฉันบอกเคล็ดลับไว้ที่บ้านฉันกลัวคุณไม่ได้อ่านก่อนไปเลยหอบมาฝากถึงที่ค่ะ....คุณกำลังเริ่มจะไม่สบาย? .....เอายาหวัดตามสูตรส่วนตัวซึ่งดิฉันใช้มาแล้วได้ผล(อย่าบอกใครว่าพยาบาลบอกนะคะ..อายหมอ) ....คุณแผ่นดินเบิกยาติดตัวไปเลย..ไปที่อื่นไม่ใช่บ้านเราจะเบิกยาก...ต้องซื้อ...เปลืองตังค์.. ดิฉันมักทาน amoxicillin 500 mg.ครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารเช้า-เที่ยง-เย็น........ยาลดน้ำมูก-แก้แพ้อากาศประเภทchlorphenilamine หรือ sinusaid หรือ actifed อะไรก็ได้..อาจจะง่วง..ไม่งั้นก็ Telfast ไม่ค่อยง่วง.......ยาลดไข้...ยาแก้ไอด้วยค่ะ....ทานเลยก็จะพอทุเลา...มีเรี่ยวแรงทำงานที่ปฏิเสธไม่ได้ค่ะ.... แต่ก่อนเขาให้ทานเมื่อเสมหะข้น...แต่ถ้าดิฉันคอยนานเป็นหวัดมากๆก่อนละก้อ...หัวทิ่ม..ทำงานไม่ได้เลย...ดิฉันชิงทานก่อนค่ะ...ไม่งั้นไม่ไหวค่ะ ....สูตรนี้ของดิฉันเองค่ะ...ห้ามลอกเลียนแบบ.
  • ขอบคุณครับ
    P
    คุณออต
  • หนังสือทำมือที่นี่เติบโตถึงขั้นตั้งเป็นสำนักพิมพ์..ผลิตหนังสือเข้าประกวดจนได้รับรางวัลระดับชาติ
  • รวมถึงทำหนังสือกวีนิพนธ์ส่งชิงซีไรต์และเข้ารอบ 1 ใน 7 เล่มเชียวนะครับ
  • ผมยังเก็บหนังสือทำมือเก่า ๆ ไว้พอสมควร มีคนอยากได้ไปเก็บในห้องจดหมายเหตุอยู่พอสมควร  แต่ผมยังตัดใจไม่ได้
  • ติดตามตอนต่อไปนะครับ
  • เห็นด้วยครับเจ้หนิง...และเห็นทีต้องแต่งตั้งเป็นฑูตไมตรีชักชวนผู้รอบรู้มาอยู่ มมส เสียแล้ว
  • คุณออตก็เช่นกันนะครับ...ยินดีต้องรับเสมอ
  • สวัสดีครับน้องแจ๊ค
  • อาจารย์ธัญญาฯ  เดิมทีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคนเก่าคนแก่ของพรรคชาวดินเลยนะครับ
  • และท่านเป็นผู้จุดประกายความฝันของนิสิตให้เขียนหนังสือและทำหนังสือทำมือกันทุกยุคสมัย
  • ขอบคุณนะ..ที่แวะมาทักทายอย่างสม่ำเสมอ
  • สวัสดีครับ
    P
  • วันนี้ดอกไม้ผลิบานกี่ดอกแล้วครับ
  • ผมชอบอ่านวรรณกรรมโดยเพาะเรื่องสั้นและนวนิยาย แต่ระยะหลังไม่ค่อยมีเวลาอ่านเลยครับ
  • ที่สถาบันมีนักศึกษาจับกลุ่มวรรณกรรมและทำหนังสือทำมือกันบ้างหรือเปล่าครับ
  • เรียนอาจารย์
    P
    ด้วยความเคารพ
  • ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ...ที่จะมีโอกาสร่วมเรียนรู้ด้วยกัน
  • สวัสดีครับอาจารย์
    P
  • ผมจดรายการยาให้เพื่อนชีวิตจัดเตรียมให้ และนี่คือครั้งแรกของการเดินทางที่ต้องตระเตรียมเวชภัณฑ์ยาไปด้วย
  • ส่วนเรื่องวรรณกรรมนั้น  ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับในกลุ่มวิชาชีพเช่นอาจารย์จะไม่คุ้นเคยที่จะอ่านหนังสือประเภทนี้...
  • แต่สำหรับผมชอบทุกอย่างที่เป็นหนังสือ และชอบให้หนังสือกับคนรอบข้างเสมอครับ
  • สุขภาพแข็งแรงเสมอไปนะครับ...

 

คุณแผ่นดิน...ปกติไม่ค่อยได้ยุ่งกับกิจกรรมของเด็กๆค่ะ งานพวกนี้จะให้อาจารย์เด็กๆในคณะรับผิดชอบ เพราะรู้สึกว่าเรามีช่องว่างกับเขามากแล้ว ส่วนใหญ่จะทำพวกงานประกันคุณภาพ งานบริการวิชาการมากกว่าค่ะ
  • สวัสดีครับอาจารย์ลูกหว้า
  • ถึงแม้ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าอาจารย์ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ของนิสิตอยู่แล้ว
  • งานบริการวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกระบวนการพัฒนานิสิตและชุมชนที่ดีเช่นกัน
  • ขอบคุณครับ และขอให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานเสมอไป นะครับ
     
อาภาภรณ์ จันทะสิงห์
หนังสือน่าอ่านมากค่ะ เห็นแล้วอยากจะไปเข้าร่วมกิจกรรมจังค่ะ

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นศิษย์เก่า เอกไทยมมส.รหัส 46 กำลังมีโครงการที่จะปั้นนำเป็นตัวอยู่ค่ะ คือดิฉันเป็นอาจารย์ที่อยากจะพาลูกศิษย์ทำหนังสือทำมือ หากต้องการติดต่อวิทยากรสักคนมาให้ความรู้ ไม่ทราบว่ามีคนจะแนะนำได้ไหมคะ

สวัสดีครับ เหมยอิง

ขออนุญาตลัดคิวสนทนากรณีเร่งด่วน

ตอนนี้ มมส  มีกลุ่มหนังสือทำมือที่มีษักยภาพ  กวาดรางวัลมาก็เยอะ ...

บางคนโตไปเป็นนักเขียนแล้วก็มี

ขณะที่สายอุบลก็มีกลุ่มวรรณกรรมที่น่าสนใจ  เหมือนกัน

ผมแนะนำก่อนแล้วกัน คือ คุณสัญญา  พานิชเวช  ..ตอนนี้เป็นเลขาธิการสโมสรนักเขียนอีสาน... ทีมงานก็มีเยอะที่จะไปช่วย  ดีไม่ดีผมอาจพานิสิตไปร่วมแจมด้วย

หรือโทรไปหาเจ้าตัวที่นี่ก็ได้ครับ ...081 0606880

หรือจะให้ผมคุยให้ก่อนก็ได้ เผื่อบางทีเจอเบอร์แปลก ๆ แล้วไม่รับสาย  ..

 

สวัสดีอีกครั้งค่ะ คุณแผ่นดิน

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าจะผ่านมาหนึ่งปีเต็มๆ แล้ว ข้อความล่าสุดในกระทู้กลับยังสิ้นสุดอยู่ที่คำแนะนำที่คุณ

ได้ให้ไว้กับดิฉัน ต้องขอบคุณมากๆ ค่ะ

และกิจกรรมหนังสือทำมือครั้งนั้นก็จัดขึ้นและสำเร็จไปด้วยดี มากกว่าที่คิดอีกนะคะ

เพราะผลงานที่เด็กทำ ได้รับรางวัลจากห้องสมุดประชาชนของทางจังหวัดด้วยค่ะ

ตอนที่จัดครั้งนั้นได้เชิญนักเขียนมาหลายท่านเลยค่ะ..หนึ่งในนั้นก็มีคุณสัญญา คุณไพวรินทร์ ขาวงาม

คุณโกสินทร์ ขาวงาม คุณไพฑูรณ์ ธัญญา และกลุ่มคนทำหนังสือร้อบแสงจันทร์ของมมส. ด้วยค่ะ

เพราะพอคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่บ้าง

ถ้ามีโอกาสก็จะจัดงานแบบนี้ขึ้นมาอีกนะคะ

ไม่รู้ว่าผ่านไปหนึ่งปีแล้ว หนนังสือทำมือที่มมส. เป็นยังแล้วบ้าง อาจจะคึกคักกว่าเดิมก็ได้นะคะ

เพราะเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่หัวครีเอทเยอะ หนังสือทำมือก็เป็นทางหนึ่งที่จะได้เผยแพร่ความคิดให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ..

ใครแต่งหนังสือเรื่องไปเขาใหญ่ค่ะแล้วพิมที่สำนักอะไรค่าช่วยบอกทีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท