ผักตบชวา สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ


ผักตบชวา สร้างเงิน สร้างรายได้

เรื่องนี้อยากให้ทุกท่านที่ผ่านมา ช่วยทนอ่านให้จบด้วยครับ เผื่อว่าท่านจะได้แนวทางหรือแนวคิดในสิ่งที่ท่านคาดไม่ถึง นำไปเป็นประโยชน์ ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของท่านได้

ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเกษตรกรรายหนึ่ง ชื่อพ่อหนูปัน บุตตะ อยู่ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างอีกรายหนึ่งที่ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตนเอง สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับตนเองด้วยวัสดุที่หลายคนมองว่าเป็นวัชพืช แต่เมื่อได้ไปเห็นการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ของพ่อหนูปันแล้วก็ทึ่ง ทำให้เกิดแนวคิดแตกแขนงต่อยอดไปมากมาย 

ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ก่อน พ่อหนูปัน มีอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง มีข้าวกินจากการเช่าที่นาของผู้อื่นปลูก จ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนานั้น แบ่งกันคนละครึ่งกับเจ้าของที่ดิน เสร็จจากฤดูทำนาก็จะไปรับจ้างตัดอ้อยที่เมืองกาญจน์ ต่อมาเมื่อปี 2541 พ่อหนูปัน ได้เห็นไก่งวงที่ชาวบ้านที่เดินทางไปตัดอ้อยเลี้ยงไว้ จึงอยากจะได้มาเลี้ยงไว้ที่บ้านให้ลูกหลานดูเล่น จึงขอซื้อมา 1 คู่ (ผู้ 1 เมีย 1) ในราคาคู่ละ 500 บาท

ผ่านไป 1 ปี ไก่งวงที่เลี้ยงก็ออกลูกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ให้ผลผลิตไม่มากนัก เนื่องจากลูกไก่ตายเป็นจำนวนมาก และเงินที่ใช้ซื้ออาหารไก่ก็ร่อยหรอ ไก่ได้กินอาหารไม่เพียงพอ

พ่อหนูปันมองไปรอบ ๆ บ้าน ก็เห็นแต่ผักตบชวา เพราะบ้านแกอยู่ติดกับแหล่งน้ำที่ยังไม่ได้รับการขุดลอก จึงเอาผักตบชวานั้นโยนไปที่คอกไก่งวง จะด้วยความหิวหรือธรรมชาติการกินอาหาร ไก่งวงจิกกินผักตบชวาที่โยนขึ้นมาจากน้ำ เมื่อเห็นเช่นนั้น พ่อหนูปันจึงทดลองไม่ให้อาหารเช้าแก่ไก่ ให้เฉพาะผักตบชวาเท่านั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์ แรก ๆ ก็กินไม่มากนัก ต่อมาไก่ก็ชักเริ่มคุ้นเคย รู้แล้วว่ามื้อเช้าไม่มีอาหาร จึงต้องกินผักตบจนอิ่ม ถึงเที่ยงพ่อหนูปันจึงนำอาหารที่ผสมขึ้นจากรำ ปลายข้าว และหัวอาหารให้กิน เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับร่างกายไก่งวง

หลังจากนั้นพ่อหนูปันก็พบว่า สามารถลดต้นทุนด้านอาหารได้มาก ซึ่งไก่ก็ให้ผลผลิตมากขึ้น ดูเหมือนว่าจะแข็งแรงขึ้นด้วยซ้ำ สังเกตุจากลูกไก่ไม่ตาย และโตเร็ว ให้เนื้อมาก ให้ลูกมาก สามารถขายได้ราคาดี อีกทั้งเมื่อปี 2547 ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกมากๆ นั้น ไก่งวงของแกไม่ตายแม้แต่ตัวเดียว พอไก่อายุได้ 6 เดือน ก็สามารถขายได้ในราคาตัวละ 500 บาท

นอกจากนั้นพ่อหนูปันก็ได้ลองนำเป็ดเทศ และไก่สามสาย(เป็นลูกผสมระหว่างไก่เนื้อ ไก่ไข่ และไก่พื้นเมือง) มาเลี้ยงด้วยวิธีเดียวกันนี้ ก็ให้ผลดีเช่นกัน แต่เดี๋ยวนี้จะต้องเลี้ยงผักตบไว้ และมีรถวิ่งไปบรรทุกผักตบชวาจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาให้ไก่กิน

ถึงปัจจุบัน พ่อหนูปันมีที่ดิน 43 ไร่ และมีควาย 14 ตัว ซึ่งแกบอกว่าเป็นผลผลิตจากไก่งวงเพียงคู่เดียวนี้เอง  หากคิดเป็นเงินก็คง "หลักล้าน" น่าจะได้ครับ ในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่จะล้มเหลวเพราะการระบาดของโรคไข้หวัดนกแล้ว พ่อหนูปันก็บอกว่ากลัวเหมือนกัน แต่ก็ด้วยใจรัก กอปรกับการพัฒนาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง พัฒนาโรงเรือนให้ไก่นอนอย่างมีความสุข พัฒนาด้านวิชาการโดยการให้วัคซีนไก่ตามโปรแกรม ป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าโรงเรือนก่อนได้รับอนุญาต และจะพัฒนาต่อไปถึงรูปแบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด คือป้องกันไม่ให้นกธรรมชาติ หรือสัตว์พาหะเข้าไปคลุกคลีกับไก่งวงที่เลี้ยงไว้ได้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงนี้ลงได้มาก

และยังมีแผนการพัฒนาการเลี้ยงควาย โดยคาดหวังไว้ว่า เมื่อถึงปี 2555 แกจะมีควายประมาณ 50 ตัว และมีที่ดินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และหลักประกันที่ดีให้กับตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวของพ่อหนูปัน บุตตะ เกษตรกรตัวอย่างของจังหวัดอุดรธานี ยังมีรายละเอียดอีกหลายประการ แล้วจะเล่าให้ฟังอีกนะครับ เกี่ยวกับการให้อาหาร การดูแลแม่ไก่ ลูกไก่

ท่านใดมีคำแนะนำเพิ่มเติมก็ลองแลกเปลี่ยนได้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 166497เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 04:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะ ปรกติไม่ค่อยได้ตามข่าวทางด้านการเกษตร เพราะค่อนข้างไกลตัว แต่พอดีเห็นพาดหัว เรื่องผักตบชวาก็เลยสนใจค่ะ ตอนนี้อยู่ที่เม็กซิโก แล้วที่นีมีทะเลสาบที่ใหญ่มาก แต่มีปัญหาเรื่องผักตบชวา กำจัดไม่หมดสักที ขนาดมีผู้เชี่ยวชาญจากญิ่ปุ่นเข้ามาช่วยแก้ไขก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ สงสัยต้องให้พวกเม็กซิกันไปดูงานบ้านพ่อหนูปันแล้วล่ะค่ะ แต่ยังไงตอนนี้จะเอาความคิดเรื่องเลี้ยงไก่งวงไปเสนอดูก่อนค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • คนรจะรวยช่วยไม่ได้จริงๆ
  • ผักตบชวานี่ก็เป็นประโยชน์ได้หลายอย่างนะคะ
  • ทำกระเป๋าอะไรก็ได้ด้วย
  • เกษตรกรไทย จงเจริญ

ครับ พี่อักษร ทับแก้ว ลองเข้าไปดูไฟล์อัลบั้มนะครับ ผมได้โพสท์ภาพพ่อหนูปัน กำลังนำผักตบชวาให้ไก่งวงกิน แถมจะต้องปลูกผักตบไว้ส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งผมต้องการให้ผู้ใหญ่ในบ้านเราลองนำแนวคิดเช่นเดียวกับพี่อับษร ไปส่งเสริมให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณอ่างน้ำที่มีผักตบชวาหนาแน่น ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย win win กล่าวคือ เกษตรกรก็ได้ผลผลิตจากการเลี้ยงไก่ ส่วนทางราชการก็ได้ผลประโยชน์คือไม่ต้องจ่ายเงินเป็นค่ารื้อผักตบปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งไม่นานผักตบก็กระจายอีก

คุณ pa daeng  ใช่ครับ คนจะรวยห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง แต่นั่นคือผลของความขยัน มุ่งมั่น ตั้งใจจริง มองรอบๆข้าง ดูศักยภาพของตนเองว่าทำอะไรได้บ้าง เรียกว่า วิเคราะห็ภูมิสังคมของตนเอง และขนขวายหาความรู้อยู่เสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะปฏิบัติเหมือนกัน แล้วได้ผลเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่า พื้นที่ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติมีอะไรให้หยิบฉวยมาทำ โดยยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของตน

ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ

สวัสดีครับคุณหมอ

  • ได้ยินเรื่องผักตบชวาและวัวควายแล้วผมรู้สึกมันเขี้ยวครับ
  • เพราะนั่นคือวัสดุและเครื่องจักรทำปุ๋ยอินทรีย์ชั้นยอด
  • เพียงนำผักตบมาโยนเข้าทิ้งไว้ในคอกวัวควาย
  • เครื่องจักรมีชีวิตเขาก็จะสตาร์ทเครื่องผลิตไปเรื่อยๆ โดยมีส้วนผสมหลักๆก็คือของเสียจากตัวเครื่องจักรเอง ทั้งในรูปของเหลวแบบข้น  และของเหลวแบบน้ำ
  • ไม่ช้าไม่นานส่วนผสมก็กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นยอด
  • ผุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ผมทำเป็นมาตั้งแต่เด็กๆครับ (เป็นหน้าที่โดยตรงซะด้วยซิครับ)
  • ทราบมาว่าหมูเหมยซานก็ชอบ แต่เพิ่งมาได้ความรู้เพิ่มจากคุณหมอว่าเป็นอาหารไก่งวงได้ด้วย
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆเช้นนี้ครับ
  • สวัสดีครับ
  • ยอดเยี่มครับ คุณครูวุฒิ หากเกษตรกรเลี้ยงวัวหรือควาย ครอบครัวละ สอง สามตัว แล้วล่ะก็ ปีนึงๆ ก็มีปุ๋ย ประมาณ 1 ตัน/ตัว มีวัว 2 ตัว ก็มีปุ๋ย 2 ตัน
  • ถ้าเอาเศษวัชพืช เช่น ฟาง หญ้า ผักตบชวา แกลบ มารองพื้นด้วยแล้ว จะทำให้ได้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นอีกมาก
  • อย่างนี้แล้วจะไปง้อปุ๋ยเคมีที่ตั้งหน้าตั้งตา ขูดเลือดที่กำลังจะเหือดแห้งจากเกษตรกรไปใย
  • นั่นสิครับ
  • ธรรมชาติบ้านเราเจ๋งกว่าอยู่แล้ว
  • คุณหมอเห็นด้วยไหมครับ ว่าปุ๋ยเคมีจำเป็นก็แค่ตัวเสริมนิดๆหน่อยๆ คล้ายๆที่เราต้องให้ลูกกินนมแม่หรือนมวัวนั่นแหละครับ  ข้าวปลาต่างหากที่เป็นอาหารหลัก
  • ที่ผ่านมาเกษตรกรเราถูกรัฐและพ่อค้าแม่ค้าเร่งเร้าจนหลงทาง  จึงคอยซื้อแต่นมราคาแพงมาเลี้ยงลูกแทนข้าวปลาอาหารตามปกติวิสัยธรรมชาติ
  • ไม่เป็นไรครับ  ต่อไปนี้ปุ๋ยเคมีจะแพงมากจนเกษตรกรจะต้องหันมาสนใจของเก่าจากธรรมชาติดังเดิมแน่ๆครับ
  • สวัสดีครับ

ขอบพระคุณ คุณครูวุฒิครับ

แน่นอนครับ ฝรั่งมันรู้ไงครับ ว่าไม่มีอะไรที่วิเศษเท่าธรรมชาติอีกแล้ว เมื่อมีเงิน มีโอกาส จะมาดื่มด่ำธรรมชาติแถวบ้านเรา โดยเฉพาะปัจจุบัน สปป.ลาวมาแรงมากๆ เขามีจุดขายมากมายเกี่ยวกับธรรมชาติอันบริสุทธิและหลากหลาย อาหารปลอดสารพิษ วิธีชาวบ้านที่เรียบง่าย 

"อยากให้คนไทยหันไปใช้วิถีธรรมชาติ ผสานเศรษฐกิจพอเพียง"

 

แต่ผักตบชวามันโตเร็วมากๆ เรานำมาใช้ประโยชน์ไม่ทันมันแพร่พันธุ์มังคะ

คุณพี่ Sasinanda ครับ

  • ผักตบชวามันโตเร็วและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมากครับ ในเวลา 1 เดือนจากต้นหนึ่งสามารถขยายทวีคูนเป็นร้อยได้
  • แต่ในกรณีของ นายหนูปัน แกมีผักตบไม่พอเลี้ยงไก่งวงจำนวนนับพันตัว เพราะมันกินเฉลี่ยวันละหนึ่งต้นต่อตัวครับ เลี้ยงไก่กว่าจะได้ขายก็ใช้เวลา 6 เดือน (180 วัน) x 1,000 ต้น = 180,000 ต้น ถ้า 1 ปี ก็คูณ 2 อีกที 
  • อย่างนี้ทำให้รัฐบาลไม่ต้องลงทุนในการซื้อเครื่องจักรมาใช้ให้โลกร้อนขึ้นอีก... ถ้ารู้จักส่งเสริมให้ถูกที่ถูกทาง รู้จักใช้พลังงานจากธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ 

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจ  

สวัสดีครับ บ้านผมอยู่บุรีรัมย์ตอนนี้ผมก็มีปัญหาเรื่องอาหารของไก่งวงครับ บางทีก็ท้อแท้ใจกับการเลี้ยง ก็อย่างที่ว่าลูกไก่งวงตายครับแล้วไก่ก็กินเยอะ ผมมีไก่อยู่ 3คู่แต่ลูกตาย 2รุ่นแล้ว อยากได้คำแนะนำดีๆ จะได้มีกำลังใจสู้ต่อ ขอบคุณครับ (แต่ผมไม่ถอยง่ายๆหรอกครับ)

เรียนคุณ DegreSpeed

ดีครับอย่าท้อ เพราะคำว่าท้อและถอยคือจุดจบแห่งการทำงานนั้น เป็นกำลังใจให้ครับ หากต้องการเสริมสร้างกำลังใจให้มีมากขึ้น ก็ลองไปเยี่ยมชมฟาร์มนายหนูปัน ดูนะครับ ได้พูดคุยกับแกแล้ว ทำให้ผมรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะต้านทานความพยายามของมนุษย์ได้ จากผู้ที่ไม่มีอะไรเลย จนมีอยู่มีกินในบั้นปลายของชีวิต

คือผมอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ครับ ผมอยากเลี้ยงไก่งวงครับ ผมสามารถหาซื้อได้ที่ไหนครับ

เอาบริเวณใกล้จังหวัดผมหน่อยนะครับ ขอขอบพระคูณมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ติดต่อโดยตรงทางอีเมลได้นะครับ หรือ โทร 0844758400

สวัสดีค่ะ

***ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์

***งานด้านการเกษตรเรียนได้ไม่รู้จบจริงๆนะคะ

เรียน คุณเล็ก

ก็คงเป็นที่บุรีรัมย์นั่นแหละครับ หรือไปดูที่มหาสารคามที่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนฯครับ หากจะใช้มากก็คงต้องสั่งที่ภาคกลางครับ เด๋วอีกไม่นานผมคงต้องสั่ง เพราะทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรเสนอขอใช้งบประมาณของ อบต. อยู่ครับ

เรียน คุณกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอบคุณครับ ผมกำลังตัดต่อวีดีโอคำพูดของพ่อหนูปัน อีกเด๋วก็คงได้ชมกันเต็มตาครับ

ภาพนี้คือนายหนูปัน บุตตะ

สวัสดีครับคุณหมอเล็ก

ขอบคุณน่ะครับ ตอนนี้ไก่งวงของผมกำลังอยู่ในช่วงทดลอง(แถวบ้านเรียกลองผิดลองถูงครับ)พอจะรู้แนวทางการเลี้ยงแล้วครับจากคำแนะนำของหลายๆท่านที่เลี้ยง แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อมหลายๆอย่างครับ ทั้งสถานที่ โรงเรือนที่จัดการเป็นระบบเล็กๆแบบพอเพียง ผมกะว่าประมาณ 1ปี ก็คงจะทำได้ ขอบวชทดแทนคุณเมีย โอ๊ะ....แม่.. ก่อนครับ

ตอนนี้กำลังทำงานเก็บเงินอยู่ครับ ขอบคุณคุณหมอเล็กน่ะครับสำหรับกำลังใจ ถ้าหมอเล็กว่างเมลย์มาคุณกับผมได้ไหมครับ ผมจะได้ขอคำแนะนำดีๆหลายเรื่อง ขอบคุณครับ

เรียน คุณ DegreSpeed

ยอดเยี่ยมครับ สู้ๆ ลองทำต่อไปครับ อย่าโหมทำครั้งเดียวทีละมากๆ หากพลาดจะทำให้เราหมดกำลังใจครับ ตอนนี้ผมก็ลองเลี้ยงเช่นกัน ทั้งไก่งวง เป็ดบาบารี่ เป็ดปักกิ่ง และกบ อย่างละนิดละหน่อย จดบันทึกค่าใช้จ่าย การเจริญเติบโต การกินอาหารของมัน จนกว่าจะได้จำหน่าย หรือให้ผลผลิต ลองดูซิว่าจะให้ผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด

เป็นกำลังใจให้ครับ

อ่านแล้วขนลุกเลยครับ ขอบคุณ คุณหมอเล็กที่ช่วยเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับสังคม ผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาโอกาสเกี่ยวกับอาชีพการเกษตร เบื่องานในนิคมฯเต็มทนแล้วครับ

ที่บ้านมหาสารคามลองใช้ผักตชวาเลี้ยงหมูค่ะ คือแรกๆลองโยนให้กินดูก่อนปรากฎว่าหมูชอบมาก ตอนนี้ให้เท่าไหร่หมูกินหมดเลยที่บ้านเลี้ยงหมูไว้6ตัวให้กินผักตบในช่วงเช้า5-6กระสอบปุ๋ยหรือมากกว่านั้นหมูก็กินหมด จนพ่อบอกหามาให้กินไม่ทัน ช่วยในเรื่องลดค่าอาหารได้พอสมควรและสังเกตุดูหมูสุขภาพดีอ้วนถ้วนดีค่ะ ถ้าใครเลี้ยงหมูก็ลองให้ผักตบชวาเสริมดูนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท