ชีวิตจริงของอินเทอร์น : เรียนรู้วิธีการสร้าง " แรงบันดาลใจ" แบบสัตยาไส(๒)


 

 

สร้างคนดีเหนือสิ่งใด

 

 

ในการสร้างแรงบันดาลใจ การสื่อความหมายด้วยคำพูดให้ผลเพียง ๑๐% อีก ๙๐% มาจากการสื่อความหมายที่ได้มาจากกริยาท่าทาง ความคิด ที่มีพลังสื่อถึงกันจากภายใน ตัวครูเองต้องเป็นคนที่คิดดีด้วย จึงจะมีพลัง

  

 

ที่สัตยาไสมีกฏสำหรับครูที่ดีอยู่ ๒ ข้อ คือ

 

๑.  จงเป็นตัวอย่างที่ดี   จึงจะสื่อความหมายในทางที่ดีให้กับเด็กได้ 

๒.  จงกลับไปดูที่ข้อ ๑ ใหม่ ว่าตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดีหรือยัง คำพูด การกระทำ ความคิด จิตใจ ต้องสอดคล้องกันตลอดเวลา

  

 

ถ้าวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ การสร้างคนดีเหนือสิ่งใด    ครูควรจะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างท ี่เด็กทำเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  อาจมีบางสิ่งที่เด็กไม่ควรทำ แต่เมื่อเขาทำแล้ว การลงโทษ เป็นเพียงแค่การระงับการกระทำของเขาเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น และถ้าเรากดดันเขามาก ในที่สุดเขาก็จะระเบิด และจะยิ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กมากขึ้น เราจึงควรทำต่อเขาด้วยความเมตตาเสมอ

  

 

การเข้าใจผู้เรียน ให้เริ่มที่การให้ความรัก ความเมตตา เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ครูคือคนที่จะถามให้เขาตอบ ให้เขาคิด และเรียนรู้ด้วยตัวเอง แค่ครูถามว่าสิ่งที่เขาทำนี้เกิดจากความรักความเมตตาหรือเปล่า

  

 

เราจะลงโทษอย่างไรให้เขาเกิดการเรียนรู้  จะลงโทษอย่างไรที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้เรียน เช่น เมื่อเด็กโกรธกัน ให้หันหน้าเข้าหากันในโต๊ะทานข้าว ถ้าใครอยากทานข้าวก็ให้เขาป้อนอีกคนหนึ่งก่อน เมื่อเด็กเขาทำไปเรื่อยๆอีกพักหนึ่งเขาก็จะเริ่มหัวเราะ หยอกล้อ ดีกัน เหมือนเดิม และจะเริ่มได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาว่าการโกรธกันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร

  

 

การที่เด็กมาสายแล้วให้ไปวิ่งรอบสนาม เป็นการลงโทษที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมาสาย และทำให้เด็กเกลียดการวิ่ง ไม่อยากออกกำลังกาย การลงโทษขอให้เกี่ยวข้องกับการช่วยเขาให้เกิดการเรียนรู้ ได้เกิดความเข้าใจจริงๆ ให้เด็กเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ครูต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากใจของเขา

  

 

อย่างเด็กที่มาสาย ตอนแรกผมยอมเหนื่อยไปตามเขามา ในที่สุดเขาก็เห็น และเข้าใจว่าผมเหนื่อยที่ต้องออกไปหา ไปชวนเขามาที่ห้องเรียน ผมไม่ต่อว่า ไม่ลงโทษ แต่ทำให้เห็นว่าเราสนใจอยากให้เขามาเรียน วิธีการก็อยู่ที่แผนของครูแต่ละคนว่าจะสอนให้เขาเรียนรู้อย่างไร   ที่ใช้บ่อยคือนิทาน การทำบทบาทสมมติ ในการสอนผมก็จะรอให้ทุกคนมาพร้อมกันก่อนจึงค่อยสอน เด็กจะค่อยๆปรับตัวเขาเอง ถ้าเขาเห็นว่าเราใช้วิธีที่มีเหตุมีผล

 

 

 

 

เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ

 

 

 

 

การเป็นแบบอย่างที่ดีของเราช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายมาก เพราะเขาเรียนรู้จากการเลียนแบบ ครูต้องเป็นตัวอย่างของคนดี ที่เชื่อในสิ่งที่เราพูด   และเมื่อเราพูดออกมาจากใจ  การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เชื่ออย่างนั้น พูดอะไรออกมาก็จะไม่มีพลัง ไม่เข้าถึงใจของผู้เรียน   สิ่งนี้นักเรียนรู้ได้จากใจของเขา  เราต้องเป็นแบบอย่างของสิ่งที่เราสอน และห้ามครูสอนในสิ่งที่ยังปฏิบัติไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 87615เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 12:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีจังครับ

ครูของเด็กที่บ้านคือพ่อและแม่ ขอบคุณสำหรับความรู้และข้อคิดที่ดีเช่นนี้ จะได้นำไปใช้กับเด็กๆ ที่บ้านครับ

ครับเป็นไปตามทฤษฎี Modeling ของ Albert Bandura ครับ...

ขอบคุณมากครับ...

ครับ ครูต้องเป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดี อย่าเป็นแม่ปูที่สอนลูกให้เดินตรง แต่ตัวเองเดินไม่ตรง ในอิสลามการกระทำที่ออกมาจากผู้สอนต้องไม่ขัดคำพูด ไม่งั้นจะถือว่าเป็นบาป    ขอบคุณครับ

เห็นด้วยกับทุกท่านค่ะ ขอบคุณ Mr.Direct ที่แนะนำทฤษฎี modeling ให้รู้จักค่ะ หากมีโอกาสต้องตามไปหาอ่านแน่นอน และขอขอบคุณคุณ abukaisan สำหรับความรู้ที่มอบให้ด้วยนะคะ ขอตอบแบบคุณพลเดชว่า "ดีจังค่ะ" ที่ได้เห็นความงามของนานาทัศนะ ที่มากรุณามาแลกเปลี่ยนกันที่บันทึกนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท