เคลื่อนทัพจัดการความรู้ กรมอนามัย ตอนที่ 5 ... ชั่วโมงคุณเอื้อ และกระบวนทัพ KM กรมอนามัย (1)


กรมอนามัยได้ใช้ KM เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่นำมาพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร

 

ตอนนี้ไม่ตั้งใจให้ข้ามไปหลายบันทึก แต่ก็คงต้องตัดค่ะ เพราะว่า มันย๊าว ยาว กลัวผู้อ่านอ่านไม่หมดค่ะ

เวทีนี้ คุณหมอนันทา อ่วมกุล ... เจ๊ดันแห่งกรมอนามัยเป็นผู้นำเล่าเรื่องนะคะ

ท่านเริ่มเกริ่นสักเล็กน้อย เพื่อให้ชาว KM รู้จักกรมอนามัยกันก่อนค่ะว่า ... กรมอนามัยนั้นเป็นกรมวิชาการที่เป็นองค์กรหลักในการดูแลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี ในมุมมองของการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพ และปฏิบัติได้เอง

ในส่วนพันธกิจของกรมอนามัยนั้น ก็คือ การผลิตองค์ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม การทำให้การบริการในส่วนต่างๆ เช่น โรงเรียน ร้านอาหาร โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก มีมาตรฐาน ปัจจุบัน กรมอนามัยได้ใช้ KM เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่นำมาพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร

วันนี้กรมอนามัยนำคุณเอื้อ 3 ท่าน มาให้ชาว KM ได้รู้จัก

  • ท่านผู้นำทีม ก็คือ ท่านรองอธิบดีกรมอนามัย นพ.ประเสริฐ หลุยเจริญ CKO ของกรมฯ ค่ะ
  • ท่านที่สองคือ ผอ.วนิดา สินไชย ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ผู้นำทีม KM กรมอนามัยต้นแบบท่านหนึ่ง
  • ท่านที่สาม คือ ผอ.ดาริณี นาคะประทีป ผอ.กองคลัง ผู้บุกเบิก KM GFMIS จนเป็นที่สงสัยของชาว KM ด้านการเงินค่ะ ว่าทำได้ยังไง
  • และยังมีคุณเอื้อท่านที่ 4 และทีม KM กรมอนามัยที่จะมาร่วม share เรื่องราวกันค่ะ

มาฟังเรื่องเล่าของคุณเอื้อทั้ง 3 ก่อนนะคะ 

พญ.วนิดา สินไชย ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น ... เล่าเรื่องการเอื้อให้บุคลากรของศูนย์ฯ ทำงาน KM กันได้

  • ผอ.วนิดา ทำงานมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นลูกหม้อของกรมอนามัย จึงมีใจรักในหน่วยงาน และทำงานมาทั้งด้านบริการในโรงพยาบาล ทำงานในพื้นที่กับจังหวัดที่รับผิดชอบ
  • ผอ.ใช้วิธีการให้ผู้ปฏิบัติงาน สรุป และเขียนเนื้อหางานที่ออกไปปฏิบัติทุกครั้ง พร้อมๆ ไปกับการส่งหลักฐานการเบิกจ่าย ... เนื้อหางานต่างๆ เหล่านี้ก็นำมาให้ผู้ร่วมงานได้อ่าน เพื่อได้รู้จักพัฒนา สื่อความรู้เนื้องานของตัวเองให้กับคนอื่นๆ สิ่งนี้ ผอ.ได้ทำมานานแล้วตั้งแต่ใช้กระดาษ จนใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกข้อมูล หรือสื่อความรู้เรื่องงานของตัวเองให้กับผู้อื่นได้รู้ และช่วงหลังๆ ก็มาทำในเรื่องของ Portfolio
  • วิสัยทัศน์ของศูนย์ กำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า จะพัฒนาคนของศูนย์ฯ และคนในพื้นที่รับผิดชอบมีจิตสำนึกในการดำเนินการ จึงมีวิธีการต่างๆ ทั้งกิจกรรม รางวัล และอื่นๆ อยู่แล้ว
  • เริ่มปี 2546 เมื่อได้รู้เรื่องของ Psycho Show และปิ๊งกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นการทำให้คนที่ผ่านการอบรมฯ ไปแล้วทำงานนั้นๆ ได้ จึงนำมาให้บุคลากรในศูนย์ฯ ได้รับการอบรม และมุ่งการพัฒนาทีมเพื่อให้มีการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ
  • หลังจากนั้น ได้ให้การสนับสนุนการจัดอบรม อีก 5-6 หลักสูตร เกี่ยวกับการพัฒนาคน พัฒนาองค์กร ภาวะผู้นำ การสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ อบรมให้กับบุคลากรทั่วทั้งศูนย์ฯ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร จนถึงคนขับรถฯ
  • ผอ. ให้ความสำคัญกฎระเบียบ และเปิดโอกาสให้บุคลากรทำงานได้โดยพิจารณาให้ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ
  • ส่งเสริมให้มีการนำกระบวนการ KM มาใช้ในการประชุมสัมมนากับหน่วยงานในพื้นที่ โดยที่บุคลากรต้องมีการฝึกอบรมในการเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มสัมมนา

ผอ.ดาริณี กองคลัง กรมอนามัย

  • งานของกองคลังต้องทำตามกฎระเบียบ
  • เมื่อเริ่มมีการจัดการความรู้ กองคลังได้ทำเป็นโครงการนำร่อง หลังจากได้ประเมินตนเองแล้ว และในปี 2548 การบริหารการเงินการคลังได้กำหนดให้นำระบบเข้าไปจัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ GFMIS งานนี้เป็นงานใหม่ กองคลังจึงได้นำเอาประเด็นในเรื่องนี้มาทำในเรื่องของการจัดการความรู้
  • กองคลังได้ตั้งคณะทำงาน โดยตั้งคนที่ชอบทำ และอยากศึกษาในเรื่องนี้ประมาณ 3-4 คน
  • ตอนแรกๆ คุยกันเองในกองคลัง ต่อมาได้มีการแลกเปลี่ยนกับงานการเงินของกองฯ อื่นๆ และ ศูนย์อนามัย ก็ได้พบว่า ที่ศูนย์อนามัยได้ทำนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจ จึงนำมาจัดทำเป็นคู่มือ
  • สนับสนุนการทำ Portfolio โดยตั้งต้นจากการเขียนอะไรก็ได้ที่คิดว่า เป็นเรื่องที่น่าอ่าน
  • สนับสนุนการทำการจัดการความรู้แล้วมาทำเป็นคู่มือ เช่น การลดขั้นตอน
  • สนับสนุนให้ทุกคนมีความรู้อย่างเท่าเทียม สามารถตอบคำถามผู้ที่สอบถามเข้ามาได้เหมือนกัน และให้มีการบันทึกคำถาม-คำตอบนั้นไว้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้อื่นได้เรียนรู้ไปด้วย
  • ทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงานดีขึ้น โดยตั้งต้นมาคุยกันในเรื่องความสำเร็จของงานที่ทำไป แล้วมาเล่าสู่กันฟัง
  • สนับสนุนให้มีการนำข้อมูลคำถาม-คำตอบ ในเรื่องของการทำงานในกระดานสนทนา

คุณพี่เปี๊ยก (พรรณี) หัวหน้างานพัสดุ กองคลัง กรมอนามัย เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำ KM ของกองคลัง ด้วย spec ที่มีเทคนิคในการทำงานกับคน และมีความมุ่งมั่น

พี่เปี๊ยกเล่าว่า ... เมื่อ KM เข้ามา งานพัสดุเป็นงานที่ยาก มีความซับซ้อน มีความสับสนในตัวระเบียบ เราอยากให้มีการจัดการให้ได้ความรู้ที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ เป็นเรื่องเป็นราว และให้ความรู้ไหลเวียนไปทั่วทุกคน เพราะผู้บริหารก็จะบ่นเสมอว่า แก้ไปแก้มา แก้หลายเรื่อง แก้แล้วแก้อีกไม่จบไม่สิ้น

ตอนนี้กำลังทำในเรื่องของการแปลระเบียบออกมาเป็น คำถาม-คำตอบ ให้เจ้าหน้าที่ทำ ทำด้วยความคิดของตัวเองว่า จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เจ้าที่ทำงานได้ด้วยความถูกต้องมากยิ่งขึ้น และพัฒนาได้มีประสิทธิภาพ แต่ว่ากองคลังเป็นงานหลักของกรมฯ เราก็จะจับจับหัวปลา คือ การบริหารการเงินการคลังตามระบบ GFMIS มันก็จะไหลเวียนไปใน 5 ฝ่าย

พี่เปี๊ยกก็มีสโลแกนในเรื่องของการทำ KM นะคะ ว่า

  • ... เสียสละ อย่างมีความสุข
  • ... อดทน มุ่งมั่น มุ่งความสำเร็จของงาน
  • ... กินเงินเดือน ปชช. ภาษี ปชช. ก็ต้องรับใช้ ปชช.

นี่ละคะ พี่เปี๊ยกของเรา ชาวกรมอนามัย

CKO กรมอนามัย นพ.ประเสริฐ หลุยเจริ

  • ผมเป็น CKO ได้ โดยให้ความเชื่อมั่นในความสามารถของชาวกรมอนามัย
  • การบริหารบุคลากรกรมอนามัย ต้องให้เกียรติทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักวิชาการ ให้ความสำคัญในตัวบุคลากร
  • ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น และการกระทำของบุคลากร เพราะแต่ละคนต่างก็มีความกระตือรือร้นในการทำงาน สิ่งที่เขาทำดีก็ให้โอกาส สิ่งที่เขายังไม่ทำก็ต้องส่งเสริมฯ เน้นย้ำให้เกิดความกระตือรือร้น ให้มีการขับเคลื่อน โดยใช้วิธีการหลายๆ แบบ ตามบริบทของนักวิชาการแต่ละกลุ่ม
  • ผมส่งเสริมให้เขาทำงานได้สะดวก ทำงานให้ได้โดยง่าย ลดอุปสรรค ปัญหาเรื่องไม่มีเวลา งานเยอะ งบประมาณไม่มี ก็ต้องช่วยบรรเทาปัญหานั้นๆ โดยการพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาสายตรง ให้เขามีเวลามาทำงานมากขึ้น การจัดหางบประมาณมาช่วยเสริม ... “ทำอย่างไรให้เขาทำงานได้สะดวก ช่วยแก้ปัญหา”
  • การสนับสนุนให้มีการเรียนรู้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบ เช่น ในเรื่องของการจัดการความรู้ ในบริบทของระบบการทำงานอื่นๆ เช่น PMQA ISO HA โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เพื่อช่วยให้มีการทำงานต่างๆ นี้ให้เป็นระบบขึ้น ให้บริการกับลูกค้าได้ง่ายดายขึ้น
  • ส่งเสริมการทำ KM ให้เป็นงานประจำ ไม่เป็นการเพิ่มภาระงาน ให้เห็นความสำคัญว่า จะทำให้งานของเราเป็นระบบ ระเบียบขึ้น คนอื่นได้รู้งานของเรามากขึ้น
  • ในอนาคตผมตั้งใจสนับสนุนให้มีส่วนงานที่ทำในเรื่อง KM ประจำกรมอนามัย
  • ผมสนับสนุนให้บุคลากรแสดงออกในเรื่องความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน โดยให้ยึดในหลักการเดียวกัน คือ KM ไม่มีผิด ไม่มีถูก

เบื้องต้นนะคะเนี่ยะ ยังมีตอนต่อไปละค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 65015เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2006 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท