ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ... Shopping KM สไตล์ สบาย สบาย (5)


พอใครสอนเสร็จก็เสร็จ แต่ตอนนี้ทุกครั้งที่กลับจากพื้นที่ จะมีกลุ่มเพื่อนครูอาสาที่คอเดียวกัน ว่า เอาตำบล เวทีของชั้นเป็นอย่างนี้ ที่ดูแล้วเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ของคุณบ้างนะ มันก็เกิดบรรยากาศที่ว่า เกิดการแลกเปลี่ยน เป็นเวทีเล็กๆ ที่เรียกว่า เป็นการสกัดความรู้ เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันภายในองค์กร ของแต่ละตำบล ก็มาโยงกันได้ ผมว่า ถ้าทุกแห่งทุกทำลักษณะนี้ มันก็คือภาพของประเทศไทยได้

 

ช่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เส้นทางสู่ความสำเร็จ : ประสบการณ์การทำงาน KM" ช่วงต่อมา กรมอนามัยได้รับเกียรติจากครูนงเมืองคอน ... คุณครูจำนง หนูนิล หรือครูนอกโรงเรียน เจ้าของรางวัลสุดคะนึง จาก สคส. เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ค่ะ ... ท่านถือเป็นคุณอำนวยผู้เยี่ยมยุทธ์ จากเมืองนครศรีธรรมราชค่ะ ดิฉันขอนำคำเล่าของครูนง มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เส้นทางสู่ความสำเร็จ : ประสบการณ์การทำงาน KM"

"หน้างานของผม ... ผมเป็นครูนอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน จ.นครศรีธรรมราช งานของผมมากมายเหลือเกิน เพราะว่าเป็นครูคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ

ตั้งแต่ปี 2546 ครับ เราถูกศึกษานิเทศก์เข้าไปตรวจงาน และขอดูชิ้นงานว่า งานที่คุณทำมาปีๆ นั้น ไม่รู้ว่ากี่ล้าน ผลสัมฤทธิ์ของคุณอยู่ที่ตรงไหน ไหนกลุ่มอาชีพ ไหนคือผู้เรียน เราก็ใช้หลักสูตรที่กระทรวงให้มาสำเร็จรูป ไปสอนชาวบ้าน ซึ่งพาเรียนรู้ก็ไม่ได้ บันทึกก็ไม่มี ร่องรอยก็ไม่มี tacit หรือผู้เรียนที่สำเร็จมา ก็หาไม่ได้ ... ในฐานะที่ผมเป็นทีมงานคนหนึ่ง ใน กศน. ก็คิดว่า ปัญหานี้ถ้าปล่อยไว้ก็ไม่ดีแน่ ก็มาคิดกันว่า เราจะทำยังที่จะทำให้ผู้ที่ผ่าน กศน. แล้วมีความรู้ มีอาชีพที่ดีขึ้น ตรวจวัดได้ จับต้องได้

ก็มาปรึกษาหารือกัน ตอนนั้น KM ยังไม่เกิด แต่ผมก็ไม่ทราบว่าเกิดหรือยัง ก็คุยกันว่าจะทำอย่างไรดี มาคิดกันว่า เครื่องมือที่ว่า เราจะเอาอะไรมาให้ชาวบ้านอยากรู้อยากเรียนอะไร ก็ได้เรียนได้รู้ ก็คิดโครงการอาชีพขึ้นมา ของเราก็เลยมุ่งให้ชาวบ้านอยากรู้อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน และก็มีองค์ความรู้เกิดขึ้น และอาชีพก็ประสบความสำเร็จด้วย ก็เห็นว่าโครงการอาชีพนั้น ก็จะเป็นนวัตกรรมตัวหนึ่งที่จะไปใช้ตอบสนอง ไม่ต้องไปเอาหลักสูตรที่ไหน ชาวบ้านอยากรู้อยากเรียนอะไรก็คิดเค้าโครง เนื้อหา วิธีการเรียนต่างๆ เอา ไม่เอาวิทยากรจากภายนอกแล้ว หาผู้เรียน ผู้สำเร็จในชุมชนด้วยกันเอง รวมกลุ่มกัน 20 คน หรือภูมิปัญญา หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ว่าจะแลกเปลี่ยนได้ เราคิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่านี่คือ KM ของอาจารย์หมอวิจารณ์ บังเอิญการคิดอย่างนั้นมันมาตรงกัน ที่ว่า ... ใครดี ใครเก่ง ใครรู้ ก็มาให้การแบ่งปันคนอื่น ... และผมมาทราบคำตอบทีหลังว่า อันนี้มันเป็นเทคนิคชั้นสูงอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ... เราทำของเรามานานแล้ว ...

เราทำตรงนั้น ด้วยกระบวนการที่เรามีคุณอำนวย ซึ่งเป็นครูอาสาในแต่ละพื้นที่ตำบล ครูอาสาย่อมรู้ว่า ข้อมูลพื้นฐาน ทุนเดิมของชาวบ้านเรื่องอาชีพ ทุนความรู้ ทุนเงิน เขาอยู่กันยังไง ในการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ในโครงงาน เขาก็ศึกษาด้วยการจับเอาชาวบ้านที่มารวมตัวกันว่า เขาอยากรู้ อยากเรียนอะไร วิธีการใด ออกแบบกำหนดเนื้อหาเลย เวทีแรกจะกำหนดเป้าหมายอะไร ตอนนั้นไม่มีคำว่า Knowledge Vision เราคิดกันว่า พวกคุณอยากเรียนอะไร ครูอาสาก็ไปทำเวทีชาวบ้าน พูดคุยกัน เพื่อที่จะเอาเนื้อหาที่เขาอยากเรียนมากองให้ดูว่า มันมีกลุ่มก้อนเนื้อหาอย่างไรบ้าง และวิธีการเรียนจะมีการสาธิตให้ดูไหม คือ ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้เอง จากแต่ก่อนนี้ วิทยากรภายนอกที่ กศน. จ้างจะเป็นคนสอนสำเร็จหมดเลย จ่ายค่าตอบแทน สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ... เอาใหม่ เอาแบบที่คิดเองเลย ว่า อยากรู้เนื้อหาใด อยากเรียนวิธีไหน ด้วยวิธีใด อยากจะไปดูผู้ที่สำเร็จในอาชีพในต่างหมู่บ้านไหม ก็สามารถที่จะยกมาเป็นวิธีการเรียนรู้ของเขาได้ นี่เป็นวิธีการเรียนของเขาเวลานั้น

ครูนงเมืองคอนเอาสั้นๆ เพราะเวลามีน้อยนะครับ ... จากการที่เราทำแบบนั้น เราทำมา 2 ปี จนถึงต้นปี 2548 เรามีกลุ่มอาชีพตามความต้องการชาวบ้านเกิดขึ้น 46 กลุ่ม เช่น กลุ่มเครื่องเงิน กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ กลุ่มทำปลาส้ม กลุ่มมัดย้อม กลุ่มน้ำขิง ก็เกิดขึ้นตามความต้องการมากมาย ทีนี้พัฒนาการการทำงานของเราตอนนั้น เราก็คิดว่า การเรียนรู้ก็ขยายวงเรียนรู้เพิ่มขึ้น จากชาวบ้านแต่ละคนมารวมกัน 20 คน เป็นกลุ่ม แล้วใช้โครงงานอาชีพเป็นนวัตกรรมในการเรียนรู้ เขาได้เรียนรู้กันขึ้นมาถึง 46 กลุ่ม เราก็คิดว่าน่าจะจัดเป็นเครือข่ายเรียนรู้กัน คือ เพิ่ม degree การเรียนรู้ที่สูงขึ้น กลุ่มนี้อาจจะแคบไป ก็มาจัดประเภทของเครือข่าย คือ เกษตรอินทรีย์ เอากลุ่มปุ๋ยหมัก 20 กลุ่มมาโยงกัน มีการเลือกประธานเครือข่าย กำหนดวันที่เครือข่ายจะมาพบปะเรียนรู้ ประเด็นใดที่จะเรียนรู้ วันใด เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ทุกวันที่ 28 ของเดือนจะมีการพูดคุยกัน มีความรู้จากกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยกัน อาจจะพบกับผู้รู้ภายนอก เช่น หมอดิน เกษตร แล้วแต่เรื่องที่เขาโยงไปถึงจะเป็นใคร ก็จะไปโยงตรงนั้นมา เอาภายนอกมาบวกด้วย กับความรู้ภายใน

นอกจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ก็มีเครือข่ายการเลี้ยงโค คือ เนื้อหา กศน. จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะหลักสูตรสายสามัญ มันจะไปตามความต้องการ เราทำของเราแบบนี้ จากกลุ่มมาเป็นเครือข่าย โดยการที่เรียกว่า ครูอาสา คือ ครูอาสา เราถูกฝึกมาให้เป็น FA ตั้งแต่ก่อนนี้นานแล้ว เป็นครูผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เราทำให้ครูเขาทำหน้าที่ของเขาตรงนั้น ทำอยู่อย่างนี้ในทุกครั้งที่มีเวทีพูดคุย จะเป็นเวทีระดับกลุ่มหรือเครือข่ายก็ตาม ครูไม่ได้เป็นวิทยากรเนื้อหาต่อไปแล้ว ที่จะมาสอนชาวบ้านทุกเรื่อง เดี๋ยวนี้ไม่สอนแล้ว เลิกแล้วครับ ... ครูอาสาก็จะมาทำหน้าที่ตั้งคำถาม จับประเด็น โยนประเด็น ให้เขาได้พูด ได้คุยกัน อย่างนั้น เรียกว่าเป็นแบบรูปที่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วในตอนนี้

เราก็ทำมาอย่างนี้สักพักหนึ่ง ก็ถูกหน่วยงานอื่นมอง พอดีจังหวะตอนนั้น จังหวัด CEO จังหวัดนครฯ นี่ กำลังต้องทำโครงการนำร่อง จัดการความรู้เรื่ององค์กรการเรียนชุมชน และพอดีไปลงทำในพื้นที่อำเภอเมืองที่ผมทำอยู่ เขาก็ว่า ก็คุณทำกลุ่มอาชีพอยู่ ทำเครือข่าย ทำให้โครงการเป็นนวัตกรรม มีคุณอำนวย โยงให้ชาวบ้านได้เรียนรู้กัน นั่นแหล่ะ คือการจัดการความรู้แล้ว เอามั๊ย คุณมาเป็นทีมทำงานกับผม ผู้ว่าฯ ก็ตั้งผม กับครูอาสาอีก 3 ท่าน ไปเป็นทีมคุณอำนวย ในโครงการจัดการความรู้ องค์กรการเรียนชุมชน ทำ 3 ตำบล ในอำเภอเมืองตอนนั้น ตอนนั้นเราก็ไปทีมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ราชภัฎ เกษตร พัฒนาชุมชน กพส. พอส. สหกรณ์ 9 หน่วยงานตอนนั้นทั้งหมด ไปเป็นลูกทีม ไปเป็นเครือข่าย ในการทำงานจัดการความรู้ เรื่อง องค์กรการเรียนชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ เนื้อหาทำนองนี้

... ท่านผู้ว่าฯ ซึ่งความเดิมท่านอาจจะสนใจตรงนี้อยู่แล้วก็ได้นะครับ ... ในทุกครั้งที่เรามีการถอดบทเรียน เรามีการทำเวทีไปเดือนละ 2 ครั้ง ให้ชาวบ้านเขามีเวลา 15 วัน และมาแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เดือนละ 2 ครั้ง แต่ละครั้ง เรามีคุณอำนวย 3 ตำบล คุณเอื้อด้วย พวกหัวๆ พวกเกษตรจังหวัด สหกรณ์ ผู้อำนวยการ กศน. กกส. มาร่วมรับฟัง ร่วมทีมคุณอำนวย จากพื้นที่มาเล่ากันให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ผู้ว่าฯ ก็ลงมาด้วย มารับฟังความคืบหน้า ปัญหางานที่คุณอำนวยไปลุยกับคุณกิจ แต่เป็นกองทุนหมู่บ้านไหนก็ไป แล้วแต่ เวทีนี้เรียกว่า คุณอำนวย + คุณเอื้อ เป็นวงเรียนรู้ตรงนั้น เดือนหนึ่งเราก็จะมีการเรียนรู้กันครั้งหนึ่ง ผู้ว่าฯ ก็รับทราบ งานของเราในพื้นที่อย่างนี้มาโดยตลอด 6 เดือน และโครงการจัดการความรู้องค์กรการเรียนชุมชนผ่านไปครับ

ผลจากโครงการจัดการความรู้องค์กร มันมีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมายว่า ในการทำงานตรงที่ความสำเร็จ มันต้องใช้เรื่องไหน ปัจจัยใด ซึ่งระดับคุณกิจ ก็คือพวกกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้านต่างๆ ก็มีการเรียนรู้ และมีการบันทึกความรู้ ระดับของคุณกิจ ... แต่วงคุณอำนวยเราก็ทำของเราอย่างนี้ งานของเราในฐานะคุณอำนวยคืออะไร เราทำได้หรือไม่ได้ ในแต่ละสมรรถนะของคุณอำนวย ก็มีการมาเล่า อบอุ่นดี ทั้งคุณอำนวย + คุณเอื้อที่ว่านี้ หรือบางครั้ง ท่านผู้ว่าฯ ไม่มีเวลาลงมา ท่านก็เชิญเราไปที่ห้องของท่านก็หลายครั้ง

สิ่งนี้ทำให้เวลาถอดบทเรียนออกมานี้ งานก็สำเร็จ ชาวบ้านก็มีความพึงพอใจ ผู้ว่าเองก็เห็นว่า จากที่เราทำจุดเล็กๆ 3 ตำบลนี้นะครับ มันได้ผล มันก็คืบเป็นว่า 3 ตำบลที่เรานำร่องไปนี้ ผู้ว่าฯ จะทำทั้งจังหวัด คือ เห็นแล้ว ปิ๊งแล้ว ก็ต้องการทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตรงนี้ เพราะมันตอบสนองยุทธศาสตร์อะไรต่างๆ เยอะแยะมากมาย ท่านก็เลยมาโยงกับยุทธศาสตร์แก้จนว่า จะสามารถใช้ KM มาเป็นเครื่องมือได้อย่างดี

ก็จากการที่เราทำตำบลนำร่อง ท่านก็ขยายทำเต็มทั้งจังหวัด 1,575 หมู่บ้าน เริ่มปี 2549 ตรงนี้ 400 หมู่บ้าน 14.5 ล้านบาท ใช้โครงการ KM อย่างที่เราทำใน กศน. อ.เมือง แบบเดียวกับกับที่เราทำองค์กรชุมชน แล้วบวกกัน 3 ปี รวม 85 ล้านบาท จนถึงปี 2551 ซึ่งอันนี้เขาเรียกว่า ด้วยกระบวนเรียนรู้ที่เราไปทำอย่างนี้ เล็กๆ ง่ายๆ ไม่น่าเชื่อว่า ระดับผู้ว่า CEO จะเห็นความสำคัญ และระดมภาคส่วนมาด้วยหมด รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน คุณประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ (ผู้นำชุมชนบ้านไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ ประจำปี 2547 สาขา ผู้นำชุมชน) ก็มาเป็น เขาเรียกว่าเครือข่ายยมนาภาคประชาชน (เครือข่ายยมนา มาจาก ย = ยางพารา ม = ไม้ผล และ นา = นาข้าว) มาร่วมแจมหมดเลย ในทุกขั้นตอนของวงเรียนรู้ มีบันทึกความรู้ ซึ่งบันทึกความรู้ของคุณอำนวยซึ่งเรียกว่าดีหน่อย เพราะมีความรู้ปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ก็น่าจะได้บันทึกไว้ใน weblog

เราคิดกันไว้ว่า จะให้ตำบลทุกตำบลที่เดินงานจัดการความรู้ อาจให้ชื่อโครงการจัดการความรู้นี้ชื่อว่า โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ชื่อมันยาวมาก แต่ผมเอาสั้นๆ แค่นี้ครับ คุณอำนวยทุกตำบลต้องเล่างานของเขาผ่าน blog ต่อไป ตอนนี้ที่เราทำไป ก็ด้วยความสมัครใจ เรามี blog ที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจที่จังหวัดนครฯ ในโครงการแก้จนประมาณ 20 blog เมื่อเราได้คืบเคลื่อนไปว่า ได้อบรม หรือทำขึ้นมาก็คงจะมี blog เกิดขึ้นมาอีกมากมายครับ"

มีประเด็นที่คุณครูนงได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ก็คือ

  1. วิธีการทำให้เกิดกลุ่มของการเรียนรู้ถึง 46 กลุ่ม ทำได้โดย ... ขั้นตอนนี้ ครูอาสาในพื้นที่เป็นคน monitor คือ เขาเห็นความเคลื่อนไหวในชุมชนของตนเองหมด ในเรื่องลักษณะอาชีพที่เขาประกอบอยู่ เขาทำอยู่อะไรบ้าง ประสบการณ์เดิม ความรู้เดิม อาชีพเดิมที่เขาทำอยู่ คืออะไร ก่อนที่เราไป เราก็ตกลงกันแล้วว่า พวกคุณทั้งหลายจะลงไปในชุมชน อย่าไปทำอะไรที่มัน shock ความรู้สึกของชาวบ้าน อย่าไปทำเรื่องใหม่ ประเด็นใหม่ ให้สืบสาวราวเรื่องไปจากความรู้ ความคิด หรือทุนเดิม หรือความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม อาชีพเดิมของเขา ให้ใช้ตรงนั้นเป็นฐาน เพราะฉะนั้นกลุ่มอาชีพที่จะมารวมกัน ก็คือกลุ่มเดิม ความสำเร็จเดิมที่ทำอยู่ แต่ว่าตั้งเป้าหมายใหม่ ว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไร จากของตรงนั้น หัวปลาตัวใหม่ของกลุ่มคุณคืออะไร ให้ไปทำเวทีตรงนั้นให้ออก เรื่องใหม่จะน้อยมาก เพราะว่าประสบการณ์เดิม บทเรียนเดิมที่มีว่า ถ้าเราเอาอะไรเข้าไปที่เป็นของใหม่ปั๊บ ชุมชนจะแตกตื่นวุ่นวาย มันรับไม่ได้ ต้องใช้ลักษณะการเรียนรู้เดิมมาเป็นฐาน
    พบสิ่งที่เกิดเป็นการเรียนรู้ใหม่ของกลุ่มคุณอำนวย ครูอาสา ... พอเราทำไป ก็เกิดความรู้ และทุกครั้งคุณอำนวย ครูอาสา กับทีมงานก็จะต้องเอากระดาษปรู๊ฟ ที่เขียนอะไรก็แล้วแต่ กลับมาที่ทำงานก็มาคลี่ดู ว่า วันนี้ชาวบ้านแต่ละคนมีความคิดความเห็นอะไร มาถอดกันดู ซึ่งบรรยากาศนี้ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมี ไม่เคยมี พอใครสอนเสร็จก็เสร็จ แต่ตอนนี้ทุกครั้งที่กลับจากพื้นที่ จะมีกลุ่มเพื่อนครูอาสาที่คอเดียวกัน ว่า เอาตำบล เวทีของชั้นเป็นอย่างนี้ ที่ดูแล้วเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ของคุณบ้างนะ มันก็เกิดบรรยากาศที่ว่า เกิดการแลกเปลี่ยน เป็นเวทีเล็กๆ ที่เรียกว่า เป็นการสกัดความรู้ เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันภายในองค์กร ของแต่ละตำบล ก็มาโยงกันได้ ผมว่า ถ้าทุกแห่งทุกทำลักษณะนี้ มันก็คือภาพของประเทศไทยได้
  2. ผู้ว่าฯ ให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรม อาจเป็นเพราะว่า ... ผมว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ คือ วิสัยทัศน์ของจังหวัดนครฯ มีว่า "นครแห่งการเรียนรู้ เกษตรท่องเที่ยวน่าอยู่ สู่สังคม พัฒนาอย่างยั่งยืน" ท่านผู้ว่า ท่านเอาคำหลังสุด คือ “อย่างยั่งยืน” ตรงนี้ท่านบอกว่า จะพัฒนาใดๆ ก็แล้วแต่ให้ใช้ความรู้นำจึงจะยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นในประสบการณ์ที่เราทำทั้งตำบล พอถอดบทเรียนออกมาแล้ว มัน happy กันทุกฝ่าย ท่านบอกว่า KM นี่ละ จะมาทำให้นครเรายั่งยืนได้ เอาก่อนเพื่อนเลย ยุทธศาสตร์แก้จน เราเอา KM มาเป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้แก้จน ซึ่งในการแก้จนของท่าน ท่านไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า เรื่องรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง แค่นั้น ไม่ได้มองเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ท่านมองในทุกๆ มิติ สุขภาพ ก็เหมือนกัน ถ้าดีก็ไม่ต้องไปใช้ 30 บาท คุณกิจและชาวบ้านครัวเรือนที่เข้าร่วม ก็สามารถตั้งเป้าแก้จนในเรื่องสุขภาพได้ อย่างที่นครฯ ก็มีหมออนามัย สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดก็เป็นคุณเอื้ออยู่แล้ว มีนโยบาย แต่ข้างล่างก็ตั้งเป้าได้หมด ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ศิลปะ คุณธรรม ก็ได้ด้วย ซึ่งตรงนี้เรามองคำว่า “จน” บูรณาการมาก พอวิสัยทัศน์จังหวัดเป็นอย่างนี้ ท่านผู้ว่ายังว่า ทำตรงนี้มันจะยั่งยืน มันตอบโจทย์ นครแห่งการเรียนรู้ได้ สิ่งนี้ผมเดาใจท่าน ว่าท่านคงคิดอย่างนี้ เพราะท่านได้รับรู้ในขั้นตอนที่เราทำโครงการนำร่องมาโดยตลอด
  3. การทำให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มเป็นเครือข่ายที่ต่อเนื่อง ... ในระดับของกลุ่มอาชีพ ที่ว่ามี 46 กลุ่ม มีผู้เรียนอาจมากกว่า 20 อาจขยายไป 20-30 หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนที่มาเวทีแต่ละครั้ง ที่ครูอาสานัด ก็ไม่ได้บังคับ เป็นไปตามความสมัครใจของน้องที่จะมา ส่วนระดับเครือข่ายที่สูงขึ้น ก็เอาตัวแทนกลุ่มมา ไม่ได้มาทั้งหมด อย่างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ก็มาจากปุ๋ยหมัก กลุ่มนี้เราก็มากลุ่มละ 3 คน มารวมกันเป็นเครือข่าย ก็เรียนรู้กัน เครือข่ายก็เป็นคุณอำนวยไปเลย พอระดับเครือข่าย ประเด็นเรียนรู้อะไรประธานเครือข่ายก็นำกระบวนการเรียนไปเลย แรกๆ ผมก็จะทำให้ดูก่อนครั้ง สองครั้ง แล้วเขาก็เดินได้
  4. เรื่องของการบันทึก ... ก็มีการบันทึกของเครือข่าย สำหรับผู้เรียน อย่างโครงการแก้จนเมืองนคร อันนี้คุณกิจ คือ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ปี 2549 เรามา 400 หมู่บ้าน 25,000 ครอบครัว คุณกิจทุกคนจะมาปลูกพริกแก้จน จะมาทำน้ำหมักชีวภาพแก้จน หรือจะมาทำเรื่องสุขภาพอะไรแก้จนก็แล้วแต่ ก็จะได้รับหนังสือสำหรับบันทึกความรู้ของตน ว่าตั้งเป้าไว้อย่างไร กระบวนการทำอย่างไร ฟังเพื่อนบ้าน ครัวเรือนที่มีลักษณะเดียวกันเขาเล่า เราจดความรู้อะไรไปได้บ้าง และเวลาที่ทีมคุณอำนวยตำบล ซึ่งมีตำบลละ 3 คน อาจจะมีครูอาสา เกษตรตำบล พัฒนากร หรือหมออนามัย ไปซักไปถามว่า คุณช่วยเล่าทีซิว่า กระบวนการรายละเอียดที่ฝังลึกลงไปตัวคุณนี้ คืออะไร ให้เขาเล่า และคุณอำนวยอาจช่วยจดไว้ประกอบด้วย เพราะว่าทักษะคุณกิจบางคนอาจจดยังไม่ดี เรื่องเล่า คุณอำนวยก็จะจดให้แทน แล้วไปสกัดเป็นหมวดหมู่ รายละเอียดความรู้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานคราวหน้าจะได้เป็นทุนที่เขาจะได้รู้ว่า เขารู้แล้ว เป็นพลังที่เขาจะได้แก้ในรายละเอียดขั้นที่สูงไปกว่า ประโยชน์ต่อการที่จะให้รางวัล หรือในทาง กศน. ตรงนี้คือความรู้ที่เขาเชี่ยวชาญแล้ว ก็ใช้เทียบหมด เพื่อการยกระดับการศึกษาเฉลี่ยของประชากรในจังหวัดได้ด้วย ก็จะมองเชื่อมโยงที่จะให้ใครสักคน ไปเอาบันทึกตรงนี้มาดูว่า จะแก้จนกันยังไง วิธีไหน ก็สามารถจะนำทางไปสู่การให้โล่รางวัล ภูมิปัญญาได้ด้วย

ครูนงเมืองคอน ... นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ 

คิดว่า เรื่องเล่าเมืองนครฯ ยังไม่หมดง่ายๆ หรอกนะคะ เพราะคุณครูยังมีภาระแก้จนเมืองนครฯ ต่อเนื่องไปอีก จนถึงปี 2551 ... ถ้าติดใจคงต้องหาตัว ครูนอกโรงเรียน เพื่อพูดคุยต่อยอดนะคะ ไม่ใกล้ไม่ไกล ผ่านทาง GotoKnow นี้เอง

 

หมายเลขบันทึก: 40472เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ขอบพระคุณคุณหมอนนท์มากครับ
  • บันทึกได้ละเอียดมากอย่างนี้ ผมเดาว่าต้องใช้เครื่องมือมากกว่าที่ผมนำเสนอในวันเล่าที่ตลาดนัดอย่างแน่นอน เยี่ยมมากครับ

นั่นสิคะ บันทึกละเอียดมาก ขอละเลียดอ่านวันหลังนะคะ จะได้ต่อยอดถูก ขอบคุณที่เก็บมาเล่าทันที ทันใจ

ต้องขอไชโย ประเทศไทยอีกทีค่ะ 

คุณสิงห์ป่าสักคะ ... ใช่แล้วค่ะ เครื่องมือนี้ถ้าขาดถ่าน AAA ก็อดได้ข้อมูลไปเยอะเลยค่ะ เพราะทักษะการจดยังไม่เนี๊ยบพอ (เพราะว่าจะอ่านลายมือตัวเองไม่ออกเอา)

อ.โอ๋ คะ ... ขออภัยที่ทุกครั้งบันทึกยาวมาก ขนาดตัดตอนเป็นรายบุคคลแล้วนะคะ แต่จะเป็นคนที่นิสัยไม่ดีอย่างหนึ่ง เพราะจะเสียดายมาก ถ้าจะต้องตัดคำพูดที่ดีๆ ของใครหลายคนที่พูดไว้ แล้วเราก็ได้อรรถรส แต่คนอ่านจะว่าอย่างไร อ.โอ๋ ช่วยสะท้อนหน่อยนะคะ จะได้ปรับปรุงค่ะ

ขอบคุณครับบันทึกที่มีคุณค่า และละเอียดมากครับ

ผมได้เรียนรู้กับบันทึกนี้มากเลยครับ

ชอบในส่วนของประเด็นที่ครูนงให้รายละเอียดเพิ่มเติมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนรู้

ตั้งแต่การสร้างคน สร้า้งกลุ่มผ่านครูอาสา  ผู้ว่าเข้ามาหนุน เกิดกลุ่มชัดเจนมีกิจกรรมต่อเนื่อง กระบวนการรเก็บความรู้ "บันทึก"ก็ต้องทำ

ประสบการณ์แบบนี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น พื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี 

ให้กำลังใจผู้เขียนบันทึกครับ 

  • พี่เม่ยยังไม่เคยได้พบกับคุณครูนงตัวจริงเสียงจริงนะคะ แต่อ่านบันทึกนี้แล้วเหมือนได้นั่งฟังครูพูดไปด้วยเลยค่ะ
  • ฟัง...เอ๊ะ...อ่านหรอกนะคะ..แล้วรู้สึกว่ามีความลงตัวไปหมดเลยนะคะ ทั้งคุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ ช่างผสมผสานกันดีจริงค่ะ 
  • เรียกว่าเป็นขบวนการแก้จนคนเมืองคอนได้เลยค่ะ

คุณจตุพรคะ ... ได้กำลังใจเยอะเลยค่ะ เพราะยังมีข้อมูลอีก 1 กระบุงที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

พี่เม่ยคะ ... ครูนงตัวจริงน่ารักค่ะ เจอท่านหนเดียวเอง เมื่อวันเกิด GotoKnow คุณศรีสิคะ ไม่เคยเจอ แต่พอเจอตัวกัน ก็คุยกันได้มันส์ซะจริงๆ ลึกซึ้งถึงแก่นของการทำงานเลยแหล่ะคะ ... นี่น่าจะเป็นผลของ GotoKnow นะคะ ว่า เราได้อ่าน ได้ฟังเรื่องที่ใครเล่า แล้วเราก็ in ไปกับเรื่องเล่า ก็ in ไปกับคนเล่าได้เหมือนกันเน๊าะ ... อัอ ลูกสาวท่านก็น่ารักด้วยนะ อันนี้คุณหมอนันทาทำนายไว้ ตอนเปิดต้วครูนงค่ะ

อยู่สุรินทร์แม้ว่าจะคนละภาคนะคะแต่สภาพปัญหาของคนในชนบทเราจะคล้ายกัน น้องเป็นพัฒนากรซึ่งมีหน้าที่เข้าไปทำก็จะนำไปเป็นแนวทางในการทำงานด้วยคะ   "พัฒนากรน้องใหม่"
  • ขออภัยนะคะ เพิ่งมาเห็น comment คุณ P น้อง 
     ก็เวลาผ่านไป 1 ปี แล้ว ... อิอิ
  • ขอตอบสักหน่อย ว่า ยินดีต้อนรับ ตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วค่ะ 27 มค. 2550 ... ป่านนี้คงรู้จักครูนงไปเรียบร้อยแล้วกระมังคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท