เทคโนโลยีที่เราบริโภคอยู่ในปัจจุบันนี้ .. เกินพอดีหรือยัง ?


อย่าหลงเห็นเปลือกดีกว่าแก่น เชื่อคำแนะนำจากผู้ขายแบบหูเบา และไร้ปัญญา อีกต่อไป

   ชื่อบันทึกนี้มาจากคำถามของอาจารย์ โสภณ คำสวาสดิ์ ครับ
เทคโนโลยีที่เราบริโภคอยู่ในปัจจุบันนี้ .. เกินพอดีหรือยัง ?

   ผมขอตอบตามความรู้ ความเห็น และประสบการณ์ดังนี้ครับ

  • เทคโนโลยี่ที่เราบริโภคอยู่ในปัจจุบันนี้ .. เกินพอดี มาก และ นานมาแล้วครับ
  • ความบริสุทธิ์ใจ  ความจริงใจ มิได้มีอยู่ในสำนึกของฝ่ายผลิตและสร้างสรรค์เทคโนโลยี เขาทำเพื่อการค้า เพื่อหาผลประโยชน์ โดยแฝงเล่ห์กลไว้อย่างแยบยลเสมอ ทำให้ผู้คนต้องตกอยู่ในเงื่อนไข ไม่ตามไม่ได้  ไม่ทิ้งของเก่าไม่ได้ ด้วยวิธีปฏิบัติมากมายที่จะนำมาตีแผ่กันได้ไม่รู้จบ ตัวอย่างเช่น ..
    • ขยักความรู้และข้อค้นพบเอาไว้ และปล่อยสินค้าออกมา โหมโฆษณา(ชวนเชื่อ) แล้วก็ปล่อยชุดต่อๆไปออกมา กวาดทรัพยากรของเหยื่อทั้งโลก เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
    • สินค้า ที่จะใช้ร่วมหรือแทนกันได้ ก็หาทางหลอกลวง หลบเลี่ยง ทำให้ใช้กันไม่ได้ เพื่อโก่งราคาอย่างหน้าไม่อาย เพียงแค่ทำ Packaging ให้ต่างจากเดิมบ้าง เปลี่ยนขนาดและรูปแบบของ Connector บ้าง กลับขั้ว บวก-ลบ ของไฟฟ้าบ้าง ติดป้ายหลอกลวงค่าแรงดันไฟฟ้าที่ใช้บ้าง เอาชิ้นส่วนที่ เหลือใน Stock มากๆมาจัดระบบ/วงจรแบบน่าเกลียดและ ไร้เหตุผลทางเทคนิค เพื่อหลอกขายของบ้าง เอาของที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศหนึ่งแอบแฝงมาให้เราต้องใช้แบบจำใจใช้ทั้งๆที่ไม่เหมาะสมกับบ้านเรา และระบบคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังไม่เอาจริงในการควบคุมบ้าง ฯลฯ
           ที่เห็นชัดเจนได้แก่ บรรดา Battery และ Power Supply Unit ของอุปกรณ์เช่น กล้องดิจิตอล และ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คเป็นต้น Spec. เดียวกัน เช่น ค่าแรงดัน ค่ากระแส หรือความจุที่เท่ากัน แต่ราคาต่างกันได้ลิบลับ จาก 2-3 ร้อยบาท ถึงหลายพันบาท ทั้งๆที่ของข้างในคือสิ่งเดียวกัน
    • เปลี่ยน Software ที่ใช้กับระบบ จน ของเก่าที่ไม่ทันเก่าต้องโยนทิ้งไปเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย และจะล้นโลกอยู่แล้ว .. ใครจะเดือดร้อน จะลำบากอีกเท่าไร ฉันไม่สนใจ จะขอแข่งกันผลิต แข่งกันโฆษณา และแย่งกันขายบ้าง จับมือกันเร่งการขายบ้าง เพื่อ รวย และ รวย  รวย  รวย.
    • ออกแบบวัสดุ ชิ้นส่วนให้มี อายุการใช้งานสั้น เพื่อให้ได้เปลี่ยนบ่อยๆ .. ขายเครื่องมา 1 เครื่อง สบายไปเป็นชาติ ชิ้นส่วนบางชิ้น ต้นทุนไม่กี่ร้อยบาท ก็โก่งราคาขายเป็นหมื่น หรือหลายหมื่น เพราะจะเอาของอื่นมาแทนก็ไม่ได้ .. เขาวางแผนไว้หมดแล้ว มัดมือไว้เรียบร้อยแล้ว
  • ฯลฯ

        ส่วนเราจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดนั้น มีข้อแนะนำดังนี้

  • เรื่องเทคโนโลยีนั้น ควรตามศึกษา ตามรู้ให้เท่าทัน แต่ อย่าขยันบริโภค .. จงหนักแน่น ไม่ให้คำว่า เชย หรือ ล้าสมัย มาทำให้เราน้อตหลุดโดยไม่จำเป็น .. เปลี่ยนเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นต้องเปลี่ยน และคิดให้รอบคอบในการลงทุนแต่ละครั้ง อย่าหลงเห็นเปลือกดีกว่าแก่น เชื่อคำแนะนำจากผู้ขายแบบหูเบา และไร้ปัญญา อีกต่อไป
  • พยายามปรับปรุงของเก่าให้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องคุ้มค่า  การผสมผสาน ดัดแปลงของเก่า+ของใหม่ ให้เป็น เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยังมีช่องทางทำได้อีกมาก แต่ต้องช่วยกัน และพยายามอย่าให้ฝ่ายที่มีเอี่ยวเรื่องผลประโยนชน์จากการจัดซื้อเข้ามามีอิทธิพลได้ เพราะเขาจะต่อต้านคำว่า "เหมาะสม" แต่ไปบูชาคำว่า "ทันสมัย" แทน .. แม้จะ ทันสมัยแบบไร้ปัญญา ก็ตาม
  • การดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกจาก ปลักตม แห่งการหลงเทคโนโลยี เช่นการ Chat อย่างไร้สาระ ข้ามวันข้ามคืน ลำพังคำแนะนำว่าอะไรดี อะไรไม่ดี หรือการบอกถึงพิษภัย คงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จะต้องหาทางให้เด็กได้ค้นพบตัวเองผ่านกิจกรรม ที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อื่นแบบจริงๆ ไม่ใช่โลกเสมือน วางกลยุทธ์ให้เขาได้พบว่าเขามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้สำเร็จ น่าภาคภูมิใจ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีคนยอมรับและชื่นชม ให้ได้สัมผัส สีหน้า แววตา และรอยยิ้มของผู้คนที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่นานเขาจะพบเองว่าสาระของชีวิตอยู่ที่ไหน ถึงตอนนั้นก็ลองส่งเสริมให้เขาได้เปิดโลกการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blog ดู หากลุ่มคนที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงและมีความสนใจ สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์เหมือนๆกัน ได้แลกเปลี่ยน ต่อยอดความรู้ ความคิดให้กันและกัน แล้วก็ได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติ พิสูจน์กันในหน้าที่ของตน อะไรๆก็คงดีขึ้นได้บ้างกระมังครับ
  • ฯลฯ และอีกมากมาย .. แต่เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 75027เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 02:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อาจารย์ครับ...คำถามทันสมัยมากครับ...

 

ใจผมเห็นด้วยกับอาจารย์(บางครั้งอาจมากกว่าด้วยซ้ำ...อิอิ) เราใช้เทคโนโลยีแบบไม่ลืมหูลืมตาเลยครับ...

 

แม้ว่าเทคโนโลยีจะพาผมมาพบกับอาจารย์ได้(ถ้าไม่มีชาตินี้เราคงไม่ได้พบกัน...555)

 

เคยมีคนถามผมว่า...คนที่พยายามหลีกลี้หนีหายจากสังคมโลกที่เดินหน้าไปในทิศทางแห่งเทคโนโลยี(เช่นพ่อของน้องต้นข้าว...)เข้าไปแสวงหาความสุขแบบธรรมชาติจริง ๆ นี่ดีไหม....

 

ผมก็บอกว่า...นั่นก็เกินพอดีไปอีกแบบ...แต่อย่างน้อยก็ควรมีไว้เป็นแบบอย่างให้เราติดตามศึกษานะครับ...

อาจารย์ แฮนดี้

ในส่วนของอาตมา รู้สึกว่ายังไม่พอครับ (5 5 5)

วันก่อนคณะญาติมาเยี่ยม แล้วเผดีงถามว่าขาดอะไรบ้าง... อาตมาก็ตอบไปว่า ขาดเยอะแยะเลย เช่น..

มือถือ ก็รุ่นโบราณ จอขาวดำ ถ่ายรูปก็ไม่ได้ อยากได้จอสี รุ่นใหม่ๆ ที่ถ่ายรูปได้..

โทรทัศน์ ก็ 21 นิ้วธรรมาดา อย่างได้สัก 35 นิ้ว จอแบน...

คอมฯ ก็โบราณแล้ว อยากได้ แพนเทียมโฟว์ ความเร็วสัก 4 จิ้ก ...

....ฯลฯ....

พระพุทธเจ้าตรัสว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี...

อธิบายว่า แม่น้ำโขง ท่าจีน เจ้าพระยา ตาปี หรือแม่น้ำชี เป็นต้น ..มีบางครั้งที่เอ่อล้นท่วมเขตคันออกไป และมีบางครั้งที่แห้งข้อด คนสามารถเดินข้ามได้...แต่แม่น้ำคือตัณหาได้แก่ความอยากของมนุษย์ ไม่เคยเต็ม และไม่เคยแห้ง จะรู้สึกว่าพร่องๆ อยู่เสมอ... คล้ายๆ กับจะเต็ม คือ คล้ายๆ จะพอ แต่ก็ยังไม่เต็ม คือยังไม่พอ...ประมาณนี้....

อันที่จริงจะคุยต่อนะครับ แต่ได้เวลาฉันเพลแล้ว จึงขอเจริญพรลาก่อน

เจริญพร

เกินน่ะ ผมไม่ห่วงมากเท่ากับใช้ผิดวิธี และทำลายตนเองครับ

เรากำลังทำลายความเป็นคนโดยเทคโนโลยีกันมากเหลือเกินครับ

โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่ดีถูกเทคโนโลยีทำลายมามายเหลือเกิน

เราจะเริ่มตรงไหนดีครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์พินิจมากครับที่กรุณาตอบคำถามของกระผมครับ ผมอ่านคำตอบที่ท่านอาจารย์ตอบมาเรื่องผู้ผลิตขยักความรู้ในการปล่อยเทคโนโลยี่ออกมาเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค ผมว่ามันคงเกิดขึ้มานานแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ทางรู้เท่าทัน ผมมองในแง่ปัญหาทางสังคมของเรากำลังประสบปัญหาอยู่หลายกรณี เช่นลูกสาวติดมือถือ ตอนแรก ๆ ก็มองพวกเด็กวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปว่าเขามีธุระกิจการค้าอะไรหรือ เดินออกจากบ้านจึงเอาโทรศัพท์มือถือแนบกับหู มันไม่ใช่การสื่อสารตามความจำเป็นแต่เป็นการสื่อสารเพื่อสนองกิเลส บางครั้งเวลาดึก ๆ ดื่น ต้องตื่นนอนขึ้นมารับโทรศัพท์ในเรื่องที่ปรกติแล้วเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยจริง ๆ ครับ บริษัทกิจการมือจึงรำรวยมหาศาล ผมดีใจที่ท่านอาจารย์แนะนำคำว่า "เหมาะสม" กับ "ทันสมัย" จะทำอย่างไรจะเปลี่ยนค่านิมผิด ๆ ที่เราผลิตเองไม่ได้แต่เราชอบความทันสมัยได้อย่างไร โดยมองข้ามความเหมาะสมกับฐานะของตนเอง ผมว่าเรามาให้การศึกษาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจตนเองว่าการบริโภคที่เหมาะสมควรอยูในระดับใด แต่จะเป็นหน้าที่ของใครหรือหน่วยงานไหนกันครับ เพราะขนาดผู้บริหารประเทศยังคลำทางออกไม่เจอนะครับ ขอขอบคุณในความเห็นของท่านผู้ทรงภูมิความรู้ทุกท่านที่ให้ความคิดเห็นดี ๆ อย่างท่านนายขำ ท่านBM.Chaiwut และท่าน ดร.แสวง รวยสูงเนิน มาก ๆ ครับ
Come to say "hello" and thank you for visiting my blog. Long time no see. How are the techno geniuses at CRU?. Hope we can see each other more often via G2K.
ชนธัญ เอี่ยมอนันต์เจริญ

เทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ก้าวหน้ามากอยู่ที่การใช้ว่าใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ถ้าตรงตามจุดประสงค์ก็จะเกิดประโยชน์ถ้าไม่ถูกจุดประสงค์ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เช่นเดียวกัน

  ท่านอาจารย์พินิจ   ท่านพระคุณจ้า BP chaiwut  ท่านนายขำ  ท่าน  ดร.แสวง   คุณป้าเจี๊ยบ    คุณชนธัญ  ที่เคารพทุกท่าน  ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเทคโน(ที่ผมถามท่านอาจารย์พินิจไป)  ที่ท่านทั้งหลายมีข้อคิดเห็นตามมา  ว่าเราใช้เทคโลยี่เกินพอหรือยัง  บางท่านก็ว่าเกินพอดี  หรือกำลังดี  หรือว่ายังไม่พอ  ผมก็ยอมรับในความคิดเห็นของทุกท่านแหละครับ    ผมมีความคิดเห็นว่าทุกท่านมีเหตุผลที่ดี  ๆ  ทั้งนั้น  แต่เราจะมีเวลาพิสูจน์ความเห็นหรือความเข้าใจของเราหรือไม่(ชีวิตคนมีสิ้นสุด แต่โลกนี้ยังคงอยู่  แม้บางท่านจะบอกว่า เดี๋ยวโลกก็แตก  จาก นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หรืออาวุธเคมีของอเมริกาและโซเวียต )   สมัยเป็นเด็ก  ผมเคยดูหนังเรื่อง  Star  wars  ของ  ยอร์ช ลูกัส  หรือ ของ สพิล เบิร์ก  ผมจำไม่แน่ชัด   แต่คาดการณ์ในอนาคต  มนุษย์จะยานอาวกาศใช้ส่วนตัวแทนรถยนต์จอดไว้ใต้ถุนบ้าน  เวลาจะไปไหนมาไหนก็นั่งยานไป ไม่ต้องมีปัญหาการจราจร  และจะมีหุ่นยนต์รับใช้ส่วนตัวเหมือนอาสิโม(ของฮอนด้า)     แต่อย่างไรก็ตาม  ผมยังไม่อยากจะเชื่อคำทำนายของใคร  ไม่ว่าจะเป็น  นอสตาดามุส  หรือยายแจ้ง(คนตาบอดข้างบ้านผม  แกมีผัวผีเป็นหมอทำนายชอบทำนายชีวิตและความเป็นไปของชีวิต คนอื่น)    ผมคิดว่า  มีบางอย่างที่มนุษย์ยังไม่รู้  และอาจจะไม่มีโอกาสรู้เพราะ  การรับรู้มีขอบเขตจำกัด แต่สิ่งที่ไม่รู้มีอีกมากมาย   อันนี้ผมคิดเองนะครับ(ไข้หวัดนกเมื่อไหร่จะปราบได มียาแก้เอดส์เหมือนมียาแอสไพรินหรือยัง  คมช จะจบอย่างไร  จะบอกไดอย่างไรว่า สนธิและสนธิใครไม่มีกิเลสหรือใครมีกิเลสมากกว่ากัน  )  แต่สุดท้ายเราจะมีคำตอบอย่างไร    พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า(ไม่รู้อ้างถูกหรือเปล่า)  อย่าเชื่อ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์(จับดูก่อนว่าร้อนไหม  รับประทานดูก่อนว่า หวาน  ขม  หรือมีพิษอย่างไร  ถ้าไม่ตายก่อน)    แต่บางครั้งการพิสูจน์ต้องใช้เวลานานเหมือนการพิสูจน์ลายมือของโจรมือระเบิดกรุงเทพมหานครเมื่อวันขึ้นปีใหม่คิดว่า  อาจจะเปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกหลายคน  ผมยังมองทางออกไม่เจอ  ผมก็พูดมานานนะครับ  แต่ก็ขอบใจท่านผู้รู้ทุกท่านนะครับ  โอกาสหน้าก็จะมาแสดงความคิดเห็นอันไร้ขอบเขตจำกัดอีกนะครับ  ขอบคุณมาก  ๆ  ครับ 

     เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประเด็น

     แต่สนใจประเด็นนี้มากค่ะ เนื่องจากทำงานอยู่กับเด็ก คือ การดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกจาก ปลักตม แห่งการหลงเทคโนโลยี... คิดว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

จากคำกล่าวที่ว่า กวาดทรัพยากรของเหยื่อทั้งโลก เป็นถ้อยคำที่กินใจมาก ดิฉันในฐานะเหยื่อที่ล้าหลังทางด้าน ICT มากที่สุดทั้งความรู้ และทักษะการใช้ รวมทั้งรู้สึกว่า ตามไม่ทันความก้าวหน้าที่ว่านี้เลย ทำให้เกิดความท้อถอย จะทำ จะซื้ออุปกรณ์ชนิดใดไปใช้ต้องอาศัยบุคคลผู้รู้ เขาจะพูดอย่างไร ต้องเชื่อฟังเขาทุกอย่าง เหมือนเกิดมาเป็นทาสความรู้ของเขา

สำหรับคำแนะนำของอาจารย์ที่ให้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั้นนับเป็นแง่คิดที่ดี กำลังพยายามอยู่ค่ะ ถ้าได้ผลประการใด จะรายงานให้อาจารย์ทราบเป็นคนแรกค่ะ

                    จากนักศึกษา ป. บัณฑิต รุ่น 4 

 

สวัสดีครับ
   ขออภัยที่หลงหูหลงตาไม่ได้เข้ามา รับแขก ที่นี่ นานทีเดียว ทั้งๆที่บันทึกนี้ ตั้งใจเขียนมากเป็นพิเศษ
   ข้อคิด ความเห็นของแต่ละท่านก็ล้วนเป็นประโยชน์ ทั้งเพิ่มเติม และกระตุ้นให้คิดต่อ  จึงขอขอบคุณทุกท่านอย่างยิ่งครับ

          อ่านความคิดเห็นดีๆ จนไม่คิดหาข้อความมาต่อยอดทางความคิดได้ในขณะนี้  แต่ผมชอบใจและสะดุดกับข้อความว่า  "อย่าหลงเห็นเปลือกดีกว่าแก่น " เนื่องจากว่าในสังคมปัจจุบันผู้คนมักเอนเอียงไปใน "วัตถุนิยม" ไม่ค่อยคำนึงถึงความจำเป็น และความเหมาะสม เท่าที่ควร  และเห็นด้วยกับ ดร. แสวง รวยสูงเนินที่กล่าวว่าเทคโนโลยีที่มากเกินไป ไม่น่าห่วงเท่ากับ การนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ต้องบอกว่า คมจริงๆ ครับผม
ศาศวัต (นักศึกษารุ่น 201)

สวัสดีครับอาจารย์

          เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งครับ เพราะผู้ผลิตเทคโนโลยี ชอบกั๊กปล่อยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทีละนิด ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องคอยเสียเงิน "Update" โปรแกรมต่าง ๆ  

           ปัญหาหลัก ๆ ของเยาวชนไทยยุคนี้ ก็คือ เกมส์ออนไลน์ ที่กลืนเอาเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเด็กไปเกือบหมดแล้วครับ

นายธนาชัย หอมมะลิ
      ถ้าถามว่าเทคโนโลยีที่เราบริโภคอยู่ในปัจจุบันนี้ .. เกินพอดีหรือยัง ?  ผมว่าการที่เทคโนโลยีก้าวล้ำสมัยต่อไปเรื่อย ๆ นั้น ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราก้าวตามทันต่างประเทศ  แต่การที่เรานำมาใช้นั้น เราต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และนำมาใช้ในสิ่งที่ถูกต้องด้วย..จึงจะเกิดประโยชน์
  • ครูอ้อยเห็นด้วยกับอาจารย์เต็มประตูค่ะ
  • คนส่วนใหญ่ที่หลงระเริงกับลเทคโนโลยีเกินตัว เกินกำลัง...
  • ต้องฝึกและให้คนรุ่นต่อไปได้รู้และตระหนักถึงความเสียหายที่ติดตามมา

ขอบคุณค่ะกับบันทึกที่ดีมีประโยชน์

เรียนอาจารย์พินิจที่เคารพ

เทคโนโลยีที่เราบริโภคกันอยู่ในปัจจุบันเกินพอดีหรือยัง    บอกได้เลยว่าเกินไปแล้วเพราะในปัจจุบันวัยรุ่นไม่ได้ใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนแต่กลับไปใช้ในการเล่นเกมบาง   คุยกันเรื่องไร้สาระบ้างทำให้เปล่าประโยชน์  ทางที่ดีผู้ใหญ่ควรบอกเด็กให้เห็นประโยชน์จริงเท่านั้น

ขอบคุณค่ะ

พรรณี  ศักดิ์ทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท